นิตยสารทุกฉบับ
รวมนิตยสาร
บทความประจำ
เลือกดูบทความจากทุกเล่ม
ค้นหาบทความ
ค้นหาจากหัวข้อ

ผ่าตัดกระเพาะทำให้ผอมได้จริงหรือไม่?

Volume
ฉบับที่ 19 เดือน มีนาคม 2558
Column
Believe it or not
Writer Name
ผศ.นพ.ปรีดา สัมฤทธิ์ประดิษฐ์ สาขาวิชาศัลยศาสตร์อุบัติเหตุ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

ผ่าตัดกระเพาะทำให้ผอมได้จริงหรือไม่?

ตอบว่า “จริง” ครับ คนไข้โรคอ้วนที่มาผ่าตัดจะมีโอกาสมากที่สุดที่จะลดน้ำหนักได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ แต่จุดมุ่งหมายแท้จริงของการผ่าตัดกระเพาะเพื่อรักษาโรคอ้วน (Bariatric Surgery) คือ การรักษาคนที่เป็นโรคอ้วนที่ทำให้ใช้ชีวิตประจำวันลำบากและอาจมีโรคแทรกซ้อนหลายโรค เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวานโรคหัวใจ อัมพฤกษ์ อัมพาต มะเร็งหลาย ๆ รูปแบบ โรคตับ มีบุตรยาก และอื่น ๆ อีกมาก ซึ่งนอกจากการผ่าตัดจะช่วยควบคุมโรคแทรกซ้อนจากโรคอ้วนแล้ว ยังช่วยควบคุมน้ำหนักในระยะยาวได้ผลดีที่สุด การผ่าตัดกระเพาะนั้น จุดมุ่งหมายหลักไม่ได้ทำเพื่อความสวยงาม แต่ทำเพื่อสุขภาพกายและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ไปไหนมาไหนสะดวกขึ้น ออกกำลังกายได้ ลดการเจ็บป่วยจากน้ำหนักที่มากเกินไปและโรคแทรกซ้อนได้

ผู้ป่วยที่เข้าข่ายจะได้ประโยชน์จากการผ่าตัด ได้แก่

  1. ต้องเป็นโรคอ้วน คำนวณจากดัชนีมวลกาย (BMI) ตั้งแต่ 32.5 กิโลกรัมต่อตารางเมตรขึ้นไป หากไม่เป็นโรคอ้วน ผ่าตัดแล้วจะได้ผลไม่คุ้มกับความเสี่ยง
  2. พยายามใช้วิธีการอื่นมาก่อนแล้ว แต่ไม่สำเร็จ ปาฏิหาริย์เรื่องการลดน้ำหนักด้วยตัวเองมีให้ประจักษ์อยู่เนื่อง ๆ แต่หากพยายามเองแล้วไม่สำเร็จอาจต้องใช้การผ่าตัดเป็นเครื่องช่วย
  3. คนไข้ต้องมีความเข้าใจการปฏิบัติตัวก่อน ระหว่าง และหลังผ่าตัด ทั้งระยะสั้นและระยะยาว การลดน้ำหนักจะค่อยเป็นค่อยไป เฉลี่ยควรลดหนึ่งกิโลกรัมต่อสัปดาห์ เช่น ตั้งเป้าว่าจะลดให้ได้ 50 กิโลกรัม ก็ต้องใช้เวลาประมาณ 1 ปี เมื่อทำการผ่าตัดแล้ว จะกินได้น้อยลง จากกินเป็นชาม ๆ จะกินได้แค่ 3-4 ช้อน ต้องเลือกกิน เลือกดื่ม ต้องติดตามการรักษาเป็นระยะตลอดไป ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อจิตใจและร่างกายอย่างไร ผู้ป่วยจึงต้องทำความเข้าใจให้มากที่สุด

ข้อสำคัญของผู้ป่วยหลังการผ่าตัดกระเพาะ คือ เน้นกินโปรตีนกินคาร์โบไฮเดรตที่เป็นไฟเบอร์มาก ๆ เช่น ผักต่าง ๆ เนื่องจากดูดซึมยากกว่า หลีกเลี่ยงคาร์โบไฮเดรตที่ดูดซึมง่าย  เช่น ข้าว แป้ง น้ำตาล อาหารเส้นทั้งหลาย กินไขมันให้น้อยกินวิตามินสม่ำเสมอ เมื่อออกกำลังกายไหว ให้ออกกำลังกายให้มากไว้ และมาพบแพทย์ตามนัดสม่ำเสมอ

ผ่าตัดกระเพาะทำให้ผอมได้จริงหรือไม่?

เมื่อตัดสินใจเข้ารับการผ่าตัด ศัลยแพทย์จะเป็นผู้ประเมินว่าควรใช้การผ่าตัดรูปแบบใดนอกจากนี้ยังต้องมีทีมแพทย์ประเมินและควบคุมโรคร่วมที่คนไข้มีให้มีความเสี่ยงต่ำที่สุด

การรับการผ่าตัดกระเพาะเพื่อรักษาโรคอ้วน (Bariatric Surgery) ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องอาศัยทีมแพทย์หลากหลายสาขา นักกำหนดอาหาร พยาบาล และทำในสถาบันที่พร้อม

ที่สำคัญที่สุดคือตัวคนไข้เองต้องให้โอกาสตัวเอง ในการที่จะหายจากโรคอ้วน โดยตัดสินใจเข้าสู่เส้นทาง และเดินไปบนเส้นทางที่ไม่ง่ายนักนี้ ซึ่งเป็นเส้นทางสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างมาก

BMI

ในทางการแพทย์แบ่งภาวะของการมีน้ำหนักเกินออกเป็นหลายระดับ โดยใช้วิธีวัดที่เรียกว่าดัชนีมวลกาย” BMI (Body Mass Index) โดยวัดจากการชั่งน้ำหนักและวัดส่วนสูง ซึ่งนำค่าน้ำหนักตั้งหารด้วยส่วนสูงที่เป็นเมตรยกกำลังสอง

โดยทั่วไป คนปกติที่ไม่อ้วนไม่ผอม ค่าดัชนีมวลกายจะประมาณ 17.5 ถึง 21.5 ซึ่งผู้ป่วยโรคอ้วนที่มีค่าดัชนีมวลกาย 32.5 ขึ้นไป มักจะพบโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น ความ “ดันโลหิตสูง เบาหวาน ซึ่งมีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง

“ที่สำคัญที่สุดคือตัวคนไข้เองต้องให้โอกาสตัวเอง ในการที่จะหายจากโรคอ้วนโดยตัดสินใจเข้าสู่เส้นทาง และเดินไปบนเส้นทางที่ไม่ง่ายนักนี้ ซึ่งเป็นเส้นทางสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างมาก”

ดาวน์โหลดเพื่ออ่านรูปแบบ PDF
เนื้อหาภายในฉบับที่ 19