นิตยสารทุกฉบับ
รวมนิตยสาร
บทความประจำ
เลือกดูบทความจากทุกเล่ม
ค้นหาบทความ
ค้นหาจากหัวข้อ

การผ่าตัดช่องท้องด้วยหุ่นยนต์ (Robotic Assisted Surgery)

Volume
ฉบับที่ 32 เดือนสิงหาคม 2561
Column
Health Station
Writer Name
ผศ. นพ.ไชยรัตน์ ทรัพย์สมุทรชัย หน่วยศัลยศาสตร์ทางเดินอาหารและศัลยศาสตร์ทั่วไป ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

การผ่าตัดช่องท้องด้วยหุ่นยนต์ (Robotic Assisted Surgery)

การผ่าตัดช่องท้องด้วยหุ่นยนต์ (Robotic Assisted Surgery)

หากกล่าวถึงการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด ผู้คนส่วนใหญ่คงจะหลับตาแล้วนึกถึงภาพเหมือนดังในภาพยนตร์ที่นักแสดงนอนลงบนเตียงผ่าตัดแล้วกดปุ่มเปิดเครื่อง หลังจากนั้นจะมีอุปกรณ์ต่าง ๆ ลอยออกมาจากเพดานทำการตรวจและเมื่อพบสิ่งผิดปกติก็จะผ่าตัดรักษาทั้งหมดแทนที่มนุษย์ ซึ่งที่จริงแล้วเป็นความเข้าใจผิดที่คิดว่าการใช้หุ่นยนต์และระบบคอมพิวเตอร์ในปัจจุบันจะสามารถทำการผ่าตัดแทนที่มนุษย์ได้ทั้งหมด เนื่องจากระบบร่างกายของมนุษย์มีความซับซ้อนและแต่ละคนมีองค์ประกอบไม่เหมือนกัน มีรูปแบบของอวัยวะภายในไม่ได้เป็นแบบเดียวกันทุกคน จึงไม่สามารถโปรแกรมการผ่าตัดชนิดเดียวกันในโรคเดียวกันเพื่อผ่าตัดแบบเดียวกันในทุกคนได้

ปัจจุบันการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดหรือที่เรียกว่า Robotic Assisted Surgery เป็นเพียงแค่การใช้เทคโนโลยีของเครื่องจักรกล ระบบคอมพิวเตอร์ และการสร้างภาพสามมิติ มารวมกันเพื่อช่วยให้การผ่าตัดทำได้ง่ายและแม่นยำมากขึ้น ดังเช่นการพัฒนาของโทรศัพท์มือถือที่สามารถทำอะไรได้มากกว่าการพูดคุยกันอย่างเดียว การผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดยังคงต้องใช้มนุษย์หรือศัลยแพทย์ผ่าตัดเป็นผู้ดำเนินการผ่าตัด เพียงแต่ต้องเป็นศัลยแพทย์ที่เชี่ยวชาญการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์จึงจะสามารถทำได้  โดยมีศัลยแพทย์ผู้ช่วยทำหน้าที่ช่วยส่งเครื่องมือหรือเปลี่ยนอุปกรณ์ต่าง ๆ ของหุ่นยนต์ ซึ่งขั้นตอนคล้ายกับการผ่าตัดทั่วไปคือหลังจาก ผู้ป่วยได้รับยาดมสลบแล้ว ศัลยแพทย์จะเป็นผู้นำเครื่องมืออุปกรณ์ของหุ่นยนต์เจาะเข้าไปในร่างกายที่จะทำการผ่าตัด และทำการจัดท่าทางและตำแหน่งของอุปกรณ์ที่เหมาะสมหลังจากนั้นจะมาควบคุมหุ่นยนต์เพื่อทำการผ่าตัด ซึ่งการใช้หุ่นยนต์เป็นเพียงแค่อุปกรณ์ชนิดหนึ่งที่ช่วยทำการผ่าตัดเท่านั้น

การผ่าตัดช่องท้องด้วยหุ่นยนต์ (Robotic Assisted Surgery)

ผศ. นพ.ไชยรัตน์ ทรัพย์สมุทรชัย ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล (ซ้าย) 
ศ.  นพ.วชิร   คชการ  หัวหน้าภาควิชาศัลยศาสตร์คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีมหาวิทยาลัยมหิดล (ขวา)

ข้อดีของการผ่าตัดโดยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด ได้แก่

  1. ในพื้นที่แคบที่เข้าถึงได้ยากมีความคล่องตัวมากขึ้น เนื่องจากแขนของหุ่นยนต์นั้นสามารถงอและหมุนได้มากกว่าข้อมือของมนุษย์ ทำให้การเย็บหรือการตัดเอาต่อมน้ำเหลืองในส่วนที่ลึกหรือมุมอับดีกว่า การผ่าตัดแบบเจาะรูผ่านกล้องปกติ
  2. การใช้กล้องสามมิติสามารถมองมิติ “ความลึก” มีความกำลังขยายภาพผ่าตัดถึง 10 เท่า ทำให้เกิดความถูกต้องและแม่นยำมากขึ้น เพิ่มความปลอดภัยในการผ่าตัดและลดการเกิดอันตรายต่อเส้นเลือดและเส้นประสาทใกล้เคียง
  3. การใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด ช่วยควบคุมไม่ให้เกิดการสั่นไหวของเครื่องมือที่อยู่ภายในตัวผู้ป่วยระหว่างผ่าตัด ทำให้ลดโอกาสการบาดเจ็บต่ออวัยวะข้างเคียง
  4. ความแข็งแรงของแขนหุ่นยนต์ทำให้มีความมั่นคงในการผ่าตัดที่ยากและใช้เวลานานสามารถดำเนินการได้ต่อเนื่องโดยไม่ลดกำลังลงเหมือนการใช้แขนมนุษย์ในการผ่าตัดแบบเจาะรูผ่านกล้อง
  5. สามารถใช้กล้อง Fluorescence เพื่อดูการกระจายของต่อมน้ำเหลืองหรือใช้ดูเส้นเลือดที่มาเลี้ยงอวัยวะช่วยนำร่องในการผ่าตัด

 การผ่าตัดช่องท้องด้วยหุ่นยนต์ (Robotic Assisted Surgery) 

การผ่าตัดโดยใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดเป็นรูปแบบหนึ่งของการผ่าตัดแบบแผลเล็ก ซึ่งก็จะมีข้อดีอื่น ๆ แบบเดียวกับการผ่าตัดแบบเจาะรูผ่านกล้อง (laparoscopic Surgery) ได้แก่  เจ็บแผลน้อยกว่าการผ่าตัดแบบเปิด หรือการฟื้นตัวหลังผ่าตัดที่เร็วกว่า เป็นต้น ส่วนข้อห้ามในการใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดก็เหมือนกับการผ่าตัดแบบแผลเล็กทั่วไป แต่การผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ยังมีข้อจำกัดอื่นอีกที่ถึงแม้ว่าหุ่นยนต์จะทำการผ่าตัดในพื้นที่แคบได้ดี เนื่องจากมุมมองที่ชัดและข้อต่อแขนหมุนได้วงกว้าง   แต่ตัวหุ่นยนต์ภายนอกที่ใหญ่กลับทำให้เป็นปัญหาเวลาที่ต้องเปลี่ยนพื้นที่ผ่าตัดไปยังด้านตรงข้ามหรือพื้นที่อีกบริเวณที่ห่างออกไปไกล ซึ่งจำเป็นต้องเอาแขนหุ่นยนต์ออกจากตัวผู้ป่วยก่อนและย้ายตำแหน่งตัวเครื่องหุ่นยนต์ไปยังบริเวณอื่นที่ต้องการก่อนจะนำแขนหุ่นยนต์เข้าไปยังตัวผู้ป่วยอีกครั้งเพื่อทำการผ่าตัดต่อไป ซึ่งแตกต่างจากการผ่าตัดแบบเจาะรูผ่านกล้องที่ถ้าต้องการเปลี่ยนพื้นที่ผ่าตัดไปยังบริเวณอื่นที่ห่างออกไปจะทำได้ง่ายกว่า

นอกจากนี้อุปกรณ์ของหุ่นยนต์ทั้งหมดยังมีราคาที่แพงและต้องอาศัยศัลยแพทย์ที่มีความชำนาญในการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ซึ่งปัจจุบันยังมีน้อย และระบบคอมพิวเตอร์ยังมีขนาดที่ใหญ่ กินพื้นที่ในการใช้งาน ซึ่งยังคงต้องการการพัฒนาให้ดีมากขึ้นเป็นต้น สำหรับแผนกศัลยศาสตร์ทางเดินอาหารและศัลยศาสตร์ทั่วไป รวมถึงแผนกอื่น ๆ ภายใต้สังกัดภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เปิดให้บริการการผ่าตัดด้วยวิธีนี้และยังมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง สามารถผ่าตัดได้ทั้งกระเพาะอาหาร ลำไส้ใหญ่ และโรคอื่น ๆจึงเป็นอีกทางเลือกสำหรับการใช้เทคโนโลยีเข้ามาผสมผสานในการผ่าตัดให้มีรูปแบบที่ทันสมัยมากขึ้น

ดาวน์โหลดเพื่ออ่านรูปแบบ PDF
เนื้อหาภายในฉบับที่ 32