โรคหัดเป็นไข้ออกผื่นชนิดหนึ่ง ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสในกลุ่ม Morbillivirus มักพบในเด็กเล็ก แต่ก็อาจพบในเด็กโตหรือในผู้ใหญ่ได้ โรคหัดเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังเพราะสามารถติดต่อกันได้ง่าย และในบางครั้งอาจพบภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงถึงแก่ชีวิตได้ โรคหัดสามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน แต่ยังไม่มียารักษาเฉพาะ
โรคหัดมีระยะฟักตัวประมาณ 8-12 วัน หลังจากระยะฟักตัวแล้วจะเริ่มมีอาการดังนี้
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจพบได้ในผู้ป่วยโรคหัด ได้แก่ ภาวะปอดบวม หูชั้นกลางอักเสบ ถ่ายเหลว สมองอักเสบ รวมถึงการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน โดยภาวะแทรกซ้อนพบได้ประมาณร้อยละ 30 ของผู้ป่วยโรคหัด ภาวะถ่ายเหลวจะเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยที่สุด ผู้ที่มีโอกาสพบภาวะแทรกซ้อนสูงขึ้น ได้แก่ ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ (เช่นรับประทานยากดภูมิ ได้รับเคมีบำบัดอยู่) หญิงตั้งครรภ์ เด็กอายุน้อย โดยเฉพาะอายุน้อยกว่า 1 ปี ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีภาวะทุพโภชนาการ
โรคหัดเป็นโรคที่ติดต่อได้ง่าย ด้วยการติดต่อทางการหายใจ ติดต่อผ่านทางการไอ จาม พบว่าเชื้อไวรัสที่ออกมาสามารถอยู่ในอากาศได้นานถึง 2 ชั่วโมง และพบว่าผู้ที่สัมผัสเชื้อและยังไม่มีภูมิคุ้มกันมีโอกาสติดโรคหัดได้ถึงร้อยละ 90 ซึ่งผู้ป่วยโรคหัดสามารถแพร่กระจายเชื้อได้ถึง 4 วันหลังผื่นเริ่มขึ้น
ปัจจุบันยังไม่มียารักษาจำเพาะ เป็นการรักษาตามอาการ ได้แก่ การให้ยาลดไข้ ให้สารน้ำและอาหารอย่างเพียงพอ นอกจากนี้ การรับประทานวิตามินเอเสริมในผู้ป่วยโรคหัดจะสามารถช่วยลดภาวะแทรกซ้อนบางอย่าง และลดอัตราการเสียชีวิตได้
เนื่องจากโรคหัดแพร่จากคนหนึ่งสู่อีกคนหนึ่งได้ง่าย ดังนั้น เมื่อพบผู้ป่วยที่สงสัยว่าเป็นโรคหัด ควรรายงานให้ทางเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทราบ เพื่อช่วยในการควบคุมการแพร่ของเชื้อ ต้องค้นหาผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ เช่น ผู้ที่ยังได้รับวัคซีนป้องกันโรคหัดไม่ครบ หรือผู้ที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนและยังไม่เคยเป็นหัด เพื่อจะแยกคนกลุ่มนี้ออกมาไม่ให้ไปสัมผัสกับผู้ที่เป็นโรค และหากได้สัมผัสกับผู้ที่เป็นโรคแล้ว ก็ต้องเฝ้าระวังว่าจะเป็นโรคหรือไม่
ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคหัด ซึ่งเป็นวัคซีนรวมโดยมีวัคซีนป้องกันโรคหัดเยอรมัน และโรคคางทูมอยู่ด้วยในประเทศไทยแนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัด 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่ออายุ 9 เดือน และครั้งที่ 2 เมื่ออายุ 2 ขวบครึ่ง