ฉบับที่ 38

สวัสดีคุณผู้อ่านนิตยสาร @Rama ทุกท่านครับ 

สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ก่อให้เกิดโรค COVID-19 ในประเทศไทยเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น เราสามารถควบคุมการแพร่ระบาดและมีระบบการค้นหาผู้ติดเชื้อได้เป็นอย่างดี ทำให้สถานการณ์ภายในประเทศเป็นไปด้วยความสงบและเรียบร้อย 

แต่เราไม่อาจวางใจในสถานการณ์ที่อาจเกิดการแพร่ระบาดในวงกว้างขึ้นใหม่ จนอาจเป็น Second wave ได้ เหมือนกับสถานการณ์ในหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านของเราที่เริ่มมีการระบาดใหม่ ฉะนั้น เพื่อเป็นการป้องกันตามมาตรการของศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) และกระทรวงสาธารณสุข ควรทำตามคำแนะนำอย่างถูกต้องตลอดเวลา 

เรายังคงต้องสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้ง หมั่นล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำสบู่และเจลล้างมือแอลกอฮอล์ รวมทั้งการกินร้อน ช้อนตัวเอง ก็ยังคงเป็นสิ่งที่จำเป็นในการชีวิตประจำวัน นอกจากนี้ การใช้ชีวิตประจำวันที่เปลี่ยนไปหรือที่เรียกว่า New Normal แม้ว่าเราผ่านพ้นสถานการณ์กันมาได้สักพักแล้ว แต่เราก็ยังคงต้องใช้ชีวิตในแบบภาวะปกติใหม่กันต่อไป นี่ก็จะเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส ไม่เฉพาะแค่เชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เท่านั้น 

หากท่านมีข้อสงสัยที่อาจเข้าข่ายการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือมีโอกาสที่จะสัมผัสเชื้อหรือผู้ป่วย ให้รีบมาพบแพทย์เพื่อรับการตรวจคัดกรองและวินิจฉัยรักษาโดยทันที หรือจะมาที่คลินิกโรคติดเชื้อทางเดินหายใจเฉียบพลัน Acute Respiratory Infection Clinic (ARIC) ที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โดยให้สวมหน้ากากอนามัยและนัดวันเข้ามาเพื่อรับบริการ

สถานการณ์การแพร่ระบาดนอกเหนือจากในประเทศแล้ว ในต่างประเทศก็ยังน่าเป็นห่วง คุณผู้อ่านทุกท่านหมั่นติดตามข่าวสารอยู่เสมอ ทั้งจากสื่อต่าง ๆ และจากประกาศศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) รวมทั้งประกาศของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้ท่านสามารถเตรียมรับมือได้ทันท่วงที

ขอร่วมให้กำลังใจคนไทยทุกคนครับ
ไกล...เพราะรัก กัก...เพราะห่วงใย แต่ใจยังเหมือนเดิม

ศ. นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา
คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล

นิตยสาร @Rama : ปัญหาเรื่องตา จากการเรียนออนไลน์
บทบรรณาธิการ: 

สวัสดีค่ะคุณผู้อ่าน เข้าสู่ช่วงปลายฝนแบบนี้ อยากให้ทุกท่านได้ดูแลตัวเองมาก ๆ นะคะ เพราะเรื่องสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญใกล้ตัวมาก ๆ เลยค่ะ เช่นเดียวกันกับสถานการณ์ของ COVID-19 ที่ยังคงมีการแพร่ระบาดใหญ่ทั่วโลกอย่างต่อเนื่องอยู่ในขณะนี้ และแม้ว่าในประเทศไทยเรายังไม่พบการระบาดระลอกสองเกิดขึ้นก็ตาม แต่เราก็ควรที่จะปฏิบัติตัวตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) แนะนำ ควรปกป้องตัวเราเองไม่ให้สัมผัสเข้ากับเชื้อร้ายนี้กันนะคะ ส่วนตัวเชื่อมั่นว่าเราจะผ่านมันไปได้ด้วยกันอีกครั้งค่ะ 

เนื้อหาที่น่าติดตามกันในฉบับนี้ เริ่มกันที่ควันหลงผลกระทบหลังจากที่เรากักตัวอยู่บ้านกันมาระยะเวลาหนึ่ง เราก็มักจะใช้สายตากันมากกว่าปกติ ทั้งการดูโทรทัศน์ จ้องคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ รวมทั้งแท็บเล็ต ซึ่งส่งผลสำคัญต่อดวงตาของเราได้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เรามาอ่านดูว่า มีโรคอะไรบ้างที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับดวงตา แล้วเราจะมีวิธีป้องกัน รักษากันอย่างไร ติดตามในคอลัมน์ Health Station ค่ะ 

ต่อเนื่องกันที่ ความหมายของการระบาดครั้งใหญ่ของโรคต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น คำว่า Pandemic Endemic Epidemic และ Outbreak แต่ละคำมีความหมายที่แตกต่างกันอย่างไร และในสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 นี้เราควรใช้คำใด พลิกอ่านได้ในคอลัมน์ฟุตฟิตฟอไฟกับรามาฯ ค่ะ 

ส่วนเรื่องราวความเชื่อในฉบับนี้ จริงหรือไม่ที่คนท้องเสี่ยงต่อการแท้งจากการเก็บอุจจาระแมว มีสาเหตุที่มาที่ไปอย่างไร ร่วมหาคำตอบได้ที่ Believe it or not กันเลยค่ะ ต่อกันด้วยคอลัมน์ Rama RDU ฉบับนี้เอาใจคนรักสวยรักงาม ที่เวลาเห็นสิวขึ้นแล้วต้องรีบถามหายารักษาสิวทันที มารู้จักยารักษาสิวกันค่ะ

ต่อกันด้วยเรื่องราวความประทับใจที่คอลัมน์ Behind the Scene เกี่ยวกับบ้านเล็กในเมืองใหญ่ คำว่าบ้าน ไม่ใช่บ้านอย่างที่เราคิด ส่วนคอลัมน์ Camera Diary แม้จะผ่านพ้นช่วงวันแม่มาแล้ว แต่เรื่องราวของการเป็นแม่ของคนคนหนึ่งนั้นไม่ง่ายเลย ฉบับนี้เรามีเรื่องราวเกี่ยวกับคุณแม่ที่เล่าเรื่องผ่านประสบการณ์จากชีวิตจริงมาให้อ่านกันค่ะ

เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ยังเป็นวันสำคัญของชาวรามาธิบดีที่ได้ร่วมภาคภูมิใจกันในโอกาสที่อาคารสมเด็จพระเทพรัตน์ได้เปิดดำเนินการครบรอบมาแล้ว 9 ปี ซึ่งสัญลักษณ์หนึ่งที่พบเห็นได้ในอาคารแห่งนี้คือ ดอกม่วงเทพรัตน์ เรามีบทกลอนเกี่ยวกับดอกไม้นี้มาฝากกันค่ะ

ผศ. พญ.จริยา ไวศยารัทธ์
บรรณาธิการนิตยสาร @Rama

เนื้อหาภายในฉบับที่ 38