นิตยสารทุกฉบับ
รวมนิตยสาร
บทความประจำ
เลือกดูบทความจากทุกเล่ม
ค้นหาบทความ
ค้นหาจากหัวข้อ

เปลี่ยนรองเท้าแก้รองช้ำได้จริงหรือ?

Volume
ฉบับที่ 30 เดือน กรกฎาคม 2560
Column
Believe it or not
Writer Name
นายแพทย์สุกิจ เลาหเจริญสมบัติ ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์เท้าและข้อเท้า ภาควิชาออร์โธปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

เปลี่ยนรองเท้าแก้รองช้ำได้จริงหรือ?

ก่อนอื่นต้องทราบก่อนว่ารองช้ำคืออะไร รองช้ำ (plantar fascia) คือเอ็นที่ขึงอยู่ที่ฝ่าเท้าจากกระดูกส้นเท้าแผ่ไปยังนิ้วเท้าทั้งห้านิ้ว ซึ่งทำหน้าที่ให้อุ้งเท้าขณะเดินลงน้ำหนัก เมื่อรองช้ำเกิดรอยโรคซึ่งมักรู้จักกันในชื่อ รองช้ำอักเสบ (plantar fasciitis) ผู้ป่วยจะมีอาการปวดบริเวณส้นเท้า ซึ่งเป็นบริเวณจุดเกาะของเอ็นรองช้ำกับกระดูกส้นเท้า โดยอาการปวดมักจะเกิดขึ้นในก้าวแรก ๆ ของการเดิน หลังตื่นนอนตอนเช้าหรือหลังจากนั่งนาน ๆ อาการปวดจะหายไปเมื่อเดินไปสักระยะหนึ่ง โดยอาจจะมีการปวดอีกครั้งหลังจากเดินต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ๆ รองช้ำอักเสบมักเกิดในวัยกลางคน ซึ่งเอ็นรองช้ำจะเริ่มมีการเสื่อมสภาพ ร่วมกับปัจจัยอื่น ๆ เช่น น้ำหนักตัวมาก เบาหวาน หรือลักษณะงานที่ต้องยืนหรือเดินนาน ๆ รวมไปถึงรูปทรงเท้าที่ผิดปกติ เช่น เท้าแบน (pes planus) และอุ้งเท้าสูง (pes cavus) ซึ่งปัจจัยเหล่านี้มีผลต่อการกระจายแรงกดที่กระทำต่อเอ็นรองช้ำ เกิดการบาดเจ็บซ้ำและการเสื่อมสภาพของเอ็นรองช้ำมากขึ้น

อย่างไรก็ดี รองช้ำอักเสบ ส่วนใหญ่สามารถรักษาได้โดยวิธีที่ไม่ต้องผ่าตัด โดยให้ฝึกการยืดหยุ่นเอ็นร้อยหวายและเอ็นรองช้ำ การใช้ยาลดปวด การปรับเปลี่ยนปัจจัยกระตุ้นการบาดเจ็บต่อเอ็นรองช้ำ เช่น การลดน้ำหนัก ก็มีส่วนช่วยย่นระยะเวลาการรักษาและช่วยลดโอกาสการกลับมาเป็นซ้ำได้ หากยังไม่ดีขึ้นอาจพิจารณารักษาด้วยคลื่นกระแทก (shock wave therapy) หรือการผ่าตัด

การเปลี่ยนรองเท้าช่วยแก้รองช้ำได้หรือไม่ ?

การเลือกรองเท้านั้น (ซึ่งอาจจะเป็นการยากในสังคมปัจจุบัน ซึ่งมีค่านิยมเรื่องความสวยงามของรองเท้า) ดูตามความเหมาะสมกับรูปทรงเท้าและกิจกรรมแต่ละชนิด โดยทั่วไปมักจะแนะนำผู้ป่วยรองช้ำอักเสบสวมรองเท้ากีฬาซึ่งมีพื้นรองเท้าด้านในที่นุ่มและพยุงอุ้งเท้าได้ดีพอสมควร ร่วมกับพื้นด้านนอกรองเท้าที่มีการดูดซับแรงกระแทกที่ดีตามคุณภาพและราคาของรองเท้าแต่ละยี่ห้อ อย่างไรก็ดีในผู้ป่วยที่มีความผิดรูปของเท้ามาก อาจสวมอุปกรณ์พยุงฝ่าเท้า เช่น ในผู้ป่วยที่มีภาวะเท้าแบน พิจารณาใส่อุปกรณ์เสริมอุ้งเท้า (arch support) ส่วนในกรณีที่มีภาวะอุ้งเท้าสูงอาจใส่แผ่นรองเท้าที่เสริมด้านนอกของฝ่าเท้า (lateral forefoot wedge) อย่างไรก็ตามบางครั้งอาจมีความจำเป็นที่จะต้องใช้แผ่นรองเท้าชนิดตัดเฉพาะราย (custom made insole) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรายที่มีความผิดรูปของเท้าที่มากเกินกว่าอุปกรณ์พยุงเท้าชนิดสำเร็จรูปจะช่วยได้

ดาวน์โหลดเพื่ออ่านรูปแบบ PDF
เนื้อหาภายในฉบับที่ 30