โรคมือ เท้า ปาก ป้องกันได้.. ด้วยการล้างมือ
ในช่วงหน้าฝนแบบนี้ นอกจากจะต้องเตรียมใจไว้รองรับกับสภาพฝนที่จะตกลงเมื่อใดแล้ว ยังต้องเตรียมระมัดระวังเรื่องปัญหาโรคภัยกันเอาไว้ด้วย โดยเฉพาะในเด็กเล็กที่ต้องไปศูนย์เลี้ยงเด็กหรือโรงเรียน พ่อแม่ผู้ปกครองจึงควรหมั่นสังเกตความผิดปกติของลูกหลานกันด้วยว่าร้องไห้งอแงเพราะไม่สบายหรือไม่?
ในฉบับนี้ก็มีอีกโรคหนึ่งที่มักพบได้บ่อยในหน้าฝน และมักเกิดขึ้นได้ในเด็กเล็ก นั่นคือ “โรคมือ เท้า ปาก”
โรคมือ เท้า ปาก เป็นโรคติดต่อที่มักเกิดขึ้นในเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 10 ปี แรกเริ่มจะมีไข้ต่ำ ๆ มีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ครั่นเนื้อครั่นตัว หลังจากนั้นจะมีผื่นแดงในช่องปาก กระพุ้งแก้ม ลิ้น เหงือก ซึ่งเด็กเล็กมักจะไม่สามารถบอกได้ว่าเจ็บ แต่สามารถสังเกตอาการได้จากการที่ไม่ยอมรับประทานอาหาร ไม่ดูดนม ต่อมาจะกลายเป็นตุ่มพองใสภายในปาก เมื่อแตกออกจะเป็นแผลในช่องปาก
อาการต่อมา จะมีผื่นขึ้นที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ซึ่งอาจเป็นตุ่มแดง หรือตุ่มพองใสได้ ในบางรายอาจมีผื่นลามมาที่แขน ขา และก้นได้
สาเหตุสำคัญเกิดจากเชื้อในกลุ่มเอ็นเทอโรไวรัส ซึ่งแบ่งได้หลายชนิด แต่ชนิดที่พบบ่อยในประเทศไทย ได้แก่ คอกซากี่เอ 16 เอ็นเทอโรไวรัส 71 และคอกซากี่เอ 6 เป็นต้น ในผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อเอ็นเทอโรไวรัส 71 มีโอกาสที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตราย เช่น ไข้สมองอักเสบ ซึ่งอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ ในผู้ใหญ่มีโอกาสป่วยด้วยโรคนี้ได้เช่นกัน แต่พบได้น้อยและอาการในผู้ใหญ่มักจะไม่รุนแรง อาจมีเพียงไข้ธรรมดา ปวดเมื่อยตามตัว ผื่นไม่ชัดเจนได้
เนื่องจากเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคนี้ อยู่ในน้ำลาย อุจจาระ น้ำในตุ่มพอง หรือแผลของผู้ป่วย ดังนั้น การติดต่อเกิดขึ้นได้โดยตรงจากการรับประทานอาหารร่วมกันกับผู้ป่วยการนำของเล่นหรืออมนิ้วมือที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าปาก การไอ จาม การติดต่อจึงเกิดขึ้นได้ง่าย
โรคมือ เท้า ปาก เป็นโรคติดต่อที่สามารถระบาดได้ง่าย โดยเฉพาะในศูนย์เลี้ยงเด็ก เนิร์สเซอรี่ และโรงเรียนอนุบาล โดยทั่วไปแนะนำว่า เด็กที่เป็นโรคนี้ควรหยุดเรียนจนกว่าไข้และผื่นจะหายไป ซึ่งมักจะหายเองภายใน 1 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเด็กจะหายจากอาการป่วยแล้ว ก็ยังสามารถแพร่เชื้อโรคได้ เพราะเชื้อโรคอาจจะอยู่ในอุจจาระของผู้ป่วยได้นานหลายสัปดาห์หรือเป็นเดือน แต่การติดต่อในระยะนี้จะเกิดขึ้นได้น้อยกว่า
วิธีการป้องกันที่ดีที่สุดคือ ล้างมือให้สะอาด ทั้งก่อนรับประทานอาหารและหลังขับถ่ายทุกครั้ง หลีกเลี่ยงการใช้ของร่วมกัน ควรใช้ช้อนกลางในการรับประทานอาหาร หลีกเลี่ยงการใช้แก้วน้ำ หลอดดูด และขวดนมร่วมกัน และหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดคลุกคลีกับผู้ป่วย
เนื่องจากโรคนี้พบได้ตลอดทั้งปี แต่จะพบได้มากในหน้าฝนแบบนี้ และยังไม่มีวัคซีนหรือยารักษาโรคเป็นการเฉพาะทำให้การรักษาต้องใช้วิธีการรักษาแบบประคับประคองอาการจนกว่าผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้น ซึ่งหากมีไข้ก็ให้รับประทานยาลดไข้ ให้รับประทานอาหารอ่อน ๆ และดูแลรักษาความสะอาดในช่องปากให้ดี แต่หากไม่สามารถรับประทานอาหารได้ อาจต้องนอนโรงพยาบาลและให้น้ำเกลือทดแทน
พ่อแม่ส่วนใหญ่พาลูกมาพบแพทย์เนื่องจากลูกมีไข้ ไม่ยอมดื่มนมหรือรับประทานอาหาร สาเหตุจากในช่องปากมีแผลอักเสบ เมื่อตรวจแล้วจึงพบว่าป่วยด้วยโรคนี้แล้ว ทั้งนี้ อาจเป็นความเข้าใจผิดที่ว่า โรคนี้จะต้องมีอาการทั้งที่มือ เท้า ปาก แต่ความเป็นจริงแล้ว ก็ไม่ได้มีอาการเกิดขึ้นเสมอไปทั้งหมด เด็กบางคนมีอาการน้อย ๆ อาจจะเป็นเพียงผื่นแดงในช่องปาก ส่วนฝ่ามือ ฝ่าเท้า อาจไม่มีผื่นให้เห็นชัดเจนก็ได้ ดังนั้น หากมีอาการผิดปกติดังที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ให้มาพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างเหมาะสม
ช่องปาก ส่วนฝ่ามือ ฝ่าเท้า อาจไม่มีผื่นให้เห็นชัดเจนก็ได้ ดังนั้น หากมีอาการผิดปกติดังที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ให้มาพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างเหมาะสม
ทั้งนี้เมื่อหมอวินิจฉัยว่า ลูกท่านเป็นโรคนี้แล้วก็อย่าเพิ่งตกใจไปว่าลูกจะไปติดเชื้อเอ็นเทอโรไวรัส 71 จนทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต เพราะถึงแม้ว่าจะติดเชื้อ ไม่ได้หมายความว่าจะต้องมีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงเสมอไป เด็กส่วนใหญ่มักเป็นไข้ แผลในปาก และผื่นแดงธรรมดาเท่านั้น นอกจากนี้แล้ว ยังมีคำถามที่พบได้บ่อย เช่น
คำถามที่พบบ่อย
ในหญิงตั้งครรภ์ถือว่ามีความเสี่ยงต่อโรคนี้หรือไม่และเด็กในครรภ์จะมีอันตรายจากการรับเชื้อด้วยไหม?
ในหญิงตั้งครรภ์ ไม่ถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงและมีโอกาสการติดเชื้อน้อย หากมีการติดเชื้อในหญิงตั้งครรภ์ ก็จะไม่ส่งผลอันตรายต่อเด็กในครรภ์
เชื้อสามารถติดตามซอกมือ ซอกเล็บได้หรือไม่ และจะส่งผลอย่างไรต่อเด็ก?
เชื้อสามารถติดอยู่ตามซอกมือ ซอกเล็บได้แต่การล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ และไม่นำมือเข้าปากตัดเล็บให้สั้น จะช่วยลดการนำเชื้อเข้าสู่ร่างกายได้เมื่อล้างมือให้สะอาดแล้ว ก็เท่ากับขจัดเชื้อออกไปด้วย เด็กก็จะไม่เกิดอันตราย
ในสถานที่เปิดอย่างสระว่ายน้ำเป็นแหล่งกระจายเชื้อโรคได้หรือไม่?
ในสระว่ายน้ำที่มีคลอรีนในมีปริมาณที่เพียงพอน่าจะกำจัดเชื้อได้ ที่ผ่านมามีรายงานการตรวจพบเชื้อเอ็นเทอโรไวรัสในสระว่ายน้ำบ้าง แต่ไม่ค่อยมีรายงานการระบาดของโรคมือ เท้า ปากจากการว่ายน้ำในสระ จึงไม่น่ากังวลใจเกี่ยวกับเรื่องนี้มากนัก เด็กอาจได้รับเชื้อจากการสัมผัสโดยตรงกับผู้ป่วยที่มาว่ายน้ำในสระก็ได้
ก็คงจะไขข้อข้องใจกันไปแล้ว แต่ถึงกระนั้น ข้อแนะนำในเรื่องการล้างมือให้กับเด็กเล็ก ก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะเชื่อเหลือเกินว่า ไม่ว่าโรคจะพบบ่อยในฤดูใด แต่การทำตัวเองให้สะอาด ล้างมือบ่อย ๆ จะช่วยให้ห่างไกลจากโรคได้มาก
วิธีการป้องกันที่ดีที่สุดคือ "การล้างมือให้สะอาด"