ZIKA VIRUS ไวรัสซิก้า
“ไวรัสซิก้า” ไวรัสที่กำลังแพร่ระบาดในละตินอเมริกาขณะนี้ ไวรัสซิก้าอาจแพร่ระบาดมายังประเทศไทยของเราเมื่อไรก็ได้ ที่สำคัญ...ไวรัสซิก้ามีพาหะนำโรคคล้ายไข้เลือดออก ซึ่งความรุนแรงและอันตรายของไวรัสซิก้าจะมีมากน้อยแค่ไหน และมีวิธีการป้องกันได้อย่างไรบ้าง ติดตามอ่านข้อมูลดีดีได้จาก อ.นพ.ดร.นพพร อภิวัฒนากุล ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
ไวรัสซิก้า
ไวรัสซิก้ากำลังระบาดมากในละตินอเมริกา โดยเฉพาะในประเทศบราซิล แต่โดยทั่วไปแล้ว โรคติดเชื้อที่เกิดจากไวรัสซิก้าในคนปกติมักจะมีอาการไม่รุนแรงแต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือ หญิงตั้งครรภ์ หากติดเชื้อไวรัสซิก้าแล้ว เด็กที่คลอดออกมาอาจมีความผิดปกติทางสมองได้
จากสถิติการแพร่ระบาดของไวรัสซิก้า ตั้งแต่ปี 2553 มีอุบัติการณ์เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ในช่วงกลางปี 2558 จนถึงปัจจุบันได้มีการแพร่กระจายอย่างรวดเร็วไปทั่วอเมริกากลางและอเมริกาใต้กว่า 27 ประเทศ ซึ่งการติดเชื้อไวรัสซิก้าในหญิงตั้งครรภ์ อาจจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะผิดปกติอย่างรุนแรงของสมองและขนาดศีรษะของทารกในครรภ์ โดยในประเทศไทยยังอยู่ในระยะเฝ้าระวัง แต่ในละตินอเมริกากำลังอยู่ในขั้นตอนการพิสูจน์ว่า ไวรัสซิก้าทำให้เกิดความพิการในสมองเด็กจริงหรือไม่ และมีการรณรงค์กำจัดยุงลายอย่างขะมักเขม้นในประเทศบราซิล
การระบาดของไวรัสซิก้าในประเทศบราซิล
ช่วงที่มีการระบาดของไวรัสซิก้าในประเทศบราซิล พบว่ามีเด็กที่เกิดมาและมีความพิการทางสมองเพิ่มขึ้นอย่างผิดสังเกตซึ่งเป็นช่วงที่ไวรัสซิก้าระบาดพอดี จึงเชื่อกันว่าไวรัสตัวนี้อาจมีส่วนทำให้เกิดความพิการทางสมอง และจากการดูภาพถ่ายจากรังสีวิทยาก็เชื่อว่าความผิดปกติแบบนี้ อาจทำให้เด็กมีพัฒนาการล่าช้า รวมถึงมีสติปัญญาไม่ดีเท่าเด็กปกติอีกด้วย
นอกจากนี้ ยังพบว่าหลักฐานส่วนใหญ่ที่พบ คือ ขณะที่มารดาตั้งครรภ์พบมีประวัติไข้ออกผื่น พอลูกคลอดออกมาทำให้มีศีรษะเล็ก ซึ่งความจริงยังไม่ได้มีการพิสูจน์อย่างชัดเจนว่าลูกติดเชื้อไวรัสนี้จริงหรือไม่ ขณะนี้อยู่ในระหว่างกำลังส่งน้ำไขสันหลังเด็กไปตรวจเพื่อพิสูจน์ว่าเด็กติดเชื้อจริงหรือไม่ต่อไป
การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสซิก้า
ไวรัสซิก้า นอกจากมียุงลายเป็นพาหะนำแล้ว ยังเคยมีรายงานว่าติดต่อจากแม่สู่ลูกได้ สมมติว่าแม่ติดเชื้อช่วงใกล้คลอด ลูกออกมาก็อาจติดเชื้อได้ แต่ว่าถ้าแม่ติดเชื้อก่อนคลอดเล็กน้อย ลูกที่ออกมาก็ค่อนข้างจะปลอดภัย ส่วนใหญ่จะมีอันตรายก็ต่อเมื่อแม่ติดเชื้อในช่วงสามเดือนแรกของการตั้งครรภ์ เพราะเด็กจะมีการพัฒนาของอวัยวะต่างๆดังนั้น ถ้ามีการติดเชื้อในช่วงนั้นก็จะทำให้เด็กที่คลอดออกมาเกิดอาการผิดปกติ
ความจริงแล้วไวรัสซิก้าเป็นพี่น้องตระกูลใกล้กับไข้เลือดออก ฉะนั้น อาการที่แสดงออกมาก็จะมีอาการคล้าย ๆ กัน เช่น มีไข้ ปวดเมื่อยตามตัว ผื่นขึ้น และอีกลักษณะที่พบได้บ่อยกว่าคือ ตาแดงแบบไม่มีขี้ตา เนื่องจากเราทราบแล้วว่าโรคนี้มีพาหะนำโดยยุงลาย ซึ่งสามารถนำไวรัสไข้เลือดออกได้ด้วย นอกจากนี้ยังมีหลักฐานชัดเจนมากขึ้นด้วยว่าไวรัสชนิดนี้อาจติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ด้วย
การรักษาและป้องกันเพื่อลดความรุนแรงของเชื้อไวรัสซิก้า
ข้อมูลในเว็บไซต์ CDC หรือ กองควบคุมโรคของสหรัฐอเมริกา จะมีข้อมูลเกี่ยวกับไวรัสซิก้าจำนวนมาก สามารถอ่านเข้าใจได้ง่าย เนื้อหาจะอธิบายเชื้อไวรัสซิก้า วิธีติดต่อ วิธีป้องกันหรืออาการเป็นอย่างไร ฉะนั้น วิธีการป้องกันที่ดีที่สุดสำหรับหญิงตั้งครรภ์จึงไม่ควรถูกยุงกัด ควรสวมเสื้อแขนยาว ทายากันยุงภายนอก ไม่อยู่ในที่ที่มียุงเยอะ และกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายอย่างสม่ำเสมอ ขณะนี้มีคำแนะนำว่าหญิงตั้งครรภ์ ถ้าไม่จำเป็นไม่ควรเดินทางไปยังประเทศที่มีไวรัสซิก้าระบาดอยู่
การพบเชื้อไวรัสซิก้าในประเทศไทย มีคนไทยได้รับเชื้อหรือไม่?
ประเทศของเราก็เคยมีคนป่วยเป็นโรคนี้ทางกระทรวงสาธารณสุขจึงเริ่มเฝ้าระวัง หากใครมีอาการคล้ายติดเชื้อไวรัสซิก้าหรือมีกรณีที่สงสัยว่าจะติดเชื้อไวรัสซิก้า เราจะมีแล็บที่ใช้ตรวจเชื้อไวรัสซิก้าได้ โดยการเจาะเลือดหรือส่งตรวจเพื่อยืนยันว่าเป็นโรคนี้หรือไม่
การเฝ้าระวังและรับมือกับไวรัสซิก้าในประเทศไทย
เนื่องจากประเทศของเราเพิ่งเริ่มมีการเฝ้าระวัง ผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันหรือวินิจฉัยจึงยังน้อยอยู่ เราจึงต้องติดตามต่อไปว่าไวรัสตัวนี้มีผลระยะยาวต่อเด็กและแม่อย่างไรบ้าง รวมถึงการเฝ้าสังเกตว่าโรคนี้ทำให้เกิดอาการรุนแรงได้หรือไม่ เนื่องจากตอนนี้เราทราบเพียงว่าอาการยังไม่รุนแรง แต่ถ้ามีการตรวจเลือดเพิ่มมากขึ้น อาจพบว่าบางรายอาจเป็นรายที่รุนแรงได้ ตอนนี้จึงทำได้เพียงเฝ้าระวังต่อไป และไม่อยากให้ทุกคนตื่นกลัวมากเกินไป ฉะนั้นควรป้องกันไม่ให้ถูกยุงกัด ถ้ามีไข้ 3–4 วันแล้วยังไม่หาย ให้รีบไปพบแพทย์ และไม่ซื้อยาลดไข้รับประทานเอง
กรณีพบเด็กที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสซิก้าซึ่งมีขนาดศีรษะเล็กผิดปกติ ในทางการแพทย์สามารถเสริมสร้างอะไรได้บ้าง
เริ่มแรกต้องหาสาเหตุก่อนว่าจริงๆ แล้วเด็กที่มีกะโหลกศีรษะเล็กผิดปกติเกิดจากอะไร ซึ่งถ้าเกิดจากการติดเชื้อไวรัสซิก้าจริงๆ (ซึ่งไวรัสซิก้าเกิดจากภาวะที่กะโหลกเล็กจากสมองที่เล็ก) การผ่าตัดจึงไม่มีบทบาทอะไรเนื่องจากความผิดปกติตั้งต้นที่สมอง การรักษาคงเป็นแบบประคับประคองหรือรักษาตามอาการ ขณะนี้ไม่อยากให้ทุกคนตื่นตระหนกมากนัก ในประเทศไทยยังไม่พบการระบาดของเชื้อนี้ชัดเจน เพียงให้ช่วยกันดูแลแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ถ้าไม่จำเป็นยังไม่ควรเดินทางไปในประเทศที่มีการระบาดของไวรัสนี้อยู่ ในอนาคตเราก็หวังว่าอาจมีวัคซีนป้องกันโรคไวรัสนี้ได้