คุณวิภา ดุรงค์พิศิษฏ์กุล

สรุปจาก Oral History ของ คุณวิภา ดุรงค์พิศิษฏ์กุล

 

ความประทับใจในการทำงาน

                            คุณวิภามีความประทับใจในการทำงานที่ห้องผ่าตัดสูติศาสตร์นรีเวชวิทยาของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เพราะได้ผ่อนคลาย ไม่เร่งรีบมาก บุคลากรน้อยจึงบริหารจัดการได้ง่าย ทำงานแล้วมีความสุข คุณนิภาได้ทำงานห้องผ่าตัดสูติฯ จนเกษียณอายุราชการ

 

ประเพณีวิ่งขึ้นลานจอดรถ ในวันรามาสามัคคี

                           ประเพณีวิ่งขึ้นลานจอดรถในวันรามาสามัคคี จัดให้มีขึ้นครั้งแรกใน พ.ศ. 2548 และเป็นปีที่เปิดศูนย์กีฬา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มีการให้เก็บคะแนนการวิ่งจากอุปกรณ์ลู่วิ่งเป็นชั่วโมง ข้อกำหนดนี้มีขึ้นเพื่อให้ชาวรามาธิบดีรักการออกกำลังกาย ให้รางวัลเป็นหมวกสีขาวที่หมวกมีคำว่า รามาสปอร์ท ประเพณีนี้มีต่อมาจนทุกวันนี้ยกเว้นปีที่มีน้ำท่วมใหญ่ใน พ.ศ. 2554 คุณวิภาได้เข้าร่วมวิ่งในประเพณีนี้ทุกปี

 

บรรยากาศในการทำงานในช่วง 40 ปีก่อน หลังการก่อตั้งคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

                           ในช่วงที่เกิดเหตุการณ์จลาจล 14 ตุลาคม 2516 นั้น คุณวิภาเรียนที่โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดีเป็นปีสุดท้าย ผู้นำการเดินขบวนบอกให้ช่วยกันลาดตระเวนและต้องช่วยเหลือปฐมพยาบาลผู้บาดเจ็บในเหตุการณ์ดังกล่าว และในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2517 เป็นวันแรกที่ได้ทำงานโดยไม่มีปัญหาติดขัดเนื่องจากได้ถูกฝึกตั้งแต่นักเรียนพยาบาลปี 4 ตำราที่ใช้เป็นภาษาอังกฤษ ไม่มีหนังสือภาษาไทยจึงทำให้เชี่ยวชาญภาษาอังกฤษขึ้น

                           นักเรียนพยาบาลโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดีในช่วงนั้นมี 49 คน แบ่งเป็นหลักสูตรปริญญาตรี จำนวน 22 คน และหลักสูตรอนุปริญญาจำนวน 27 คน หลักสูตรปริญญาตรีนั้นแบ่งเป็น 2 หลักสูตรย่อย คือ 1. ทางด้านอายุรกรรม 2.ทางด้านการดูแลพื้นฐานเบื้องต้น และคุณวิภาเลือกทางด้านการดูแลพื้นฐานเบื้องต้นโดยดูแลในหอผู้ป่วยศัลยกรรมชาย มีเตียงทั้งหมด 30 เตียง 1 ปีต่อมาสนใจงานในห้องผ่าตัดจึงเปลี่ยนหน้าที่เป็นสครับเนิร์ส คุณวิภามีความรู้ทางภาษาอังกฤษซึ่งเป็นผลพวงจากการได้อ่านตำราภาษาอังกฤษมากจึงสนใจไปต่างประเทศแต่ได้ตัดสินใจเรียนปริญญาโทด้านสังคมศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดลแทน โดยได้รับทุนของคณะฯ ทำวิทยานิพนธ์เรื่อง ความภูมิใจของผู้ป่วยต่อการบริการของรามาธิบดี เมื่อจบการศึกษาเป็นมหาบัณฑิตแล้วได้ไปช่วยราชการกับศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ วิจิตร บุณยะโหตระ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติ โดยมีสำนักงานที่บ้านมนังคศิลา เป็นเวลา 1 ปี ต่อมาย้ายไปทำงานด้านห้องพักฟื้นห้องผ่าตัดศัลยกรรม คุณวิภาได้ทำผลงานทางวิชาการจนได้เป็นพยาบาลชำนาญการพิเศษ ระดับ 8 และได้รับมอบหมายงานให้รับผิดชอบเรื่องการผลิตสื่อการสอน สอนผู้มาศึกษาดูงานและผู้มาฝึกอบรมใหม่

 

ประวัติการเป็นนักเรียนพยาบาล แรงจูงใจที่เลือกบรรจุเป็นพยาบาล ที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

                            คุณวิภา ดุรงค์พิศิษฏ์กุล ตั้งใจเรียนพยาบาลตั้งแต่ ม.ศ. 3 แต่อายุไม่ถึงเกณฑ์การเรียนพยาบาลได้จึงเรียนต่อจนจบ ม.ศ. 5 ทางสายวิทยาศาสตร์จากโรงเรียนสมถวิลและสอบเอนทรานซ์ โดยเลือกโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดีเป็นอันดับ 4 ผลปรากฏว่าสอบเข้าเรียนได้ทั้งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ในวุฒิอนุปริญญา โรงพยาบาลศิริราชในวุฒิอนุปริญญา และสอบเอนทรานส์ได้ แต่คุณวิภาเลือกโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี สภาพของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีในยุคสมัยนั้นสวยงาม พื้นที่ที่เป็นศูนย์การแพทย์สิริกิติ์นั้นเป็นสนามหญ้าเขียวชอุ่ม และสองข้างทางถนนสำหรับเดินไปโรงอาหารที่เป็นโรงเตี๊ยมนั้นมีต้นคริสมาสและต้นสนสวยงามมาก มีลานกีฬาเป็นสนามแบตมินตันเล็ก ๆ ต่อมาสร้างหอกีฬาขึ้นภายในเป็นสนามแบตมินตันและโต๊ะปิงปอง จ่ายค่าบริการครั้งละ 10 บาท ส่วนด้านนอกเป็นมีสนามตะกร้อและสนามเทนนิส อาคารโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดีเป็นอาคารสองชั้นขนาดเล็ก ช่วงแรก ๆ มีนักเรียน 60 คน วันแรกที่เปิดเรียนมีรุ่น 1 - 4 ถูกจัดให้เป็นคู่หูช่วยดูแลซึ่งกันและกัน นักเรียนพยาบาลต้องใส่ฟอร์มเป็นเอี๊ยมสีฟ้าและสวมหมวก ส่วนหอพักนั้นยังไม่สร้างไม่เสร็จดังนั้นนักเรียนพยาบาลจึงต้องพักที่อื่นชั่วคราว ในช่วงแรกของการเรียนพยาบาลต้องเรียนวิชาพื้นฐานรวม เช่น วิชากายวิภาคศาสตร์โดยจะเรียนรวมกับนักศึกษาแพทย์ นักศึกษาเภสัช และนักศึกษาทันตแพทย์

                            เนื่องจากโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดีมีสองหลักสูตรคือ อนุปริญญาและปริญญาตรีถ้านักเรียนคนใดได้คะแนนต่ำกว่า 2.5 ก็จะต้องเรียนอนุปริญญา เมื่อจบการศึกษาแล้วบัณฑิตจะรับปริญญาในวันมหิดลคือ วันที่ 24 กันยายนของทุกปี ณ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลโดยในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นผู้พระราชทานปริญญาบัตร

 

อุปสรรคในการทำงานและแนวทางการแก้ไขปัญหา

                           ในการทำงานคุณนิภาได้พบปัญหาอุปสรรคบ้าง เช่น ไม่ได้รับการเลื่อนตำแหน่ง แต่ความมีสายเลือดรามาธิบดีจึงยังคงทำงานที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีต่อไปพียงแต่เปลี่ยนหน่วยงานเท่านั้น

 

ความสำเร็จในการทำงาน

                           คุณวิภา ดุรงค์พิศิษฎ์กุล มีความเห็นว่าคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีซึ่งนอกจากให้เงิน ให้อาหาร ทุกสิ่งทุกอย่าง รวมทั้งความรู้และสวัสดิการอื่น ๆ แล้ว ยังให้ความสำเร็จในการทำงานของตนเองด้วย