สรุปสวัสดิการประกันและค่ารักษาพยาบาลจากรัฐบาล

   ข่าวสารประชาสัมพันธ์  (ดูทั้งหมด)

เรื่องของประกันเป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับทุกคน โดยเฉพาะเรื่องประกันสุขภาพไว้เบิกค่ารักษาพยาบาลยามเจ็บป่วย แต่สำหรับหลายคนที่อยากจะมีประกันสุขภาพ แต่ติดตรงปัญหาค่าเบี้ยประกัน ที่อาจจะมองว่าจ่ายค่าเบี้ยประกันระยะยาวไม่ไหวจริงๆ ทางออกก็คือ เรายังมีสวัสดิการของรัฐที่ช่วยเหลือเรื่องค่ารักษาพยาบาลของเราได้ ซึ่งสวัสดิการตรงนี้มีชื่อเรียกว่า "หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ" หรือที่หลายๆคนรู้จักในนาม "บัตรทอง" นั่นเอง (ซึ่งแต่เดิมมันก็คือโครงการ "30 บาทรักษาทุกโรค" นั่นแหละ แต่ภายหลังปรับเปลี่ยนใหม่ ไม่ต้องจ่าย 30 บาทแล้ว สามารถรักษาฟรีได้เลย ถ้าค่ารักษาไม่เกินขอบเขตที่กำหนด) ดังนั้น จึงขอมาสรุปสิทธิ์และเงื่อนไขคร่าวๆของสวัสดิการนี้ให้ทุกคนได้รับทราบกัน เพื่อเป็นการรักษาสิทธิ์ในฐานะที่เราเป็นพลเมืองคนหนึ่งของประเทศไทยกัน ^^

1. สวัสดิการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติคืออะไร?
คือ หนึ่งในสวัสดิการรักษาพยาบาล ที่รัฐบาลจัดให้แก่ประชาชน ซึ่งสวัสดิการรักษาพยาบาลของรัฐมีทั้งสิ้น 5 กลุ่ม ดังนี้

1) สวัสดิการข้าราชการ = ใครที่รับราชการ มีสิทธิ์เบิกค่ารักษาพยาบาลของรพ.รัฐได้ฟรี (กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง เป็นผู้ดูแล)

2) กองทุนประกันสังคม = เป็นสวัสดิการด้านประกันที่รัฐบาลให้สิทธิ์แก่ประชาชนในการจ่ายเงินสมทบ (ร่วมกับนายจ้าง หรือรัฐบาล) เข้ากองทุน (เรียกคนที่มีสิทธิ์กลุ่มนี้ว่า "ผู้ประกันตน") ซึ่งเรามีสิทธิ์เบิกค่ารักษาพยาบาล, กรณีทุพพลภาพ, เสียชีวิต หรือว่างงาน จากกองทุนประกันสังคมนี้ได้ (กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เป็นผู้ดูแล) 

3) สวัสดิการพนักงานส่วนท้องถิ่น = เป็นสวัสดิการเบิกค่ารักษารพ.รัฐหรือสถานพยาบาลท้องถิ่น ของข้าราชการหรือลูกจ้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (กระทรวงมหาดไท เป็นผู้ดูแล)

4) สวัสดิการของหน่วยงานรัฐอื่นๆ = เป็นสวัสดิการเบิกค่ารักษารพ.รัฐ ของหน่วยงานรัฐอื่นๆที่ไม่ใช่ข้าราชการ เช่น หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ (หน่วยงานนั้นๆเป็นผู้ดูแล)

5) หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ = เป็นสวัสดิการเบิกค่ารักษารพ.รัฐ หรือสถานพยาบาลใดๆที่ลงทะเบียนกับทางรัฐ ของประชาชนคนไทยทุกคนที่**ไม่อยู่ในกลุ่มที่มีสิทธิ์เบิก 4 กลุ่มดังกล่าวข้างต้น** (สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นผู้ดูแล)

โดยที่เราต้องไปลงทะเบียนสมัครกับหน่วยงานที่กำหนด และเขาจะให้เราเลือกโรงพยาบาลที่อยู่ในเขตใกล้บ้าน ที่เราจะใช้สิทธิ์นี้ได้เพียง 1 โรงพยาบาลเท่านั้น (ยกเว้นกรณีพิเศษต่างๆที่จะกล่าวต่อไป) 

2. ใครที่มีสิทธิ์ได้รับสวัสดิการนี้?
1) ประชาชนคนไทยทุกคน ที่ไม่ได้เป็นข้าราชการหรือทำงานรัฐวิสาหกิจ (สิทธิ์สวัสดิการข้าราชการและรัฐวิสาหกิจ) และไม่ได้เป็นผู้ประกันตนของกองทุนประกันสังคม (สิทธิ์กองทุนประกันสังคม) สามารถตรวจสอบสิทธิ์ว่าเรามีสิทธิ์เบิกสวัสดิการของรัฐในกลุ่มไหนได้ที่ http://www.nhso.go.th/peoplesearch/ 
2) เด็กแรกเกิดที่ไม่มีประกันสุขภาพที่พ่อแม่ซื้อให้
3) ลูกของผู้ที่เป็นข้าราชการ ซึ่งเป็นลูกที่มีอายุเกิน 20 ปี หรือสมรสแล้ว (ถ้าอายุไม่เกิน 20 ปีและยังไม่ได้สมรส สามารถเบิกในสิทธิ์ข้าราชการของพ่อแม่ได้)
4) ลูกของข้าราชการ ตั้งแต่คนที่ 4 เป็นต้นไป (สิทธิ์ลูกข้าราชการใช้ได้สูงสุด 3 คน)
5) ข้าราชการที่เกษียณก่อนกำหนด และไม่ได้รับบำเน็จบำนาญ

3. อยากมีสิทธิ์นี้ต้องทำยังไง? ลงทะเบียนที่ไหน?
เอกสารที่ใช้
- บัตรประจำตัวประชาชน (ถ้าเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ใช้สูติบัตรแทน)
- ถ้าที่อยู่ในบัตรประชาชนไม่ตรงกับที่อยู่ในทะเบียนบ้าน ให้เอาทะเบียนบ้านไปด้วย
- แบบคำขอลงทะเบียน (เอาที่สถานที่ลงทะเบียน)
สถานที่ลงทะเบียน
- กรุงเทพ = สำนักงานเขต 30 แห่งที่กำหนด (สามารถเช็คได้ที่ http://ebook.dreamnolimit.com/nhso/004/
- จังหวัดอื่นๆ = สถานีอนามัย / รพ.รัฐ / สำนักงานสาธารณสุขประจำจังหวัด
จากนั้นก็ระบุโรงพยาบาลที่เราจะใช้สิทธิ์

4. ใช้สิทธิ์โรงพยาบาลไหนได้บ้าง?
ได้เฉพาะโรงพยาบาลที่เราเลือกไว้ในเขตที่เราอยู่อาศัย (เรียกว่า "หน่วยบริการประจำ") แต่เราสามารถขอเปลี่ยนโรงพยาบาลได้ไม่เกิน 4 ครั้งต่อปี (แจ้งได้ที่สถานที่ลงทะเบียน นำบัตรประชาชนกับทะเบียนบ้านไปแจ้ง ซึ่งจะสามารถเริ่มใช้บริการของโรงพยาบาลใหม่ได้ประมาณ 1 เดือนหลังแจ้ง)
**ยกเว้น กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน หรือเกิดอุบัติเหตุฉุกเฉิน ที่เราสามารถใช้สิทธิ์ในโรงพยาบาลใดๆก็ได้

5. ใช้สิทธิ์รักษาอะไรได้บ้าง?
หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ให้บริการที่ครอบคลุมเรื่องสุขภาพต่างๆดังต่อไปนี้
1) สร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (วางแผนมีลูก / ฝากครรภ์ / ฉีดวัคซีน / ตรวจร่างกาย)
2) คลอดบุตร
3) ทันตกรรม
4) ตรวจ / วินิจฉัย / รักษาโรค
5) ค่ายาและเวชภัณฑ์
6) ค่าอาหารและห้องสามัญ
7) การจัดการส่งต่ออาการเจ็บป่วยให้หน่วยบริการอื่น
8) บริการแพทย์แผนไทย (การรักษาด้วยสมุนไพร / นวด / ประคบ)
9) บริการฟื้นฟูสมรรถภาพแก่ผู้พิการ

6. ใช้สิทธิ์รักษาอะไรไม่ได้บ้าง?
1) ผสมเทียมเพื่อให้มีบุตร
2) ผ่าตัดเปลี่ยนเพศ
3) การบำบัดฟื้นฟูผู้ที่ติดยาเสพติด
4) ปลูกถ่ายอวัยวะ (ยกเว้น ไต / ตับ / เปลี่ยนหัวใจ)
5) ทันตกรรมเพื่อความสวยความงาม (จัดฟัน)

7. ต้องเสียค่าใช้จ่ายไหม?
แล้วแต่อาการเจ็บป่วยของเรา โดยทั่วไป หากไม่ได้เจ็บป่วยร้ายแรง มีการพักรักษาตัวในโรงพยาบาลไม่เกิน 72 ชั่วโมง จะไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ (ไม่ต้องจ่าย 30 บาทในการรักษาแล้ว) แต่หากเป็นการเจ็บป่วยร้ายแรง อาจจะต้องมีส่วนที่ออกเพิ่ม สำหรับค่าใช้จ่ายและค่ารักษาส่วนเกินที่ทางกองทุนของรัฐไม่ได้ซัพพอร์ต

8. เวลาต้องเข้าโรงพยาบาล จะใช้สิทธิ์ ต้องทำยังไงบ้าง?
หากลงทะเบียนไว้เรียบร้อยแล้ว เพียงแค่ยื่นบัตรประชาชนให้เจ้าหน้าที่ ก็สามารถใช้สิทธิ์ได้แล้ว (เมื่อก่อนต้องยื่นเป็นบัตรทอง แต่เดี๋ยวนี้ใช้แค่บัตรประชาชนก็ได้แล้ว)

หากต้องการศึกษารายละเอียด หรือสอบถามเพิ่มเติม สามารถเข้าไปศึกษาได้ที่ เว็บไซต์ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่ http://www.nhso.go.th/FrontEnd/index.aspx หรือโทรไปที่เบอร์ 1330 ได้เลย