
ไข้เลือดออก .. ภัยร้ายใกล้ตัว
“โรคไข้เลือดออก” เป็นโรคที่เรารู้จักกันมานาน ซึ่งในปัจจุบันก็ยังไม่มียารักษาเฉพาะ และยังพบการระบาดอยู่เป็นระยะ
ในอดีตโรคนี้มักพบในเด็ก แต่ในปัจจุบันสามารถพบในวัยรุ่นและผู้ใหญ่ได้มากขึ้น

ในปี 2558 จากการรายงานของสำนักโรคติดต่อพบว่า มีผู้ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกแล้วกว่าหนึ่งแสนราย ซึ่งความรุนแรงของโรคมีตั้งแต่ไม่มีอาการ จนถึงอาการรุนแรงที่ทำให้เสียชีวิตได้ ผู้ปกครองหลายคนมีความกังวลในโรคกันนี้มาก ซึ่งแท้จริงแล้วผู้ที่ติดเชื้อไข้เลือดออกแบบรุนแรงนั้นมีน้อยมาก ส่วนใหญ่เป็นการติดเชื้อแบบไม่รุนแรง อย่างไรก็ตาม เราสามารถสังเกตและเฝ้าระวังสัญญาณอันตรายที่จะบอกว่า ผู้ป่วยอาจเป็นไข้เลือดออกที่รุนแรงได้ ดังนั้นเรามาทำความรู้จักกับโรคนี้ให้มากขึ้นกัน
สาเหตุของโรค
ไข้เลือดออกเกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่ชื่อว่า “ไวรัสเดงกี” (Dengue Virus) เชื้อไวรัสนี้ติดต่อในคนโดยการถูกยุงลายกัด ซึ่งทั้งยุงลายบ้าน (มักวางไข่ในภาชนะซึ่งมีน้ำในบ้าน) และยุงลายสวน (มักวางไข่ในที่ที่มีน้ำขังนอกบ้าน) สามารถนำเชื้อไวรัสนี้ได้ เชื้อไวรัสเดงกีนี้มีระยะฟักตัวในยุงลายประมาณ 8-10 วัน หลังจากที่ถูกกัดจะมีระยะฟักตัวในคนประมาณ 5-8 วัน
เชื้อไวรัสเดงกีปัจจุบันมี 4 ชนิด (เรียกว่าไวรัสเดงกี 1, 2, 3, และ 4 ตามลำดับ) หลังจากติดเชื้อชนิดหนึ่งจะมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อชนิดนั้นไปตลอดแต่จะมีภูมิคุ้มกันต่อชนิดอื่นในช่วงสั้นๆ หลังจากนั้นสามารถติดเชื้อชนิดอื่นได้อีก ดังนั้น หากเคยเป็นโรคไข้เลือดออกแล้ว ก็ยังมีโอกาสเป็นได้อีก

อาการและการแสดงของโรค
โรคไข้เลือดออกอาจมีอาการแสดงเพียงไข้อย่างเดียว ซึ่งในบางคนอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง (โดยเฉพาะบริเวณใต้ชายโครงขวา) ปวดตามตัว ปวดที่กระบอกตา ปวดศีรษะ อาจมีผื่นแดงขึ้น และบางคนอาจมีเลือดออกผิดปกติ เช่น เลือดออกตามไรฟัน เลือดกำเดาไหล หรือเลือดออกในระบบทางเดินอาหาร โดยปกติผู้ป่วยมักไม่มีอาการไอหรือน้ำมูก
ระยะของโรค
- ระยะไข้สูง ระยะนี้ผู้ป่วยจะมีไข้สูงร่วมกับอาการต่างๆ ดังที่กล่าวมาข้างต้น ระยะนี้จะใช้เวลาราว 3-7 วัน เมื่อได้รับยาลดไข้ ไข้ก็จะลง หลังจากหมดฤทธิ์ยา ไข้ก็จะกลับสูงขึ้นอีก ในระยะนี้ถ้าไม่มีเลือดออกมาก โดยปกติไม่ทำให้เกิดอาการที่รุนแรง ผู้ป่วยอาจดูซึมลง รับประทานอาหารได้น้อยลง ระยะนี้เป็นระยะที่ตรวจพบไวรัสเดงกีในเลือด และถ้ายุงมากัดผู้ป่วย ยุงก็จะเป็นพาหะของโรคต่อไป ดังนั้น การวินิจฉัยโรคในระยะนี้มักจะสังเกตจากอาการ หากต้องการยืนยันก็ต้องตรวจหาตัวเชื้อ ซึ่งปัจจุบันแพทย์จะเจาะตรวจหา NS1antigen ในช่วงที่มีไข้หลังวันที่ 3 ถ้าแพทย์ทำ Tourniquet test หรือการรัดแขน อาจพบจุดเลือดออกได้
- ระยะวิกฤต ในผู้ป่วยบางคนหลังไข้ลงแล้วจะเข้าสู่ระยะนี้ ซึ่งจะมีการรั่วของน้ำเหลืองออกนอกเส้นเลือด ทำให้มีอาการเหมือนสูญเสียของเหลวหรือเลือดจากร่างกาย ทำให้มีความดันเลือดต่ำจนถึงอาการช็อกได้ ผู้ป่วยจะมีอาการกระสับกระส่ายปลายมือปลายเท้าเย็น เด็กบางคนจะดูตัวลาย ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม อาจทำให้มีอวัยวะต่างๆ ล้มเหลว ซึ่งอาจมีอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ในระยะนี้ผู้ป่วยบางคนอาจมีเลือดออกมาก (โดยเฉพาะจากทางเดินอาหาร) ทำให้อาการช็อกได้มากขึ้น ระยะนี้โดยทั่วไปจะใช้เวลาราว 1-2 วัน
- ระยะฟื้น ผู้ป่วยส่วนใหญ่หลังระยะไข้สูงจะเข้าสู่ระยะนี้ทันที บางคนถ้าเข้าสู่ระยะวิกฤตแล้ว 1-2 วัน ก็จะเข้าสู่ระยะนี้ ผู้ป่วยจะเริ่มอยากรับประทานอาหารมากขึ้น มีผื่นแดงที่มีวงขาวขึ้นตามตัว มีอาการคันตามตัวและฝ่ามือฝ่าเท้า ระยะนี้เป็นระยะที่ผู้ป่วยกำลังจะหายจากโรคและเป็นระยะปลอดภัย

การดูแลรักษา
ในระยะไข้สูง ผู้ป่วยจะมีไข้เกือบตลอดเวลา การดูแลคือการให้รับประทานยาลดไข้พาราเซตามอล และเช็ดตัวลดไข้ ควรหลีกเลี่ยงยาลดไข้ชนิดอื่น เช่น กลุ่มแอสไพรินหรือไอบูโพรเฟน เพราะจะทำให้มีโอกาสเลือดออกมากได้ หากมีอาการคลื่นไส้อาเจียน สามารถให้ยาลดอาการคลื่นไส้อาเจียน พยายามกระตุ้นให้ผู้ป่วยดื่มน้ำเกลือแร่ โดยอาจดื่มทีละน้อยและบ่อยๆ ถ้าพอรับประทานอาหารได้ ให้รับประทานอาหารอ่อน ย่อยง่าย ในระยะนี้อาจดูแลรักษาเองที่บ้านได้ และให้สังเกตอาการที่ต้องรีบไปโรงพยาบาล ได้แก่ ปวดท้องมาก อาเจียนมาก ดูซึมลง มีเลือดออกมาก หรือมีอาเจียนเป็นเลือด
ในระยะไข้นี้ผู้ปกครองมักจะกังวลว่าเด็กจะเป็นไข้เลือดออกหรือไม่ ในช่วงวันแรกๆ อาจบอกไม่ค่อยได้ว่า ไข้เกิดขึ้นจากไข้เลือดออกหรือไม่ ถ้าอยากทราบก็อาจต้องตรวจดูเชื้อไวรัส (ในปัจจุบันสามารถตรวจหา NS1 antigen ดังที่กล่าวข้างต้น) แต่อาจไม่จำเป็น เพราะถึงแม้จะทราบว่าเป็น ในช่วงไข้สูง การดูแลรักษาก็เป็นเพียงการรักษาแบบประคับประคอง จึงยังไม่จำเป็นต้องเจาะเลือดในช่วง 1-2 วันแรกของไข้ แนะนำว่าให้สังเกตอาการของเด็ก ถ้าไข้ไม่ลงภายใน 3-4 วัน แล้วเด็กยังรับประทานอาหารได้ไม่ดี และดูซึมลง ควรกลับมาพบแพทย์ ซึ่งแพทย์จะตรวจร่างกายใหม่และอาจพิจารณาเจาะเลือดดูค่าเกล็ดเลือดและค่าความเข้มข้นของเลือด ถ้าเกล็ดเลือดเริ่มต่ำลง แสดงว่าน่าจะเป็นไข้เลือดออก ถ้าผู้ป่วยดูซึมลงมากและเกล็ดเลือดต่ำมาก แพทย์อาจพิจารณาให้สังเกตอาการที่โรงพยาบาลอย่างใกล้ชิด
ถ้าผู้ป่วยไข้ลงแล้วอาการดีขึ้น เช่น อยากรับประทานอาหารมากขึ้น มีผื่นแดงคันดังที่กล่าวในระยะพักฟื้น แสดงว่าผู้ป่วยกำลังจะหายจากโรค ในทางตรงกันข้าม ถ้าผู้ป่วยเริ่มไข้ลง แล้วดูซึมลง ปวดท้องมากขึ้นมือเท้าเริ่มเย็น กระสับกระส่าย แสดงว่าผู้ป่วยเข้าสู่ระยะวิกฤต ดังนั้น ถ้าสังเกตว่าตอนไข้เริ่มลง แล้วผู้ป่วยยังดูซึม ไม่กลับมาร่าเริงเหมือนเด็กที่เพิ่งหายจากไข้ นับว่าเป็นสัญญาณอันตราย ซึ่งอาจบ่งบอกว่า ผู้ป่วยอาจเข้าสู่ระยะวิกฤต ควรรีบพาผู้ป่วยมาพบแพทย์ เพราะต้องได้รับน้ำเกลือทางหลอดเลือดและเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด แพทย์อาจจำเป็นต้องให้เจาะเลือดบ่อย เพื่อดูระดับความเข้มข้นของเลือดระดับเกล็ดเลือด รวมถึงการตรวจทางห้องปฏิบัติการอื่นๆ ที่จำเป็นต่อการติดตามรักษา ถ้ามีอาการมากอาจจำเป็นต้องรับดูแลในหอผู้ป่วยวิกฤต
การป้องกัน
การป้องกันโรคไข้เลือดออกที่สำคัญคือการป้องกันไม่ให้ถูกยุงลายกัด และไม่ให้มีแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โดยการไม่ให้มีน้ำขังในภาชนะ ควรมีฝาปิดภาชนะที่ใส่น้ำเพื่อไม่ให้ยุงลายไปวางไข่ได้ ในปัจจุบันกำลังมีการศึกษาถึงวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออก ซึ่งคาดว่าในอนาคตอันใกล้อาจมีวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกที่มีประสิทธิภาพออกมาใช้
หลีกเลี่ยงการถูกยุงลายกัด
โรคไข้เลือดออกยังมีการระบาดเป็นพักๆ โรคนี้มีระดับความรุนแรงตั้งแต่แบบไม่มีอาการจนถึงรุนแรงมากถึงแก่ชีวิต ส่วนใหญ่เป็นแบบไม่รุนแรง ซึ่งสามารถเฝ้าสังเกตอาการผู้ป่วยว่าจะเป็นแบบรุนแรงหรือไม่ ถ้ามีสัญญาณเตือน เช่น ดูซึมลง ปวดท้องมาก อาเจียนมาก มีเลือดออกมาก แสดงว่าอาจเป็นแบบรุนแรง ซึ่งต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดในโรงพยาบาล ปัจจุบันการป้องกันที่สำคัญคือการไม่ให้ถูกยุงลายกัด วัคซีนกำลังอยู่ในช่วงศึกษา ซึ่งมีแนวโน้มที่จะนำมาใช้ได้ในอนาคต