-
ในวันที่ 25 สิงหาคม พุทธศักราช 2507
คณะรัฐมนตรีได้ลงมติอนุมัติให้จัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ใหม่อีกคณะหนึ่งในมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ และวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2508 คณะรัฐมนตรีได้ลงมติอนุมัติให้สร้างคณะแพทยศาสตร์แห่งใหม่บริเวณที่ดินกรมทางหลวงแผ่นดิน ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ชัชวาล โอสถานนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ในขณะนั้นเป็นผู้ลงนามในสัญญาก่อสร้างกับ บริษัท เทพดุสิต จำกัด ในงบประมาณก่อสร้าง 56.78 ล้านบาท โดยเริ่มดำเนินการก่อสร้างพื้นฐานอาคารในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2508 นอกจากนั้นยังมีอาคารอีก 5 หลังที่ก่อสร้างในรุ่นแรกเช่นเดียวกับอาคารหลัก คืออาคารโรงเรียนพยาบาล 1 หลัง และหอพักพยาบาล 5 หลัง งบประมาณค่าก่อสร้าง 16.83 ล้านบาท โดยมีบริษัทห้างหุ้นส่วนจำกัด วัฒนาภา เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง
-
คลิ๊กที่รูปเพื่อขยายภาพ
-
ในวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2508 พระบาทสมเด็จพระอยู่หัวภูมิ พลอดุลยเดชฯได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทาน
ชื่อคณะแพทย์ และ โรงพยาบาลแห่งใหม่ว่า รามาธิบดี ต่อมาในวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2506 ได้มีการประกาศพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี สำหรับการก่อสร้างอาคารต่างๆได้เริ่มขึ้นในเดือน พฤษภาคม พ.ศ. 2508 โดยเป็นการก่อสร้างพื้นฐานอาคาร (ในภาพที่ปรากฏอยู่นี้เป็นมุมมองจากพื้นที่ก่อนการก่อสร้างจะเห็นสถานีรถไฟจิตรลดาหรือสถานีรถไฟหลวงสวนจิตรลดาอย่างชัดเจน) และในวันพฤหัสบดี ที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2508 เวลา 10.15 น. พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรได้ทรงเสด็จพระราชดำเนินวางศิลาก่อพระฤกษ์ อาคารคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
คลิ๊กที่รูปเพื่อขยายภาพ
-
หลังจากทรงประกอบพิธีเปิดคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีเมื่อวันเสาร์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2512 เวลา 15.00 นาฬิกา
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรได้ทรงเสด็จทอดพระเนตรแบบจำลองอาคารของคณะฯโดยศาสตราจารย์นายแพทย์อารี วัละยะเสวี คณบดี เป็นผู้ถวายรายงานเกี่ยวกับแบบจำลองของอาคารต่างๆภายในคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
-
คลิ๊กที่รูปเพื่อขยายภาพ
วันเสาร์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2512 เวลา 15.00 นาฬิกา
- พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงเสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี จะเห็นธงมหาราชใหญ่ปรากฏด้านหน้าของอาคารหลัก คณะกรรมการเตรียมการรับเสด็จได้กำหนดแผนผังรับเสด็จ ดังนี้ รถพระที่นั่งเข้ามาบริเวณโรงพยาบาลทางประตูด้านเหนือและจอดบริเวณจุด ก. แล้วทรงเสด็จพระราชดำเนินตามถนนหน้าอาคารเข้าสู่ปรำพิธีที่จุด ข. เมื่อเสร็จพิธีทางศาสนาแล้วเสด็จพระราชดำเนินไปที่มุขตึกอำนวยการทรงตัดสายแถบแพรที่จุด ค. ส่วนตำแหน่งที่ยืนรับเสด็จประกอบด้วย บริเวณ A จะเป็นที่นักเรียนแพทย์ นักเรียนพยาบาล ผู้ช่วยพยาบาลนักเรียนผู้ช่วยพยาบาลยืนรับเสด็จบริเวณ B สองฟากถนนเป็นบริเวณที่ข้าราชการทั้งหมดรวมทั้งแพทย์ประจำบ้าน แพทย์ฝึกหัด อาสาสมัคร ยืนรับเสด็จ ส่วนบริเวณ C เป็นบริเวณที่แขกนั่ง
คลิ๊กที่รูปเพื่อขยายภาพ
แบบจำลองอาคารกลุ่มแรกของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
- ประกอบด้วย อาคารหลัก ห้องประชุมใหญ่ โรงครัว ห้องอาหาร โรงเรียนพยาบาล หอพักพยาบาลหอพักนักเรียนพยาบาลและหอพักผู้ช่วยพยาบาล หอพักแพทย์และนักศึกษาแพทย์ โรงอาหารเล็ก ซึ่งในการก่อสร้างอาคารกลุ่มแรกนี้ได้รับความช่วยเหลือจาก มูลนิธิร๊อกกี้ เฟลเลอร์ โดยได้ส่ง มร.เอ็ดมันส์ เจ ไวติงส์ ผู้เชี่ยวชาญทางการออกแบบโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย (Hospital university) จากประเทศสหรัฐอเมริกามาให้คำแนะนำ
คลิ๊กที่รูปเพื่อขยายภาพ
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี จัดตั้งอยู่ในพื้นที่ 37 ไร่ 3 งาน 90 ตารางวา
- อาคารใหญ่รวม (Compact building) หรืออาคารหลักเป็นอาคารมีสี่ด้าน ด้านหน้าติดถนนพระรามหกเป็นอาคาร 4 ชั้น ส่วนอีกสามด้านและอาคารเชื่อมกลางเป็นอาคาร 8 ชั้น โดยมีศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์อารี วัลยะเสวี เป็นคณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีคนแรก และวันอังคารที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2512 โรงพยาบาลรามาธิบดีได้เริ่มบริการอย่างเป็นทางการโดยมีผู้ป่วยคนแรก ชื่อ นางสาวสุธีรา อายุวัฒน์ (เลขที่เวชระเบียน 00 00 01) และเด็กคนแรกที่เกิดที่โรงพยาบาลรามาธิบดี เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ.2512 ชื่อว่าเด็กชาย รามา วัธนา ต่อมามีการต่อเติมอาคารหลักและก่อสร้างอาคารอื่นๆเพิ่มเติมจวบจนปัจจุบัน
คลิ๊กที่รูปเพื่อขยายภาพ