กองทัพชุดขาวและอัศวินเสื้อกาวน์ในการสู้รบกับ COVID-19

กองทัพชุดขาวและอัศวินเสื้อกาวน์ในการสู้รบกับ COVID-19
Volume: 
ฉบับที่ 37 เดือนมิถุนายน 2563
Column: 
White coat
Writer Name: 
นันทิตา จุไรทัศนีย์

ท่ามกลางสถานการณ์ COVID-19 ที่แพร่ระบาดไปยังทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย เมื่อพูดถึงโรคติดเชื้อคงจะนึกถึงใครไปไม่ได้นอกจาก ผศ. นพ.กำธร มาลาธรรม รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล จอมทัพแห่งอัศวินเสื้อกาวน์ ซึ่ง @Rama ฉบับ COVID-19 ได้รับโอกาสพิเศษในการสัมภาษณ์ท่านถึงเรื่องราวการทำงานและแง่มุมต่าง ๆ ที่ชวนคิดและติดตาม
    “ในช่วงกลางเดือนมกราคม 2563 เริ่มมีรายงานจากต่างประเทศเข้ามาว่ามีโรคติดต่อเกิดขึ้น แต่ไม่มีรายงานการติดต่อจากคนสู่คน ซึ่งตอนนั้นเรายังไม่แน่ใจเลยว่าจะระบาดเข้ามาสู่ประเทศหรือไม่ แต่ก็ได้เตรียมทีมในการทำงานซึ่งมีประสบการณ์จากตอนที่ SARS และ MERS ระบาดมาก่อนหน้านี้

หลังจากนั้นไม่นานก็ได้รับการยืนยันว่ามี Human to Human Transmission (การติดต่อโรคจากคนสู่คน) ซึ่งในที่สุดก็มาถึงเมืองไทยเมื่อเราพบผู้ป่วยรายแรก ทำให้คิดว่าสักพักโรคนี้จะต้องระบาดเป็นวงกว้างในประเทศไทย เราเตรียมการร่วมกับทีม IC (Infectious Control – หน่วยควบคุมโรคติดเชื้อ) ในการเตรียมอุปกรณ์ป้องกันและสถานที่ในการรับรองผู้ป่วย ส่วนการเตรียมห้องแยกในโรงพยาบาลรามาธิบดี (พญาไท) นั้นมีข้อจำกัดในเรื่องของสถานที่ที่คับแคบและโอกาสเกิดการแพร่กระจายเชื้อได้ ฝ่ายบริหารจึงตัดสินใจที่จะรับผู้ป่วย COVID-19 ไว้ที่สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ ซึ่งที่นั่นมีการระบายอากาศที่โล่ง มีห้องคนไข้ที่กว้างพอ และมี ICU ไว้รองรับ ซึ่งได้ทำการปรับปรุงห้องและระบบระบายอากาศบางส่วน แต่ในขณะเดียวกันก็มีการเตรียมห้องที่ฝั่งพญาไทไว้ด้วยเพื่อสำรองในกรณีที่จำนวนคนไข้มีมากกว่าจำนวนห้องผู้ป่วยที่เตรียมไว้ที่สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์

ในส่วนของการเตรียมคน อันดับแรกคือเรื่องล้างมือ ซึ่งผมดีใจที่ผมรณรงค์เรื่องการล้างมือมา 10 ปี และคนของเราเองก็คุ้นชินกับเรื่องนี้อยู่พอสมควร จนกลายเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งในองค์กร สองคือการสวมหน้าการอนามัย (Surgical Mask, N95) สามคือการสวมใส่ชุด PPE อย่างถูกต้อง มีการสอนและสาธิตแก่บุคลากรที่จำเป็นต้องใช้จากหน่วยควบคุมโรคติดเชื้อ พอการระบาดขยายในวงกว้างก็มีสื่อและประชาสัมพันธ์เรื่องเหล่านี้ทางช่องทางต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น

ในสังคมเริ่มมีการตื่นตัวและตื่นตระหนก มีกระแสเรียกร้องให้คนอยู่บ้าน จนออกมาเป็น campaign ว่า “คุณอยู่บ้านเพื่อเรา เราจะอยู่โรงพยาบาลเพื่อคุณ” ซึ่งเป็นกระแสที่ดีมาก ทำให้เห็นว่าคนไทยมีการตื่นตัวที่ดี และขณะเดียวกันก็มีนวัตกรรมต่าง ๆ เพิ่มขึ้นมากมาย

ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นคนที่มีอาการ คือเข้าข่าย PUI (Patient Under Investigation : ผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์ในการเฝ้าระวัง รายงานและสอบสวนโรค) เราก็ต้องเตรียมแพทย์ พยาบาล ในการตรวจคนไข้เหล่านี้ การป้องกันการติดเชื้อและการเก็บสิ่งส่งตรวจอย่างถูกต้อง การเตรียมพร้อมของห้อง LAB รวมถึงการแจ้งผลตรวจแก่คนไข้ และการรับตัวคนไข้ไปส่งยังสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ ซึ่งต้องมีการสื่อสารที่ถูกต้อง ชัดเจน และไปในทิศทางเดียวกัน ดังนั้นจะเห็นได้ว่าคนไข้เพียงคนเดียว เป็นโรคเดียว แต่ต้องทำงานร่วมกันเป็นทีม เพราะฉะนั้นการประสานงานนั้นเป็นของสำคัญและเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก และเราได้นำแอปพลิเคชั่นไลน์ (Line) มาใช้ในการทำงาน ซึ่งเป็นข้อดีที่ทำให้เราสามารถสื่อสารกันได้อย่างรวดเร็ว

ส่วนในระดับประเทศเราเห็นแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนขึ้นหลาย ๆ อย่าง เช่น Physical Distancing, Social Distancing (การเว้นระยะห่างทางสังคม) Wearing Mask in Public Place (การใส่หน้ากากอนามัยในสถานที่สาธารณะ) Hand Hygiene (การล้างมือ) ซึ่งกลายเป็นมาตรฐานใหม่ของสังคมไทยหรือ New Normal นั่นเอง

อาจารย์กำธรยังเน้นย้ำอีกว่า “จากเรื่องที่ผ่านมา เราก็ได้เรียนรู้หลาย ๆ อย่าง สามารถนำมาสรุปบทเรียนในหลายมิติ และยังมีอาจารย์แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ที่เข้มแข็งซึ่งเป็นทั้งทัพหน้า ทัพหลัง และทัพเสริมต่าง ๆ ให้โรงพยาบาลรามาธิบดีความพร้อมในการขับเคลื่อน ต่อสู้และดูแลช่วยเหลือคนไข้ของเราท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ต่อไป

ในการดูแลผู้ติดเชื้อหรือผู้ป่วย COVID-19 ผู้ที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยมากที่สุดแน่นอนว่าต้องเป็นพยาบาล นักรบชุดขาวเหล่านี้มีการเตรียมการในการทำงานอย่างไร เพื่อให้คนไข้ได้รับการพยาบาลและการดูแลอย่างดีที่สุด @Rama ได้รับโอกาสจากแม่ทัพหญิงแห่งนักรบชุดขาว พว.วรรณา คงวิเวกขจรกิจ ประธานองค์กรพยาบาล คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ในการเปิดเผยเรื่องราวที่พวกเราอาจไม่เคยทราบมาก่อน

“ในครั้งแรกที่รับทราบสถานการณ์เรื่อง COVID-19 ทุกอย่างเรียกได้ว่าเริ่มต้นจากศูนย์ เนื่องจากเราไม่เคยมีประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้มาก่อนและไม่รู้เลยว่ามันจะยาวนานแค่ไหน

เวลาตีสาม กลางเดือนมีนาคม 2563 เราพบผู้ป่วยรายแรกในโรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งในขณะนั้น มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นมากอย่างน่าตกใจ จากสถานการณ์ในตอนนั้นเองที่บีบบังคับให้เราต้องพร้อมรับมือ แต่ด้วยความจำกัดของสถานที่และผู้ป่วยที่ให้การรักษาอยู่ในปัจจุบันนั้นเสี่ยงต่อโอกาสในการแพร่กระจายเชื้อสูงมาก เราจึงต้องส่งต่อผู้ป่วยไปยังสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ และเนื่องจากจำนวนพยาบาลที่นั่นไม่เพียงพอ และพยาบาลที่ต้องเข้าไปดูแลผู้ป่วยต้องมีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในระดับหนึ่ง ทางพี่ใหญ่ฝั่งพญาไทจึงส่งทีมพยาบาลจากงานการพยาบาลอายุรศาสตร์ชุดแรกในการเข้าไปเตรียมพร้อมในการดูแลคนไข้ร่วมกับทางสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์เป็นทัพแรก

แต่จากการคาดการณ์ยังผิดไปจากความเป็นจริงมาก จำนวนผู้ติดเชื้อมากกว่าที่เราคิดจนต้องเปิดหอผู้ป่วยเพิ่มขึ้นทันทีอีก 3 แห่งในเวลาไล่เลี่ยกัน ทีมพยาบาลจากงานการพยาบาลออร์โธปิดิกส์และงานการพยาบาลศัลยศาสตร์เข้าไปเป็นทัพที่สอง และจากฝ่ายการพยาบาลศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์เข้าไปเป็นทัพที่สาม แต่สถานการณ์กลับคับขันยิ่งขึ้นเมื่อตรวจพบว่ามีพยาบาลคนหนึ่งติดเชื้อ COVID-19  ซึ่งมีผลให้ผู้ร่วมงานอีก 23 คนต้องกักตัวในทันที ทำให้เราต้องส่งพยาบาลจากฝ่ายการพยาบาลศูนย์การแพทย์สิริกิติ์เข้าไปเป็นทัพที่สี่ แต่โชคดีที่ตรวจร่างกายไม่มีผู้ใดติดเชื้อเพิ่มเติม และกักตัวกันจนครบ 14 วัน 

นอกจากนี้เรายังเตรียมพยาบาล ไอ.ซี.ยู เพื่อดูแลคนไข้อีก 10 เตียง และมีทีมพยาบาลจากงานการพยาบาลกุมารเวชศาสตร์เป็นทัพสุดท้ายที่เข้าไปช่วยดูแลผู้ป่วยที่ต้องใช้เครื่องพยุงปอดและหัวใจเทียม (ECMO) ซึ่งประสบผลสำเร็จในการรักษาเป็นอย่างดี”

สุดท้าย จากใจแม่ทัพถึงนักรบผู้กล้า “ต้องบอกตามตรงว่าในตอนแรกเรามีความกังวลว่าน้อง ๆ พยาบาลจะมีปฏิกิริยาอย่างไรหากต้องไปให้การพยาบาลแก่ผู้ป่วยที่ติดเชื้อ COVID-19 แต่ปรากฎว่ามีผู้อาสาจำนวนมากในการมาทำงานตรงนี้ทั้ง ๆ ที่กลัว รู้ว่ามีความเสี่ยง มีอันตรายซึ่งอาจจะถึงแก่ชีวิต แต่ด้วยจิตวิญญาณของพยาบาลทุกคนก็ยังยืนยันที่จะทำและถึงแม้จะไม่ได้ค่าตอบแทนก็ตาม บางคนไม่มีโอกาสได้ร่ำลาครอบครัวเพราะต้องเดินทางไปสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์อย่างกระทันหัน ซึ่งทำให้เราประทับใจมากและภาคภูมิใจในตัวน้อง ๆ ทุกคน

และถึงแม้ว่าตอนนี้สถานการณ์ทุกอย่างจะดูคลี่คลายมากขึ้น แต่เราก็ยังมีการปรับแผนการทำงานตลอดเวลา และเตรียมพร้อมที่จะรับมือกับทุกสถานการณ์ที่หากจะเกิดขึ้น รวมทั้งใช้ความคิดและสติปัญญาในการทำงานทุกขั้นตอนให้สมกับเป็นปัญญาของแผ่นดิน

ด่านหน้าหรือด่านแรกในการเผชิญกับผู้สงสัยติดเชื้อ COVID-19 ประกอบด้วยหลายหน่วยงานทั้งงานการพยาบาลป้องกันโรคและส่งเสริมสุขภาพร่วมกับคลินิกดาวเหลืองในการคัดกรองผู้ป่วยเพื่อส่งต่อไปยังคลินิกโรคติดเชื้อทางเดินหายใจเฉียบพลัน  (ARIC/ARI Clinic) ซึ่งพยาบาลทั้ง 3 อาคาร (อาคารหลัก ศูนย์การแพทย์สิริกิติ์ และศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์) ต้องผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันลงมาทำงาน มีการประสานงานกับพยาบาลโรคติดเชื้อ และยังมีหน่วยงานอื่น ๆ อีกมากมายเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับบริการอย่างครอบคลุมมากที่สุด

พว.พิมพ์ชนก จันท์โชติกุล หัวหน้างานการพยาบาลผู้ป่วยนอก ฝ่ายการพยาบาลศูนย์การแพทย์สิริกิติ์ เป็นตัวแทนของทัพหน้าแห่งการคัดกรอง ในการบอกเล่าเรื่องราวบางส่วนในการเผชิญหน้ากับผู้ต้องสงสัยติดเชื้อ COVID-19

“ในการบริหารจัดการคลินิกโรคติดเชื้อทางเดินหายใจเฉียบพลัน  (ARIC/ARI Clinic) จะต้องทำในทุกมิติ นั่นหมายถึงว่าต้องเตรียมทุกอย่างในการทำงาน ซึ่งสำคัญที่สุดคือการเตรียมคนให้เพียงพอต่อการให้บริการ เนื่องจากสถานการณ์ในตอนนั้นมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ส่วนเรื่องความปลอดภัย ทางคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลมาธิบดีมีมาตรการในการทำงานที่จะต้องบุคลากรทุกคนปลอดภัย ถ่ายทอดความรู้ในการป้องกันการติดเชื้อ การสวมใส่อุปกรณ์ป้องกัน ให้ทุกคนได้ฝึกจริงจนมีความมั่นใจก่อนลงไปทำงาน

ขั้นตอนการทำงานของจุดคัดกรองจะสุ่มเสี่ยงต่อความปลอดภัยแตกต่างกัน ดังนั้นจะมีการเตือนให้ระวังในแต่ละจุดว่าต้องระมัดระวังระดับไหน และจุดไหนที่ต้องระวังมากเป็นพิเศษ ต้องมีการซักซ้อมจนมีความเข้าใจตรงกัน ตลอดการทำงานทุกคนได้เรียนรู้ในเรื่องต่าง ๆ เพิ่มเติมทุก ๆ วัน มีเครือข่ายในการทำงานเพิ่มมากขึ้น มีการแก้ไขปัญหาร่วมกัน หลาย ๆ หน่วยงานต่างมีแรงจูงใจที่จะทำงานร่วมกัน นั่นคือการอยากทำงานกับผู้ป่วย COVID-19

ขั้นตอนการทำงานในแต่ละจุดมีความสำคัญทั้งหมด ผู้ป่วยจะมาเริ่มต้นที่จุดคัดกรอง ซึ่งพยาบาลที่จุดนี้จะต้องมีความรู้ในการซักประวัติ เกณฑ์การคัดกรองและส่งต่อผู้ป่วย PUI หรือ non- PUI การประสานงานกับพยาบาลโรคติดเชื้อ รวมถึงต้องรับทราบนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละวัน และเมื่อเข้ามาในคลินิกทางเดินหายใจ ผู้ป่วยจะได้รับการวัดสัญญาณชีพ พยาบาลจะเตรียมเอกสารในการเข้าไปตรวจ แล้วให้ผู้ป่วยดูวิดีโอขั้นตอนและการปฏิบัติตัวในการเก็บสิ่งส่งตรวจที่โพรงจมูกและคอ (Swab) ส่งผู้ป่วยเข้าห้องตรวจซึ่งเป็นห้องความดันลบ แพทย์จะเป็นผู้เก็บสิ่งส่งตรวจ เมื่อตรวจเสร็จผู้ป่วยจะได้รับการแนะนำในการปฏิบัติตัวระหว่างรอผลการตรวจ หลังจากนั้น 3 วัน พยาบาลโรคติดเชื้อจะเป็นผู้โทรศัพท์แจ้งผลการตรวจแก่ผู้ป่วย หากผลตรวจพบว่ามีการติดเชื้อก็จะประสานงานกับหน่วยรถพยาบาลเพื่อไปรับตัวผู้ป่วยที่บ้านและส่งตัวไปรักษายังสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ต่อไป และตอนนี้โรงพยาบาลรามาธิบดีมีวิธีการตรวจโดยใช้น้ำลายเพื่อหาเชื้อ COVID-19 ซึ่งได้ผลดีในการตรวจหาเชื้อเช่นเดียวกันและผู้ป่วยยังไม่มีอาการเจ็บปวดจากการเก็บสิ่งส่งตรวจที่โพรงจมูกและคอ (Swab) อีกด้วย”

เมื่อผู้ป่วยเข้าสู่กระบวนการรักษา ปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้ป่วย COVID-19 จะมีโอกาสที่โรคจะดำเนินไปถึงภาวะวิกฤติ ในห้อง ไอ.ซี.ยู เล็ก ๆ นั้น นอกจากทีมแพทย์และพยาบาลแล้ว ยังมีทัพหลังทีมเล็ก ๆ ซึ่งเป็นทัพหลังแห่งการช่วยชีวิตที่ทำงานอยู่ภายใต้เส้นเลือดและเครื่องจักร คอยดูแลการทำงานของปอดเทียมให้แก่ผู้ป่วยแอบซ่อนตัวอยู่ภายในห้องนั้นอีกด้วย

ครั้งแรกที่รู้ว่าเราต้องไปดูแลคนไข้ COVID-19 ที่ใช้ ECMO แน่นอนว่ามันต้องมีความกลัวอยู่แล้ว นอกจากนั้นก็จะมีความกังวลแบบ ‘เฮ้ยยย เราไปดูคนไข้ COVID-19 นะ’ แต่ว่าความกลัวหรือความกังวลมันจะหายไปต่อเมื่อได้ลงมือทำ พอเราได้ทำในสถานการณ์จริง ๆ ความกลัวมันก็หายไป แต่สิ่งที่เข้ามาแทนมันกลับเป็นความภูมิใจ ความประทับใจในสิ่งที่เราได้เห็น ไม่ใช่แค่กับคนไข้แต่กับพี่กับเพื่อน ๆ ที่อยู่ที่นั่นที่ได้ร่วมงานกัน เราคิดว่าเราเป็นแค่พยาบาล ECMO ตัวเล็ก ๆ คนนึงที่ไปดูแลคนไข้ แต่ทุกคนกลับให้ความสำคัญกับเรามาก เหมือนกับเราเป็นคนตัวโต ๆ คนนึงที่มีความสำคัญเหมือนกับทุก ๆ คนในทีม มันคือความเป็นรามาธิบดี เลือดรามาธิบดีที่อยู่ในตัวทุกคนโดยไม่มีความแตกต่างกัน” น้องกิ๊บหรือ พว.เกษรา ชูรัตน์ ECMO Special Nurse และพยาบาลประจำหอผู้ป่วยกุมารเวชบำบัดวิกฤต (PICU) ได้ถ่ายทอดเรื่องราวให้ @Rama ได้รับรู้ถึงการดูแลผู้ป่วย COVID-19 ในภาวะวิกฤต

ECMO (Extra Corporeal Membrane Oxygenation) หรือเครื่องเอคโม่หรือที่หลายคนเรียกว่า “ปอดเทียม หรือ หัวใจเทียม” เนื่องจากใช้พยุงการทำงานของปอดและหัวใจของผู้ป่วยในภาวะวิกฤต เป็นเครื่องมือที่ใช้เพิ่มระดับออกซิเจนและลดระดับคาร์บอนไดออกไซด์ในกระแสเลือดจากภายนอกร่างกาย ซึ่ง ECMO เป็นเทคโนโลยีทางการแพทย์ขั้นสูง มีค่าใช้จ่ายสูง และต้องเป็นการทำงานร่วมกันของสหวิชาชีพที่อาศัยบุคลากรผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะ ซึ่งแพทย์และพยาบาลต้องเฝ้าระวังและดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง จึงเป็นที่มาที่ไปของทัพหลังทีมนี้นี่เอง

“อีกอย่างหนึ่งที่เรารับรู้เราได้ คือ ความรักความห่วงใยของสมาชิกในครอบครัว เราจำเป็นต้องงดเยี่ยมเนื่องจากกลัวว่าจะมีการติดเชื้อจากคนไข้ แต่ภายในห้องคนไข้นั้นมีวิทยุสื่อสารไว้สำหรับการทำงาน เราให้ภรรยาได้มีโอกาสบอกในสิ่งที่ต้องการกับคนไข้และเธอก็ได้วิดีโอคอลกับลูก แล้วให้ลูกคุยกับพ่อผ่านวิทยุสื่อสารอีกที ‘ป่ะป๊า ป่ะป๊า ตื่นได้แล้ว’ นั่นคือเสียงเด็ก ๆ ที่เราได้ยิน แล้วอาม่าก็บอกว่า ‘ตื่นได้แล้วนะ ทุกคนรออยู่’ แล้วไม่น่าเชื่อว่า หลังจากนั้นไม่นานคนไข้ก็เอา ECMO ออกได้ ถอดท่อช่วยหายใจ และกลับบ้านไปเมื่อวานนี้ ซึ่งเค้าเป็นคนไข้ COVID-19 คนสุดท้ายที่ได้กลับบ้านจากโรงพยาบาลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์

เมื่อมองย้อนกลับไป เราเห็นตัวเองยืนดู ECMO และมองดูคนไข้ในช่วงวิกฤติ ตอนนั้นเราไม่รู้ว่าปลายทางจะมีทางออกแบบไหน มันมีแค่สองทางคือหายกับตาย แต่พอมาถึงวันนี้วันที่เค้าได้กลับบ้าน เรารู้สึกดีใจอย่างบอกไม่ถูก สิ่งที่เราทำไปทั้งหมดมันเป็นประสบการณ์ที่หาที่ไหนไม่ได้อีกแล้วในชีวิตนี้ อีกอย่างหนึ่งคือ COVID-19 มันเป็นสถานการณ์ระดับโลก การที่เราซึ่งเป็นแค่คนตัวเล็ก ๆ ได้มีส่วนร่วมของเหตุการณ์หนึ่งบนโลกใบนี้มันทำให้เรารู้สึกภูมิใจมาก”

นอกจากนี้ยังได้ทราบเพิ่มเติมจาก พว.สุพัตรา เผ่าพันธ์ ผู้ปฏิบัติการพยาบาลขั้นสูงสาขาผู้ป่วยเด็กวิกฤติอีกว่า พยาบาลที่สามารถดูแลผู้ป่วยที่ใช้ ECMO นั้นต้องมีประสบการณ์การทำงานใน ไอ.ซี.ยู. มาอย่างน้อย 5 ปี ได้รับการฝึกอบรมขั้นพื้นฐาน (Basic Course) และขั้นสูง (Advance Course) และมีชั่วโมงบินหรือประสบการณ์การดูแลผู้ป่วยที่ใช้ ECMO มาแล้ว 200 ชั่วโมง จึงจะได้รับประกาศนียบัตรและเป็น ECMO Special Nurse ได้ ซึ่งตอนนี้โรงพยาบาลรามาธิบดีมี ECMO Special Nurse ประมาณ 20 คน และมีการเตรียมทีมรองรับถึงเดือนมิถุนายน 2563


หลังจากนี้ต่อไป เรายังคงไม่อาจทราบได้ว่าเหตุการณ์ข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ประเทศไทยจะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของทุกคน เหล่ากองทัพทางการแพทย์ยังคงคอยตั้งรับทุกสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น ตั้งเป้าหมายไว้ที่ผู้ติดเชื้อในประเทศไทยจะเป็นศูนย์ในทุก ๆ วัน และวาดความหวังว่าวันหนึ่งคงจะไม่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นบนโลกใบนี้อีกต่อไป

Column File (PDF): 
เนื้อหาภายในฉบับที่ 37