ลักษณะเสี่ยงต่อการมีบุตรยาก ที่แพทย์อยากบอก

ปัญหาสุดปวดใจของเหล่าคู่รักที่อยากมีลูก มีลูกสักคนยากจัง ไม่ว่าจะทำอย่างไงก็ไม่มี ต้องลองหันกลับมาดูสังเกตพฤติกรรมของตัวเองบ้างแล้วล่ะ ว่ามีพฤติกรรมไหนเสี่ยงที่ทำให้มีลูกยากบ้าง

อายุที่มากขึ้น

มีผลต่อการมีบุตรยากโดยตรงขอแบ่งออกเป็นผู้ชาย และผู้หญิง
     – ผู้หญิง หากอายุมากกว่า 35 ปี มีโอกาสตั้งครรภ์ลดลง เนื่องจากคุณภาพและปริมาณของไข่ลดลงไปเรื่อย ๆ และเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ของทารกที่มีความผิดปกติทางโครโมโซม
     – ผู้ชาย เมื่ออายุมากกว่า 40 ปี ฮอร์โมนเพศชาย การมีกิจกรรมทางเพศ และปริมาณน้ำเชื้ออสุจิมีคุณภาพลดลง

การมีน้ำหนักตัวเกิน

หลายคนอาจยังไม่รู้ว่าน้ำหนักตัวมีผลต่อการมีลูกยากด้วย ทั้งผู้ชายและผู้หญิง โดยเฉพาะผู้ที่มีดัชนีมวลกายมากกว่า 25 กิโลกรัมต่อเมตร2 ทำให้ฮอร์โมนจากต่อมสมองส่วนหน้า ที่ทำให้ระบบสืบพันธุ์ทำงานขัดข้อง
     – ผู้หญิง มักจะสัมพันธ์กับภาวะไข่ไม่ตก ถุงน้ำรังไข่หลายใบ ทำให้ฮอร์โมนเพศชายมากขึ้นในเพศหญิง
     – ผู้ชาย จะมีฮอร์โมนเพศหญิงสูงขึ้น ทำให้เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ

การมีโรคประจำตัวบางชนิด

     สำหรับคนที่มีโรคประจำตัว แล้วต้องกินยาบางชนิดไป อาจมีผลข้างเคียงต่อการทำงานของฮอร์โมนสืบพันธุ์ ทำให้ผู้หญิงไข่ไม่ตก โดยเฉพาะผู้ชาย จะทำให้คุณภาพและปริมาณของตัวอสุจิลดลง ยาบางชนิดมีผลลดอารมณ์ทางเพศ การแข็งตัวของอวัยวะเพศและการหลั่งน้ำอสุจิได้

การสูบบุหรี่

     เมื่อสารนิโคตินของบุหรี่เข้าสู่ร่างกาย จะไปเพิ่มสารอนุมูลอิสระในร่างกาย ส่งผลต่อคุณภาพของไข่ในผู้หญิง คุณภาพและปริมาณอสุจิจะลดลงในผู้ชาย

การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากจนเกินไป

     การดื่มแอลกอฮอล์ทำให้การดูดซึมวิตามิน แร่ธาตุลดลง ส่งผลให้ปริมาณอสุจิที่แข็งแรงลดลง และยังทำให้ปริมาณของอสุจิลดลงด้วย

การดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน

     ในหนึ่งวันไม่ควรได้รับคาเฟอีนเกิน 300 มิลลิกรัม หรือเทียบง่าย ๆ คือกาแฟ 3 แก้วนั้นเอง ก็จะทำให้อัตราการมีบุตรยากสูงขึ้น

การรับประทานอาหารในสัดส่วนที่ไม่เหมาะสม

     พบว่าการกินอาหารขยะ (junk food) อาหารหวาน อาหารที่มีน้ำมันเยอะ บริโภคผักผลไม้น้อย ก็จะส่งผลให้อัตราการตั้งครรภ์ลดลงด้วย

การไม่ออกกำลังกาย

     แม้ฝุ่นจะเยอะออกกำลังกายนอกบ้านไม่ได้ ก็สามารถออกกำลังกายในบ้านได้ หากไม่ออกกำลังกายการเผาผลาญพวกแป้งและไขมันจะแย่ลงซึ่งสัมพันธ์กับภาวะอ้วนด้วย

มีความเครียด

     อาจส่งผลไปถึงการนอนไม่หลับ พักผ่อนไม่เพียงพอ ก็จะทำมีผลไปถึงการตั้งครรภ์ แต่ก็ยังไม่มีข้อมูลที่ระบุได้แน่ชัดถึงความสามารถในการสืบพันธุ์

การมีคู่นอนหลายคน

     นอกจากมีลูกยากแล้ว ยังเสี่ยงในการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์หลายชนิด และการติดเชื้อ HPV ซึ่งเป็นไวรัสก่อโรคมะเร็งปากมดลูก โรคบางชนิดอาจเกิดภาวะหนองใน หนองในเทียม ทำให้มีบุตรยาก หรือเป็นหมั่นถาวร

ภาวะปวดท้องประจำเดือนมากกว่าปกติ

     และภาวะตกขาวในผู้หญิง ควรได้รับการตรวจประเมินเพิ่มเติม เพื่อหาสาเหตุบางชนิด สัมพันธ์กับการมีบุตรยาก

ปัญหาการแข็งตัวของอวัยวะเพศชาย และปัญหาการหลั่งน้ำอสุจิ

     เป็นปัญหาที่ฝ่ายชายมักจะเขินอายในการปรึกษาแพทย์ แต่เป็นภาวะที่รักษาได้ โดยมีการรักษาหลากหลายรูปแบบเพื่อการมีบุตร

     หากคู่รักใดมีปัญหาการมีลูกยากไม่ต้องกังวลใจ เพราะปัจจุบันความก้าวหน้าเทคโนโลยีการแพทย์มีหลายวิธีที่ช่วยเพิ่มโอกาสการมีลูก แต่พฤติกรรมดังกล่าวก็ควรหลีกเลี่ยงด้วยนะ เพราะไม่ได้แค่ส่งต่อแค่การมีลูกยาก แต่ยังส่งผลต่อสุขภาพโดยรวมด้วย

ข้อมูลโดย อ. พญ.อาทิตยา สิงห์วงษา
สาขาเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ ภาควิชาสูติศาสตร์–นรีเวชวิทยา
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

ขอบคุณที่มาจาก Rama Channel

Reference
https://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/article/พฤติกรรมเสี่ยงต่อการมี/