มารู้จักยาเหน็บกันเถอะ
"ยาเหน็บ” ซึ่งมีคุณสมบัติเด่นคือ ให้ผลการรักษาเฉพาะบริเวณที่ เช่น เชื้อราในช่องคลอด ริดสีดวงทวาร เป็นต้น นอกจากจะให้ประสิทธิภาพในการรักษาที่ดีแล้ว ยังลดผลข้างเคียงด้วย สำหรับผู้ป่วยที่ไม่สามารถให้ยาทางปากได้ เช่น ผู้ป่วยเด็กที่กำลังชัก ผู้ป่วยหมดสติ การใช้ยาเหน็บก็ถือเป็นทางเลือกที่ดีอีกทางหนึ่งเช่นกัน ยาเหน็บทั่วไปแบ่งเป็น 2 ประเภท ตามบริเวณที่ใช้คือ ยาเหน็บช่องคลอด และยาเหน็บทวารหนัก
ยาเหน็บช่องคลอด
เป็นยาเม็ดแข็งรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ด้านหนึ่งโค้งมนเพื่อให้เหน็บช่องคลอดได้ง่าย สำหรับการรักษาโรคติดเชื้อในช่องคลอด ลำดับแรกต้องล้างมือให้สะอาด แกะเม็ดยาและจุ่มเม็ดยาในน้ำสะอาด 1-2 วินาที เพื่อให้เม็ดยาลื่น สอดใส่ช่องคลอดได้ง่าย สิ่งที่สำคัญคือท่าทางในการสอดยา โดยให้ “นอนหงาย ชันเข่า แยกขา” จากนั้นสอดยาเข้าไปในช่องคลอด โดยนำด้านโค้งมนของเม็ดยาเข้าไปก่อนและใช้นิ้วชี้ดันยาเหน็บให้ลึกที่สุด นอนที่เดิมต่อ 15 นาที เพื่อให้ยาละลายและออกฤทธิ์ได้เต็มที่ แนะนำใช้กระดาษทิชชู่สะอาด หรือผ้าอนามัยรองกางเกงในไว้เพื่อซับส่วนของยาที่อาจละลายออกมา ดังนั้นควรเหน็บยาก่อนนอนจะสะดวกที่สุด
หลายท่านอาจเคยเห็นเครื่องมือช่วยสอดบรรจุในกล่อง ซึ่งจะช่วยเหน็บได้ง่ายขึ้น โดยวางยาบนเครื่องมือแล้วใช้นิ้วกลางและนิ้วโป้งจับที่ตัวเครื่อง ส่วนนิ้วชี้ให้แตะอยู่ที่ปลายก้านสูบเพื่อดันยา
ยาเหน็บทวารหนัก
ลักษณะเป็นเม็ดนิ่ม รูปร่างคล้ายกระสวย ส่วนใหญ่แนะนำให้เก็บในตู้เย็นช่องธรรมดา มักใช้รักษาริดสีดวงทวาร ท้องผูก ก่อนใช้ต้องล้างมือให้สะอาด หากยาเหน็บนิ่มให้แช่ตู้เย็นก่อนแกะยาออกจากแผงหรืออาจแช่ในน้ำเย็นเพื่อให้ยาสอดง่ายขึ้น และสำหรับหลักง่ายๆ คือ “ตะแคงข้าง ล่างเหยียด บนงอ” คือ นอนตะแคงข้าง ขาด้านล่างเหยียดตรง และงอขาด้านบนขึ้นให้เข่าชิดอกมากที่สุด จากนั้นสอดยาเหน็บโดยหันด้านที่มีปลายแหลมกว่าเข้าไปก่อน ใช้นิ้วดันยาช้าๆ เข้าไปจนหมด สอดให้ลึกที่สุดเท่าที่จะทำได้ กรณียาบรรเทาอาการท้องผูก หลังจากสอดยาแล้วจะรู้สึกอยากถ่าย ต้องพยายามกลั้นเอาไว้ให้นานที่สุดเพื่อให้ยาออกฤทธิ์เต็มที่ ส่วนยาเหน็บรักษาริดสีดวงทวารนั้น ยาจะออกฤทธิ์เฉพาะที่ได้เลย
เพิ่มเติม กรณียาสวนทวารหนักให้ใช้วิธีการเดียวกันกับยาเหน็บทวารหนัก หลังจากเปิดจุกของลูกบีบออกแล้ว ให้บีบน้ำยาเข้าไปในทวารหนักจนหมด จะทำให้รู้สึกอยากถ่ายก็ต้องกลั้นไว้ เพื่อให้ยาออกฤทธิ์เต็มที่ จึงค่อยลุกไปถ่าย.
จะเห็นได้ว่ายาเหน็บต่างชนิด ต่างบริเวณ ก็มีวิธีการใช้ที่แตกต่างกัน ดังนั้นควรอ่านฉลากยาก่อนใช้ หรือหากไม่เข้าใจ มีข้อสงสัยก็สามารถปรึกษาแพทย์ เภสัชกร และพยาบาลทุกท่านเลยค่ะ