ในช่วงเดือนมีนาคม – พฤษภาคมของทุกปี เมนูที่มีรสเปรี้ยว มีมะนาวเป็นส่วนประกอบ มักเจอกับปัญหามะนาวราคาแพง ซึ่งราคาพุ่งไปถึงลูกละ 10 บาท เพราะช่วงหน้าแล้งมะนาวจะออกผลผลิตมาน้อย และคุณภาพมะนาวไม่ดี ได้น้ำมะนาวน้อย ทำให้หลายคนชั่งใจอยู่หลายครั้งว่าควรทำเมนูอื่นที่ไม่ต้องใช้มะนาวดีมั้ย ทั้งที่หน้าร้อนแบบนี้เราต้องการความสดชื่นจากอาหารที่มีรสเปรี้ยวจี๊ดจ๊าด เพื่อเพิ่มความสดชื่นในช่วงที่อากาศร้อนอบอ้าวแบบนี้
แล้วถ้าเราลองเปลี่ยนจากไม่ใช้มะนาวล่ะ? รสชาติจะเป็นยังไงนะ พอมาคิด ๆ ดูแล้ว ผลไม้บ้านเราก็มีประเภทที่ให้รสเปรี้ยวอยู่เหมือนกัน หาไม่ยาก ราคาไม่แพง บางชนิดก็มีทุกฤดูกาล เช่น ตะลิงปลิง มะยม มะม่วงเปรี้ยว มะม่วงหาวมะนาวโห่ ซึ่งผลไม้พวกนี้ก็เป็นผลไม้ที่เรากินเล่นอยู่เป็นประจำ จิ้มเกลือบ้าง จิ้มน้ำตาลบ้าง กินแล้วก็รู้สึกสดชื่น เลยคิดว่าลองเอามาทำอาหารก็น่าจะดีเหมือนกัน
สำหรับเมนูที่ทำในวันนี้หลีเลือกใช้ผลตะลิงปลิงมาเพิ่มความเปรี้ยวแทนมะนาว เพราะเป็นผลไม้หาง่าย มีทุกฤดู ราคาไม่แพง เลยเอามาดัดแปลงเป็นเมนูง่าย ๆ ที่คิดว่าใครหลายคนน่าจะชอบ โดยเฉพาะสายอาหารอีสานเลิฟเวอร์ ไม่ควรพลาด นั่นก็คือ “ลาบหมูตะลิงปลิง” เรามาดูส่วนผสมและวิธีทำกันเลยค่ะ
ส่วนผสม
หมูบด 100 กรัม
ผลตะลิงปลิง
(สับละเอียด) 3-4 ผล
น้ำปลา 1 ช้อนชา
หอมแดง
ผักชีฝรั่ง
ใบสะระแหน่
ข้าวคั่ว
พริกป่น
ผักเคียง ได้แก่ กะหล่ำปลี แตงกวา ถั่วฝักยาว หรือผักอื่น ๆ ตามชอบ
วิธีทำ
1. ใส่น้ำเปล่าหรือน้ำซุปลงในหม้อ ตั้งไฟกลางพอเดือด จากนั้นใส่หมูบดลงไป คอยคนตลอดไม่ให้เนื้อหมูติดก้นหม้อ และจับกันเป็นก้อน รวนจนหมูสุก ปิดไฟ
2. ใส่ตะลิงปลิง ปรุงรสด้วยน้ำปลา
3. ใส่ข้าวคั่ว พริกป่น ตามชอบ จากนั้นใส่หองแดง ผักชีฝรั่ง คลุกเคล้าส่วนผสมให้เข้ากัน
4. จัดเสิร์ฟ ตกแต่งด้วยใบสะระแหน่ รับประทานคู่กับข้าวเหนียวและผักเคียงตามชอบ
ผลไม้รสเปรี้ยวที่สามารถใช้แทนมะนาวได้ เช่น ตะลิงปลิง มะยม มะม่วงเปรี้ยว มะม่วงหาวมะนาวโห่ นอกจากจะช่วยเพิ่มความสดชื่นแล้ว ผลไม้พวกนี้ยังอุดมไปด้วยวิตามินเอ วิตามินซี ใยอาหาร และสารต้านอนุมูลอิสระ เมื่อนำมาปรุงอาหารทำให้อาหารมีรสชาติดีแตกต่างกันไป
วิตามินซี เป็นวิตามินที่หลายคนรู้จัก พบมากในผักผลไม้สดทั่วไป เป็นสารอนุมูลอิสระ ช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทาน ทั้งยังช่วยชะลอการเสื่อมของเซลล์ในร่างกาย
วิตามินเอ มีส่วนช่วยต่อการเจริญเติบโตของกระดูก รวมถึงบำรุงผิวและสายตา พบได้ในนม ไข่ เนื้อสัตว์ และผักผลไม้สีเขียว สีเหลือง ซึ่งถ้าเรามีภาวะขาดวิตามินเอ จะส่งผลกระทบต่อการมองเห็นได้
ใยอาหาร เป็นคาร์โบไฮเดรตชนิดหนึ่งที่ร่างกายไม่สามารถย่อยสลายได้ ซึ่งแบ่งเป็น 2 ชนิด คือชนิดละลายน้ำได้ ช่วยลดไขมันและรักษาระดับน้ำตาลในเลือด พบมากในข้าวโอ๊ต แอปเปิล แคร์รอต และชนิดไม่ละลายน้ำ มีส่วนช่วยเรื่องระบบขับถ่าย เพิ่มมวลอุจจาระ ป้องกันท้องผูก นอกจากนี้อาหารที่มีใยอาหารสูงยังช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด
สารต่าง ๆ ที่พบในผลไม้รสเปรี้ยว เช่น มะม่วงเปรี้ยวมีสารแมงจิเฟอริน (Mangiferin) ตะลิงปลิงมีสารฟลาโวนอยด์ (Flavonoid) และสารแอลคาลอยด์ (Alkaloid) มะม่วงหาวมะนาวโห่มีสารฟลาโวนอยด์ (Flavinoid) และสารฟีนอลิก (Phenolic) ซึ่งสารเหล่านี้พบได้ตามธรรมชาติ เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง รวมถึงลดความเสี่ยงของการโรคข้ออักเสบ และโรคความจำเสื่อมอีกด้วย
แต่ในประโยชน์ก็ยังมีข้อเสียอยู่บ้าง เช่น ตะลิงปลิง เป็นผลไม้ที่มีกรดออกซาเลตสูง หากกินในปริมาณมาก จะทำให้เกิดการตกตะกอนของแคลเซียมในเนื้อไตส่งผลให้ไตวายเฉียบพลัน หรือเกิดนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะได้ นอกจากนี้กลุ่มผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว ถึงแม้จะมีรสเปรี้ยว แต่ก็จัดอยู่ในกลุ่มของคาร์โบไฮเดรต ควรกินในปริมาณที่พอเหมาะ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีโรคเบาหวานหากกินเกินปริมาณที่แนะนำอาจส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด ในกรณีกินเป็นผล ไม่ได้นำมาประกอบอาหาร นอกจากจำกัดปริมาณแล้ว ควรคำนึงถึงโซเดียมที่ได้จากเครื่องจิ้ม เช่น พริกเกลือ น้ำปลาหวาน กะปิ เป็นต้นอีกด้วย