โรค COVID-19 เริ่มระบาดจากเมืองอู่อั่นประเทศจีนเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ.2562 (ค.ศ. 2019) และเข้ามาระบาดในประเทศไทยโดยในช่วงเดือนธันวาคมและมกราคม ซึ่งยังพบได้แค่จากนักท่องเที่ยวชาวจีน แต่เมื่อถึงปลายเดือนกุมภาพันธ์ ผู้ติดเชื้อชาวไทยเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จนในเดือนมีนาคม รัฐบาลต้องประกาศมาตรการควบคุมโรคตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม สำหรับสถานพยาบาลต่าง ๆ ต้องเตรียมการเพื่อให้สามารถตรวจดูแลผู้ป่วยโดยที่ไม่ให้บุคลากรของสถานพยาบาลติดเชื้อจากผู้ป่วย หากไม่ได้เตรียมการ ก็จะเกิดเหตุการณ์ตามที่มีการรายงานการติดเชื้อในบุคลากรการแพทย์ขณะกำลังรักษาผู้ป่วยที่สงสัยหรือยืนยันว่าติดเชื้อแล้ว จากการสัมผัสอย่างใกล้ชิดกับผู้ป่วย โดยไม่ได้ควบคุมหรือระมัดระวังตัว ในส่วนของห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญของการดูแลผู้ป่วยก็ต้องมีมาตรการเช่นกัน
ห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ ภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล รับตรวจสิ่งส่งตรวจจากผู้ป่วย โดยคำนึงว่า สิ่งส่งตรวจใดบ้างที่มีเชื้อไวรัส ผู้เก็บสิ่งส่งตรวจที่ต้องสัมผัสผู้ป่วยต้องมีการป้องกันอย่างใดบ้าง การขนส่งตัวอย่างมายังห้องปฏิบัติการต้องมีการป้องกันอย่างใดบ้าง การทดสอบใดบ้างในห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ที่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ปฎิบัติ และสิ่งส่งตรวจที่ทดสอบแล้วต้องกำจัดเชื้อก่อนทิ้งอย่างไรเพื่อไม่แพร่เชื้อไปยังสิ่งแวดล้อม หากมีบุคลากรในห้องปฎิบัติการติดเชื้อต้องทำอย่างไร นอกจากนี้ยังมีประเด็นของการทดสอบใหม่ ๆ ที่ห้องปฏิบัติการต้องพัฒนาหรือประเมินเพื่อเปิดให้บริการเพื่อการวินิจฉัยโรค COVID-19 ด้วย
ห้องปฏิบัติการภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล มีระบบคุณภาพ ISO15189 ซึ่งในประเทศไทยได้พ่วงให้มี ISO15190 ความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการไว้ด้วยกันแล้ว ซึ่งระบบ ISO15190 กำหนดให้มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการ หรือ Laboratory Safety Officer เป็นผู้พิจารณาประเมินความปลอดภัยในประเด็นต่าง ๆ โดยในการพิจารณาแนวทางมาตรการปฏิบัติ ซึ่งห้องปฎิบัติการสามารถใช้แนวทางที่หน่วยงานและองค์กรวิชาชีพได้แนะนำไว้ ได้แก่ แนวทางขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) หรือจากหน่วยงานป้องกันโรคติดต่อในสหรัฐอเมริกา(Centers for Disease Control: CDC) หรือแนวทางจากห้องปฏิบัติการของโรงพยาบาลบำราศนราดูร ที่มีประสบการณ์ในการทดสอบตัวอย่างผู้ป่วยโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ของประเทศไทยมายาวนาน ก็ได้เขียนแนวทางไว้เช่นกัน (ดร.สุมนมาลย์ อุทยมกุล, ศิริรัตน์ ลิกานนท์สกุล. คำแนะนำการปฏิบัติงานห้องปฏิบัติการสำหรับสิ่งส่งตรวจจากผู้ป่วยสงสัย COVID-19 เพื่อการรักษาในโรงพยาบาล การเตรียมห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อ SARS-CoV-2 (COVID19))
สำหรับการขนส่งตัวอย่าง องค์การอนามัยโลกมีคำแนะนำไว้ในเบื้องต้น ห้องปฏิบัติการภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้มีการหยิบยกพิจารณาถึงระดับความปลอดภัยขั้นสูงสุด ที่กระทรวงสาธารณสุขได้เคยกำหนดแนวทางสำหรับกรณีมีการติดเชื้ออุบัติใหม่ไวรัส Ebola คือต้องกำหนดห้องปฏิบัติการ Designated Receiving Area (DRA) เฉพาะไว้ทำการทดสอบที่เป็นงานประจำ (routine Lab) ในการนี้ภาควิชาได้พิจารณาแล้วว่า ยังไม่จำเป็นต้องใช้ DRA เนื่องจากไวรัส SARS-CoV-2 ไม่ได้มีความอันตรายมากเหมือนไวรัส Ebola
ความรู้ว่าสิ่งส่งตรวจจากผู้ป่วยชนิดใดบ้างมีเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 เป็นสิ่งที่จำเป็นในการเตรียมการในด้านความปลอดภัย เนื่องจากไวรัสนี้ติดโรคที่ทางเดินหายใจตั้งแต่ส่วนต้นลงไปถึงส่วนล่าง ดังนั้น สิ่งส่งตรวจจากทางเดินหายใจ เช่น เสมหะ หรือ nasopharyngeal swab ที่ป้ายมาจากจมูกและคอ น้ำล้างหลอดลม (BAL) น้ำช่องปอด (pleural fluid) จึงนับว่ามีเชื้อแน่ นอกจากนี้ การที่ผู้ป่วย COVID-19 มีอาการท้องเสียร่วมด้วย และยังยืนยันจากรายงานทั่วโลกว่าตรวจพบสารพันธุกรรมด้วยวิธี RT-PCR บวกจากอุจจาระผู้ป่วยได้มากเช่นกัน สำหรับเลือดก็มีรายงานเช่นกันว่าผู้ป่วยมีเชื้อไวรัสในเลือดให้ตรวจพบด้วย RT-PCR ได้เช่นกัน แต่มีโอกาสพบได้น้อยกว่าจากทางเดินหายใจและอุจจาระ สำหรับปัสสาวะ โอกาสพบเชื้อน้อยกว่าเลือด บางรายงานกล่าวว่าตรวจไม่พบ RT-PCR บวกในปัสสาวะเลย (รูปที่1) แต่ในทางกลับกัน ก็มีบางรายงานที่ตรวจพบ RT-PCR บวกในปัสสาวะ แต่ก็พบในปริมาณที่น้อยกว่า ที่พบในทางเดินหายใจหรืออุจจาระและเลือด
รูปที่ 1 Detection of SARS-CoV-2 by RT-PCR in different types of clinical specimens, JAMA. 2020;323(18):1843-1844. doi:10.1001/jama.2020.3786
รูปที่ 2 ผู้ที่จัดการกับสิ่งส่งตรวจผู้ป่วยหรือสงสัยเป็น COVID-19 แต่งชุด
สำหรับกรณีมีบุคลากรในห้องปฎิบัติการติดเชื้อ ถ้าหากบุคลากรอื่นที่สัมผัสใกล้ชิดผู้ติดเชื้อต้องถูกกักตัว อาจทำให้ขาดผู้ปฏิบัติงานได้ จึงให้หน่วยที่สามารถจัดบุคลากรเป็นหลายชุดทำงานคนละผลัด ถ้าหากผลัดใดต้องกักตัวก็ยังมีอีกผลัดทำหน้าที่ได้ อย่างไรก็ตาม หากบุคลากรทำงานโดยใส่ PPE เสมอ และมีการเป็นอยู่ที่รักษาความห่างทางกายภาพ (physical distancing) กับผู้ร่วมงานเสมอ การที่ต้องกักตัวเมื่อมีผู้ทำงานคนใดติดเชื้อ อาจไม่มีความจำเป็น
ผู้ป่วย COVID-19 ช่วงที่มีการระบาดในเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม ที่ตรวจพบว่ามี RT-PCR เป็นบวกที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ถูกส่งตัวไปเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์ที่จังหวัดสมุทรปราการทั้งหมด โดยระหว่างนั้นแพทย์ได้มีการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการที่เป็นงานประจำหลายชนิดเพื่อใช้ในการติดตามรักษาผู้ป่วย โดยบางการทดสอบได้ส่งตัวอย่างมาตรวจที่ห้องปฏิบัติการโรงพยาบาลรามาธิบดี สำหรับการทดสอบที่แพทย์ใช้ได้แก่ การตรวจนับเม็ดเลือดอย่างสมบูรณ์ (CBC) การตรวจวิเคราะห์ก๊าซในเลือด (blood gas analysis) การตรวจการทำงานของตับ (liver enzymes) การตรวจการทำงานของไตและสารเกลือแร่ของเลือด (BUN, creatinine, electrolytes) การตรวจปัสสาวะ(urinalysis) การตรวจหาสารสำคัญต่าง ๆ ในเลือดเช่น D-dimer, troponin, vitamin D, IL-6 และยังมีการส่งเพาะเชื้อแบคทีเรีย เป็นต้น
ในสถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 เหตุการณ์ต่าง ๆ มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การเปลี่ยนแปลงเตรียมพร้อมของห้องปฏิบัติการต้องปรับให้รับกับสถานการณ์เช่นกัน ผู้เขียนขอขอบคุณผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ทั้งห้องปฏิบัติการของโรงพยาบาลรามาธิบดี และห้องปฏิบัติการของโรงพยาบาลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์ ที่ร่วมมือร่วมใจเพื่อความปลอดภัยของบุคลากรทุกคน ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่ทำให้ห้องปฏิบัติการผ่านสถานการณ์มาได้
การตรวจ COVID-19 ทางน้ำลาย เป็นงานวิจัยนวัตกรรมที่คิดค้นขึ้นมาในช่วงสถานการณ์เร่งด่วน โดยทีมงานคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ประกอบด้วย อาจารย์ ดร.เอกวัฒน์ ผสมทรัพย์ หัวหน้าห้องปฏิบัติการไวรัสวิทยา ภาควิชาพยาธิวิทยา และ ผศ. พญ.อังสนา ภู่เผือกรัตน์ สาขาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ โดยได้ทำการเปรียบเทียบการตรวจเชื้อ SARS-CoV-2 ซึ่งทำให้เกิดโรค COVID-19 ด้วยการเก็บตัวอย่างตรวจด้วยวิธีมาตรฐาน คือ Nasopharyngeal swab และตัวอย่างตรวจจากน้ำลาย จากผลการวิจัยเบื้องต้นพบว่าเชื้อที่ทำให้เกิด COVID-19 อยู่ในน้ำลายด้วย จึงมีการเก็บตัวอย่างเพิ่มมากขึ้นในช่วงเวลาที่มี COVID-19 ระบาดสูงที่สุด ทำให้เกิดงานวิจัยที่สมบูรณ์ขึ้นผลที่ได้จากงานวิจัยคือ การตรวจ COVID-19 ทางน้ำลายให้ผลค่าความไวที่ 85% ซึ่งสามารถนำมาใช้ในการตรวจคัดกรองการติดเชื้อในบางสถานการณ์ เช่น กรณีที่มีการขาดแคลนชุด PPE ที่จำเป็นต้องใช้ในขั้นตอนการเก็บตัวอย่าง การตรวจคัดกรองในกลุ่มประชากรหรือแรงงานต่างด้าวที่อาศัยอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้การเก็บตัวอย่างจากน้ำลายยังเป็นวิธีที่สะดวกลดการระคายเคืองระหว่างการเก็บตัวอย่างแบบปกติ ทำให้ลดการกระจายของเชื้อสู้บุคลากรทางการแพทย์ได้อีกด้วย
ขณะนี้คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เปิดให้บริการการตรวจ COVID-19 ทางน้ำลายแล้ว โดยเปิดให้บริการสำหรับผู้ที่ต้องการตรวจโรค COVID-19 มีประวัติและผลการคัดกรองที่ไม่เข้าเกณฑ์ต้องสงสัยว่ามีการติด COVID-19 คือเป็นบุคคลที่มีความเสี่ยงต่อ COVID-19 น้อย และนอกจากนั้นยังมีการเปิดให้บริการการตรวจคัดกรองกับกลุ่มประชากรจำนวนมากด้วยการตรวจตัวอย่างแบบรวมตัวอย่างน้ำลาย (Pooled saliva) เป็นการเก็บน้ำลายของคนแต่ละคนจากนั้นจะนำบางส่วนของตัวอย่างน้ำลายมารวมกันที่จำนวน 5 คน หรือ 10 คน จากนั้นทำการตรวจในครั้งเดียวกันด้วยวิธีการตรวจหาเชื้อแบบมาตรฐาน ทำให้ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายได้มากขึ้นไปอีก อันเป็นผลจากการต่อยอดงานวิจัยที่ทำแล้วนำมาใช้จริงในสถานการณ์ที่กำลังเผชิญ
แม้ว่าในปัจจุบันการตรวจ COVID-19 ทางน้ำลายยังไม่ใช่วิธีที่เป็นมาตรฐาน แต่ก็อาจมีการนำไปใช้ได้ทั่วประเทศในอนาคต เช่น กรณีเกิด Second Wave ขึ้น การตรวจ COVID-19 ทางน้ำลาย ก็จะเป็นอีกวิธีการหนึ่งในการคัดกรองการติดเชื้อที่ทำได้