ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์อร่าม โรจนสกุล

สรุปจาก Oral History ของ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์อร่าม โรจนสกุล

 

อัตตานัง อุปมัง กเร

                           ถ้าถามว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร เป็นสมัยนิยมของเด็กนักเรียนมัธยมปลายในสมัยนั้น มักจะเลือกเข้าแพทย์กับวิศวกรรมศาสตร์ แล้วเราเป็นหนึ่งในคนที่โชคดีก็คือสอบเข้าเรียนแพทย์ได้ (เป็นนักศึกษาแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี พ.ศ. 2513 – 2518 รับปริญญา แพทยศาสตรบัณฑิต พ.ศ. 2519) การเรียนแพทย์มีการเรียนการสอนทางวิชาการเข้มข้น แต่ขณะเดียวกันก็สอนให้เรารู้จักค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเอง หรือที่เขาเรียกกันในระยะนั้นว่า self-directed learning และการเรียนรู้ตลอดชีวิตหรือ lifelong learning ความจริงในประเด็นนี้ มีสิ่งที่เราได้เรียนรู้จากหลายอย่าง อย่างแรกเลยก็คือเรื่องของคำขวัญของมหาวิทยาลัย ภาคภูมิใจกับตรามหาวิทยาลัย คำขวัญ “อัตตานัง อุปมัง กเร” คำจำกัดความหรือความหมายสั้น ๆ ที่พวกเรานักศึกษาใช้กันก็คือ “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” หรือว่าถ้าเป็นสมัยนี้ก็คือ พึงปฏิบัติต่อผู้อื่นเหมือนดังที่ปฏิบัติต่อตนเอง สิ่งเหล่านี้เราจะเห็นได้ทั่วไป ทั้งที่สถานที่ต่าง ๆ ที่ติดทั้งที่สัญลักษณ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเข็มกลัดก็ดี หัวเข็มขัดก็ดี กระเป๋าก็ดี หนังสือ สมุด หรือแม้กระทั่งคำว่า “อัตตานัง อุปมัง กเร” ยังถูกนำไปจัดทำเป็นเพลงเลย

                            เมื่อเรียนแพทย์ มีพระราโชวาทของสมเด็จพระราชบิดาฯ จำนวนมาก ที่เราได้สัมผัสและเรียนรู้ที่สำคัญอันหนึ่งก็คือว่า “I don't want you to be only a doctor, but to be a man” คือให้เป็นคนโดยสมบูรณ์ซึ่งเราก็ได้รับการหล่อหลอมมา หรือพระราโชวาทที่ว่า “True success is not in the learning, but in its application to the benefit of mankind” คือการนำไปเป็นประโยชน์กับมวลมนุษยชาติ

                            ในช่วงปิดภาคเรียนนักศึกษาในระยะนั้นจะแบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งก็คือสนใจทางด้านวิชาการ ก็จะสมัครไปอยู่ตามห้องแล็บ ช่วยอาจารย์ทำงานวิจัย และก็อาจจะได้ผลงานเล็ก ๆ แต่เราไม่ใช่สายวิชาการเป็นเด็กสายกิจกรรม อยู่ชมรมผู้บำเพ็ญประโยชน์ไปออกค่ายอาสาพัฒนาชนบทในทุกสิ้นเทอม ปิดภาคฤดูร้อนสองเดือนจะไม่ค่อยได้อยู่กรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ก็จะไปอยู่ชนบทในภาคอีสาน สิ่งเหล่านี้ก็หล่อหลอมการดำเนินชีวิตของนักศึกษา เมื่อจบเป็นแพทย์แล้วก็มีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิต

 

หมอสูติ-นรีเวช สู่อาจารย์แพทย์

                            หลังจากเป็นแพทย์ฝึกหัดก็ต้องเลือกเฉพาะทาง หรือจะไปทำชุมชน ในส่วนตัวเองเลือกเฉพาะทาง โดยเลือกสาขาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา หรือเรียกสั้น ๆ ว่า หมอสูติฯ นั่นแหละ คือสาขาวิชานี้ขอบเขตองค์ความรู้ มันไม่ยุ่งยากซับซ้อน มีหัตถการเยอะ หัตถการก็คือการผ่าตัด การทำคลอด เห็นเด็กที่คลอดออกมาเราก็รู้สึกดี ไม่รู้สึกห่อเหี่ยว ไม่รู้สึกเศร้าหมองเหมือนกับบางสาขาวิชาที่ต้องอยู่กับคนเจ็บคนตายอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นก็เลยเลือกสาขานี้ แล้วก็เรียนจนจบได้รับวุฒิบัตรผู้เชี่ยวชาญการประกอบวิชาชีพเวชกรรมสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา (พ.ศ. 2523)

                            หลังจากจบการศึกษาอาจารย์มาชวนว่า “มีแผนการหรือยัง มาเป็นอาจารย์ดีไหม” ก็เลยตอบรับ (พ.ศ. 2523) ด้วยความยินดีเลย แล้วอันนี้มันก็สานฝันที่เราความจริงแล้วเราอยากเป็นครูตั้งแต่ต้น

                            พอเป็นอาจารย์สักพักหนึ่ง ก็ออกไปฝึกอบรมต่อในอนุสาขาเฉพาะทาง อนุสาขาที่ว่านี้ก็คือ Reproductive Endocrinology and Infertility เกี่ยวกับสูติศาสตร์ที่ว่าด้วย การเจริญพันธุ์และการดูแลรักษาผู้ที่มีบุตรยาก ซึ่งในสมัยนั้นก็ไม่ได้เป็นที่นิยมมากนัก

 

การศึกษา วิจัยและการบริการวิชาการ

                            เมื่อเป็นอาจารย์ มีคำถามว่าเราจะมาเป็นอาจารย์ที่ดีได้ยังไง อย่าลืมว่าการมาเป็นอาจารย์เป็นสิ่งที่เราเลือกเอง ที่จะเข้ามาเป็นอาจารย์ เราก็ต้องทำบทบาทให้ดีทั้งหมด เพราะฉะนั้นหลักการง่าย ๆ ก็คือเรามีหน้าที่อะไรเราก็ทำให้ดีที่สุด ในมุมมองของศิษย์กับอาจารย์ในส่วนตัวจะมองเป็นเพื่อนคู่คิด หรือที่เราเรียกใช้คำสั้น ๆ ว่า “student as a partner” เพราะฉะนั้นอย่างนักศึกษาและแพทย์ประจำบ้าน เราจะร่วมเรียนรู้กันด้วยกัน หลายอย่าง ช่วงเราได้เรียนรู้จากเขา อันนี้ถ้าเราพูดถึงในบทบาทของอาจารย์มันก็ขึ้นอยู่กับช่วงระยะเวลาด้วย ช่วงเป็นอาจารย์ใหม่เป็นอาจารย์ผู้น้อย ต่อมาแล้วเป็นอาจารย์ระดับกลาง ซึ่งมีอาจารย์ใหม่เข้ามาให้เราเป็นเมนทอร์ (mentor) ต่อไปเราก็เป็นอาจารย์อาวุโสขึ้นแล้วก็อาจจะเป็นผู้บริหารของหน่วยงานของภาควิชา เพราะฉะนั้นบทบาทของอาจารย์ก็จะเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ แต่อย่างไรก็ตาม พื้นฐานที่สำคัญก็คือ การเรียนการสอน การบริการรักษาพยาบาล และการวิจัย ทั้งสามส่วนนี้ก็จะเป็นสิ่งที่อาจารย์ขาดไม่ได้ต้องควบคู่กันไป ภารกิจหรือพันธกิจทั้งสามด้าน ไม่ว่าการศึกษาก็ดี การวิจัย การบริการก็ดี เป็นสิ่งที่เชื่อมโยงกันหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำหัตถการหรือการผ่าตัด ทำให้เรามีประสบการณ์ ทำให้เรามีความรู้ เราก็นำความรู้ประสบการณ์ จากการบริการไปสอน เพื่อให้นักศึกษาแพทย์ ประจำบ้านได้เรียนรู้ และนำปัญหาจากการบริการไปทำวิจัย ขณะเดียวกันผลจากการวิจัยก็นำมาปรับปรุงการบริการให้ดีขึ้น แล้วก็นำไปพัฒนาการเรียนการสอน เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าทั้งสามภารกิจนี้มีความเชื่อมโยงและสอดคล้องกันแยกกันไม่ได้ อย่างเช่น หากไม่ทำวิจัยและไม่ติดตามวิจัยเลย เราทำอย่างไรก็ทำอย่างนั้น สอนอย่างไรเราก็สอนอย่างงั้น เช่นเดียวกับการบริการ จะพบว่าภายใน 5 - 10 ปี เราจะล้าสมัย

 

การวิจัยทางคลินิก

                           กลุ่มโรคอันหนึ่งที่ทางรามาธิบดีเราก็เป็นผู้นำการวิจัยเรื่องนี้ก็คือ กลุ่มโรคที่เราเลือก Polycystic Ovary Syndrome หรือเรียก PCOS หรือบางคนจะเรียก โรคพีคอส โรคเหล่านี้ส่วนใหญ่มาด้วยระดูผิดปกติอาจจะมาด้วยน้ำหนักตัวมาก มีบุตรยาก หรือมีขนดก สิว ผิวมัน ทางหน่วยได้ทำงานวิจัยเรื่องนี้อย่างเป็นระบบมาตั้งแต่ปี 1984 (พ.ศ. 2527) แล้วก็มีผลงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารและนำเสนอในเวทีนานาชาติ แล้วรุ่นน้องก็ได้ทำกันต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน อีกเรื่องหนึ่งก็คือ ภาวะมีเยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ หรือที่เรียก endometriosis

 

โครงการปฏิสนธินอกร่างกาย

                            สำหรับการวิจัยเรื่องเกี่ยวกับโครงการปฏิสนธินอกร่างกาย หรือที่ทางเทคนิคเรียกว่า IVF (in vitro fertilization) ในประเทศไทยโครงการนี้เริ่มต้นครั้งแรกที่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ก่อนหน้ารามาธิบดีสักประมาณ 4-5 ปี) ที่รามาธิบดีเริ่มในปี 2531 คนที่มีบุตรยากอาจจะมีสาเหตุหลายอย่าง แต่ว่าการรักษาที่สำคัญวิธีหนึ่งคือ การปฏิสนธินอกร่างกาย หรือเด็กหลอดแก้วนั่นเอง ซึ่งถ้าเป็น 30 - 40 ปีก่อนยังเป็นเรื่องที่ใหม่ แต่ในปัจจุบันเทคโนโลยีนี้ก้าวหน้าไปมากแล้ว หลังจากที่เริ่มไปเราก็ดำเนินการให้บริการ ทำวิจัย หารูปแบบที่เหมาะสมกับประเทศเรา ทำการเรียนการสอนไปได้สักประมาณ 4 - 5 ปี มีองค์ความรู้ระดับหนึ่งก็รวบรวมความรู้และก็ประสบการณ์เหล่านี้มาเขียนเป็นตำราซึ่งก็ได้รับความนิยมและแพร่หลายพอสมควร โชคดีที่คณะกรรมการของมหาวิทยาลัยตัดสินให้ได้รับรางวัลมหาลัยมหิดล สาขาการแต่งตำรา เมื่อปี 2540 และได้รับพระราชทานรางวัลในปี 2541 ซึ่งในปีนั้นเป็นปีสุดท้ายที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานปริญญาด้วยพระองค์เอง

 

จากอาจารย์แพทย์....สู่ผู้บริหารคณะฯ

                            หลังจากได้ตำแหน่งศาสตราจารย์แล้ว ผู้บริหารคณะฯก็ชวนให้ช่วยทำงานบริหารคณะฯ ก็เลยลองเข้ามาดู เริ่มตั้งแต่มาดูแลเรื่องการศึกษาหลังปริญญา ต่อมาดูแลงานทางด้านการบริหาร และเป็นรองคณบดีฝ่ายบริหาร ต่อด้วยเป็นผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ แม้ในปัจจุบัน(2565)ก็เกษียณไปแล้ว คณะฯ ก็ยังมอบหมายให้มาเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทอาร์เอฟเอส (RFS - Ramathibodi Facility Service)

 

ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์

                            ขณะที่กำลังมีการก่อสร้างอาคารสมเด็จพระเทพรัตน์อยู่ คณบดีสมัยนั้น (ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน) ได้ตั้งคณะกรรมการชุดหนึ่งขึ้นมา เพื่อวางแผนระบบบริหารจัดการ แล้วก็ขอให้ผมเป็นประธาน ก็ไม่ได้คิดว่าจะมาเป็นผู้อำนวยการ ในแผนที่วางไว้ทั้งหมด เสนอให้มีการสรรหาผู้อำนวยการจากบุคคลภายนอกด้วย แต่ในที่สุดแล้ว ท่านคณบดีสมัยนั้นก็มอบหมายให้มาเป็นผู้อำนวยการคนแรกของศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ การบริการของคณะในสมัยนั้นมันมีความท้าทายหลายเรื่อง เรื่องหนึ่งก็คือ ความต้องการของผู้ป่วยที่เปลี่ยนแปลงไป โดยต้องการสิ่งอำนวยความสะดวกเพิ่มขึ้นให้ความสนใจในประเด็นของเวลาการรอคอยและค่าใช้จ่ายสูงมากขึ้น แนวคิดก็คือว่า มีคนไข้อีกกลุ่มหนึ่งที่อยากจะมาใช้บริการแล้วก็ยินดีที่จะจ่ายเพิ่มเติมสำหรับสิ่งอำนวยความสะดวกด้วย ถ้าเพื่อความพึ่งพาตัวเองได้จำเป็นจะต้องจัดบริการสำหรับคนไข้กลุ่มพิเศษ แต่นี้โดยหลักการเมื่อมีคนไข้กลุ่มพิเศษและกลุ่มปกติ ความต้องการ ความคาดหวัง ก็มักจะต่างกัน การออกแบบการบริหารจัดการที่นี่เราใช้ผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง โดยมีการแบ่งกลุ่มผู้ป่วย ศึกษาความต้องการความคาดหวัง แล้วนำความต้องการคาดหวังนั้นมาออกแบบระบบ แต่ในการออกแบบระบบมีประเด็นที่จะต้องพิจารณาก็คือว่า คณะฯ เป็นหน่วยงานของรัฐ ได้รับเงินบริจาคมาส่วนหนึ่ง จะให้บริการแต่คนรวยเหรอ ไม่น่าจะใช่ต้องให้บริการผู้ป่วยทุกกลุ่ม ในที่สุดการออกแบบการรักษาพยาบาลที่นี่ จะใช้วิธีผสมผสาน หมายความว่าคนไข้กลุ่มพิเศษที่จะต้องเสียเงินกับคนไข้กลุ่มปกติจะได้รับการบริการที่มีมาตรฐานทางการแพทย์ใกล้เคียงกัน ห้องตรวจคล้ายคลึงกัน ใช้เครื่องมือแพทย์ เช่น เครื่องเอกซเรย์ ผ่าตัด เหมือนกัน จุดต่างอยู่ที่สิ่งอำนวยความสะดวกที่จัดเพิ่มเติมโดยมีค่าบริการเพิ่มเติม ในปัจจุบันเราให้บริการไปมากกว่า 10 ล้านคน เมื่อเราพิจารณาทบทวนแล้ว พบว่าสามารถตอบความท้าทายที่เกิดขึ้นในระยะนั้นได้

 

งานที่มีเกียรติและมีความสุข

                            ปี 2556 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงพระราชทานขวัญกำลังใจกับบุคลากรที่ทำงานในมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง โดยมีพระราชหัตถเลขา ด้วยประโยคว่า “เราทำงานให้คนอื่นมันเป็นเกียรตินะ แล้วทำให้เรามีความสุข” ซึ่งสอดคล้องกับที่สมเด็จพระราชบิดาทรงให้พระราโชวาทไว้ว่า “ขอให้ถือกิจประโยชน์ของผู้อื่น เป็นกิจที่หนึ่ง” การที่เรามีอาชีพอย่างนี้ได้ เพราะมีผู้รับบริการ มีนักเรียน มีลูกค้า เพราะฉะนั้นทุกคนก็ต้องร่วมมือกันทำงานบริการรักษาพยาบาล งานบริการในความหมายของผม หมายถึงการเป็นธุระจัดการให้ เพราะฉะนั้นคำว่า customer focus หรือการบริการผู้ป่วย ก็คือไปเป็นธุระให้ผู้ป่วย ผู้ป่วยเขาอยากได้อะไรเราตอบสนองเขาได้ไหม แต่ขณะเดียวกันก็ต้อง balance กับผู้ให้บริการด้วย เพราะว่าบางทีพอทำงานไปเหนื่อย ๆ ก็อาจจะมีเจ้าหน้าที่ถามว่า “ให้เราบริการ ๆ ให้เราช่วยเหลือ แล้วใครมาช่วยเหลือหนูล่ะ ใครมาช่วยเหลือเราบ้างล่ะ” เรื่องนี้เป็นหน้าที่ของผู้บริหารที่จะต้องมอง คนไม่ใช่เครื่องจักร คนมีชีวิตจิตใจ ประเด็นด้าน soft skill มีความสำคัญมาก หรือแม้กระทั่งการมอบของรางวัล หรือการเขียนการ์ดขอบคุณด้วยตัวเองเป็นรายบุคคลเลย เช่น “เรามั่นใจว่าคุณทำได้”อะไรอย่างนี้ เพื่อสร้างขวัญกำลังใจเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้กับบุคลากรของเรา เราสามารถธำรงรักษาบุคลากร โดยเฉพาะแพทย์ พยาบาล เภสัชกร และสายอื่น ๆ อัตราการลาออกของพนักงานที่นี่ (ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์) ต่ำมาก ผลงานเหล่านี้ก็น่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ได้รับรางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล ในสาขาบริการ

 

ต้นแบบ ของบุคคลต้นแบบ

                            อาจารย์อาวุโสเป็น role model หลายท่านแต่บางท่านก็จะเป็นโมเดลในด้านเฉพาะ เช่น ในด้านผ่าตัด อาจารย์ท่านนี้ผ่าตัดเก่งมากเลย ละเอียดมาก อีกคนหนึ่งเป็นโมเดลในด้านการเรียนการสอน อีกคนเป็นโมเดลในด้านการใช้ชีวิต ก็มีหลากหลาย แต่ว่าผู้ที่ค่อนข้างจะครบหรือว่าค่อนข้างที่จะโดดเด่น ก็คือ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์อารี วัลยะเสวี ซึ่งท่านคือปฐมคณบดีหรือคณบดีคนแรกของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ที่น่าสนใจและเป็น role model ตั้งแต่จุดเริ่มเลย คือท่านทำงานอยู่ที่คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล และท่านมีวิสัยทัศน์ ท่านต้องการออกมาตั้งมหาวิทยาลัยตามความฝัน ความฝันก็คือมี คณะแพทยศาสตร์ ที่มุ่งเน้นด้านการวิจัย แล้วความฝันนี้ท่านทำให้เกิดความเป็นจริง ขณะที่ท่านอายุยังไม่ถึง 40 ปี การคิดการใหญ่ที่ตั้งคณะแพทยศาสตร์ใหม่ขึ้นมามันไม่ใช่เรื่องง่าย แค่ใช้เวลาไม่นานก็ทำให้คณะแพทยศาสตร์รามาธิบดีมีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับจากประชาชนโดยทั่วไป ภายหลังเกษียณอายุราชการแล้วท่านยังเป็นคณบดีผู้ก่อตั้งคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อีกด้วย ในด้านอื่น ๆ ท่านเป็นนักวิชาการ เป็นครูสอน เป็นนักวิจัยระดับโลก ได้รับรางวัลระดับโลกเลย ได้รับรางวัลแมกไซไซ เป็นผู้ก่อตั้งสถาบันโภชนาการของมหาวิทยาลัยมหิดลด้วย ท่านเป็นแบบอย่างของ visionary leader

 

รู้จักตัวเอง แล้วทำหน้าที่ ให้ดีที่สุด

                            การทำงานทุกอย่างเราต้องรู้ว่าเราอยู่ตรงไหน มีหน้าที่อะไร แล้วทำตามหน้าที่ให้ดีที่สุด แต่ว่าจะเป็นแบบอย่างหรือไม่เป็นแบบอย่าง ไม่ใช่เป้าหมายสำคัญ เพราะการจะเป็นแบบอย่างไม่เป็นแบบอย่างขึ้นอยู่กับคนอื่นที่เขาจะมาพิจารณา เราทำไปแล้วถ้าคนอื่นเขามองเห็น เขาก็มาบอกว่าอันนี้มันใช่ มันไม่ใช่ โดยที่เราไม่ต้องตั้งเป็นเป้าหมาย แต่ถ้าเป็นเป้าหมายระดับองค์กร อันนั้นมันโอเคว่า สมมุติองค์กร อย่างอาร์เอฟเอส (RFS) ของเรา ก็ตั้งวิสัยทัศน์ที่จะเป็นแบบอย่าง หรือเป็นต้นแบบเหมือนกัน เป็นต้นแบบ เพราะฉะนั้นเราต้องทำให้ดี ให้ได้มาตรฐาน มีคนมาเรียนรู้ดูงาน มีคนนำองค์ความรู้จากที่เราสร้างสรรค์ เอาไปต่อยอดไปใช้ประโยชน์อันนั้นมันก็จะเป็นอีกเรื่อง แต่สำหรับในส่วนบุคคลไม่ได้ไม่เคยคิดว่าตัวเองจะเป็นแบบอย่างให้ใคร แม้กระทั่งในครอบครัวไม่ได้คิดว่าเราทำแบบนี้ แล้วจะเป็นแบบอย่างให้ลูกหลานเอาแบบ ซึ่งการจะเอาแบบหรือไม่ขึ้นอยู่กับตัวเขาเอง

 

แนวคิดการทำงาน “ตระกูล 4 + 1

                            เรื่องนี้อาจจะไม่เกี่ยวกับการเป็นแบบอย่าง แต่เกี่ยวกับแนวคิดในการใช้ชีวิตหรือในการดำเนินงาน ผมใช้แนวคิดที่เราเรียกว่า ตระกูล 4 + 1 หมายความว่า ตระกูลที่ 1 ควรจะมีพรหมวิหาร 4 เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของแพทย์และพยาบาล เพราะว่าถ้าไม่มีความเมตตา กรุณา แล้วจะให้การรักษาผู้ป่วยได้อย่างไร ตระกูลที่ 2 ก็คืออริยสัจสี่ ( ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค์) อันนี้มันตรงกับ problem solving ตระกูลที่ 3 คือ สังหวัตถุ 4 เราต้องทำงานเป็นทีม อยู่ด้วยการเป็นหมู่คณะ สิ่งที่จะยึดเหนี่ยวเราไว้ได้คือ ทาน ปิยะวาจา อัตถจริยา และ สมานัตตตา ตระกูลที่ 4 คือ การทำงานเพื่อความสำเร็จ เราเป็นนักเรียนเราจะเรียนได้สำเร็จอย่างไร เป็นอาจารย์เรามีบทบาทหน้าที่สอนการบริการวิจัยเราจะทำเสร็จได้อย่างไร เราเป็นผู้บริหาร เรามีหน้าที่อย่างนี้ บทบาทของผู้บริหารมีมากมายจะทำให้สำเร็จได้อย่างไร ในที่สุดมันหนีไม่พ้นอิทธิบาท 4 คือ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ที่บอกว่าบวกหนึ่งคือ แนวคิดของเศรษฐกิจพอเพียง คนเราถ้ามีความพอเพียง ทุกสิ่งทุกอย่างมันจะดี ทำให้เราปฏิบัติเดินสายกลาง มีความมีเหตุมีผล ทำให้เรามีความพอดี มีภูมิคุ้มกัน และในความพอเพียงเอง มีภูมิคุ้มกันเองสอดคล้องกับการจัดการความเสี่ยง ทุกวันนี้เราบริหารจัดการตามแบบประเทศทางตะวันตก แท้จริงแล้วในตะวันออกหรือในด้านพุทธศาสนามีสิ่งดี ๆ ที่ทั่วโลกเขาก็ยกย่องทางด้าน sufficiency economy หรือปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ก็เลยต้องฝากนักบริหารรุ่นต่อ ๆ ไป ให้นำสิ่งที่เรามีดี ๆ แล้วนำมาเป็นหลัก แล้วก็นำมาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการองค์กร