หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต
สาขาวิชาหูหนวกศึกษา
หลักสูตรปรับปรุง ปีการศึกษา 2562
ชื่อปริญญาและสาขาวิชา
ภาษาไทย ชื่อเต็ม : ศิลปศาสตรบัณฑิต (หูหนวกศึกษา)
ชื่อย่อ : ศศ.บ. (หูหนวกศึกษา)
วิชาเอก
- วิชาเอกการออกแบบเชิงพาณิชย์
- วิชาเอกล่ามภาษามือไทย
ปรัชญา ความสำคัญของหลักสูตร
หลักสูตรนี้พัฒนาขึ้นบนพื้นฐานของการจัดการศึกษาที่ตอบสนองความต้องการจำเป็นและสอดคล้องกับวิถีชีวิตคนหูหนวก ภายใต้หลักการด้านสังคม วัฒนธรรม ภาษา การสื่อสาร เทคโนโลยี เพื่อการประกอบอาชีพ ผ่านประสบการณ์การเรียนรู้ที่หลากหลายทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ เน้นการพัฒนาผู้เรียนทั้งทางกาย จิตใจ สติปัญญา ให้เกิดความเข้าใจในตนเอง สามารถเรียนรู้ด้วยตนเองได้ บนพื้นฐานความเข้าใจระหว่างภาษาและวัฒนธรรม รวมถึงการอยู่ร่วมกันระหว่างผู้ที่มีความบกพร่องทางการได้ยินกับผู้ที่มีการได้ยิน
วัตถุประสงค์ของหลักสูตร
เพื่อผลิตบัณฑิตให้มีความรู้ความสามารถในงานด้านหูหนวกศึกษา มีทักษะทางวิชาชีพด้านการออกแบบเชิงพาณิชย์ หรือวิชาชีพด้านล่ามภาษามือไทย ทั้งนี้ เมื่อสำเร็จการศึกษาจากหลักสูตรนี้แล้ว บัณฑิตจะเป็นผู้มีความรู้ ความสามารถ ดังนี้
- มีมาตรฐานการปฏิบัติตนตามคุณธรรม จริยธรรม สำหรับนักออกแบบ หรือล่ามภาษามือไทย
- มีองค์ความรู้ในด้านการออกแบบเชิงพาณิชย์ หรือ ด้านล่ามภาษามือไทย
- อธิบาย วิเคราะห์ สังเคราะห์ และประยุกต์ใช้องค์ความรู้ในสาขาวิชาหูหนวกศึกษา เพื่อการประกอบอาชีพตามหลักวิชาการ
- มีทักษะการสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมในการปฏิบัติงานร่วมกับผู้อื่น
- มีทักษะการวิเคราะห์ข้อมูล การสื่อสาร และการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการประกอบอาชีพ
- มีทักษะการปฏิบัติทางวิชาชีพ
ผลลัพธ์การเรียนรู้ระดับหลักสูตร
เมื่อสิ้นสุดการเรียนการสอนในหลักสูตร ผู้สำเร็จการศึกษาจะสามารถ
- PLO1 ทำงานร่วมกันระหว่างผู้ที่มีการได้ยินกับผู้ที่มีความบกพร่องทางการได้ยินได้ โดยยอมรับความแตกต่างระหว่างบุคคลและวัฒนธรรม
- PLO2 ใช้ภาษามือไทยและภาษาไทยในการสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายได้ตรงตามวัตถุประสงค์
วิชาเอกการออกแบบเชิงพาณิชย์
- PLO3 ปฏิบัติตนตามคุณธรรม จริยธรรม สำหรับนักออกแบบ
- PLO4 ออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค
- PLO5 ดำเนินการสร้างผลิตภัณฑ์ในรูปแบบเชิงพาณิชย์ได้คุณภาพตามรูปแบบที่กำหนด
วิชาเอกล่ามภาษามือไทย
- PLO3 ปฏิบัติตนตามคุณธรรม จริยธรรม จรรยาบรรณ สำหรับล่ามภาษามือไทย
- PLO4 ปฏิบัติงานล่ามโดยการแปลภาษามือไทยและภาษาไทยในสถานการณ์ทั่วไป
- PLO5 ประยุกต์ใช้ความรู้ในเรื่ององค์กรวิชาชีพล่ามและองค์กรที่เกี่ยวข้องกับล่ามภาษามือ
วัน – เวลาในการดำเนินการเรียนการสอน
- จัดการเรียนการสอนในหลักสูตรปกติ และหลักสูตรเทียบโอนในวันเวลาราชการ
- ภาคการศึกษาที่ 1 เดือนสิงหาคม - ธันวาคม
- ภาคการศึกษาที่ 2 เดือนมกราคม - เมษายน
- ภาคฤดูร้อน เดือนพฤษภาคม - กรกฎาคม
- งดการจัดการเรียนการสอนในวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดตามประกาศของรัฐบาลหรือมหาวิทยาลัยมหิดล แต่อาจมีการจัดการเรียนการสอนเสริมในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ตามความจำเป็นในแต่ละรายวิชา โดยได้รับการอนุญาตให้มีการจัดการเรียนการสอนในวันหยุดเป็นครั้งคราวจากวิทยาลัย
คุณสมบัติของผู้เข้าศึกษา
ผู้ที่มีการได้ยิน มีคุณสมบัติ ดังนี้
- เป็นผู้ที่มีการได้ยิน ที่พูดและฟังภาษาไทยได้ชัดเจน
- จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือเทียบเท่า
คุณสมบัติของผู้เข้าศึกษา
ผู้ที่มีการได้ยิน มีคุณสมบัติ ดังนี้
- เป็นผู้ที่มีการได้ยิน ที่พูดและฟังภาษาไทยได้ชัดเจน
- จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือเทียบเท่า
ผู้ที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน มีคุณสมบัติ ดังนี้
- เป็นคนหูหนวกหรือคนหูตึง
- จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือเทียบเท่า
- เป็นผู้ที่ใช้ภาษามือไทยได้ในระดับดี
ผู้สมัครที่มีคุณสมบัตินอกเหนือไปจากที่ระบุข้างต้น ให้อยู่ในดุลยพินิจของคณะกรรมการดำเนินการสอบคัดเลือกนักศึกษา
อาชีพที่สามารถประกอบได้หลังสำเร็จการศึกษา
วิชาเอกการออกแบบเชิงพาณิชย์
- ผู้ประกอบการด้านงานออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากเซรามิก ไม้ และผ้า
- ผู้ปฏิบัติงานในองค์กรหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับงานออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากเซรามิก ไม้ และผ้า
วิชาเอกล่ามภาษามือไทย
- นักวิชาชีพล่ามภาษามือไทย
- นักวิชาการศึกษา (ปฏิบัติงานล่ามภาษามือ)
เกณฑ์การสำเร็จการศึกษาตามหลักสูตร
เป็นไปตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัยมหิดลว่าด้วย การศึกษาระดับอนุปริญญาและปริญญาตรี พ.ศ. 2552
การสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาวิชาหูหนวกศึกษา
- เรียนครบหน่วยกิต และสอบผ่านรายวิชาตามที่หลักสูตรกำหนด
- ได้มีแต้มเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตร ไม่ต่ำกว่า 2.00
- ใช้เวลาศึกษาไม่เกิน 8 ปีการศึกษา
- ไม่มีพันธะด้านหนี้สินใดๆ กับมหาวิทยาลัย
- เป็นผู้มีความประพฤติดี เหมาะสมแก่ศักดิ์ศรีแห่งปริญญานั้น
- ผ่านกิจกรรมภาคบังคับตามเกณฑ์ที่มหาวิทยาลัยกำหนด
- ต้องสอบผ่านเกณฑ์ประเมินความรู้ความสามารถทางภาษาอังกฤษตามเงื่อนไขที่มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะกำหนด