โรคติดเชื้อผิวหนัง ที่มีสาเหตุมาจากสัตว์เลี้ยง

โรคติดเชื้อผิวหนัง ที่มีสาเหตุมาจากสัตว์เลี้ยง
Volume: 
ฉบับที่ 48 เดือนเมษายน 2566
Column: 
Health Station
Writer Name: 
พญ.สัญชวัล วิทยากรฤกษ์ สาขาวิชาเวชศาสตร์ผู้ป่วยนอกเด็กและวัยรุ่น ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

สัตว์เลี้ยงแสนน่ารักของเรา อาจเป็นตัวการสำคัญในการก่อโรคต่าง ๆ ให้กับเราได้ โดยโรคที่ติดมาจากสัตว์มาสู่คน (Zoonotic disease) คือ โรคที่เกิดจากการติดเชื้อและสามารถติดต่อระหว่างสัตว์และคนได้ การติดเชื้อโรคสามารถติดต่อได้จากทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น ติดจากการสัมผัสเชื้อโรคบริเวณรอยโรคผิวหนังของสัตว์เลี้ยง หรือสัมผัสกับปัสสาวะหรืออุจจาระของสัตว์เลี้ยงที่มีเชื้อโรคปะปนอยู่ 
โรคติดเชื้อที่มาจากสัตว์ สามารถพบอาการแสดงได้หลายระบบ โดยอาการแสดงหรือโรคผิวหนังถือเป็นโรคที่พบได้มากที่สุด โรคติดเชื้อผิวหนังที่มีสาเหตุมาจากสัตว์เลี้ยงที่พบบ่อย ได้แก่

1. โรคติดเชื้อแบคทีเรีย สัตว์เลี้ยงอาจเป็นพาหะในการนำเชื้อแบคทีเรียเข้าสู่ร่างกายคน โดยส่วนใหญ่มักติดมาจากการสัมผัสปัสสาวะ อุจจาระ น้ำลายหรือจากการสัมผัสผิวหนังของสัตว์ที่มีเชื้อแบคทีเรียอยู่ เชื้อที่พบได้บ่อยคือเชื้อสแตฟฟิโลคอคคัส (Staphyloccoccus spp.) ทำให้เกิดเป็นแผลติดเชื้อ (Impetigo) เมื่อเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้เข้าสู่ผิวหนังของคนจะทำให้เกิดผื่นแดง คัน บางครั้งอาจมีตุ่มน้ำพองเหมือนแผลน้ำร้อนลวก หรือเป็นหนอง จากนั้นแผลจะตกสะเก็ด โดยพบที่บริเวณใดของร่างกายก็ได้ เช่น มือ หน้า และสามารถกระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกายได้ การรักษาคือการทายาปฏิชีวนะในกรณีที่มีผื่นหรือแผลน้อย แต่ถ้ามีรอยโรคหรือแผลบริเวณกว้างต้องรับประทานยาปฏิชีวนะร่วมด้วย
2. โรคติดเชื้อรา เชื้อราสามารถติดต่อมาจากสัตว์เลี้ยงที่มีขน เช่น สุนัข แมว กระต่ายหรือแฮมสเตอร์ โดยเชื้อราที่พบได้บ่อยในประเทศไทยคือเชื้อราแมว (Microsporum canis) ซึ่งสัตว์เลี้ยงอาจมีอาการผิดปกติทางผิวหนัง เช่น มีขนหลุดเป็นหย่อม ๆ ผิวหนังแดงแห้งเป็นขุย หรือสัตว์เลี้ยงอาจเป็นแค่พาหะของโรคได้โดยไม่มีอาการแสดงทางผิวหนัง เชื้อราที่มาจากสัตว์เลี้ยงสามารถก่อให้เกิดโรคผิวหนังในคนได้หลากหลายบริเวณ โดยโรคผิวหนังติดเชื้อราที่มีสัตว์เลี้ยงเป็นตัวนำโรคที่พบได้บ่อย ได้แก่
        2.1 โรคกลากที่หนังศีรษะ (Tinea capitis) เป็นโรคที่พบบ่อยในเด็ก อาการแสดงคือผมร่วงเป็นหย่อม เส้นผมเปราะ หักง่าย บางรายอาจมีตุ่มหนองหรือมีการบวมแดงอักเสบของผิวหนังบริเวณที่มีผมร่วงคล้ายฝีฝักบัว และอาจพบต่อมน้ำเหลืองที่คอหรือท้ายทอยโตร่วมด้วย การรักษาคือการรับประทานยาฆ่าเชื้อรา Griseofulvin โดยต้องรับประทานยานานอย่างน้อย  2 เดือนหรือจนกว่าอาการจะดีขึ้นร่วมกับการใช้แชมพูกำจัดเชื้อราเพื่อช่วยลดปริมาณเชื้อราบนหนังศีรษะ
        2.2 โรคกลากบริเวณลำตัว (Tinea corporis) มักมีผื่นแดงเป็นวง มีขุยอยู่บริเวณรอบนอกของผื่น ตรงกลางผื่นมักไม่มีรอยแดง มีอาการคัน การเกาสามารถทำให้ผื่นลามไปติดผิวหนังบริเวณอื่นได้ วิธีการรักษาคือการทายาฆ่าเชื้อราบริเวณที่เป็นผื่น ทานาน 1 เดือน ในกรณีที่ทายาแล้วอาการไม่ดีขึ้นหรือรอยโรคเป็นบริเวณกว้างอาจพิจารณาใช้ยารับประทานฆ่าเชื้อรา เช่น ยา itraconazole, terbinafine เป็นต้น
        2.3 โรคกลากที่ใบหน้า (Tinea faciei) มักได้ประวัติสัมผัสกับสัตว์เลี้ยงโดยตรง เช่น ให้สัตว์เลี้ยงเลียหน้า หรือมีการสัมผัสใกล้ชิด ลักษณะรอยโรคเป็นผื่นวงแดง ขอบนูน มีขุยสีขาว การรักษาใช้การทายาฆ่าเชื้อรา เช่นยาทา ketonazole, clotrimazole หรือ terbinafine โดยทานาน 1 เดือน
3. โรคติดเชื้อพยาธิ โรคที่พบบ่อยคือโรคพยาธิชอนไชผิวหนัง (Cutaneous larva migrans) โดยสุนัขหรือแมวอาจเป็นที่อยู่อาศัยของพยาธิปากขอชนิด Ancylostoma braziliemsis หรือ Ancylostoma caninum ซึ่งพยาธิมักจะปนมาในอุจจาระของสุนัขหรือแมว ตัวอ่อนของพยาธิระยะติดต่อจะไชเข้าสู่ผิวหนังบริเวณเท้าของคนที่ไม่ได้สวมรองเท้าหรือผิวหนังของเด็กที่นั่งเล่นตามพื้นดิน และค่อย ๆ คืบไปตามชั้นของผิวหนัง ทำให้เห็นลักษณะของผื่นเป็นรอยคดเคี้ยว โดยมักพบผื่นบริเวณผิวหนังที่สัมผัสกับดินโดยตรง และที่สำคัญคือมีอาการคันมากร่วมด้วย ถ้าไม่รักษาผื่นอาจหายเองได้ภายใน 1 เดือนถึง 2 ปี วิธีการรักษาคือการรับประทานยา ivermectin รับประทานครั้งเดียวหรือยา albendazole รับประทานวันละ 1 ครั้งติดต่อกัน 3 วัน

วิธีป้องกันการติดเชื้อจากสัตว์เลี้ยงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เพื่อหลีกเลี่ยงและลดความเสี่ยงในการติดโรคผิวหนังจากสัตว์เลี้ยง โดยแนะนำให้ปฏิบัติตัวดังนี้
    1. หมั่นสำรวจผิวหนังของสัตว์เลี้ยง ถ้ามีผื่นหรือรอยโรคควรพาไปพบสัตวแพทย์และหลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์เลี้ยงบริเวณที่เป็นโรคผิวหนังจนกว่าจะหาย
    2. ไม่ใกล้ชิดกับสัตว์เลี้ยงมากจนเกินไป เช่น ให้สัตว์เลี้ยงเลียหน้าหรือปาก
    3. ล้างหรือทำความสะอาดผิวหนังบริเวณที่สัมผัสกับสัตว์เลี้ยงทุกครั้ง
    4. ใช้แชมพูหรือครีมอาบน้ำที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อราให้กับสัตว์เลี้ยง
    5. นำสัตว์เลี้ยงไปตรวจสุขภาพกับสัตวแพทย์อย่างสม่ำเสมอ

Column File (PDF): 
เนื้อหาภายในฉบับที่ 48