นิตยสารทุกฉบับ
รวมนิตยสาร
บทความประจำ
เลือกดูบทความจากทุกเล่ม
ค้นหาบทความ
ค้นหาจากหัวข้อ

สิว (ตอนที่ 2)

Volume
ฉบับที่ 29 เดือน พฤษภาคม 2560
Column
Beauty Full
Writer Name
ผศ.นพ.วาสนภ วชิรมน หน่วยผิวหนังและเลเซอร์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

สิว (ตอนที่ 2)

ฉบับที่แล้วได้นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับ “สิว” ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการเกิดสิว สาเหตุและปัจจัยของการเกิดสิว รวมทั้งสิวชนิดต่างๆ ในฉบับนี้เราจะพูดคุยกันต่อในเรื่องของการรักษาสิวที่ถูกต้องทางการแพทย์

สิว (ตอนที่ 2)

หลักการรักษาสิวมีหลักการง่าย ๆ 4 ข้อ ได้แก่

  1. ควรหยุดสาเหตุที่ทำให้เกิดสิว งดใช้เครื่องสำอางที่ไม่จำเป็น
  2. งดสิ่งที่จะทำให้สิวที่เป็นอยู่แล้วเป็นมากขึ้น เช่น การบีบสิว เป็นต้น
  3. การใช้ยารักษาสิวควรปรึกษาแพทย์เพื่อทำการรักษาไม่ควรซื้อยามาใช้เองเนื่องจากอาจไม่ตรงกับชนิดของสิว รวมทั้งอาจทำให้เชื้อสิวเกิดการดื้อยาได้
  4. ต้องมีความอดทน การรักษาสิวส่วนมากใช้เวลาหลายสัปดาห์

การปฏิบัติตัวเมื่อเป็นสิว ควรหลีกเลี่ยงเครื่องสำอางที่ทำให้เกิดสิว เครื่องสำอางที่เพิ่มความมัน ควรเลือกเครื่องสำอางที่ไม่ทำให้เกิดสิว หรือที่มีเขียนข้างฉลากว่า “ไม่ทำให้เกิดสิว หรือ Non-comedogenic” ควรหลีกเลี่ยงภาวะที่ร้อน เพราะสิวบางชนิดอาจเห่อได้เมื่อสัมผัสอากาศร้อน ไม่ควรบีบหรือแกะสิวโดยเด็ดขาด เพราะอาจทำให้สิวอักเสบ และทำให้เกิดรอยดำมากขึ้น ควรหลีกเลี่ยงอาหารหวานและอาหารจำพวกแป้ง รวมทั้งไม่ควรล้างหน้ามากกว่าวันละ 2-3 ครั้ง เพราะจะทำให้ผิวแห้งเกินไป ที่สำคัญผลิตภัณฑ์ล้างหน้าไม่ควรเป็นด่างมากเกินไป และไม่ควรถูหน้าแรงๆขณะล้างหน้าควรใช้ผ้าซับเบาๆ หลังล้างหน้า สุดท้ายหลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงแดด เพราะจะทำให้รอยสิวหายช้า

การรักษาสิวที่จัดเป็นการรักษาหลัก ได้แก่ การใช้ยา ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบทา หรือรับประทาน ทั้งนี้ขึ้นกับชนิดและความรุนแรงของสิว

สิว (ตอนที่ 2)

ยาทาสำหรับสิว จะออกฤทธิ์ที่การลดสิวอุดตัน ฆ่าเชื้อสิวและลดการอักเสบ ส่วนมากต้องใช้ร่วมกันเพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ดีและลดโอกาสการดื้อยายาที่นิยมใช้เช่น ยาทาที่มีส่วนผสมของกรดซาลิซัยลิคซึ่งจะซึมเข้าสู่รูขุมขน ช่วยให้สิวอุดตันที่มีอยู่ค่อยๆ หลุดออก หากใช้ในความเข้มข้นสูงอาจทำให้ผิวลอกได้ยาทาที่มีตัว ยาเบนโซอิลเปอร์ออกไซด์ ซึ่งมีหลายรูปแบบ เช่น ครีมเจล โลชั่น และมีหลายความเข้มข้น มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อสิว เมื่อทายาไว้บนผิวหนัง ปริมาณเชื้อและไขมันบนผิวหนังจะลดลง ยานี้อาจทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนัง ในระยะแรกของการใช้ยาอาจจะทำให้ผิวหนังแดงอักเสบจึงควรจะเริ่มใช้ยาในขนาดความเข้มข้นต่ำๆยากลุ่มนี้มีข้อควรระวังคืออาจทำให้สีเสื้อ หรือที่นอนจางลง หรือเปลี่ยนสีได้

ยาทาที่มีตัวยาปฏิชีวนะ เช่น คลินดามัยซิน อีรีโทรมัยซิน ช่วยฆ่าเชื้อสิว มีทั้งรูปแบบ เจลและน้ำ ยาทาที่มีส่วนผสมของวิตามินเอและอนุพันธ์เช่น เตตริโนอิน ไอโซเตตริโนอิน อะดาพาลีน ยากลุ่มนี้มีฤทธิ์ทำให้ผิวหนังลอกหลุดเร็วขึ้น สิวอุดตันนิ่มลงและหลุดออกจากผิว ทำให้ปริมาณหัวสิวลดลง และยาทาที่มีส่วนผสมของอะเซเลอิค แอซิด ซึ่งมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อสิว ข้อดีคือช่วยลดการสร้างเม็ดสีทำให้รอยสิวจางลง

ส่วน ยารับประทาน นั้น ต้องบอกว่าการรับประทานยาสิวไม่ว่าจะเป็นยาตัวใดก็ตาม ควรรับประทานติดต่อกันไม่ต่ำกว่า 3 เดือน หากหยุดยาเร็วสิวจะกลับมาเป็นใหม่ได้ง่ายยาที่นิยมใช้คือ ยากลุ่มปฏิชีวนะ ยากลุ่มฮอร์โมน และยากลุ่มอนุพันธ์วิตามินเอ กลุ่มยาปฏิชีวนะที่ใช้บ่อย ได้แก่ ยากลุ่มเตตร้าไซคลิน ด็อกซี่ไซคลิน มิโนไซคลินอีรีโทรมัยซิน ยากลุ่มนี้มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อสิวและลดการอักเสบ บางตัวอาจมีผลข้างเคียง เช่น คลื่นไส้อาเจียน อาจปวดท้องได้หากรับประทานขณะท้องว่าง

สำหรับสุภาพสตรีที่มีสิวบางประเภท อาจใช้ยากลุ่มฮอร์โมน เช่น เอสโตรเจน และยาที่มีฤทธิ์ต้านฮอร์โมนแอนโดรเจน เช่น ไซโปรทีโรน อะซีเตท ยากลุ่มนี้เหมาะสมสำหรับผู้ที่เป็นสิวจากฮอร์โมน มีผลข้างเคียงคือคัดตึงเต้านมและน้ำหนักเพิ่มขึ้นได้และยาอีกกลุ่มคือ ยากลุ่มอนุพันธ์ของวิตามินเอ ได้แก่ ไอโซเตตริโนอิน เป็นยารักษาสิวเป็นยาที่ใช้ได้ผลสำหรับสิวที่เป็นมากหรือสิวที่ดื้อต่อยาหรือการรักษาอื่น เหมาะสำหรับสิวอักเสบมากและสิวหัวช้าง ยากลุ่มนี้จะทำให้ไขมันและเชื้อลดลงจึงไม่เกิดสิว แต่อาจมีผลข้างเคียง เช่น ปากแห้ง ผิวแห้งแตกผมร่วง ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อสหรับผู้ที่รับประทานยาขณะตั้งครรภ์ก็อาจจะทำให้ทารกเกิดมาพิการได้ ดังนั้น การใช้ยานี้ต้องมีการคุมกำเนิดร่วมด้วยและหากต้องการตั้งครรภ์ต้องหยุดยานี้1เดือน (ตามข้อมูลขององค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา) ไม่ใช่หยุดยาเป็นปีตามที่มีการกล่าวอ้างทางอินเตอร์เน็ต

สิว (ตอนที่ 2)

นอกจากนี้การรักษาเสริม เช่น การกดสิว เป็นการทำให้หัวสิวอุดตันที่มีอยู่ออกเร็วขึ้น เพราะหากปล่อยไว้อาจทำให้เกิดการอักเสบได้การกดสิวควรทำโดยผู้เชี่ยวชาญและเครื่องมือที่สะอาดปลอดเชื้อ หากกดสิวออกไม่หมดอาจทำให้เกิดการอักเสบภายหลังได้ส่วนการฉีดยารักษาสิว เป็นการฉีดยาเข้าที่เม็ดสิวเพื่อลดการอักเสบในกรณีที่สิวมีการอักเสบมาก ข้อดีคือสามารถหยุดการอักเสบได้เร็ว แต่อาจมีผลข้างเคียงได้คือผิวยุบลงในกรณีที่ฉีดมากเกินไป ซึ่งผิวยุบลงมักจะค่อยๆ ดีขึ้นได้เอง และอีกวิธีการคือ การใช้เลเซอร์ มีการใช้เลเซอร์เสริมเพื่อลดสิวอุดตันและสิวอักเสบบางประเภท ทำให้เห็นผลการรักษาที่เร็วขึ้น

ในท้ายนี้ขอฝากคำแนะนำสำหรับผู้ที่เป็นสิวว่า ควรปฏิบัติตนตามข้อแนะนำข้างต้น ที่สำคัญไม่ควรซื้อยามาใช้เอง เนื่องจากสิวมีหลายชนิด หลายประเภท การซื้อยามาใช้เองอาจเป็นการรักษาที่ไม่ตรงจุด ทำให้เสียค่าใช้จ่ายและเสียเวลาโดยไม่จำเป็น นอกจากนี้ไม่ควรใจร้อนในการรักษารอยสิวและแผลเป็น ตราบใดที่สิวยังไม่หาย ยังมีสิวใหม่ขึ้นเรื่อยๆ ก็จะมีรอยตามมาได้อีก ดังนั้นจึงควรจัดการกับสิวก่อนที่จะจัดการกับรอย เมื่อมีสิวควรจะรีบรักษาเพราะหากปล่อยไว้จนเกิดแผลเป็นจะทำให้ยิ่งเสียค่ารักษามากขึ้น

ดาวน์โหลดเพื่ออ่านรูปแบบ PDF
เนื้อหาภายในฉบับที่ 29