ศูนย์ปลูกถ่ายตับ

ศูนย์ปลูกถ่ายตับ

     เนื่องด้วยการปลูกถ่ายตับเป็นวิธีการรักษาวิธีเดียวที่จะรักษาผู้ป่วยโรคตับแข็งระยะสุดท้าย โรคตับวายเฉียบพลันรุนแรง หรือมะเร็งตับที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ การปลูกถ่ายเป็นการรักษาระดับตติยภูมิที่ต้องใช้แพทย์เฉพาะทางหลายสาขา ทั้งศัลยแพทย์ กุมารแพทย์ แพทย์จุลศัลยกรรม วิสัญญีแพทย์ รังสีแพทย์ ฯลฯ ทำงานร่วมกันเป็นทีมตลอดระยะเวลาการรักษา ทั้งก่อนการผ่าตัด และหลังการผ่าตัด คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบ ประสบความสำเร็จในการผ่าตัดปลูกถ่ายตับ จากผู้ป่วยสมองตายให้กับเด็กเป็นครั้งแรกในเอเชียเมื่อปี 2533 และได้ก่อตั้งศูนย์การปลูกถ่ายตับในประเทศไทยขึ้นในปี พ.ศ. 2544 เนื่องจากภาวะขาดแคลนผู้บริจาคตับ จึงทำให้มีผู้ป่วยเสียชีวิตลงจำนวนมากระหว่างรอรับการรักษา ดังนั้น คณะฯ จึงได้เริ่มการปลูกถ่ายตับโดยใช้ตับจากพ่อหรือแม่ที่ยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งนับเป็นวิทยาการทางการแพทย์ขั้นสูง ที่เพิ่มโอกาสในการรักษาให้แก่ผู้ป่วยมากยิ่งขึ้น ทำให้ขณะนี้มีผู้ป่วยที่ทำการผ่าตัดปลูกถ่ายตับจากพ่อแม่สู่ลูกมากที่สุดให้ประเทศรวมทั้งมีผลสำเร็จในระดับสากล

     นอกจากนี้แล้ว ศูนย์ปลูกถ่ายตับ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ยังเป็นผู้นำในด้านการปลูกถ่ายอวัยวะตับ และไตพร้อมกันในทีเดียวตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 จวบจนขณะนี้ มีผู้ได้รับบริการปลูกถ่ายตับพร้อมไต รวมทั้งสิ้นแล้ว 6 ราย และมีผลสำเร็จที่ดียิ่งทั้ง 6 ราย ต่อมาในปี พ.ศ. 2552 ได้มีการผ่าตัดปลูกถ่ายตับจากผู้ใหญ่สู่ผู้ใหญ่สำเร็จเป็นรายแรกของประเทศไทย ซึ่งความสำเร็จที่เกิดขึ้น เกิดจากการทำงานอย่างเป็นระบบ และมีประสิทธิภาพของทีมงานที่มีจุดมุ่งหมายในการต่อชีวิตใหม่ใกบผู้ป่วยเหล่านี้ ให้กลับมามีคูณภาพชีวิตที่ดี และมีประโยชน์ต่อสังคมต่อไป

     ศูนย์ปลูกถ่ายตับภายในศูนย์การแพทย์สิริกิติ์มุ่งปรับปรุงห้องผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะ ซึ่งเป็นการผ่าตัดใหญ่ ต้องผ่าตัดพร้อมกัน 2 ห้อง 2 ทีม และหอผู้ป่วยในศูนย์ปลูกถ่ายอวัยวะ หลังการเปลี่ยนตับ ผู้ป่วยจะต้องได้รับการดูแลรักษาอย่างใกล้ชิด ซึ่งจะต้องเป็นห้องแยกปลอดเชื้อ เนื่องจากผู้ป่วยจะต้องได้รับยากดภูมิคุ้มกัน จำนวน 14 ห้อง ให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น อันเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้การปลูกถ่ายตับประสบความสำเร็จมากขึ้นเช่นกัน

 

โครงการปลูกถ่ายตับจากพ่อแม่สู่ลูก เฉลิมพระเกียรติ 55 พรรณษา สมเด็จพระเทพรัตนราขสุดาฯสยามบรมราชกุมารี

     เนื่องจากการปลูกถ่ายตับในผู้ป่วยแค่ละราย มีค่ารักษาพยาบาลในปีแรกประมาณ 1,000,000 บาท ต่อคน และในปีต่อไปเป็นค่ายากดภูมิตลอดชีวิตปีละ 120,000 บาท ด้วยค่ารักษาที่ค่อนข้างสูง จึงเป็นเหตุให้ผู้ป่วยเด็กที่ขาดทุนทรัพย์เสียชีวิตจำนวนมาก มูลนิธิรามาธิบดีฯ จึงริเริ่มโครงการนี้ขึ้นเพื่อช่วยเหลือและมอบโอกาสให้ผู้ป่วยเด็กเหล่านั้นได้รับการรักษา ขณะนี้มีผู้ป่วยเด็กที่รอรับการปลูกถ่ายตับกว่าร้อยคน โครงการนี้กำหนดระยะเวลาดำเนินการไว้ 5 ปี เริ่มต้นเมื่อสิงหาคม พ.ศ. 2553 ถึง พ.ศ. 2558