ศ.นพ.วิชัย เอกพลากร ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ เรื่อง กังวลอ้วนลงพุง บ่อเกิดกลุ่มโรคร้าย

     

เมื่อเอยถึงกลุ่มโรค NCDs หรือกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง คนไทยอาจจะไม่ค่อยรู้จัก แต่หากบอกว่ากลุ่มโรคดังกล่าวเป็นร่มใหญ่ของโรคเบาหวาน, โรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ, โรคถุงลมโป่งพอง, โรคมะเร็ง, โรคความดันโลหิตสูง, โรคอ้วนลงพุง และโรคอัมพฤกษ์-อัมพาต อาจทำให้คนรู้จักตื่นกลัวและไม่อยากให้โรคเหล่านี้เข้ามาใกล้ตัวเอง เพราะนอกจากจะต้องทนความเจ็บปวดแล้ว ยังหมายถึงค่ารักษาพยาบาลที่แพงมหาศาลอีกด้วยกลับมาที่สังคมไทย มีแนวโน้มพบว่าประชาชนมีความเสี่ยงกับโรคเหล่านี้มากอันดับต้นๆ อันเนื่องจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตและการกินของคนที่เปลี่ยนไป จึงถึงเวลาแล้วที่ทุกฝ่ายจะต้องออกมาช่วยรณรงค์ให้ชาวไทยรู้เท่าทัน และเปลี่ยนแปลงการดำเนินชีวิตเพื่อขจัดโรคเหล่านี้ให้ลดลง และเปลี่ยนให้เป็นเมืองของคนสุขภาพดี

เมื่อเร็วๆ นี้ ที่มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล และ ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยมหิดล (สำนักงานเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียนด้านการส่งเสริมสุขภาพ หรือ ASEAN University Network - Health Promotion Network AUN-HPN) กับ สสส. พร้อมร่วมกันขับเคลื่อนมาตรการเพื่อควบคุมและป้องกันโรคไม่ติดต่อของประเทศไทย

ศ.คลินิก นพ.อุดมกล่าวว่า จากการสำรวจภาวะสุขภาพคนไทยด้วยการตรวจร่างกายในปี 2557 เมื่อเทียบกับผลการสำรวจในปี 2552 พบว่า โรคกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCD) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยพบผู้ป่วยโรคเบาหวานและโรคอ้วนเพิ่มมากขึ้นกว่า 1.5 ล้านราย และโรคความดันโลหิตสูงมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 ล้านราย

ทั้งนี้ ในรอบ 10 กว่าปีที่ผ่านมาได้มีความพยายามรณรงค์ให้ประชาชนลดการบริโภคหวาน มัน เค็ม อย่างจริงจัง แต่ยังพบผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคอ้วน และโรคความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้นหลายล้านคนในช่วงเวลาเพียง 5 ปีที่ผ่านมา และมีภาวะแทรกซ้อนโรคกลุ่ม NCDs อื่นตามมา เช่น โรคหัวใจขาดเลือด และโรคอัมพฤกษ์-อัมพาตที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก สะท้อนให้เห็นถึงการลงทุนในการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด เพราะสิ่งแวดล้อมในสังคมได้เปลี่ยนไปตามสังคมโลก ทำให้วิถีชีวิตของคนไทยเปลี่ยนไปสู่วิถีบริโภคนิยม

อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดลกล่าวต่อว่า มหาวิทยาลัยมหิดลจึงได้ร่วมกับ สสส.จัดทำข้อตกลงความร่วมมือขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพระดับภูมิภาค โดยจะสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของมหาวิทยาลัยในเครือข่าย AUN-HPN ส่งเสริมบทบาทของสถาบันการศึกษาในการแลกเปลี่ยนความรู้ ส่งเสริมงานวิจัย และการถ่ายทอดงานวิจัยสู่การพัฒนาเป็นนโยบายด้านส่งเสริมสุขภาพในระดับชาติ รวมทั้งการดำเนินการเพื่อลดพฤติกรรมเสี่ยงที่สำคัญ ได้แก่ การสูบบุหรี่ ดื่มสุรา การขาดการออกกำลังกาย และการบริโภคเกลือ การรับประทานอาหารที่เป็นผลเสียต่อสุขภาพ

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า การดำเนินงานภายใต้ความร่วมมือในระหว่างปี 2559-2562 สสส.จะผลักดันการสร้างศักยภาพของกลไกการสร้างเสริมสุขภาพให้แก่ 30 เครือข่ายมหาวิทยาลัยใน 10 ประเทศอาเซียน เพิ่มผู้นำสร้างเสริมสุขภาพ สร้างนวัตกรรม และนโยบายการสร้างเสริมสุขภาพในระดับอาเซียน

โดยเฉพาะการสนับสนุนการพัฒนานโยบายมหาวิทยาลัยสร้างเสริมสุขภาพ โดย สสส.สนับสนุนการพัฒนากลไกที่ยั่งยืนเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ ตลอดจนแบ่งปันและถ่ายทอดนวัตกรรมและองค์ความรู้ด้านการจัดการปัจจัยเสี่ยงหลักของโรคไม่ติดต่อเรื้อรังสู่นานาประเทศ โดยเชื่อมั่นว่าผลจากความร่วมมือครั้งนี้จะนำไปสู่การพัฒนาความเข้มแข็งของการขับเคลื่อนงานเชิงรุกด้านการสร้างเสริมสุขภาพ โดยเฉพาะผลกระทบจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาค

อีกด้านหนึ่ง ยังมีผลการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกายครั้งที่ 5 ระหว่างปี 2557-2558 ด้วยการสุ่มตรวจสุขภาพประชากรไทย 21 จังหวัด 19,468 ตัวอย่าง โดยความร่วมมือของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข และเครือข่ายมหาวิทยาลัย ทำการสำรวจสุขภาพประชาชน เพื่อสำรวจการเฝ้าระวังทางสุขภาพของคนไทยระดับประเทศ

พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการกองทุน สสส. เผยถึงผลสำรวจว่า พฤติกรรมสุขภาพเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับการสำรวจครั้งที่ 4 เมื่อปี 2552 ใน 4 เรื่องคือ การสูบบุหรี่ลดลงในทุกกลุ่มอายุ จากร้อยละ 19.9 ในปี 2552 เป็นร้อยละ 16 ในปี 2557 การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลง จากร้อยละ 7.3 เหลือร้อยละ 3.4 กิน ผักและผลไม้เพียงพอ 400 กรัมต่อวันขึ้นไปมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ร้อยละ 25.9 หรือ 1 ใน 4 และการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ เช่น เดิน ขี่จักรยาน อยู่ในระดับคงที่ ร้อยละ 80

สรุปได้ว่า คนไทยมีพฤติกรรมดื่มเหล้า-สูบบุหรี่ลดลง ออกกำลังกายคงที่ และกินผักอย่างเพียงพอ แต่โรคที่ต้องจับตา นั่นคือ "โรคทางพฤติกรรมจากการใช้ชีวิต" ที่พบว่าปัจจุบันคนไทยมีภาวะอ้วนถึง 19 ล้านคน ป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูง 13 ล้านคน โรคเบาหวาน 4 ล้านคน อีก 7.7 ล้านคนเสี่ยงเบาหวานในอนาคต

พล.ร.อ.ณรงค์บอกด้วยว่า การทำงานของ สสส.ในก้าวต่อไปจะเน้นการส่งเสริมให้ประชาชนมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอตลอดทุกช่วงวัย และสนับสนุนให้มีปัจจัยแวดล้อมที่เอื้อให้คนได้มีกิจกรรมทางกายอย่างยั่งยืน พร้อมกับเน้นพฤติกรรมโภชนาการที่ลดหวาน มัน เค็มลง โดยเฉพาะมาตรการในการเสนอกฎหมายขึ้นภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ รวมถึงเครื่องดื่มผสมน้ำตาลสูง ซึ่งเป็นมาตรการที่สำคัญที่จะช่วยลดปัจจัยเสี่ยงลงได้

ศ.นพ.วิชัย เอกพลากร หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะหัวหน้าโครงการ ให้ข้อมูลว่า ภาวะโรคอ้วน เบาหวาน ความดัน กลายเป็นโรคที่ต้องเฝ้าระวังมากขึ้นจากผลการตรวจสุขภาพพบภาวะอ้วนเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด

โดยในเพศชายพบร้อยละ 32.9 และเพศหญิงพบร้อยละ 41.8 และเมื่อเทียบกับดัชนีมวลกายพบว่า หญิงไทยมีภาวะอ้วนเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย รองจากมาเลเซีย ส่วนผู้ชายไทย อ้วนเป็นอันดับ 8 ของเอเชีย ขณะเดียวกัน ผู้หญิงมีสัดส่วนเป็นโรคเบาหวาน ร้อยละ 9.8 ผู้ชาย ร้อยละ 7.9 โดยภาคอีสานมีผู้ป่วยด้วยโรคเบาหวานสูงสุด ตามด้วยภาคกลาง ภาคเหนือและภาคใต้ จึงต้องเฝ้าระวังภาวะโรคอ้วน เบาหวาน และความดันมากขึ้น

ศ.เกียรติคุณไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ ที่ปรึกษาของคณะกรรมการกองทุน สสส. ด้านการสาธารณสุข ฉายภาพรวมสุขภาพประชากรทั่วโลกว่า มีปัจจัยที่สำคัญต้องส่งเสริมอาหารที่มีคุณค่าต่อสุขภาพ ขณะเดียวกันต้องลดพฤติกรรมที่ทำลายสุขภาพ โดยเฉพาะการลดการบริโภคน้ำตาลซึ่งเป็นสาเหตุภาวะอ้วน

นอกจากนี้ยังสามารถศึกษานโยบายด้านสุขภาพของประเทศญี่ปุ่นและสิงคโปร์ เพราะประสบความสำเร็จในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนเป็นอย่างดี และมีอัตราภาวะอ้วนของประชากรลดลง

เชื่อว่าการจับมือกันในครั้งนี้จะช่วยทำให้การขับเคลื่อนเพื่อรณรงค์ให้ประชาชนทุกคนเริ่มใส่ใจตัวเองและคนในครอบครัว ด้วยการรับประทานอาหารที่ดี มีคุณภาพ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ไม่สูบบุหรี่ เลิกดื่มสุรา จะนำคนไทยไปสู่ภาวะสุขภาพที่ดีและห่างไกลโรคร้ายได้

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์