สวัสดีค่ะ คุณผู้อ่านที่น่ารักทุกท่าน
ในภาวะการระบาดของ COVID-19 ที่มีมาอย่างยาวนานมากกว่า 1 ปีแล้วเช่นนี้ ความหวังที่ทั่วโลกรอคอยมานับแต่ช่วงการระบาดเริ่มทั่วโลกตั้งแต่เมื่อต้นปี 2020 ก็คงหนีไม่พ้นสิ่งที่เรียกว่า วัคซีน (Vaccine: vakˈsēn) ซึ่งหลายคนหวังว่าการได้รับวัคซีนแล้วจะสามารถป้องกันการติดโรคได้และจะทำให้สามารถใช้ชีวิตแบบปกติสุข (เหมือนก่อนยุค COVID-19) มันจะเป็นแบบนั้นจริงหรือไม่คงยังไม่มีใครสามารถให้คำตอบได้ แต่ก่อนอื่น เรามาทำความรู้จักกันก่อนว่า เจ้าสิ่งเล็ก ๆ ที่เรียกว่า “วัคซีน” นั้น มันหมายถึงอะไรกันแน่
ต้องเท้าความกันก่อนว่า มนุษยชาติมีความพยายามที่จะป้องกันตัวเองจากการเจ็บป่วยต่าง ๆ มาตั้งแต่โบราณกาลแล้ว มีการสังเกตเห็นว่าเมื่อมีการระบาดของโรคใด ๆ ผู้ที่เคยเป็นโรคนั้นแล้วหาย มักจะไม่ป่วยเป็นโรคเดิมซ้ำอีก หนึ่งในนั้นคือการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันตัวเองด้วยหลากหลายวิธีที่ปัจจุบันถูกมองว่าสุดแสนจะพิศดาร เช่น การกินงูพิษเพราะเชื่อว่าจะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันจากพิษงู การดื่มเลือดเป็ดที่เคยกินยาพิษมาก่อนเพราะเชื่อว่าจะป้องกันพิษได้หากถูกวางยาพิษขึ้นมา ฯลฯ ในราวศตวรรษที่ 10 พบบันทึกว่าประเทศจีนเริ่มมีการพยายามหาวิธีการสร้างภูมิคุ้มกันต่อไข้ทรพิษ (Smallpox:ˈsmôlˌpäks/ Cowpox:ˈkouˌpäks) ด้วยวิธีหลากหลาย อาทิ นำเอาสะเก็ดแผลจากผื่นที่เกิดจากผื่นของโรคไปบดแล้วเอาไปใส่ในจมูกของผู้ไม่เคยเป็นไข้ทรพิษดังกล่าวมาก่อน นอกจากนี้ยังมีวิธีเอาเข็มสะกิดตุ่มหนองของผู้ป่วยแล้วนำไปสะกิดที่ผิวหนังของผู้ยังไม่เคยติดโรค ซึ่งภายหลังเรียกวิธีการนี้ว่า การปลูกฝี (inoculation: iˌnäkyəˈlāSH(ə)n) วิธีการดังกล่าวถูกเผยแพร่และนำไปปฏิบัติในหลาย ๆ ประเทศ แม้กระทั่งในอังกฤษและสหรัฐอเมริกา
ต่อมาในช่วงศตวรรษที่ 17 ดร.เอดเวิร์ด เจนเนอร์ (Dr.Edward Jenner) สกัดนำเชื้อไข้ทรพิษหรือ cowpox จากหญิงเลี้ยงวัวที่ติดเชื้อดังกล่าวจากวัวที่เธอเลี้ยง ไปให้เด็กชายวัย 8 ปี ซึ่งหลังจากให้เชื้อฝีดาษดังกล่าวแก่เด็กชายผู้นั้น 6 สัปดาห์ พบว่าเด็กชายไม่ป่วยหรือมีอาการสำแดงถึงโรคฝีดาษ โดย ดร.เจนเนอร์ เรียกหนองฝีวัวนั้นว่า “VACCINE” ซึ่งมาจากภาษาละตินคำว่า “vacca” ที่แปลว่าวัว และเรียกวิธีการป้องกันโรคดังกล่าวว่า vaccination (ˌvaksəˈnāSH(ə)n) ซึ่งกลายเป็นคำที่ใช้กันอย่างแพร่หลายมาจนปัจจุบัน
จนในปี 1840 ดร.หลุยส์ ปาสเตอร์ (Dr.Louis Pasteur) ได้นำแนวความคิดของเจนเนอร์ไปประยุกต์กับวัคซีนป้องกันอหิวาตกโรคจากสัตว์ปีกจำพวกเป็ดและไก่ ซึ่งแนวคิดนี้เป็นแนวคิดพื้นฐานต่อการผลิตวัคซีนในระยะหลัง ต่อมา ดร.โจเซฟ ลิสเตอร์ (Dr.Joseph Lister) เป็นผู้ที่นำแอนติเซปติก (Antiseptic: ˌan(t)əˈseptik) หรือ สารซึ่งมีคุณสมบัติในการฆ่าหรือยับยั้งการเจริญเติมโตของแบคทีเรียก่อโรค หรือก็คือน้ำยาฆ่าเชื้อนั่นเอง มาใช้ในทางการแพทย์ ซึ่งนำไปสู่การผลิตวัคซีนชนิดเชื้อตายในระยะเวลาต่อมา จากนั้นก็ยังมีการต่อยอดพัฒนาวัคซีนประเภทต่าง ๆ
ฉะนั้น ว่าง่าย ๆ วัคซีน คือเชื้อโรคที่ถูกทำให้ตายหรืออ่อนแอลงโดยวิธีต่าง ๆ แล้วนำเข้าสู่ร่างกายทางใดทางหนึ่ง เช่น ฉีด หรือหยอด เพื่อให้เชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมเหล่านี้ที่เรียกรวมว่าแอนติเจน (Antigen: ˈan(t)əjən) เข้าไปกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย การฉีดวัคซีนจึงเป็นเหมือนการเข้าไปกระตุ้นให้ร่างกายรู้จักเชื้อโรคและสร้างแอนติบอดี (antibody:ˈan(t)əˌbädē) ที่สามารถรับมือกับเชื้อโรคนั้น ๆ ได้ทันท่วงที
ในกรณีของวัคซีน COVID-19 ปัจจุบัน ที่อนุญาตให้ใช้ในมนุษย์ในภาวะปกติและฉุกเฉิน ที่ผ่านการทดลองมี 3 กลุ่ม ได้แก่
1. วัคซีนประเภท mRNA เช่น วัคซีนของบริษัทไฟเซอร์ moderna
2. วัคซีนประเภท vector เช่น วัคซีนของอังกฤษ AstraZeneca และรัสเซีย Spuknic V
3. วัคซีนประเภทเชื้อตาย ได้แก่ วัคซีนของจีนอย่าง Sinovac และ Sinopharm
โดยแต่ละประเภทก็จะถูกผลิตขึ้นมาด้วยกรรมวิธีที่แตกต่างกันไป สำหรับในไทยที่ได้รับอนุมัติจากองค์การอาหารและยาของไทยให้ใช้ได้มีสองบริษัท คือ AstraZeneca และ Sinovac (ข้อมูลเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2564) แต่ก็ยังสามารถแจกจ่ายได้เพียงในวงจำกัดด้วยปัจจัยด้านกำลังการผลิตและยังต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศอยู่
แม้จะยังมีจำนวนจำกัด แต่วัคซีนนี้ก็นับเป็นความหวังเรืองรองในช่วงเวลาอันมืดมิดที่สุดของมนุษยชาติ ระหว่างที่เขียนต้นฉบับนี้ คนเขียนพอทราบข่าวมาว่าเริ่มมีการทยอยฉีดให้บุคลากรทางการแพทย์ที่อยู่ด่านหน้าแล้ว ประชาชนทั่วไปอย่างเรา ๆ ก็ต้องไม่ลืมปฏิบัติตัวตามแนวทางกระทรวงสาธารณสุขในเรื่อง สวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในที่สาธารณะ ล้างมือบ่อย ๆ กินร้อน ช้อนตัวเอง รักษาระยะห่างกันไปก่อนนะคะ อดทนอีกนิดเดียว เราก็จะผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้ด้วยกันค่ะ !
อ้างอิง
- อุษา ทิสยากร. “ประวัติความเป็นมาของวัคซีนโดยสังเขป” [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: https://pidst.or.th/userfiles/1_ประวัติความเป็นมาของวัคซีนโดยสังเขป.pdf…;
- Kai Kupferschmidt. “Why the word ‘vaccine’ is probably all wrong” [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: https://www.sciencemag.org/news/2017/10/why-word-vaccine-probably-all-w…;