หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต

หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต
สาขาวิชาการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (หลักสูตรภาคพิเศษ)
ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2567

ชื่อปริญญาและสาขาวิชา 

ชื่อเต็ม : ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (การพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ)
                                 ชื่อย่อ : ปร.ด. (การพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ)

ปรัชญา ความสำคัญของหลักสูตร

มุ่งผลิตดุษฎีบัณฑิตผู้มีความรู้ขั้นสูงและมีความสามารถเชิงบูรณาการแบบแผนความพิการทางสังคม และแบบแผนทางการแพทย์ (Social and medical disability model) ตลอดจนแบบแผนความพิการและศาสตร์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ด้วยการสร้างสรรค์นวัตกรรมหรือองค์ความรู้ใหม่ มีวิสัยทัศน์และเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลง ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนพิการบนพื้นฐานของศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ความเท่าเทียม ความเสมอภาค ยุติธรรมสังคม การเสริมพลังและสิทธิพลเมืองของคนพิการ รวมทั้งการประพฤติปฏิบัติตามจรรยาบรรณวิชาชีพและจรรยาบรรณนักวิจัย

วัตถุประสงค์ของหลักสูตร

เมื่อสิ้นสุดการเรียนการสอนตามหลักสูตรแล้ว ดุษฎีบัณฑิตจะมีคุณลักษณะตามมาตรฐานคุณวุฒิระดับบัณฑิตศึกษา ดังนี้

1. มีคุณธรรม จริยธรรม เคารพกฎกติกาและประพฤติปฏิบัติตามจรรยาบรรณ มาตรฐานทางวิชาการและวิชาชีพ โดยคำนึงถึงความเสมอภาคและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนพิการที่มีความแตกต่างหลากหลาย

2. มีความรู้ อธิบายแนวคิดทฤษฎีที่เกี่ยวข้องและเป็นปัจจุบัน ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการอย่างถูกต้องเหมาะสม

3. สามารถวิเคราะห์ เปรียบเทียบ สังเคราะห์ ประยุกต์ บูรณาการ ออกแบบและดำเนินการการจัดการความรู้ เกี่ยวกับแบบแผนความพิการทางสังคม แบบแผนทางการแพทย์ ตลอดจนแบบแผนความพิการและศาสตร์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ ผ่านกระบวนการวิจัย การออกแบบนวัตกรรม และใช้ความรู้สร้างการเปลี่ยนแปลง ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ

4. สามารถสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล มีความรับผิดชอบ ทำงานร่วมกับผู้อื่น มีความเป็นผู้นำและผู้ตามได้อย่างเหมาะสม

5. สามารถประยุกต์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณิตศาสตร์ สถิติที่จำเป็นเกี่ยวข้อง และใช้ทักษะการสื่อสารได้อย่างถูกต้องเหมาะสม

ผลลัพธ์การเรียนรู้ระดับหลักสูตร

1. แสดงออกด้านคุณธรรม จริยธรรม เคารพกฎกติกา และประพฤติปฏิบัติตามจรรยาบรรณ มาตรฐานทางวิชาการและวิชาชีพ โดยคำนึงถึงความเสมอภาคและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนพิการที่มีความแตกต่างหลากหลาย

2. อธิบายแนวคิดทฤษฎีที่เกี่ยวข้องและเป็นปัจจุบันในด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการอย่างถูกต้องเหมาะสม

3. วิเคราะห์ เปรียบเทียบ สังเคราะห์ ประยุกต์ บูรณาการ ออกแบบและดำเนินการการจัดการความรู้ เกี่ยวกับแบบแผนความพิการทางสังคม แบบแผนทางการแพทย์ ตลอดจนแบบแผนความพิการและศาสตร์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

4. สร้างองค์ความรู้ใหม่ ผ่านกระบวนการวิจัย การออกแบบนวัตกรรม และใช้ความรู้สร้างการเปลี่ยนแปลงด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ

5. แสดงออกถึงทักษะการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ความรับผิดชอบ ทำงานร่วมกับผู้อื่น มีความเป็นผู้นำและผู้ตามได้อย่างเหมาะสม

6. ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ คณิตศาสตร์ สถิติที่จำเป็นเกี่ยวข้อง รวมทั้งทักษะการสื่อสารได้อย่างถูกต้องเหมาะสม

วัน - เวลาในการดำเนินการเรียนการสอน

จัดการเรียนการสอนในวันเสาร์-อาทิตย์และวันหยุดราชการ

           - ภาคการศึกษาต้น           เดือน สิงหาคม - ธันวาคม

           - ภาคการศึกษาปลาย           เดือน มกราคม – พฤษภาคม

คุณสมบัติของผู้เข้าศึกษา

1. สำเร็จการศึกษาหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต ศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สังคมสงเคราะห์ศาสตรมหาบัณฑิต และทุกสาขาวิชา จากสถาบันอุดมศึกษาที่สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมรับรอง

2. ได้แต้มระดับคะแนนเฉลี่ยสะสมไม่ต่ำกว่า 3.50

3. มีผลคะแนนภาษาอังกฤษผ่านตามเกณฑ์ของบัณฑิตวิทยาลัย

4. มีประสบการณ์ทำงานเกี่ยวกับคนพิการไม่น้อยกว่า 1 ปี หรือมีผลงานวิจัย งานวิชาการอื่นๆ ด้านคนพิการ อย่างน้อย 1 เรื่อง หรือสำเร็จการศึกษาหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ และสาขาวิชาวิทยาการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ

5. กรณีผู้สมัครชาวต่างชาติ ต้องมีคุณสมบัติเป็นไปตามแนวปฏิบัติมาตรฐานความรู้ภาษาไทยขั้นต่ำสำหรับชาวต่างชาติที่มาศึกษาต่อในหลักสูตรภาษาไทยระดับบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล

6. ผู้ที่มีคุณสมบัติต่างจากที่กำหนดในข้อ 2 ถึงข้อ 5 อาจได้รับการพิจารณาให้สมัครเข้ารับการคัดเลือกเข้าศึกษา ตามดุลยพินิจของคณะกรรมการบริหารหลักสูตรและคณบดีบัณฑิตวิทยาลัย

อาชีพที่สามารถประกอบได้หลังสำเร็จการศึกษา

1. นักวิชาการด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ

2. นักวิจัยด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ

3. ผู้เชี่ยวชาญ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ

4. บุคลากรทางการศึกษาที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ

5. นักพิทักษ์สิทธิคนพิการ ผู้บริหารองค์กรคนพิการทั้งระดับชาติและนานาชาติ

เกณฑ์การสำเร็จการศึกษาตามหลักสูตร

1. ใช้เวลาในการศึกษาตามแผนการศึกษา

2. ต้องศึกษารายวิชาต่างๆ ตามโครงสร้างของหลักสูตรคือ ศึกษารายวิชาไม่น้อยกว่า 12 หน่วยกิต และทำวิทยานิพนธ์ 36 หน่วยกิต รวมจำนวนหน่วยกิตที่ต้องศึกษาตลอดหลักสูตร ไม่น้อยกว่า 48 หน่วยกิต

3. ต้องได้แต้มระดับคะแนนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตรไม่น้อยกว่า 3.00

4. ต้องสอบผ่านภาษาอังกฤษตามเกณฑ์ของบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล

5. ต้องสอบผ่านการสอบวัดคุณสมบัติ (Qualifying Examination)

6. ต้องเข้าร่วมกิจกรรมเสริมทักษะการทำงานและการใช้ชีวิตในสังคมผ่านตามเกณฑ์ของบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล

7.ต้องเสนอวิทยานิพนธ์ และสอบวิทยานิพนธ์ผ่านด้วยวิธีการสอบปากเปล่าขั้นสุดท้าย โดยคณะกรรมการที่บัณฑิตวิทยาลัยแต่งตั้ง และการสอบเป็นระบบเปิดให้ผู้สนใจเข้ารับฟังได้

8. ผลงานวิทยานิพนธ์หรือส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ต้องได้รับการตีพิมพ์หรืออย่างน้อยได้รับการยอมรับให้ตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติที่มีคุณภาพตามประกาศคณะกรรมการการอุดมศึกษา เรื่อง หลักเกณฑ์การพิจารณาวารสารทางวิชาการสำหรับการเผยแพร่ผลงานทางวิชาการและตามประกาศของบัณฑิตวิทยาลัย