นิตยสารทุกฉบับ
รวมนิตยสาร
บทความประจำ
เลือกดูบทความจากทุกเล่ม
ค้นหาบทความ
ค้นหาจากหัวข้อ

รักษ์ไร้พรมแดน

Volume
ฉบับที่ 35 เดือนกุมภาพันธ์ 2563
Column
Behind the Scene
Writer Name
กนกพร จันทร์เผือก หน่วยบริการพยาบาลผู้ป่วยที่บ้าน งานการพยาบาลป้องกันโรคและส่งเสริมสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เรียบเรียง โดย นันทิตา จุไรทัศนีย

รักษ์ไร้พรมแดน

รักษ์ไร้พรมแดน

เมื่อความมืดมิดเริ่มคืบคลานเข้าปกคลุมทุกพื้นที่หลังพระอาทิตย์ลับลาขอบฟ้าไป หลาย ๆ คนเริ่มเข้าสู่กระบวนการนิทราเพื่อเติมพลังให้กับเช้าวันใหม่ แต่สำหรับฉันกลับเป็นการเริ่มต้นการทำงานเมื่อใกล้จะผ่านพ้นค่ำคืนเพื่อเข้าสู่วันต่อไป

ในคืนวันนั้นฉันต้องเข้าทำงานในเวรดึก สำหรับวอร์ด ไอ.ซี.ยู.เด็ก (PICU : หอผู้ป่วยวิกฤตเด็ก) นับว่าเป็นเรื่องปกติที่จะต้องเตรียมพร้อมรับคนไข้ตลอดเวลา ภาวะวิกฤตในเด็กสามารถเกิดขึ้นได้ทุกช่วงชีวิตของเด็กป่วย และเป็นหน้าที่ของเราในการเตรียมพร้อมรับมือในการดูแลคนไข้เด็กในช่วงวิกฤตนั้นให้ผ่าน้นไปได้อย่างปลอดภัย  และนั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้ฉันมายืนอยู่ที่นี่ ณ เวลานี้ ซึ่งผ่านมาแล้วถึง 5 ปี

แต่ความไม่ปกติในวันนี้คือ ผู้ป่วยที่รับใหม่เป็นเด็กชายชาวต่างชาติจากประเทศเพื่อนบ้านด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเรา ซึ่งนาน ๆ จะได้พบเจอ บิดามารดาของเขาพาบินข้ามเส้นพรมแดนมารักษาตัวที่โรงพยาบาลรามาธิบดี และตั้งความหวังไว้ไกลถึงประเทศไทยเลยทีเดียว

ฉันได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าเวรพยาบาลในค่ำคืนนี้ และนั่นทำให้ฉันต้องเตรียมพร้อมในการทำงานให้เต็มที่ ประกอบกับหลังจากวันนี้ไปเด็กชายจะต้องอยู่ในความดูแลของฉันซึ่งเป็นพยาบาลเจ้าของไข้ของเขา จะต้องดูแลกันไปตลอดจนกว่าอาการจะดีขึ้นหรือว่าแย่ลงจนต้องจากกันไป ความกังวลเริ่มจู่โจมเข้ามา อาจเป็นด้วยเรื่องภาษา ฉันไม่รู้ว่าจะต้องสื่อสารอย่างไร และฉันจะสามารถอธิบายหรือให้ข้อมูลใด ๆ แก่พ่อแม่ได้อย่างถูกต้องหรือไม่ แต่ด้วยความเชื่อมั่นในทีมบุคลากรการแพทย์ ไม่ว่ายังไงทุกอย่างต้องผ่านไปได้ด้วยดีอย่างที่เคยเป็นเสมอมา

รักษ์ไร้พรมแดน

วินาทีที่เด็กชายบนรถนอน (Stretcher) ถูกเข็นผ่านประตูเข้ามาสู่วอร์ด เขาดูเหมือนเด็กวัย 2 ขวบทั่วไป แต่ที่ต่างออกไปคือท่อช่วยหายใจที่มุมปากต่อเข้ากับชุดช่วยหายใจแบบบีบมือ (Oxygen Reservoir Bag) นั่นบ่งบอกถึงความเหนื่อยหอบและความรุนแรงของโรคในขณะนั้นได้เป็นอย่างดี เนื่องจากปัญหาเรื่องโรคปอดเรื้อรังที่จำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจความถี่สูง (HFOV) ซึ่งเป็นภาวะวิกฤติที่จำเป็นต้องเข้า ไอ.ซี.ยู.

ฉันสัมผัสได้ถึงความห่วงใยของผู้เป็นแม่ เธอร้องไห้ตลอดเวลาด้วยความเสียใจที่ลูกชายอาการหนักยิ่งนัก ซึ่งผู้เป็นพ่อก็ได้พยายามปลอบใจอยู่ไม่ห่างกาย แต่หน้าที่ของฉันและทีมบุคลากรการแพทย์จำเป็นต้องให้การดูแลผู้ป่วยเป็นหลัก หลังจากนั้นจึงจะสามารถอธิบายเรื่องต่าง ๆ ทั้งอาการ การดูแล การรักษา และอื่น ๆ อีกมากมาย ในขณะที่รับการรักษาตัวในโรงพยาบาล ซึ่งคืนนั้นเหตุการณ์ทุกอย่างก็ผ่านไปได้ด้วยดี อาการของเด็กชายค่อนข้างคงที่หลังจากได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที และแพทย์ก็ได้แจ้งอาการกับผู้ปกครองทั้งสองคน และให้กลับบ้านเพื่อพักผ่อนก่อนจะมาเยี่ยมลูกในตอนเช้าอีกครั้ง

รักษ์ไร้พรมแดนรักษ์ไร้พรมแดน

เป็นความโชคดีที่คุณพ่อสามารถสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษได้ เพราะเคยเป็นแพทย์อยู่ที่ประเทศของตนเอง แต่ปัจจุบันไม่ได้ทำงานด้านนั้นแล้วเนื่องจากประเทศของเขาไม่สามารถให้ค่าตอบแทนได้เพียงพอที่จะดูแลครอบครัวได้  เขาจึงต้องเปลี่ยนอาชีพมาทำงานรับเหมาก่อสร้างแทนตามความต้องการด้านอุตสาหกรรมภายในประเทศ

ในการทำงานในแต่ละครั้งและแต่ละวันที่ต้องดูแลเด็กชายถือว่าอาการไม่ได้แย่เสียทุกวัน แต่ในการสื่อสารกับพ่อและแม่นั้นก็ไม่ได้ง่ายในช่วงแรก แต่หลังจากได้พูดคุยและแจ้งอาการในแต่ละวัน ฉันเริ่มจะปรับตัวได้ ความหนักใจต่าง ๆ ลดลงมาก สามารถพูดคุยบอกอาการทั่วไปหรือในเวลาให้การพยาบาลได้ แต่อาการโดยรวมของเด็กชายก็ไม่ได้ดีขึ้นเลยตลอดเวลาที่รับการรักษาอยู่ ความเครียดและความกังวลของพ่อแม่บ่งบอกได้จากทางสีหน้า แววตา และท่าทาง รวมถึงค่ารักษาที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งการเป็นชาวต่างชาติมีผลให้ค่ารักษาสูงขึ้นกว่าปกติ พวกเขาจำเป็นต้องขายที่ดินและรถเพื่อมารักษาลูกชายที่นับวันยิ่งมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจนถึงหลักล้านเลยทีเดียว แล้ววันหนึ่ง พ่อของเด็กชายก็ได้แจ้งว่าเงินที่เก็บรวบรวมไว้แทบไม่เหลือแล้ว ทั้งสองรวบรวมความกล้าในการขออนุญาตรบกวนทางโรงพยาบาลเพื่อขอความช่วยเหลือ

ทีมบุคลากรการแพทย์ได้ประชุมทีมร่วมกันและคิดว่าพอช่วยเหลือครอบครัวนี้ได้อย่างไรบ้าง ขั้นแรกคือ การทำเรื่องไปยังสำนักงานผู้อำนวยการเพื่อให้ค่ารักษาเป็นราคาในอัตราของคนไทย ซึ่งค่ารักษาทั้งหมดจะลดลงเกือบสองเท่า นั่นทำให้ฉันได้เรียนรู้ว่าขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงในระบบต่าง ๆ ต้องทำอย่างไร และทำให้ฉันรู้สึกว่าอยากทำทุกอย่างให้เต็มที่เพื่อช่วยเหลือครอบครัวนี้ เพราะภายในประเทศของเขาเองไม่มีความพร้อมในการรักษาคนไข้ เมื่อทราบว่าที่ไหนสามารถให้การรักษาได้ พวกเขาก็ไปทุกที่เพื่อให้ลูกหายป่วย จนกระทั่งทราบถึงความก้าวหน้าทางสาธารณสุขของประเทศไทย จึงเดินทางมาไกลด้วยความหวังที่เต็มเปี่ยม และแพทย์เจ้าของไข้สรุปประวัติการรักษาเพื่อให้บิดามารดานำไปแจ้งที่สถานฑูตของประเทศที่ประจำประเทศไทย เผื่อว่าทางนั้นอาจจะสามารถช่วยเหลือในเรื่องอื่น ๆ ได้อีกทางหนึ่ง แต่สุดท้ายสิ่งที่ได้กลับมาจากสถานฑูตคือ คำปฏิเสธ ......

วันเวลาผ่านไปหลายสัปดาห์พร้อมกับอาการของเด็กชายที่เริ่มแย่ลง แพทย์เจ้าของไข้แจ้งอาการของผู้ป่วยกับพ่อและแม่เป็นระยะ จากที่ทั้งสองสามารถรับรู้และรับฟังได้โดยการใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลาง กลับกลายเป็นว่าสภาพจิตใจที่ย่ำแย่และหม่นหมอง ทำให้ไม่สามารถสื่อสารได้อย่างเคย จนจำเป็นต้องใช้ล่ามเจ้าของภาษาในการช่วยแปล แต่ถึงกระนั้นการพูดคุยก็ยังเป็นไปอย่างยากลำบาก ด้วยความที่จิตใจเศร้าหมองจนไม่สามารถยอมรับความเป็นจริงได้ แนวทางในการรักษาก็ยิ่งยากขึ้นในทุกนาที และเป็นอย่างนี้ในทุก ๆ วันที่อาการของเด็กชายไม่คงที่หรือแย่ลง

พ่อกับแม่ตัดสินใจเดินทางกลับประเทศของตนเพื่อไปหาค่ารักษาเพิ่มเติม แต่เหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น อาการของเด็กชายกลับแย่ลงในชั่วข้ามคืน จนแพทย์ต้องติดต่อพ่อและแม่เพื่อแจ้งอาการให้ทราบทางโทรศัพท์ ฉันอยู่ในเหตุการณ์นั้นตลอดเวลาจนรู้สึกได้ถึงสถานการณ์ว่าย่ำแย่เพียงใดฉันได้ยินเพียงแต่เสียงร้องไห้ของผู้เป็นแม่ดังเล็ดลอดออกมา หลังจากนั้นทั้งสองก็รีบเดินทางกลับมาประเทศไทยทันที 

ในเวลานั้นเต็มไปด้วยความวุ่นวายในการพยายามช่วยชีวิตเด็กชายรวมถึงการกู้ชีพ พ่อและแม่อยากพบลูกแทบขาดใจ เสียงร้องไห้ของผู้เป็นแม่ดังก้องอยู่ในหัวของฉัน แพทย์ผู้ทำการรักษาตัดสินใจแจ้งอาการของเด็กชายกับพ่อแม่อีกครั้ง เวลาแจ้งข้อมูลทางการแพทย์จำเป็นต้องทำงานเป็นทีม และฉันก็เป็นหนึ่งในทีมในการเข้าร่วมพูดคุยในครั้งนี้ด้วย

หลังจากอาจารย์แพทย์และแพทย์เจ้าของไข้ได้แจ้งอาการให้ทั้งคู่ทราบ ทันใดนั้น แม่ของเด็กชายก็ก้มลงกราบทีมแพทย์และฉันเพื่อขอให้ช่วยลูกของตนเองให้ได้ เสียงกรีดร้องและเสียงร้องไห้ดังอยู่ไม่ขาด เธอคุกเข่าอยู่อย่างนั้น ผู้เป็นพ่อก็ย่อตัวลงคุกเข่าร้องไห้กอดผู้เป็นแม่ไว้แน่นและขอให้ช่วยรักษาลูกให้ได้  เขาได้แต่พูดว่า “หมอช่วยเอาปอดของผมไปให้ลูกแทนด้วยเถอะ ผมยอมตายแทนได้เพื่อให้ลูกรอดชีวิต”

รักษ์ไร้พรมแดน

ช่วงเวลานั้นสำหรับฉันเป็นช่วงที่ชุลมุนมากที่สุดในชีวิตการทำงานก็ว่าได้ ฉันต้องให้การพยาบาลเบื้องต้นแก่มารดาที่เป็นลมจากการผิดหวังและร้องไห้ฟูมฟาย จนกระทั่งเมื่ออารมณ์ของเธอสงบลง ทีมแพทย์ได้ขอร้องให้พ่อกับแม่กลับไปพักผ่อน เนื่องจากเป็นเวลาดึกมากแล้ว และจากที่ได้รับการรักษาในช่วงวิกฤต อาการของเด็กชายกลับมาคงที่อีกครั้ง ฉันและพยาบาลคนอื่น ๆ อยู่เป็นเพื่อนเพื่อให้กำลังใจทั้งคู่จนสามารถพูดคุยกันได้และกลับที่พักไปในที่สุด

หลังจากวันนั้นฉันต้องไปประชุมวิชาการจึงไม่ได้มาทำงานหลายวัน และได้ทราบในภายหลังว่าเด็กชายอาการแย่ลงจนไม่สามารถยื้อชีวิตไว้ได้ ซึ่งได้สร้างความเสียใจให้กับพ่อและแม่เป็นอย่างมาก เมื่อได้รับรู้ฉันเองก็เสียใจไม่แพ้กัน ได้แต่คิดถึงตลอดช่วงเวลา 2 เดือนที่ผ่านมาที่ฉันมีโอกาสได้ดูแลเด็กชาย ฉันตัดสินใจว่าต้องให้กำลังใจและหาโอกาสร่ำลากับพ่อและแม่เป็นครั้งสุดท้าย แต่เมื่อกลับมาที่วอร์ดอีกครั้ง ...... ฉันกลับไม่เจอทั้งสองเสียแล้ว

อันที่จริงฉันพอจะทราบว่าการที่พ่อและแม่ต้องพาร่างของเด็กชายกลับสู่ประเทศของตนเองนั้นเป็นเรื่องยากอย่างยิ่ง เนื่องจากติดปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายรวมถึงเอกสารต่าง ๆ แต่ในความโชคร้ายยังมีความโชคดีทางครอบครัวได้รับความช่วยเหลือจากภาควิชากุมารเวชศาสตร์ ซึ่งได้ร่วมสมทบทุนเพื่อช่วยเหลือในเรื่องการเดินทางและการเตรียมเอกสาร ส่วนฉันก็เช่นกันที่ถึงแม้ว่าอยากจะช่วยเท่าที่ทำได้ ..... แต่คิดว่าคงไม่มีโอกาสแล้ว

เช้าวันต่อมา ฉันมาทำงานตามปกติแต่เหมือนมีปาฏิหาริย์เกิดขึ้น ฉันรู้สึกโชคดีมากที่คุณพ่อของเด็กชายมาที่วอร์ดอีกครั้ง เพื่อวางพวงมาลัยบนหัวเตียงที่เด็กชายเคยนอนรักษาตัวอยู่ตามความเชื่อเป็นครั้งสุดท้าย ฉันจึงได้โอกาสมอบความช่วยเหลือตามเจตนารมณ์ที่ตั้งใจไว้  ตอนนั้นฉันมีสิ่งที่อยากจะบอกกับพ่อหลายอย่าง  แต่มันตีบตันอยู่ในลำคอ  ฉันพูดอะไรไม่ออก สิ่งที่ฉันทำได้คือบอกว่า “ขอให้โชคดี” ซึ่งเขาก็ได้แต่บอกว่า “ขอบคุณสำหรับทุกสิ่งทุกอย่าง ถ้ามีโอกาสคงได้เจอกันอีก”

นั่นเป็นความรู้สึกที่ดีที่สุดแล้วสำหรับฉันในชีวิตการทำงานที่มีโอกาสได้ทำในสิ่งที่เป็นการช่วยเหลือโดยไม่หวังผลตอบแทน ฉันได้แต่คิดว่าสักวันหนึ่งคงมีโอกาสได้เจอกันในวันที่ครอบครัวของพ่อกับแม่เข้มแข็งและได้พบความสุขอีกครั้ง

หนึ่งเดือนผ่านไปหลังจากวันนั้น  ฉันเปิดโซเชียลมีเดียเป็นปกติแบบที่เคยทำมา สิ่งที่ผ่านตาทำให้ฉันได้พบเจอเรื่องราวต่าง ๆ มากมายของคนที่รู้จักผ่านการเล่าด้วยรูปภาพและตัวหนังสือ แต่ตัวอักษรสีแดงเด่นทำให้ฉันสะดุดตาที่เห็นคนขอเพิ่มเป็นเพื่อนที่ไอคอนรูปคน มีความรู้สึกบางอย่างที่ทำให้ฉันตื่นเต้น เมื่อเปิดเข้าไปดูว่าเขาเป็นใครและฉันรู้จักเขาหรือไม่ กลับพบว่าเป็นคุณพ่อของเด็กชายคนนั้นที่มาขอเป็นเพื่อนทางโซเชียลมีเดีย ฉันจึงได้เข้าใจจริง ๆ ว่า ถึงแม้เราอาจไม่ได้พบเจอกันอีกในชีวิตจริงแต่เราสามารถรับรู้เรื่องราวของพวกเขาได้เสมือนว่าเราได้พบกันอีกครั้ง

รักษ์ไร้พรมแดน

สามปีแล้วที่เรื่องราวต่าง ๆ ได้ผ่านไปตามกาลเวลา ฉันได้รับรู้ถึงความสุข ความสดใสของครอบครัวนั้น  และได้เห็นการระลึกถึงบุคคลอันเป็นที่รักที่ไม่เคยลืมเลือน แต่ก็สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขในปัจจุบันทำให้ฉันคิดว่าการรักษาในครั้งนั้นไร้ซึ่งขอบเขตและพรมแดน ถึงแม้จะต่างชาติต่างภาษา แต่เราสามารถรับรู้ได้ถึงความเอื้ออาทรที่มีให้แก่กันได้จริง ๆ จนถึงวันนี้และตลอดไป

ดาวน์โหลดเพื่ออ่านรูปแบบ PDF
เนื้อหาภายในฉบับที่ 35