หลากความเข้าใจผิดด้านโภชนาการกับการลดน้ำหนัก
หลายท่านคงคุ้นเคยกับประโยคที่กล่าวว่า “you are what you eat” หรือ “กินอย่างไรได้อย่างนั้น” ซึ่งก็ตรงกับความจริงที่ว่า อาหารที่เรารับประทานเข้าไปในแต่ละวันล้วนมีบทบาทสําคัญต่อการเจริญเติบโตและซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย
การมีรูปร่างที่ดีสมส่วนนั้นเป็นที่ต้องการชื่นชอบของคนทุกยุคทุกสมัยไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชาย ผู้คนจํานวนไม่น้อยก็ต่างสรรหาวิธีการที่จะเป็นหนทางอันนําไปสู่การมีรูปร่างดีหรือผอมเพรียวอย่างที่ตนปรารถนา แต่ทราบหรือไม่ว่าน้อยคนนักที่จะประสบความสําเร็จในการลดน้ำหนักและมีรูปร่างที่ดีในระยะยาว ทั้งนี้เนื่องมาจากความเข้าใจผิดในการเลือกรับประทานอาหารเพื่อลดน้ำหนักนั้นเอง
“ลดน้ำหนัก 10 กิโลกรัม ภายใน 10 วัน”
“สูตรอาหารเพื่อการลดน้ำหนัก 3 กิโลกรัม ภายใน 1 วัน”
“กินแต่เนื้อสัตว์ห้ามกินแป้ง”
“กินแต่กับห้ามกินข้าวเพราะทําให้อ้วน”
“ดื่มก่อนนอนตื่นมาผอม”
“อยากผอมต้องงดมื้อเย็น”
“กินมังสวิรัตช่วยลดน้ำหนัก”
วันนี้ทาง @ Rama ได้รับเกียรติจาก ดร. ฉัตรภา หัตถโกศล ผู้เชี่ยวชาญด้าน โภชนาการ ที่จะมาให้ความกระจ่างและตอบทุกข้อสงสัยด้านโภชนาการกับการลดน้ำหนักเพื่อการมีรูปร่างดี สมส่วน ควบคู่ไปกับสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงVarietiesCornerกมลวรรณ ไทยรัตน์
Q: เชื่อกันว่าหากเลือกรับประทานเฉพาะเนื้อสัตว์จะสามารถทําให้ลดน้ำหนักได้
A: การรับประทานอาหารประเภทโปรตีนสูง เช่น เนื้อสัตว์ ไข่ นม อาจทําให้น้ำหนักตัวลดลงได้บ้างในช่วงระยะหนึ่ง เนื่องจากอาหารที่มีโปรตีนสูงจะทําให้ความรู้สึกอยาก อาหารลดลง แต่หากรับประทานในปริมาณมากเป็นประจําจะส่งผล ให้คอเลสเตอรอลสูง อันเป็นสาเหตุของโรคหัวใจและหลอดเลือด นอกจากนี้ยังส่งผลให้ไตต้องทํางานหนัก และเสื่อมสภาพเร็วขึ้น
Q: งดการรับประทานคาร์โบไฮเดรตแล้วจะผอม
A: อาหารประเภทข้าวและแป้งนั้นล้วนเป็นที่มาของสารอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต ซึ่งจากข้อแนะนําในการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพที่ดี ได้มีการกําหนดปริมาณของคาร์โบไฮเดรตในแต่ละวันที่ร่างกายควรจะได้รับไว้สูงสุดเมื่อเทียบกับสารอาหารประเภทอื่น นอกจากข้าวและแป้งแล้ว ผัก ผลไม้ รวมทั้งธัญพืชนานาชนิด ก็เป็นแหล่งที่มาของคาร์โบไฮเดรตและใยอาหารจํานวนมาก ซึ่งมีผลดีต่อระบบขับถ่าย หากขาดคาร์โบไฮเดรตร่างกายก็จะขาดพลังงานและเริ่มนําไขมันมาเผาพลาญ หรือเรียกว่า ภาวะคีโตซิส (Ketosis) ผลที่ได้ก็คือน้ำหนักตัวที่ลดลง แต่มีผลข้างเคียง เช่น อ่อนเพลีย ปวดศีรษะคลื่นไส้ ปวดท้อง หัวใจเต้นเร็ว และมีไข้ เป็นต้น
Q: อาหารจําพวกข้าว แป้ง และธัญพืชทําให้อ้วน
A: โดยพื้นฐานแล้วอาหารในกลุ่ม ข้าว แป้ง และธัญพืช เช่น ข้าวซ้อมมือ ขนมปังโฮลวีต ถั่วเขียว หรือมันฝรั่งนั้น นับว่าเป็นอาหารที่ให้พลังงานอยู่ในเกณฑ์ที่พอเหมาะ แต่การเลือกวิธีปรุงและประกอบอาหารที่แตกต่างกันนั้นกลับเป็นตัวแปรสําาคัญที่ทําให้อ้วน เช่น การนํามันฝรั่งไปทอด รับประทานข้าวสวยพร้อมกับข้าวที่มีไขมันและน้ำตาลสูง และการนําขนมปังไปทาเนยหรือแยมนั่นเอง
Q: ห้ามรับประทานน้ำมันหรือไขมันใดๆ เพราะทําให้น้ำหนักขึ้น
A: ไขมันเป็นสารอาหารที่มีความจําเป็นต่อร่างกายและมิอาจขาดได้ เนื่องจากไขมันนั้น เป็นตัวช่วยดูดซึมวิตามินทุกประเภท นอกจากนี้เป็นส่วนประกอบของเซลล์และเนื้อเยื่อต่างๆ อีกทั้งยังมีส่วนช่วยให้ผิวหนังชุ่มชื้นและปกป้องอวัยวะภายใน เพื่อสุขภาพที่ดีจึงแนะนําให้ใช้น้ำมันรําข้าว น้ำมันมะกอก น้ำมันคาโนลา และน้ำมันถั่วลิสง ในการประกอบอาหาร รวมทั้งหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่ผ่านการทอด เนื้อสัตว์ที่มีไขมันสูง ขนมอบ และขนมกรุบกรอบ
Q: ความเชื่อที่ว่ารับประทานอาหารบางประเภทเพียงอย่างเดียวแล้วจะผอมตลอดไป
A: หลากหลายความเชื่อเกี่ยวกับการรับประทานอาหารเพื่อลดน้ำหนัก เช่น ดื่มนมทั้งวัน ทานแต่ผลไม้แทนข้าวในทุกมื้อ ทานแต่ซุปผัก ฯลฯ ในความเป็นจริงนั้น ยังไม่มีการระบุว่ามีอาหารมหัศจรรย์ใดๆ ที่สามารถช่วยให้ผอมและมีน้ำหนักตัวลดน้อยลงอย่างถาวร ซึ่งการมีพฤติกรรมการรับประทานอาหารเช่นนี้ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง จะส่งผลให้ระบบการเผาผลาญของร่างกายมีประสิทธิภาพลดลง
Q: รับประทานมังสวิรัติแล้วจะผอมและมีสุขภาพดี
A: จริงอยู่ที่การรับประทานมังสวิรัตินั้น จะให้พลังงานเฉลี่ยต่อวันน้อยกว่าการรับประทานอาหารทั่วไป แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้ที่รับประทานมังสวิรัติจะผอมและมีสุขภาพดีเสมอไป จากการสํารวจพบว่ายังมีผู้รับประทานมังสวิรัติที่ประสบกับความอ้วนและน้ำหนักเกินอยู่เป็นจํานวนมาก ทั้งนี้อาจเป็นเพราะการละเลยในขั้นตอนการปรุงและประกอบอาหาร จนทําให้อาหารมังสวิรัติธรรมดาๆ กลายเป็นอาหารที่ให้พลังงานสูง ดังนั้นผู้ที่รับประทานมังสวิรัติจึงควรใส่ใจในประเภทของอาหาร เพื่อให้ได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน
Q: น้ำหนักยิ่งลดเร็วยิ่งส่งผลดีต่อสุขภาพ
A: การลดน้ำหนักอย่างผิดวิธี โดยเร่งให้น้ำหนักตัวลดลงอย่างรวดเร็ว (มากกว่า 2 กิโลกรัมภายใน 1 สัปดาห์) นั้นส่งผลเสียต่อสุขภาพ จากการศึกษาพบว่าทําให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดนิ่วในไตและกระเพาะปัสสาวะ นอกจากนี้ยังเป็นสาเหตุที่ทําให้หัวใจทํางานหนักจนอาจเกิดภาวะหัวใจวายตามมา
Q: น้ำหนักตัวควรลดลงกี่กิโลกรัมถึงจะปลอดภัย
A: การลดน้ำหนักที่เหมาะสมคือ 0.5 – 1 กิโลกรัมต่อ 1 สัปดาห์ โดยรับประทานอาหารที่ให้พลังงานเพียงพอไม่น้อยกว่า 1200 ต่อวัน ควบคู่ไปกับการออกกําลังกาย รับประทานอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ โดยเน้นอาหารที่มีกากใยสูง หลีกเลี่ยงอาหารแปรรูปที่มีปริมาณเกลือ ไขมัน และน้ำตาลสูง