หลักสูตรศึกษาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการศึกษาของคนหูหนวก (4 ปี)
หลักสูตรใหม่ ปีการศึกษา 2564
ชื่อปริญญาและสาขาวิชา
ภาษาไทย ชื่อเต็ม : ศึกษาศาสตรบัณฑิต (การศึกษาของคนหูหนวก)
ชื่อย่อ : ศษ.บ. (การศึกษาของคนหูหนวก)
ปรัชญา ความสำคัญของหลักสูตร
หลักสูตรมุ่งเน้นการจัดการศึกษาที่ตอบสนองความต้องการจำเป็นและสอดคล้องกับวิถีชีวิตคนหูหนวก ผ่านการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ในรูปแบบที่หลากหลาย โดยให้ความสำคัญกับการเรียนการสอนแบบสองภาษาสองวัฒนธรรม ผ่านการเรียนร่วมกันระหว่างนักศึกษาหูหนวกและนักศึกษาที่มีการได้ยินเพื่อพัฒนาผู้เรียนให้สมบูรณ์ทั้งกาย จิต ปัญญา มีความเข้าใจด้านในของตนเอง สามารถสร้างความรู้ได้ด้วยตนเอง ยอมรับความแตกต่างหลากหลาย มีจิตวิญญาณความเป็นครู และมีทักษะการจัดการเรียนรู้สำหรับคนหูหนวก บนพื้นฐานความเข้าใจความแตกต่างทางวัฒนธรรมคนหูหนวกและผู้ที่มีการได้ยิน
วัตถุประสงค์ของหลักสูตร
- 1. มีคุณธรรม จริยธรรม มีจรรยาบรรณทางวิชาการและวิชาชีพครู
- 2. มีความรู้และทักษะด้านออกแบบแผนการจัดการเรียนการสอนสำหรับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน โดยใช้หลักการแนวคิดทฤษฎีด้านการศึกษาได้เหมาะสมกับกลุ่มผู้เรียน
- 3. มีความรู้และทักษะด้านการจัดการเรียนการสอนตามแผนการสอนสำหรับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน ตามแผนการจัดการเรียนการสอนที่กำหนด
- 4. มีความรู้และทักษะด้านการใช้ภาษามือไทยเพื่อการสื่อสารและจัดการเรียนการสอน สำหรับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน
- 5. สามารถปฏิบัติงานร่วมกับบุคคลที่มีความแตกต่างหลากหลายได้อย่างเหมาะสมบนพื้นฐานความเข้าใจตนเองและผู้อื่น
ผลลัพธ์การเรียนรู้ระดับหลักสูตร
- 1. ปฏิบัติตนตามมาตรฐานด้านคุณธรรม จริยธรรม จรรยาบรรณทางวิชาการและวิชาชีพครู
- 2. ออกแบบแผนการจัดการเรียนการสอนสำหรับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน โดยใช้หลักการแนวคิดทฤษฎีด้านการศึกษาได้เหมาะสมกับกลุ่มผู้เรียน
- 3. จัดการเรียนการสอนตามแผนการสอนสำหรับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน ตามแผนการจัดการเรียนการสอนที่กำหนด
- 4. ใช้ภาษามือไทยเพื่อการสื่อสารและจัดการเรียนการสอน สำหรับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน
- 5. ปฏิบัติงานร่วมกับบุคคลที่มีความแตกต่างหลากหลายได้อย่างเหมาะสม บนพื้นฐานความเข้าใจตนเองและผู้อื่น
วัน – เวลาในการดำเนินการเรียนการสอน
- - จัดการเรียนการสอนในหลักสูตรปกติ และหลักสูตรเทียบโอนในวันเวลาราชการ
- ภาคการศึกษาที่ 1 เดือนสิงหาคม - ธันวาคม
- ภาคการศึกษาที่ 2 เดือนมกราคม - เมษายน
- - งดการจัดการเรียนการสอนในวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดตามประกาศของรัฐบาลหรือมหาวิทยาลัยมหิดล แต่อาจมีการจัดการเรียนการสอนเสริมในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ตามความจำเป็นในแต่ละรายวิชา และได้รับการอนุญาตให้มีการจัดการเรียนการสอนในวันหยุดเป็นครั้งคราวจากวิทยาลัย
คุณสมบัติของผู้เข้าศึกษา
- ผู้ที่มีการได้ยิน มีคุณสมบัติ ดังนี้
- 1. เป็นผู้ที่มีการได้ยิน
- 2. เป็นผู้สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่ามัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า
- 3. เป็นผู้สอบผ่านข้อสอบวัดคุณลักษณะความเป็นครู และผ่านเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษาและ/หรือเป็นไปตามระเบียบข้อบังคับการคัดเลือก ซึ่งวิทยาลัยเป็นผู้กำหนด
- 4. เป็นผู้มีค่าเจตคติที่ดีและคุณลักษณะที่เหมาะสมกับวิชาชีพครู
- ผู้ที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน มีคุณสมบัติ ดังนี้
- 1. เป็นผู้ที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน
- 2. เป็นผู้สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่ามัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า
- 3. เป็นผู้ที่ใช้ภาษามือไทยเพื่อการสื่อสารได้
- 4. เป็นผู้สอบผ่านข้อสอบวัดคุณลักษณะความเป็นครู และผ่านเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษาและ/หรือเป็นไปตามระเบียบข้อบังคับการคัดเลือก ซึ่งวิทยาลัยเป็นผู้กำหนด
- 5. เป็นผู้มีค่าเจตคติที่ดีและคุณลักษณะที่เหมาะสมกับวิชาชีพครู ผู้สมัครที่มีคุณสมบัตินอกเหนือไปจากที่ระบุข้างต้น ให้อยู่ในดุลยพินิจของคณะกรรมการดำเนินการสอบคัดเลือก
อาชีพที่สามารถประกอบได้หลังสำเร็จการศึกษา
- 1. ครูที่จัดการเรียนรู้สำหรับผู้ที่มีความบกพร่องทางการได้ยินระดับชั้นปฐมวัยและประถมศึกษา
- 2. นักวิชาการทางการศึกษาด้านการศึกษาของคนหูหนวกระดับชั้นปฐมวัยและประถมศึกษา
เกณฑ์การสำเร็จการศึกษาตามหลักสูตร
- เป็นไปตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัยมหิดลว่าด้วย การศึกษาระดับอนุปริญญาและปริญญาตรี
- การสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาวิชาการศึกษาของคนหูหนวก
- 3.1 เรียนครบหน่วยกิต และสอบผ่านรายวิชาตามที่หลักสูตรกำหนด
- 3.2 ได้มีแต้มเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตร ไม่ต่ำกว่า 2.00
- 3.3 ใช้เวลาศึกษาไม่เกิน 8 ปีการศึกษา
- 3.4 ไม่มีพันธะด้านหนี้สินใดๆ กับมหาวิทยาลัย
- 3.5 เป็นผู้มีความประพฤติดี เหมาะสมแก่ศักดิ์ศรีแห่งปริญญานั้น
- 3.6 ผ่านกิจกรรมภาคบังคับตามเกณฑ์ที่มหาวิทยาลัยกำหนด
- 3.7 ผ่านกิจกรรมเสริมความเป็นครู ตามเกณฑ์ที่หลักสูตรกำหนด
- 3.8 ต้องสอบผ่านเกณฑ์ประเมินความรู้ความสามารถทางภาษาอังกฤษตามตามประกาศมหาวิทยาลัยมหิดล เรื่องมาตรฐานความรู้ภาษาอังกฤษของนักศึกษาหลักสูตรปริญญาตรี มหาวิทยาลัยมหิดล