นิตยสารทุกฉบับ
รวมนิตยสาร
บทความประจำ
เลือกดูบทความจากทุกเล่ม
ค้นหาบทความ
ค้นหาจากหัวข้อ

ยาหยอดหู (Ear drops)

Volume
ฉบับที่ 31 เดือน มกราคม 2561
Column
Rama RDU
Writer Name
ภก. คุณาวุธ จิรัฐติกร งานเภสัชกรรมคลินิก ฝ่ายเภสัชกรรม คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

ยาหยอดหู (Ear drops)

ยาหยอดหู (Ear drops) เป็นยาที่ใช้เพื่อรักษาการติดเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราในช่องหูรักษาการอักเสบภายในหูชั้นนอก หูชั้นกลางและใช้รักษาการอุดตันของขี้หู

ประเภทของยาหยอดหู (จำแนกตามชนิดของตัวยา)

  1. ยาต้านจุลชีพ เช่น neomycin, gentamicin, polymyxin B เพื่อลดการอักเสบของหูชั้นนอก หูชั้นกลาง หากมีหนองหรือเนื้อเยื่อที่ตายอยู่ในหูชั้นนอก ควรทำความสะอาดก่อน เพื่อให้ยาสัมผัสและออกฤทธิ์อย่างมีประสิทธิภาพ
  2. ยาระงับปวดมักเป็นยาชาเฉพาะที่ เช่น lidocaine หรือ benzocaine มักผสมยาต้านจุลชีพ เพื่อลดอาการปวดจากการอักเสบติดเชื้อและลดการระคายเคืองจากยาต้านจุลชีพ
  3. ยาต้านการอักเสบเป็นยาสเตียรอยด์ซึ่งมีฤทธิ์ลดการอักเสบ บวม เช่น prednisolone, dexamethasone, hydrocortisone หลีกเลี่ยงการใช้ยาหยอดหูที่มีสเตียรอยด์เป็นส่วนผสม ในผู้ที่สงสัยว่ามีการติดเชื้อรา วัณโรค หรืองูสวัด ในช่องหู
  4. ยาต้านเชื้อราสำหรับการติดเชื้อราในช่องหูเช่น clotrimazole
  5. ยาละลายขี้หูใช้ในผู้ป่วยที่มีขี้หูอุดตัน ยาละลายขี้หูจะทำให้ขี้หูอ่อนนุ่ม จนสามารถเอาออกได้โดยง่าย

วิธีการใช้ยาหยอดหู

  1. ล้างมือให้สะอาดและควรปรับอุณหภูมิของยาให้ใกล้เคียงกับอุณหภูมิของร่างกาย หากเก็บยาไว้ในตู้เย็น ควรนำมาตั้งทิ้งไว้ในอุณหภูมิห้อง หรือกำยาไว้ในอุ้งมือจนได้อุณหภูมิพอเหมาะ
  2. เอียงศีรษะให้หูข้างที่จะหยอดยาอยู่ด้านบน หยอดยาเข้าไปในหูตามที่กำหนด ระวังไม่ให้นำหลอดหยดสอดเข้าไปในรูหู
  3. เอียงตะแคงหูอยู่ในท่าเดิมอย่างน้อย 5-10 นาที
  4. ก่อนลุกขึ้นหรือหยอดหูอีกข้าง ควรนำสำลีอุดที่ช่องหูชั้นนอกข้างที่หยอดหู เพื่อให้ยาค้างและสัมผัสอยู่ในช่องหูนานที่สุดเท่าที่จะนานได้ และสามารถนำสำลีนี้ออกได้หลังจากผ่านไป 20–30 นาทีหากมียาในช่องหูไหลออกมาให้เช็ดทำความสะอาดเฉพาะบริเวณรอบหู

  ยาหยอดหู (Ear drops)

 
ดาวน์โหลดเพื่ออ่านรูปแบบ PDF
เนื้อหาภายในฉบับที่ 31