หัวใจดวงใหม่ ...ในวันพ่อ...

หัวใจดวงใหม่ ...ในวันพ่อ...
Volume: 
ฉบับที่ 43 เดือนมกราคม 2565
Column: 
Behind the Scene
Writer Name: 
อนุสรา ธนิกกุล งานการพยาบาลผู้ป่วยวิกฤต ฝ่ายการพยาบาล ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

    คุณเชื่อเรื่องปาฏิหาริย์ไหม โดยเฉพาะเรื่องราวของชีวิตที่เหมือนได้ชีวิตใหม่อีกครั้ง หากจะพูดถึงชีวิตใครสักคน คงเป็นเรื่องยากที่จะอธิบาย โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตของชีวิตที่ไม่สามารถคาดเดาเหตุการณ์ในอนาคตได้แน่นอน ทุกคนคงปรารถนาการมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ไม่เกิดการเจ็บป่วยคงจะดีที่สุด แต่หากวันหนึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ การเข้าใจ ยอมรับและการดูแลตัวเองให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี คงเป็นสิ่งเดียวที่สามารถทำให้ชีวิตดำเนินต่อไปได้ เช่นเดียวกับผู้ป่วยรายนี้ 

    ย้อนไป ประมาณเดือนสิงหาคม ปี 2562 ในช่วงสาย ๆ ของวันหนึ่ง ขณะที่ฉันและพยาบาลอีกหลายคนในหอผู้ป่วยวิกฤตหัวใจ ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ กำลังให้การดูแลผู้ป่วยตามปกติดังเช่นทุก ๆ วัน ทันใดนั้นก็มีเสียงโทรศัพท์ดังขึ้น ปลายสายจากพยาบาลประสานงานรับผู้ป่วยแจ้งว่าเราต้องรับผู้ป่วยใหม่จากหน่วยตรวจผู้ป่วยนอก ซึ่งอาการของผู้ป่วย ในขณะนั้น มีอาการหอบเหนื่อยจากภาวะหัวใจล้มเหลว หลังจากที่ได้รับแจ้งทุกคนภายในเวร ต่างพากันเตรียมพร้อมในการรับผู้ป่วยรายนี้เข้ารับการรักษาทันที ครั้งแรกที่พบกับผู้ป่วย ชายใกล้วัยเกษียณ อายุ 55 ปี รูปร่างผอม สีหน้าอ่อนเพลีย หายใจดูหอบเหนื่อย 

    “สวัสดีค่ะ ดิฉันเป็นพยาบาลที่นี่นะคะ ตอนนี้อาการเป็นยังไงบ้างคะ” ฉันกล่าวทักทาย พร้อมกับสอบถามอาการทั่วไปและประเมินผู้ป่วยตามปกติ สิ่งที่ฉันสัมผัสได้ด้วยใจ คือ ความเป็นกันเองของผู้ป่วย พูดจาสุภาพ อ่อนน้อม อัธยาศัยดี และยังแอบเกรงใจพยาบาลเล็กน้อย ฉันพูดคุยสร้างสัมพันธภาพ จนผู้ป่วยอนุญาตให้ฉันเรียกว่าคุณลุงได้ 

    คุณลุงซึ่งยังไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้นกับตัวเอง พร้อม ๆ กับฉันที่ยังไม่ทราบประวัติคนไข้โดยละเอียด เมื่อแพทย์ได้ทำการตรวจหัวใจคุณลุงด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Echocardiography) ก็พบว่า ประสิทธิภาพการบีบตัวของหัวใจคุณลุงเหลือเพียงแค่ 8% ซึ่งถือว่าน้อยมาก หัวใจเพียงดวงเดียวของคุณลุงอ่อนแอเกินกว่าที่จะสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้เพียงพอ หัวใจที่เต้นเพียงแผ่วเบาดวงนี้ไม่สามารถรักษาได้ด้วยวิธีอื่น ๆ อีกแล้ว แพทย์จึงพิจารณาการรักษาโดยการผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจซึ่งเป็นหนทางที่จะช่วยให้ชีวิตคุณลุงดำเนินต่อไปได้ และแน่นอนว่ากระบวนการปลูกถ่ายอวัยวะต้องใช้ระยะเวลาในการรอผู้ใจบุญบริจาค ซึ่งไม่อาจทราบได้ว่าต้องรอไปอีกกี่วัน หรือกี่เดือน 

    ทันทีที่คุณลุงทราบว่าต้องเปลี่ยนหัวใจ ฉันสังเกตเห็นแววตาแห่งความหวังที่จะได้ชีวิตใหม่ แต่หลังจากเข้ารับการรักษาเพียงไม่นานความดันโลหิตของคุณลุงลดต่ำลงอย่างกะทันหัน เป็นภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงและมีอัตราการเสียชีวิตสูง แพทย์ต้องประคับประคองหัวใจคุณลุงไว้ระหว่างรอหัวใจดวงใหม่อย่างเร่งด่วน โดยการใส่เครื่องพยุงหัวใจทางหลอดเลือดแดงใหญ่บริเวณขาหนีบด้านขวา ซึ่งเทคโนโลยีทางการแพทย์นี้ใช้ในการรักษาร่วมในผู้ที่มีภาวะช็อกจากโรคหัวใจ หรือใช้ในระหว่างการรอผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจเพื่อลดการทำงานของหัวใจและช่วยเพิ่มเลือดไปเลี้ยงหลอดเลือดหัวได้มากขึ้น 

    พวกเราทุกคนต่างช่วยกันคนละไม้คนละมือจนสามารถช่วยให้หัวใจของคุณลุงสามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายได้อย่างเพียงพอ สายยางขนาดใหญ่ที่สอดอยู่ในหลอดเลือดแดงเกือบถึงหัวใจต้องคาสายไว้ตลอดเวลา และยังมีสายต่าง ๆ ที่ช่วยในการเฝ้าระวังหัวใจติดอยู่เต็มตัว ทำให้คุณลุงต้องมีข้อจำกัดในการเคลื่อนไหวและไม่สามารถงอขาได้เกิน 30 องศา ส่งผลให้การใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วยลำบากมากยิ่งขึ้น ต้องนอนบนเตียงตลอดเวลา ทำให้ฉันตระหนักดีว่าการดูแลผู้ป่วยรายนี้ต้องมีความละเอียด ใส่ใจ และเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ร่วมกับการดูแลด้านจิตใจผู้ป่วย ฉันจะคอยพูดคุยและให้กำลังใจคุณลุงอยู่เสมอ และถึงแม้จะมีข้อจำกัดมากเพียงใดก็ไม่ได้ทำให้คุณลุงท้อแท้หรือสิ้นหวัง มันทำให้ฉันมีกำลังใจในการดูแลคุณลุงต่อไปเช่นเดียวกัน 

    ชื่อของผู้ป่วยถูกส่งไปขอรับบริจาคหัวใจและต่อคิวตามปกติ การรักษาดำเนินไปเรื่อย ๆ เวลาผ่านไปวันแล้ววันเล่า ไม่มีใครบอกได้ว่าเมื่อไหร่จะได้หัวใจดวงใหม่ คุณลุงไม่เคยสอบถามถึงการได้รับบริจาคเลยเพราะการได้รับบริจาคหัวใจมานั้นหมายถึงว่าต้องมีคน ๆ หนึ่งต้องจากไป เราจึงรอเพียงแค่ปาฏิหาริย์ไปพร้อม ๆ กันจนเวลาล่วงเลยผ่านไปเกือบสองเดือน ขณะที่คุณลุงไม่ได้เจอบรรยากาศอื่น ๆ เลยนอกจากเตียงผู้ป่วยและห้องสี่เหลี่ยมในโรงพยาบาล ต้องอยู่บนเตียงตลอดเวลาโดยมีพยาบาลเป็นผู้ช่วยเหลือกิจวัตรประจำวันทุกอย่าง จนในที่สุดวันที่ทุกคนรอคอยก็มาถึง เมื่อคุณหมอโทรแจ้งว่าได้รับการบริจาคหัวใจแล้ว ฉันและพยาบาลทุกคนที่ดูแลคุณลุงต่างพากันดีใจ รีบแจ้งให้คุณลุงรู้ทันที 

    “คุณลุงคะ คุณหมอโทรแจ้งว่าตอนนี้มีผู้บริจาคหัวใจแล้วค่ะ” สีหน้าที่แสดงออกฉันรู้สึกได้ว่าคุณลุงก็ดีใจเช่นกัน ทุกคนรีบเตรียมความพร้อมของผู้ป่วยเพื่อการผ่าตัด โทรศัพท์ดังขึ้นอีกครั้ง คุณหมอโทรกลับมาแจ้งว่าจากการตรวจเช็กอย่างละเอียดแล้ว หัวใจดวงนั้นไม่เหมาะสมเพียงพอสำหรับคุณลุง รอยยิ้มบนใบหน้าทุกคนกลับหายไป กลายเป็นแววตาที่เศร้าหมอง ไม่มีใครกล้าและพร้อมที่จะเดินกลับไปแจ้งผู้ป่วย กลายเป็นความสิ้นหวัง เสียใจ เปรียบเสมือนห้องที่มืดมิดมานานถูกเปิดสวิตซ์ไฟให้สว่างขึ้น แต่ไม่นานไฟนั้นก็ดับวูบลงอีกครั้งอย่างกะทันหัน แต่ถึงอย่างไรเราก็ต้องบอกความจริงกับผู้ป่วย 

    “คุณลุงคะ ทางคุณหมอโทรมาแจ้งว่า หัวใจดวงนั้นไม่สามารถเข้าได้กับหัวใจคุณลุงค่ะ” เสียงของฉันสั่นเครือเล็กน้อย แต่เสียงที่ได้ยินคุณลุงตอบกลับพวกเราว่า “ไม่เป็นไร มันยังไม่ใช่วันของเรา” แม้ผู้ป่วยจะแสดงออกว่าไม่เป็นไร แต่ในใจลึก ๆ ไม่อาจคาดเดาได้ เขาอาจจะกำลังเสียใจและสิ้นหวัง สิ่งเดียวที่ฉันทำได้ตอนนี้คือการให้กำลังใจและดูแลผู้ป่วยประคับประคองและป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาวะแทรกซ้อนจากการใส่เครื่องพยุงหัวใจเป็นระยะเวลานาน เช่น หลอดเลือดขาขาดเลือดเฉียบพลันและการติดเชื้อ เนื่องจากตอนนี้คุณลุงได้ใส่เครื่องพยุงหัวใจมาเป็นระยะเวลานานถึง 72 วันแล้ว ซึ่งโดยปกติการใส่สายทางหลอดเลือดที่มากกว่า 14 วัน โอกาสที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวจะยิ่งเพิ่มมากขึ้น บทบาทที่ท้าทายและสำคัญที่สุดในตอนนี้คือการดูแลผู้ป่วยด้วยหัวใจและตามมาตรฐานวิชาชีพ เป็นสิ่งที่พวกเราตระหนักอยู่เสมอ และแล้วในเช้าวันหนึ่ง วันพุธที่ 5 ธันวาคม วันที่ทุกคนรู้ดีว่าคือวันพ่อ เป็นวันที่ทุกคนจำได้ไม่ลืมในทุก ๆ ปี ในขณะที่ฉันและพยาบาลทุกคนกำลังปฏิบัติหน้าที่ดูแลให้การพยาบาลผู้ป่วยอยู่นั้น โทรศัพท์แห่งการรอคอยได้ดังขึ้น 

    “สวัสดีค่ะ CCU ชั้น 9 อาคารสมเด็จพระเทพรัตน์ค่ะ” ปลายสายเสียงคุณหมอผู้ดูแลผู้ป่วย “หมอจะแจ้งว่าคุณลุงได้หัวใจแล้วนะครับ เตรียมคนไข้ให้ผมหน่อย เดี๋ยวผมโทรมาคอนเฟิร์มอีกที” สิ่งที่ได้ยินมันทำให้หัวใจของทุกคนพองโตอีกครั้ง บทเรียนมาจากครั้งที่แล้ว ทำให้ไม่มีใครรีบวิ่งไปบอกผู้ป่วยในทันที เนื่องจากเกรงว่าจะทำให้ผู้ป่วยต้องผิดหวังอีกครั้ง เราจึงได้แต่เฝ้ารอและภาวนาให้หัวใจดวงนี้เหมาะสมกับคุณลุง ถึงแม้ในใจลึก ๆ จะรับรู้ว่าเราอาจจะต้องผิดหวังอีกครั้ง ขณะที่พยาบาลทุกคนกาลังเตรียมผ่าดัดอย่างรวดเร็วและไม่ให้เกิดความผิดพลาดฉันสังเกตเห็นผู้ป่วยมองออกมาด้วยแววตาสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้น และแล้วเสียงโทรศัพท์ดังขึ้นอีกครั้ง เป็นคุณหมอเจ้าของไข้นั่นเอง 

    “คุณพยาบาลเตรียมคนไข้เข้าห้องผ่าตัดนะครับ เดี๋ยวเราจะต้องผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจให้คุณลุงแล้วครับ” ทุกคนดีใจอย่างบอกไม่ถูก คราวนี้เราสามารถบอกกับผู้ป่วยได้แล้ว ทุกคนค่อย ๆ เดินไปทีละคน สองคน น้ำตาเริ่มคลอ “คุณลุงคะ คุณลุงได้หัวใจแล้ว เดี๋ยวเราต้องเตรียมตัวไปห้องผ่าตัดแล้วนะคะ” คุณลุงก็ตอบรับ “ครับ” พยาบาลยืนปาดน้ำตาด้วยความปลื้มปิติ คุณลุงพูดว่า “ว่าจะไม่ร้องไห้แล้วนะ” หลังจากนั้นน้ำตาก็ไหลตามกันทั้งผู้ป่วยและพยาบาล 

    จนถึงเวลาที่เจ้าหน้าที่มารับผู้ป่วยไปห้องผ่าตัด ซึ่งภายหลังการผ่าตัดผู้ป่วยต้องไปพักฟื้นที่หอผู้ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะ ทุกคนต่างให้กำลังใจผู้ป่วยและภาวนาขอให้การผ่าตัดผ่านไปได้ด้วยดี พวกเรายืนส่งผู้ป่วยจนผ่านลับประตูหอผู้ป่วยไป หน้าที่ของเราสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี สำหรับการดูแลประคับประคองผู้ป่วยรายนี้ได้อย่างปลอดภัยและไม่เกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างการรอหัวใจดวงใหม่ 

    ภายหลังการผ่าตัด เราทราบกันว่าทุกอย่างผ่านไปด้วยดี คุณลุงปลอดภัยพร้อมกับได้รับหัวใจดวงใหม่ ปาฏิหาริย์ของพวกเราเกิดขึ้นแล้วจริง ๆ แต่ปาฏิหาริย์ครั้งนี้ไม่อาจเกิดขึ้นได้ ถ้าไม่มีผู้บริจาคหัวใจที่มีค่าดวงนี้ ต้องขอบคุณผู้ใจบุญที่มีจิตอันเป็นกุศลอย่างยิ่งที่สละอวัยวะเพื่อต่อลมหายใจให้คุณลุงได้มีชีวิตต่อไป เราต่างพากันดีใจกับผู้ป่วยด้วยความรู้สึกยินดีจากใจ

    เวลาผ่านไปหลายวัน ในขณะที่ทุกคนทำงานกันตามปกติ เสียงกริ่งหน้าประตูหอผู้ป่วยก็ดังขึ้น เมื่อประตูเปิดออก ชายคนหนึ่งนั่งรถเข็นเข้ามา เป็นคุณลุงนั่นเอง ทุกคนต่างพากันเข้าไปพูดคุยกับคุณลุง สีหน้าคุณลุงดูสดใส แข็งแรง มีน้ำมีนวล พร้อมกล่าวกับพวกเราว่า “พอดีคุณหมอจะให้กลับบ้านแล้ว ผมขออนุญาตคุณหมอมาเยี่ยมพวกเราก่อนครับ” ทุกคนต่างยินดีที่ได้ยิน มันคือความสุขใจอย่างเปี่ยมล้นเมื่อได้เห็นผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดหัวใจสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติอีกครั้ง 

    จากประสบการณ์การดูแลผู้ป่วยรายนี้ทำให้ฉันตระหนักได้ว่า ผู้ป่วยแต่ละคนมีอาการ ความรุนแรง และข้อจำกัดที่แตกต่างกัน

    การมีเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัยในการรักษา ร่วมกับการดูแลโดยใช้ศาสตร์และศิลป์ของแพทย์และพยาบาลสำคัญในทุก ๆ ขณะ โดยเฉพาะการดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวมที่ต้องให้ความสำคัญทั้งร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณของผู้ป่วย 

    ดังเช่นผู้ป่วยรายนี้ นอกจากการประคับประคองร่างกายให้สามารถดำเนินต่อไปได้โดยไม่เกิดภาวะแทรกซ้อน อีกสิ่งที่ต้องเราต้องประคับประคองร่วมกันคือจิตใจของผู้ป่วย ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพของการรักษาและการพยาบาลบนพื้นฐานองค์ความรู้ตามมาตรฐานวิชาชีพ ความภาคภูมิใจที่ทำให้ผู้ป่วยผ่านช่วงวิกฤตของชีวิตไปได้ด้วยดี กลายเป็นแรงผลักดันที่จะขับเคลื่อนทำให้ฉันและทุก ๆ คนมุ่งมั่นตั้งใจปฏิบัติงานในวิชาชีพนี้ต่อไป
 

Column File (PDF): 
เนื้อหาภายในฉบับที่ 43