นิตยสารทุกฉบับ
รวมนิตยสาร
บทความประจำ
เลือกดูบทความจากทุกเล่ม
ค้นหาบทความ
ค้นหาจากหัวข้อ

Doctor by design เรียนแพทย์ที่เราออกแบบได้

Volume
ฉบับที่ 35 เดือนกุมภาพันธ์ 2563
Column
Rama Update
Writer Name
ดนัย อังควัฒนวิทย์

Doctor by design เรียนแพทย์ที่เราออกแบบได้

เมื่อวันที่  15  ตุลาคม  2562  คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดงานแถลงข่าวเปิดตัวหลักสูตรการเรียนการสอนใหม่ร่วมกัน  ในชื่อ “หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต - วิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิศวกรรมชีวการแพทย์” ซึ่งเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ที่มุ่งผลิตสร้าง  “แพทย์นวัตกร” ตอบโจทย์ยุค Disruption และยังเป็นการเปิดโอกาสให้กับผู้ที่มีความประสงค์จะเรียนแพทย์และวิศวกรรมควบคู่กันไป

Doctor by design เรียนแพทย์ที่เราออกแบบได้

การเรียนการสอนจะเป็นรูปแบบเรียน 3-1-3 ปี รวมทั้งหมดใช้เวลาเรียน 7 ปี ซึ่งจะได้รับปริญญาบัตรสองใบ (แพทยศาสตรบัณฑิต และ วิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิศวกรรมชีวการแพทย์)

ความสำคัญของการเปิดหลักสูตรใหม่นี้ ศ.  นพ.ปิยะมิตร  ศรีธราคณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ในปัจจุบัน การนำนวัตกรรมที่เกิดขึ้นจากแนวโน้มของการนำดิจิทัลและเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในทางการแพทย์เพื่อการรักษาผู้ป่วยมีมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง แพทย์จึงจำเป็นต้องปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น นอกจากความรู้ด้านการแพทย์ที่ดีแล้ว ทักษะและความเข้าใจทางด้านวิศวกรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตลอดจนการทำวิจัยและพัฒนานวัตกรรม ถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับแพทย์ยุคใหม่ หลักสูตรร่วมนี้จะช่วยดึงศักยภาพและเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้แสดงความสามารถอย่างเต็มที่ในการสร้างนวัตกรรมทางการแพทย์ จากความรู้ทางด้านแพทย์และวิศวกรรม

Doctor by design เรียนแพทย์ที่เราออกแบบได้

ทั้งนี้ จุดเด่นสำคัญที่สุดของของหลักสูตรใหม่ ยังเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เรียนรู้และพัฒนาทักษะทางการแพทย์และความรู้ทักษะพื้นฐานทางวิศวกรรม ได้ทำงานด้านพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ร่วมกับนักวิจัยและอาจารย์ทั้งในคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

นักศึกษาที่เข้ามาเรียนในชั้นปีที่ 1-3 จะได้เรียนทางด้านพรีคลินิกเช่นเดียวกับหลักสูตรแพทย์ปกติ พอขึ้นชั้นปีที่ 4 จะได้เรียนทางด้านทักษะวิศวกรรมและลงมือพัฒนางานวิจัยหรือนวัตกรรม และกลับมาเรียนชั้นคลินิกเช่นเดียวกับหลักสูตรแพทย์ปกติ ในชั้นปีที่ 5-7

เมื่อจบการศึกษา ก็จะมีขีดความสามารถในการเป็น “แพทย์นวัตกร” ที่นอกจากสามารถทำงานเป็นแพทย์แล้ว ยังสามารถมองเห็นปัญหาและโอกาสในการแก้ปัญหาด้วยหลักการทางวิศวกรรม  ต่อยอดพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมทางการแพทย์  และเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง  รวมทั้งมีโอกาสสูงในการได้รับเลือกให้เรียนต่อเฉพาะทางหรือหลักสูตรปริญญาเอกทั้งในและต่างประเทศ  เนื่องจากมีประสบการณ์ทำงานวิจัยและผลงานตีพิมพ์ในระดับนานาชาติ อีกด้วย

รายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ facebook :RAMA by D

ดาวน์โหลดเพื่ออ่านรูปแบบ PDF
เนื้อหาภายในฉบับที่ 35