ที่มาการก่อตั้งหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์รามาธิบดี

1. ชื่อโครงการ 

        หอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์รามาธิบดี (Ramathibodi Archives and Museum) 


2. หลักการและเหตุผล 

        คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เปิดดำเนินการตามพันธกิจต่างๆ โดยจะครบรอบ 40 ปี ในพ.ศ.2552 กิจการของคณะฯ ได้มีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง มีผลงานในด้านการผลิตบัณฑิตทางการแพทย์ การวิจัย การรักษาพยาบาล การบริการวิชาการ และการสร้างเสริมสุขภาพ ได้รับการยอมรับว่าเป็นคณะแพทย์ชั้นนำของประเทศ ตั้งแต่ระยะเตรียมการจัดตั้งคณะฯ และเปิดดำเนินงานในปี พ.ศ. 2512 มาจนถึงปัจจุบัน มีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย หลายเรื่องมีคุณค่าต่อการเรียนรู้และเป็นแบบอย่าง ทำให้เกิดความรัก และภูมิใจในสถานบัน 
บางเรื่องมีแต่คำบอกเล่าต่อกันมา ซึ่งในที่สุดจะเลือนหายไปที่ผ่านมาได้มีการรวบรวมเอกสารและข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับคณะฯ เป็นครั้งคราว ตามวาระต่างๆ เช่นในโอกาสครบรอบการดำเนินงานของคณะฯ 20 ปี และ 36 ปี แต่ยังไม่มีการบันทึกหรือเก็บรวบรวมเรื่องราวต่างๆ อย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง รวมทั้งการเก็บรักษา ตลอดจนการเผยแพร่ คณะฯ จึงเห็นสมควรให้มีการดำเนินการจัดตั้งหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์รามาธิบดี (Ramathibodi Archives and Museum)

        ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ได้ให้ความหมายของคำว่า "จดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์" ดังนี้

        "จดหมายเหตุ" หมายถึง หนังสือบอกข่าวที่เป็นไป รายงานหรือบันทึกเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น เอกสารที่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือเอกชน ผลิตขึ้นเพื่อใช้เป็นหลักฐาน และเครื่องมือในการปฏิบัติงาน

        "พิพิธภัณฑ์" หมายถึง สถานเก็บรวบรวมและแสดงสิ่งต่างๆ ที่มีความสำคัญด้านวัฒนธรรม หรือ ด้านวิทยาศาสตร์ โดยมีความมุ่งหมาย เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อการศึกษา และก่อให้เกิดความเพลิดเพลินใจ

       จดหมายเหตุ เป็นเอกสารและสิ่งของต่างๆ ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ สำหรับการเรียนรู้ ทำให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ เกิดความภาคภูมิใจในองค์กร และยังสร้างเสริมภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กรในหมู่ประชาชนทั่วไป หากไม่เก็บรักษาจะสูญหายไปตามกาลเวลา

       ลักษณะของจดหมายเหตุรามาธิบดีที่จะดำเนินการ ได้แก่ เอกสาร หนังสือ สิ่งพิมพ์ ภาพถ่าย เทปเสียง ภาพยนตร์ สื่ออิเลคทรอนิคส์ นวัตกรรม วัตถุ สิ่งของและรางวัลเกียรติยศต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์และเรื่องราวต่างๆ ของคณะฯ ได้แก่ การจัดตั้ง การก่อสร้างอาคารต่างๆ การบริหารงาน ผลงาน นวัตกรรม ที่น่าสนใจและภาคภูมิใจ ประวัติบุคลากรและศิษย์เก่า ที่สร้างชื่อเสียงให้คณะฯ และสังคม


3. วัตถุประสงค์ 

    3.1 เป็นแหล่งรวบรวมเอกสารและวัตถุสิ่งของเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่มีความสำคัญของ คณะฯ ตั้งแต่เริ่มการวางแผนก่อตั้ง การเปิดดำเนินงาน จนถึงปัจจุบันและต่อเนื่องไปในอนาคต
     3.2 เป็นแหล่งค้นคว้าข้อมูลต่างๆ ที่มีความสำคัญ และเกี่ยวข้องกับคณะฯ 
     3.3 เป็นแหล่งเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารแก่บุคลากรของคณะฯ และประชาชนทั่วไป ผ่านสื่อต่างๆ และการจัดนิทรรศการ 


4. ขั้นตอนการดำเนินงาน 

4.1 การประชุมปรึกษาหารือในระยะจัดตั้ง 
          ภายหลังจากที่คณบดีได้ให้ความเห็นชอบกับแนวคิดในการจัดรวบรวมเอกสารและสิ่ง ของที่เกี่ยวข้องกับคณะฯ ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน จึงได้เรียนเชิญอาจารย์อาวุโส และเจ้าหน้าที่ จำนวนหนึ่ง     ร่วมปรึกษาหารือ ถึงวัตถุประสงค์ รูปแบบ และแนวทางการดำเนินงานต่างๆ เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมดังนี้ 
      - ศาสตราจารย์ นายแพทย์สมพล พงศ์ไทย 
      - รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สุรเกียรติ อาชานานุภาพ
      - ศาสตราจารย์ นายแพทย์อร่าม โรจนสกุล 
      - นางเรวดี รุ่งจตุรงค์ 
      - นางสาวยาใจ เกิดพิทักษ์ 
      - นางสาวชลธิชา ไทยเทศ  
ที่ประชุมได้มีความเห็นว่า สมควรดำเนินการในรูปแบบหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์รามาธิบดี โดยให้มีผลการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรมในโอกาสครบรอบ 40 ปี  
 
     4.2 การดูงานหอจดหมายเหตุ ของสถาบันต่างๆ  
        เนื่องด้วยคณะทำงานยังไม่มีประสบการณ์เกี่ยวกับการจัดทำหอจดหมายเหตุและ พิพิธภัณฑ์ จึงได้กำหนดการดูงานตามสถานที่ต่างๆ เพื่อการเรียนรู้และนำความรู้รวมทั้งประสบการณ์มาวางแผนการดำเนินงานโครงการ ดังนี้ 
      - หอจดหมายเหตุ สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา วันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2551 
      - หอจดหมายเหตุ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2551 
      - หอจดหมายเหตุ ธนาคารแห่งประเทศไทย วันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2551 
 
4.3 การแต่งตั้งคณะกรรมการโครงการฯ 
        ที่ประชุมผู้ก่อตั้งโครงการฯ มีความเห็นให้เสนอแต่งตั้งคณะกรรมการโครงการ หอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์รามาธิบดีชุดต่างๆ ได้แก่ 
      - คณะที่ปรึกษา ประกอบด้วย อดีตคณบดี และคณบดีปัจจุบัน อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาล คณะผู้ก่อตั้ง คณาจารย์รวมทั้งบุคลากรผู้มีบทบาทสำคัญ ในการดำเนินงานของคณะฯ 
      - คณะกรรมการอำนวยการ โดยมี ศาสตราจารย์ นายแพทย์สมพล พงศ์ไทย เป็นประธาน 
      - คณะกรรมการดำเนินงาน โดยมี ศาสตราจารย์ นายแพทย์อร่าม โรจนสกุล เป็นประธาน 
      - คณะอนุกรรมการชุดต่างๆ 

4.4 การจัดหาจดหมายเหตุ  
        เนื่องด้วยคณะทำงานยังไม่มีประสบการณ์เกี่ยวกับการจัดทำหอจดหมายเหตุและ พิพิธภัณฑ์ จึงได้กำหนดการดูงานตามสถานที่ต่างๆ เพื่อการเรียนรู้และนำความรู้รวมทั้งประสบการณ์มาวางแผนการดำเนินงานโครงการ ดังนี้ 
       4.4.1 ขอความร่วมมือและความอนุเคราะห์ไปยังบุคลากรและหน่วยงานต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ให้บริจาค หรือให้ยืมสิ่งของที่มีลักษณะเป็นจดหมายเหตุ 
       4.4.2 การสัมภาษณ์ อาจารย์และบุคลากรอาวุโส ตั้งแต่ระยะก่อตั้ง และการดำเนินงานในช่วงต่างๆ โดยมีประเด็นของการสัมภาษณ์ ดังนี้ 
             - แรงบันดาลใจ ในการก่อตั้งคณะฯ หรือหน่วยงาน 
             - การบริหารงาน วิธีดำเนินการและปัจจัยสู่ความสำเร็จ 
             - กิจกรรม ผลงานที่โดดเด่นและภาคภูมิใจ 
             - ปัญหา อุปสรรค และการแก้ไขระหว่างดำเนินการก่อตั้ง 
             - ข้อคิดที่ต้องการฝากไว้ให้ชาวรามาธิบดีรุ่นปัจจุบัน ในการธำรงไว้ซึ่งความเป็นคณะแพทย์ชั้นนำ
       4.4.3 จดหมายเหตุจากภาควิชาและหน่วยงาน 
             - ประวัติการก่อตั้ง ความเป็นมาและแนวคิด 
             - ภารกิจ และการบริหารงาน 
             - คณาจารย์และบุคลากร 
             - กิจกรรมและผลงานที่โดดเด่น 
             - เอกสาร รูปภาพ ของที่ระลึก และอื่นๆ ที่มีคุณค่า 
       4.4.4 การจัดเวทีเสวนา 
             - โครงการ "เล่าขานวันวาน 40 ปี รามาธิบดี" โดยเรียนเชิญคณาจารย์และบุคลากร ที่มีส่วนร่วมในการก่อตั้งคณะฯ มาร่วม เสวนา และให้ข้อมูลต่างๆ ในงานมุทิตาจิต อาจารย์ที่เกษียณอายุราชการ ร่วมกับสมาคมศิษย์เก่าแพทย์รามาธิบดี ในวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2551 
       4.4.5 การจัดประกวดภาพถ่ายรามาธิบดี เพื่อให้บุคลากรและศิษย์เก่าได้ส่งภาพถ่าย ที่เกี่ยวข้องกับคณะฯ โดยจะเป็นภาพบุคคล สถานที่ เหตุการณ์และกิจกรรมต่างๆ ภายในเดือนตุลาคม 2551 
       4.4.6 การจัดนิทรรศการ "รักษ์รามาธิบดี" 
             ครั้งที่ 1 บริเวณห้องประชุมอรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ ชั้น 5 อาคารสิริกิติ์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เมื่อวันศุกร์ที่ 9 และวันจันทร์ที่ 12 เมษายน 2553 
             ครั้งที่ 2 บริเวณห้องโถงหน้าห้องประชุมอารี วัลยะเสวี เมื่อวันศุกร์ที่ 30 เมษายน 2553 และวันจันทร์ที่ 3 พฤษภาคม 2553 
      4.4.7 การร่วมกิจกรรมที่จัดขึ้นโดยหน่วยงานภายนอกคณะฯ 
             - ร่วมจัดนิทรรศการโดยนำเอกสารจดหมายเหตุและวัตถุพิพิธภัณฑ์จัดแสดงใน โครงการมรดกแห่งความทรงจำแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล ครั้งที่ 1 วันพุธที่ 3 พฤศจิกายน 2553 ณ สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา 
             - เข้าร่วมกิจกรรมงานนิทรรศการและเสวนา "จดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ ไปด้วยกัน ไปได้ไกล" จัดโดยพิพิธภัณฑ์ธนาคารไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ร่วมกันสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ และสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2553 ณ พิพิธภัณฑ์ธนาคารไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ฯ สำนักรัชโยธิน 
       
4.5 การรวบรวมและคัดเลือกจดหมายเหตุ 
       ให้บุคลากรและหน่วยงานต่างๆ ส่งเอกสาร หนังสือ วัตถุ สิ่งของต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง กับคณะฯ ที่ประสงค์บริจาคไปยัง งานบริหารทรัพยากรแห่งการเรียนรู้ (ห้องสมุด) หรือ งานบริหารและธุรการ สำนักงานคณบดี เพื่อเก็บรวบรวม คณะกรรมการอำนวยการและคณะกรรมการดำเนินงานจะทำการคัดเลือกจดหมายเหตุ โดยมีแนวทางในการพิจารณา ดังนี้ 
      - ความเป็นเอกลักษณ์ในรามาธิบดี 
      - เป็นหลักฐานในการดำเนินงานของคณะฯ 
      - มีความสมบูรณ์และข้อมูลเพียงพอ 
      - ไม่จำกัดอายุของจดหมายเหตุ แต่จะพิจารณาจากคุณค่าในด้านการเรียนรู้และเป็นแบบอย่าง 
 
4.6 สถานที่เก็บรักษา 
        ในเบื้องต้นขอใช้สถานที่ของ งานบริหารทรัพยากรการเรียนรู้ ในปัจจุบัน และจะมีการสร้างสถานที่จัดเก็บรวบรวมและแสดงหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์รามาธิบดี ไว้ที่บริเวณศูนย์การเรียนรู้ (ชั้น 2) และหอเกียรติยศ (ชั้น 9) ภายในอาคารเรียนและปฏิบัติการรวมด้านการแพทย์ และโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี 
 
4.7 การบริการข้อมูลจดหมายเหตุเพื่อการศึกษาค้นคว้า         
       ดำเนินงานโดย งานบริหารทรัพยากรการเรียนรู้ โดยจะมีการกำหนดระเบียบปฏิบัติในภายหลัง 
 
4.8 การเผยแพร่จดหมายเหตุ 
       จะทำการเผยแพร่จดหมายเหตุในรูปแบบและโอกาสต่างๆ ตามความเหมาะสม เช่น 
      - การจัดพิมพ์หนังสือ ในโอกาสครบรอบ 40 ปีของคณะฯ ในปี พ.ศ. 2552 
      - การจัดทำเอกสารและสิ่งพิมพ์อื่นๆ 
      - การจัดทำสื่ออิเลคทรอนิกส์ และWebsite 
      - การจัดแสดงนิทรรศการ เป็นครั้งคราว 
      - การจัดห้องแสดงเอกสารและสิ่งของที่เกี่ยวข้อง 
 4.9 การบริหารจัดการโครงการจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์รามาธิบดี 
       โดยที่ลักษณะงานที่สำคัญของโครงการนี้ มีความใกล้เคียงกับงานของห้องสมุดและบุคลากรด้านบรรณารักษ์ ซึ่งส่วนหนึ่งจะ มีความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับจดหมายเหตุอยู่แล้ว จึงเห็นสมควรให้ งานบริหารทรัพยากรการเรียนรู้เป็นหน่วยงานหลักในการ บริหารจัดการโครงการ โดยร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น งานโสตทัศนศึกษา งานประชาสัมพันธ์ งานบริหารและธุรการ สำนักงานคณบดี และอื่นๆ 


5. ข้อมูลผลการดำเนินงานหรือสถิติงานที่ผ่านมา (กรณีมีการดำเนินงานในระยะเวลาที่ผ่านมา) 

        - การจัดนิทรรศการ "รักษ์รามาธิบดี" จำนวน 2 ครั้ง 
       - การจัดทำประวัติคำบอกเล่าของบุคคลสำคัญ (Oral History) จำนวน ๒๗ คน (29 มิ.ย. 2552 - 9 ธ.ค. 2553) 
       - การจัดทำเอกสารจดหมายเหตุดิจิตอล จำนวนสิ่งพิมพ์ 81 รายการ และกำลังดำเนินการ 54 รายการ


6. ผลที่คาดว่าจะได้รับ 

       6.1 เอกสารจดหมายเหตุและวัตถุพิพิธภัณฑ์ได้รับการประเมินคุณค่า มีการอนุรักษ์ จัดระบบ จัดเก็บรวบรวม เป็นศูนย์รวมจดหมายเหตุของคณะฯ 
       6.2 เป็นแหล่งศึกษา ค้นคว้า และวิจัยที่มีประสิทธิภาพ 
       6.3 ให้บริการและจัดนิทรรศการจดหมายเหตุของคณะฯ 
       6.4 มีส่วนสำคัญในการเผยแพร่เกียรติคุณและความทรงจำตามวาระโอกาสต่างๆ 
       6.5 อาจารย์ นักศึกษา และบุคลากร มีความภาคภูมิใจและตระหนักถึงคุณค่าทางประวิติศาสตร์ความเป็นมาของคณะฯ 
หอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์รามาธิบดี จะเป็นแหล่งเรียนรู้ของอนุชนรุ่งหลังและนำไปเป็นแบบอย่าง เป็นการสร้างความภาคภูมิใจแก่บุคลากร และศิษย์เก่า เผยแพร่เกียรติภูมิของคณะฯ และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กรในหมู่ประชาชน และสังคมโดยรวมม