พญ.ดรุณีวัลย์ วโรดมวิจิตร กับงานวิจัยทางโภชนศาสตร์
ขึ้นชื่อว่างานวิจัย ย่อมมีความหลากหลาย ทั้งกระบวนการ แนวทาง ความคิด วิธีได้มาของข้อมูล รวมทั้งการประมวลผล เพื่อหาข้อสรุปที่ต้องการตรงตามวัตถุประสงค์ มีหลากหลายงานวิจัยที่ผมเองเคยได้สัมภาษณ์นักวิจัยของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งถือว่าเป็นแหล่งรวมนักวิจัยที่มีผลงานเด่นไว้จำนวนมากมาย
หนึ่งในงานวิจัยที่ผมสนใจคือ งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับโภชนศาสตร์ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีมากที่ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ ผศ.พญ.ดรุณีวัลย์ วโรดมวิจิตร ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เนื้อหาจะเป็นอย่างไร ติดตามกันได้เลยครับ
ผลงานวิจัยที่ผ่านมาเกี่ยวกับโภชนศาสตร์
งานวิจัยที่เคยทำจะเน้นเรื่องของ basic science(วิทยาศาสตร์พื้นฐาน) งานวิจัยทางคลินิก และงานวิจัยเพื่อประชาชนทั่วไป ซึ่งงานวิจัยเพื่อประชาชน อาทิ กิจกรรมเพื่อคนไข้เบาหวาน คนไข้อ้วน ทำในรูปแบบ workshop แล้วก็เก็บข้อมูลไปด้วย โดยเน้นที่การทำกิจกรรมลดน้ำหนัก นอกจากนี้ก็ยังมีการเก็บข้อมูลในคนไข้ที่เป็นโรคอ้วนเกี่ยวกับวิตามินดี ว่าคนอ้วนมีภาวะที่ขาดวิตามินดีเท่าไร เมื่อเสริมวิตามินดีแล้วจะดีขึ้นไหม เพราะเคยได้ยินว่า คนอ้วนมีวิตามินดีน้อย แม้ว่าในบ้านเรามีแสงแดดมากก็ตาม เราจึงทำการศึกษาว่า เมื่อเราให้วิตามินดีในคนอ้วนแล้ว จะมีผลต่อระดับน้ำตาล ความดื้อต่ออินซูลิน มีภาวะเบาหวานลดลงหรือไม่ มีผลต่อการลดลงของกล้ามเนื้อหรือไม่
นอกจากนี้ ยังได้รับโอกาสจาก ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา ให้เข้ามามีส่วนร่วมในงานวิจัยระดับประเทศ คือ EGAT ซึ่งเป็นการเก็บข้อมูลสุขภาพของพนักงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตติดตามไปข้างหน้าเรื่อยๆ คาดการณ์กันว่า ในอีก 5-10 ปี ข้างหน้าสถานการณ์ของโรคจะเป็นอย่างต่อไป แล้วก็ดูว่ามีปัจจัยเสี่ยงอะไร อนาคตจะมีความเสี่ยงอะไรอีกบ้างหรือไม่ ดูเป็นรายคนไป ซึ่งเราจะดูทั้งยีนและปัจจัยของยีนที่เกี่ยวเนื่องกับความอ้วนและกระดูกว่าเกี่ยวเนื่องกันอย่างไรบ้าง เพราะหลายคนคงจะเคยได้ยินว่า คนอ้วนจะทำให้มวลกระดูกดีขึ้น แม้ว่าอย่างอื่นจะแย่ลง เราก็เลยมาดูว่า แท้จริงแล้วมีผลต่อกันอย่างไร ซึ่งงานวิจัยนี้ได้ตีพิมพ์เรียบร้อยแล้ว
งานวิจัยอื่นนอกเหนือจากนี้ ก็เคยได้ทำงานวิจัยที่มุ่งเน้นการเก็บข้อมูลคนไข้ภายในประเทศและคนไข้ในเอเชียที่สนใจคือ ยีนที่มีผลต่อไขมัน ซึ่งงานวิจัยในต่างประเทศมีมาก แต่ในเอเชียยังไม่มีงานวิจัยออกมาเท่าใดนัก แต่เราก็ได้ทำการศึกษาจนพบว่า มียีนตัวหนึ่งที่พบในคนเอเชีย และไขมันจะเป็นส่วนหนึ่งของกรรมพันธุ์ที่เข้ามาเกี่ยวข้อง นั่นทำให้เราได้พยายามทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างเช่น เปลี่ยนแปลงรูปแบบการกินในแบบที่คนๆ หนึ่งควรจะกิน เป็นการกำหนดการกินเป็นรายบุคคลไป เหมือนกับการรับประทานยาที่เหมาะสมในแต่ละคน ยังมีงานวิจัยหลายชิ้นที่ทำเมื่อยังอยู่ในต่างประเทศ จึงยังไม่มีงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับคนไทยเท่าใดนัก
ทำไมจึงสนใจงานด้านโภชนศาสตร์
ในขณะที่เป็นนักศึกษาแพทย์ หมอที่เป็นดูและสนใจทางด้านโภชนศาสตร์คลินิกมีน้อยมาก ส่วนตัวได้เรียนรู้เรื่องนี้จากอาจารย์ซึ่งเป็นกุมารแพทย์ ซึ่งให้ความสำคัญกับอาหารและโภชนาการของเด็กอยู่แล้ว ต่อมาเมื่อมาศึกษาต่อในด้านอายุรกรรม ในช่วงแรกของการฝึกอบรมเราก็จะเน้นการตรวจวินิจฉัยและสั่งยารักษาคนไข้เป็นหลัก แต่ไม่เคยสนใจว่าจะต้องสั่งอาหารอย่างไร ไม่เคยรู้ว่าคนไข้กินได้หรือไม่ ในทางกลับกันคนไข้และญาติ มักจะสรรหาอาหารเสริมบรุงกำลังต่างๆ มากิน (ตามคำบอกเล่าต่อๆ กันมา) แถมยังมีคำถามมากมาย ซึ่งเราก็ไม่แน่ใจว่าดีหรือเปล่า พอมาทำงานได้จุดหนึ่ง เมื่อเรารักษาคนไข้ที่กินไม่ได้ ผอมโซ ให้ยาอะไรไปก็แพ้ยา ดื้อยา มีผลข้างเคียงจากยา เดินมาโรงพยาบาลแต่เมื่อกลับบ้านได้ก็ต้องเข็นกลับไป ก็เริ่มสนใจทางด้านนี้และเข้ามาศึกษาต่อทางโภชนศาสตร์คลินิกที่รามาธิบดี เนื่องจากรามาธิบดีมีอาจารย์ที่สนใจและทำงานด้านนี้ค่อนข้างมาก มีการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านต่อยอดสาขาโภชนศาสตร์คลินิก และมีหลักสูตรร่วมกันระหว่างคณะแพทยศาสตร์รามาธิบดีและสถาบันวิจัยโภชนาการ ในระดับปริญญาโท-เอก สาขาโภชนศาสตร์ เป็นการสร้างบุคลากรผู้เชี่ยวชาญทางด้านโภชนาการให้กับประเทศมากมาย นอกจากนี้ที่นีมีบรรยากาศของการทำงานที่เอื้อต่อการทำวิจัยที่ดี มีทั้งแรงสนับสนุน ทุนและทีมงานสนับสนุน อีกทั้งอาจารย์ผู้ใหญ่ก็ยังเป็นที่ปรึกษาและให้คำ แนะนำที่ดี ปัจจุบันเรามีงานวิจัยหลายชิ้นที่เป็นความร่วมมือของสหสาขาวิชาชีพ และงานวิจัยในส่วนของ EGAT ซึ่งเรามีการติดตามผู้ป่วยและพยายามจะสร้างงานวิจัยอย่างต่อเนื่องต่อไป
กรอบแนวคิดในการทำวิจัยหัวข้อต่างๆ
ถ้าเป็นงานวิจัยทางคลินิกจะเริ่มจากปัญหาในคนไข้ที่เราดูแลก่อน หรือเวลาที่อ่านหนังสือ เข้าร่วมกิจกรรมวารสารสโมสร (journal club) เราก็จะมาวิพากษ์วิจารณ์งานวิจัยร่วมกัน เขาทำงานแบบนี้เพราะอะไร ปัญหานั้นมีในบ้านเราไหม หรือผลจากการค้นพบดังกล่าวเราสามารถจะดูในคนไทยได้หรือไม่ บางเรื่องที่เราสนใจและกำลังทำการศึกษาในขณะนี้ เช่น ผลของการเสริมโปรตีนในคนอ้วน น้ำมันปลา น้ำมันมะพร้าว กล้ามเนื้อเหี่ยวลงในผู้สูงอายุ เมื่อเราติดต่อไปยังแพทย์เฉพาะทางอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อขอความร่วมมือในการทำวิจัย ก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี เป็นการทำงานร่วมกับสหสาขาวิชาชีพ และที่สำคัญก็ต้องขอบคุณคนไข้และอาสาสมัครที่ให้ความร่วมมือ ช่วยเหลือในการทำวิจัยเป็นอย่างดี
ในความเห็นส่วนตัวพบปัญหาในการทำวิจัยอะไรบ้าง
มีปัญหาอยู่หลายด้าน เช่น เริ่มตั้งแต่การเขียนโครงการวิจัย แรกๆ ก็เขียนไม่เป็นโดนแก้เยอะไปหมด โดนติจนท้อ แต่ก็ต้องฝึกเขียนไปเรื่อยๆ ต่อมาการขอทุน ในการเริ่มทำวิจัยใหม่ๆ ไม่มีใครรู้จักการขอทุนจากแหล่งทุนอื่นๆ ทำได้ยากคงต้องอาศัยทุนจากคณะฯ เป็นหลัก ซึ่งได้งบประมาณจำนวนหนึ่ง ต้องปรับกันไปตามความเหมาะสม หลังจากนั้นเมื่อมีประสบการณ์มากขึ้นควรจะมีการทำวิจัยร่วมกับสหสาขาวิชาชีพอื่น หาอาจารย์ที่ปรึกษาที่ดีจะได้ทำให้งานวิจัยมีคุณภาพและมีโอกาสในการขอทุนจากแหล่งทุนภายนอกเพิ่มขึ้น เรื่องการขาดทีมงานสนับสนุนไม่ว่าจะเป็นการเก็บข้อมูล ถ้ามีพยาบาลหรือเจ้าหน้าที่วิจัยของหน่วยงานก็จะช่วยได้มาก ส่วนการตรวจทางห้องปฏิบัติการ หรือการวิเคราะห์ทางสถิติ ทางคณะฯ ก็มีการจัดการให้มีคนมาช่วยเหลือตรงนี้ได้ หลังจากทำงานวิจัยเสร็จปัญหาอีกอันคือ การเขียนบทความงานวิจัยเพื่อการตีพิมพ์ การใช้ภาษาอังกฤษอย่างเป็นทางการ ซึ่งต้องเอาไปให้ผู้ที่เชี่ยวชาญเรื่องภาษาช่วยขัดเกลา ส่งบทความไปยังวารสารแล้วก็รอลุ้นต่อว่าจะได้รับการตีพิมพ์หรือไม่ แต่ละขั้นตอนมีความยากลำบากและใช้เวลาพอสมควร ปัญหาที่สำคัญที่สุดคงเป็นเรื่องของการจัดการบริหารเวลาในการทำ วิจัย เนื่องจากเรามีงานรับผิดชอบในส่วนอื่น ๆ อีก เช่น การตรวจคนไข้ การสอน ดังนั้นต้องพยายามจัดการเรื่องเวลาให้สมดุล ซึ่งตอนนี้ก็ยังทำได้ไม่ดีนัก
เทรนด์การกินในอนาคตเป็นอย่างไร
การใช้ชีวิตอย่างเร่งรีบในปัจจุบัน คนส่วนใหญ่รับประทานอาหารนอกบ้านและมักจะบอกว่าได้รับอาหารไม่ครบ 5 หมู่ เลยเลือกที่จะกินวิตามินเสริมแทนการเลือกรับประทานจากอาหาร สมัยก่อนการรับประทานเพื่อป้องกันการขาดสารอาหารแต่ปัจจุบันจะพยายามใช้สารอาหาร วิตามิน สารต้านอนุมูลอิสระต่างๆ ในระดับสูง รวมทั้งการใช้สมุนไพรต่างๆอีกมากมาย เพื่อหวังจะใช้เพื่อการรักษา นอกจากนี้ กระแสการรักสุขภาพทำให้คนหันมาสนใจสุขภาพมากขึ้นโดยเฉพาะอาหาร สนใจในเรื่องของอาหารเสริมมากมาย โดยเฉพาะในกลุ่มสารต้านอนุมูลอิสระ เพื่อหวังว่าจะชะลอความแก่ ถึงแม้จะมีงานวิจัยหลายชิ้นที่แสดงให้เห็นว่าการกินวิตามินเสริมไม่ได้ประโยชน์ในการชะลอความแก่อย่างชัดเจน
ข้อมูลจากงานวิจัยส่วนใหญ่สนับสนุนการรับประทานอาหารตามรูปแบบที่ครบหมวดหมู่ เช่น การใช้ DASH diet ในการลดความดันโลหิต หรือ Mediterranean diet (ลดการกินเนื้อแดง สนับสนุนการกินปลาหรือสัตว์ปีก ลดการกินอาหารและผลิตภัณฑ์จากนม ใช้น้ำมันมะกอกเป็นน้ำมันหลักในการปรุงอาหาร ดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณพอเหมาะและออกกำลังกายสม่ำเสมอ) ในการป้องกันเบาหวาน หัวใจ มะเร็งบางชนิด มากกว่าการใช้เสริมสารอาหารเดี่ยวๆ เพียง 1- 2 ตัว เชื่อว่าแนวโน้มของการกินอาหารที่เหมาะสมในอนาคตก็คงจะเป็นเช่นนี้ อย่างไรก็ตามสารอาหารบางอย่างก็มีการศึกษามากขึ้น และมีการนำมาใช้ในรูปแบบของการรักษาด้วย เช่น น้ำมันปลา probiotics glutamine เป็นต้น ในอนาคตก็อาจจะมีสารอื่น ๆ ได้รับการวิจัยมากขึ้น กระแสอาหารตามสมัยนิยม หรือ สารอาหาร สมุนไพรต่างๆ ก็มีมาให้เห็นตลอด เราคงไม่สามารถ เปลี่ยนความเชื่อของคนได้ ในสมุนไพรบางอย่างอาจจะมีส่วนที่ดี แต่เราอาจจะไม่เคยศึกษาอย่างแท้จริง ดังนั้นเราก็ควรจะต้องมีการทำวิจัยเพื่อหาคำตอบที่จะสนับสนุนหรือคัดค้านการรับประทานอาหารเสริมหรือสมุนไพรเหล่านั้นด้วย
มีงานวิจัยใดบ้างที่ทำในต่างประเทศแล้วยังอยากทำในไทย
ถ้าเป็นงานวิจัยในเรื่องเดียวกัน สิ่งที่เราจะแตกต่างจากต่างประเทศก็คือ ทุนวิจัย จำนวนประชากรที่ใช้ เครื่องมือที่ใช้ รวมถึงวิธีการคิดวิเคราะห์ที่ยอมรับว่าแตกต่างกันมาก เมื่อเราทำแล้วได้น้อยกว่าในทุกด้าน โอกาสที่จะได้ตีพิมพ์ก็จะลดน้อยลง แต่ว่ามีวิธีการที่เราจะสามารถนำมาใช้ในบ้านเราได้นั้น ถ้ายกตัวอย่างว่าเป็นอาหาร เราอาจจะเลือกใช้อาหารที่เป็นพื้นฐานของบ้านเรา เช่น ข้าว เพราะฝรั่งไม่ได้กินข้าวเป็นหลัก เราก็อาจจะนำพื้นฐานการกินข้าวของเรามาทำวิจัยก็ได้ข้าวแต่ละพันธุ์เป็นอย่างไร เราก็มาเพิ่มมูลค่าให้ข้าวได้ด้วย ก็คิดว่า เราน่าจะมาทำอะไรเพื่อบ้านของเราดีกว่า ทำแล้วจะได้นำมาใช้ในบ้านเราเองด้วย อีกเรื่องคือสมุนไพร เหมือนที่กล่าวตอนต้น อาจจะมีอะไรที่ดีในนั้นที่เรายังไม่รู้ และการนำ มาใช้การโดยไม่ได้ศึกษาให้ดีอาจจะเกิดอันตรายกับผู้ป่วยก็ได้
การทำงานในโรงพยาบาลรามาธิบดี นอกเหนือจากบทบาทแพทย์แล้ว ยังมีบทบาทที่ต้องให้ความสำคัญ และต้องมุ่งมั่นเพื่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ ๆ ที่จะสามารถนำไปประกอบการรักษาได้ และเป็นบทบาทสำคัญที่อาจารย์ท่านนี้ได้พยายามทำเสมอมา นั่นคือ บทบาทของนักวิจัย
“ในอนาคตก็อาจจะมีสารอื่นๆได้รับการวิจัยมากขึ้น กระแสอาหารตามสมัยนิยม หรือ สารอาหาร สมุนไพรต่าง ๆ
ก็มีมาให้เห็นตลอด เราคงไม่สามารถจะไปเปลี่ยนความเชื่อของคนได้
ในสมุนไพรบางอย่างอาจจะมีส่วนที่ดี แต่เราอาจจะไม่เคยศึกษาอย่างแท้จริง
ดังนั้นเราก็ควรจะต้องมีการทำวิจัยเพื่อหาคำตอบที่จะสนับสนุน
หรือคัดค้านการรับประทานอาหารเสริมหรือสมุนไพรเหล่านั้นด้วย”
ผศ.พญ.ดรุณีวัลย์ วโรดมวิจิตร