New Normal

New Normal
Volume: 
ฉบับที่ 37 เดือนมิถุนายน 2563
Column: 
Easy Living
Writer Name: 
รศ. พญ.โสมรัชช์ วิไลยุค ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
New Normal
 

หลังการระบาดของ COVID-19 เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีหลากหลายความรู้สึกที่ผ่านมาและผ่านไป ตั้งแต่วิตกกังวล กลัว เครียด เศร้า เสียใจ อึดอัด สารพัดความรู้สึก ในที่สุดทุกคนก็ปรับตัวไปตามสถานการณ์ .. จากพฤติกรรมใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น กลายเป็นพฤติกรรมประจำวันที่ปกติในที่สุด .. นี่คือปฏิกิริยาที่ผ่านมาของผู้คนในช่วงต่าง ๆ และวิธีการแก้ปัญหา

1. การปฏิเสธและยอมรับ ฉันเฝ้าดูและติดตามเหตุการณ์ตั้งแต่ช่วง COVID-19 ระบาดในประเทศจีน ประเทศไทย และกระจายไปยังทวีปยุโรป อเมริกาและทั่วโลก ช่วงแรก ๆ ที่ COVID-19 ระบาดในประเทศไทย มีปัญหาหลายอย่างรุมเร้าประเทศ ไม่ว่าจะหน้ากากขาดแคลน ปัญหาการเมือง ปัญหาการสื่อสาร ฯลฯ ระยะแรกที่ผู้คนเริ่มหวาดวิตก ทำให้เกิดการปฏิเสธในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เกิดความโกรธ เริ่มหาคนผิด ทะเลาะกัน โทษกัน เป็นช่วงที่ฉันรู้สึกอึดอัด เป็นอย่างมาก ความรักความสามัคคีในประเทศตอนนั้นได้หายไป .. ต่อมารัฐบาลเริ่มควบคุมเหตุการณ์ได้ การสื่อสารดีขึ้น ผู้คนเริ่มยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้น และเริ่มที่จะช่วยเหลือกัน และกลับมาสามัคคีกันใหม่ 

“การยอมรับปัญหา ทำให้เราเริ่มที่จะหาทางแก้ไข”

 2. การอดทนและปล่อยวาง ช่วงนี้เป็นระยะที่เราเริ่มมาตรการขั้นตอนต่าง ๆ ที่ช่วยลดการระบาดของโควิด ไม่ว่าจะเป็น “การเว้นระยะห่าง” “การใส่ mask ในที่สาธารณะ” “การใช้เจลแอลกอฮอล์/สเปรย์” จนถึง “การกักตัว” และ “work from home” เป็นช่วงแรกที่เราต้องทำในสิ่งที่ “ไม่ปกติ” เราถูกจำกัดเสรีภาพ ออกจากบ้านได้ในเวลาที่กำหนด เรายังต้องทำงาน แต่ทำที่บ้าน ส่วนหมอยังคงไปดูคนป่วยที่โรงพยาบาล แต่ใส่ mask และ face shield เราล้างมือกันบ่อยขึ้น (มาก) ก่อนกินข้าว หลังกินข้าว หลังจับลูกบิดประตู ยืนห่างกันมากขึ้น หลีกเลี่ยงการสัมผัสมือกัน อาชีพหลายอาชีพต้องหยุดกระทันหัน เศรษฐกิจเริ่มถดถอย หลายคนไม่พอใจรัฐบาล ที่กำหนดมาตรการเข้มข้นจนไม่สามารถทำงานหาเงินได้ แต่ในที่สุดสิ่งที่รัฐบาลทำก็ทำให้จำนวนผู้ป่วยที่เริ่มจะพุ่งขึ้น ลดลงได้ จนเหลือผู้ป่วยโรคโควิดเพียงไม่กี่ราย ทุกคนเริ่มเข้าใจ ยอมทำตามมาตรการด้วยดี และเริ่ม “ปล่อยวาง” 

“การอดทนอดกลั้นนั้นมีขีดจำกัด แต่การปล่อยวางนั้นทำให้ใจเป็นอิสระ”

3. การปรับตัวและเปลี่ยนแปลง ระยะนี้ทุกคนเริ่มปรับตัว งานที่เคยมั่นคง แต่ไม่สามารถทำได้ กลายเป็นงานที่ไม่มั่นคงภายในชั่วพริบตา ไม่ว่าจะเป็นงานที่เกี่ยวกับธุรกิจการท่องเที่ยว ร้านอาหาร โรงแรม โรงหนัง ธุรกิจขนส่งสาธารณะต่าง ๆ สจ๊วตผันตัวเองมาขายสินค้า online ครูหันมาขายทุเรียน นักธุรกิจมาขับรถแท็กซี่ ฯลฯ เพราะเราต้องเอาตัวรอด เรารอให้เหตุการณ์รอบตัวกลับมาปกติดังเดิมไม่ได้ เราจึงต้องปรับตัวเองตามสิ่งแวดล้อมรอบตัว หากเรายอมแพ้ อยู่กับที่ และไม่เปลี่ยนแปลง เราก็จะถอยหลังและล้มในที่สุด ผู้คนเริ่มเปลี่ยนแปลงตั้งแต่การทำงาน การใช้ชีวิตประจำวัน ว่ากันว่าหากเราทำอะไรซ้ำ ๆ เป็นระยะเวลา 21 วัน สิ่งนั้นจะกลายเป็นพฤติกรรมที่ปกติในที่สุด 

“หากรู้จักปรับตัว จะรู้จักวางแผนที่จะเปลี่ยนแปลง”


• การสวมหน้ากาก การล้างมือ การใช้เจลแอลกอฮอล์ การเว้นระยะห่างระหว่างกัน เริ่มเป็นพฤติกรรมประจำวันที่ทุกคนถือปฏิบัติโดยไม่ต้องเตือน ในกระเป๋าถือของแต่ละคนจะมีหน้ากาก เจลแอลกอฮอล์หรือสเปรย์  เวลาไปซื้อของที่ต้องเข้าแถวเราจะยืนห่างกัน เราไม่ได้รังเกียจคนข้าง ๆ เรายิ้มให้กันได้ แต่เราอยู่ห่าง ๆ อย่างเงียบ ๆ

• Work from home การทำงานที่บ้าน และยังได้งานถือเป็นสิ่งดี ไม่ต้องเดินทาง รถไม่ติด ไม่เสียเวลา และยังคงผลิตงานได้เหมือนเดิมหรือมากกว่าเดิม อาชีพบางอาชีพสามารถทำงานที่บ้านได้โดยผ่าน internet ทำให้เรารู้ว่าบางทีเราไม่ต้องเข้าไปที่ทำงานทั้ง 5 วันก็สามารถทำงานได้

• การประชุม/การเรียน online เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่กลายเป็นที่นิยมขึ้นมาในฉับพลัน จากเดิมที่ประชุมได้วันละแค่ 1-2 งาน กลับกลายเป็นประชุมได้หลายงานในวันเดียวกัน แถมไม่ต้องเดินทางไปไหนอีกด้วย เช่นเดียวกันกับห้องเรียน ปัจจุบันเด็ก ๆ เรียน online ที่บ้าน เด็ก ๆ เริ่มจะปรับตัว พร้อม ๆ กับครูที่เริ่มปรับตัวให้เข้ากับการสอน online ได้ในเวลาอันรวดเร็ว ส่วนตัวฉันชอบการประชุม online มาก เป็นการโดนกักตัวที่มีเสรีภาพไม่จำกัด แม้อยู่ในประเทศไทยก็สามารถประชุมกับคนที่อยู่ต่างประเทศได้ โดยไม่เสียเงินค่าเดินทางสักบาทเดียว

• ซื้อของ/ดูหนัง online ซึ่งเพิ่มความนิยมขึ้นอีกเท่าตัว ในเมื่อแค่เรากระดิกนิ้ว ก็มีของมาส่งถึงหน้าประตูบ้านเลยทีเดียว ไม่ต้องเสียเวลา และเสียค่ารถ แถมมีโปรโมชั่นลดราคาอีกมากมาย การดูหนังก็เช่นเดียวกัน website อย่าง Netflix จึงเป็นที่นิยมและเฟื่องฟูจนถึงขีดสุด ใครที่ซื้อโทรทัศน์รุ่นใหม่ ๆ จะมี application Netflix ติดมาด้วยทุกเครื่อง จน Netflix กลายเป็นแหล่งจำหน่ายหนังรายใหญ่ที่มีอิทธิพลกับผู้คนทั่วโลกเป็นอย่างมาก

• การสั่งอาหาร delivery การกักตัว ทำให้บริษัท food delivery เจริญรุ่งเรือง ร้านอาหารบางร้านมีคนส่งอาหารมานั่งรอ มากกว่าคนนั่งกินในร้านซะอีก การสั่งอาหารมากินที่บ้านทำให้เกิดความสะดวกสบาย ไม่ต้องนั่งรอ ไม่ต้องขับรถออกไป แต่ก็ทำให้คนน้ำหนักเพิ่มขึ้นเช่นกัน

• การเช็คอิน การวัดอุณหภูมิ เป็นความเคยชินเช่นกัน ที่ก่อนจะเข้าสถานที่ทำงาน หรือที่สาธารณะต่าง ๆ ต้องยื่นหน้าให้เจ้าหน้าที่วัดอุณหภูมิร่างกายและรับสติกเกอร์หลากสีก่อนเสมอ คิดในแง่บวก เหมือนมีคนตรวจร่างกายเบื้องต้นให้ทุกวัน

• การจ่ายเงินแบบ cashless ปัจจุบันธนาคารหลายแห่งแข่งกันสร้าง application การให้การบริการทางการเงินเพราะนอกจากจะสะดวกสบายแล้ว ยังช่วยลดการสัมผัสเชื้อโรคจากเงินได้อีกด้วย หลังจากยุค COVID-19 คนคงพกเงินน้อยลงเพราะมือถือเครื่องเดียวก็จ่ายเงินได้ทุกอย่าง


ถึงแม้ยุค COVID-19 ระบาดจะเป็นยุคที่ทำให้เศรษฐกิจย่ำแย่ ยุคที่ทำให้คนทะเลาะกันในบางกลุ่มประเทศ แต่ก็ทำให้คนสามัคคีกันในอีกกลุ่มประเทศหนึ่ง ไม่มีอะไรเป็นสีขาวหรือดำ แต่เป็นสีเทา ขึ้นกับมุมมอง อย่างน้อยก็มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ทำให้เราได้พัฒนาขึ้นมาตลอดระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือน หลายอย่างที่เคยทำไม่ได้ บนข้ออ้างชื่อ “อุปสรรค” แต่เมื่อมีความ “จำเป็น” ที่ต้องทำให้ได้ เราก็ข้ามผ่านอุปสรรคที่ว่าไปได้อย่างง่ายดาย ความสามัคคีของคนในประเทศ ไม่ได้เกิดจากการออกมาชุมนุมกันเพียงอย่างเดียว แต่เกิดจากการร่วมแรงร่วมใจกัน การร่วมด้วยช่วยกันทำในสิ่งที่ถูกต้อง ก็นำพาประเทศให้ผ่านพ้นอุปสรรคต่าง ๆ ไปได้ด้วยดี อย่าปล่อยให้ COVID-19 มาทำให้เราท้อ และทุกข์ แต่ให้คิดว่า COVID-19 มาเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส มาสอนให้เรารู้จักปรับตัวกับสถานการณ์ต่าง ๆ เอาชนะกับอุปสรรค มาสอนให้เรารู้จัก “ความสามัคคี” เหตุการณ์นี้ชี้ให้เห็นเป็นอย่างดีว่าประเทศที่สามัคคีสามารถรอดพ้นสถานการณ์อันเลวร้ายไปได้ก่อนประเทศที่แตกสามัคคี มนุษย์เกิดมาเพื่อเรียนรู้ เกิดมาเพื่อสู้ เราสามารถปรับตัวให้อยู่กับสิ่งใหม่ ๆ และเคยชินกับมันได้ในไม่ช้า “new normal” ก็จะกลายเป็น “normal” ในที่สุด 

Column File (PDF): 
เนื้อหาภายในฉบับที่ 37