รองศาสตราจารย์สุจินต์ วิจิตรกาญจน์

สรุปจาก Oral History ของ รองศาสตราจารย์สุจินต์ วิจิตรกาญจน์

 

แนะนำตัว และ เหตุใดถึงมาทำงานที่รามาธิบดี

                            รองศาสตราจารย์สุจินต์ วิจิตรกาญจน์ เล่าว่า อาจารย์เรียนจบการศึกษาพยาบาลระดับปริญญาตรีจากโรงเรียนพยาบาลศิริราชผดุงครรภ์ซึ่งช่วงที่เข้าเรียนนั้นโรงเรียนพยาบาลนี้ได้เปิดสอนหลักสูตรปริญญาตรีเป็นครั้งแรก หลังจากสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีแล้วได้รับการคัดเลือกเข้ามาทำงานในโรงพยาบาลศิริราชโดยผ่านเกณฑ์คัดเลือกคือ เรียนดี ปฏิบัติงานดี และเป็นที่พึงพอใจของคณะกรรมการบริหารของอาจารย์พยาบาล หลังจากทำงานได้ประมาณ 2 ปี อาจารย์สนใจศึกษาต่อระดับปริญญาโทจึงลาออก โดยได้รับทุนจากมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ให้ไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทที่ประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งผู้รับทุนรุ่นเดียวกันมี 6 ท่าน แต่มีเงื่อนไขว่าเมื่อศึกษาสำเร็จแล้วต้องกลับประเทศไทยโดยเร็วที่สุดเพื่อทำงานในคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และให้ทันเตรียมการเปิดคณะฯ

 

หลังจากกลับมาจากต่างประเทศแล้วรามาธิบดีตอนนั้นเป็นอย่างไร

                           อาจารย์ไม่ได้มีส่วนในการเตรียมการเพื่อที่จะเปิดคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี แต่ในปี 2508 มีส่วนเตรียมในพิธีวางศิลาฤกษ์โดยนำคณะนักศึกษาตั้งแถวรับเสด็จเท่านั้น พื้นที่บริเวณนั้นเป็นที่กว้างโล่งยังเป็นขยะต้องใช้ไม้กระดานวางให้นักศึกษายืนตั้งแถวแต่ก็มีความสง่างามและสวยงาม หลังจากเสร็จพิธีได้เดินทางไปเรียนต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกาทันทีไม่ได้เห็นการก่อสร้างคณะฯ เลยแต่ได้รับทราบข่าวจากน้อง ๆ ที่ทำงานในคณะฯตลอดเวลา เช่น ความคืบหน้าของการก่อสร้าง ความสวยงามและบรรยากาศที่ร่มรื่นเมื่อสร้างอาคารเสร็จ อาจารย์เดินทางกลับมาถึงประเทศไทยเพื่อทำงานประมาณเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2512 รู้สึกตื่นเต้นกับความสวยงามของคณะฯ มากทั้ง ๆ ที่ได้เคยเห็นความสวยงามและทันสมัยของโรงพยาบาลต่าง ๆ ที่ประเทศสหรัฐอเมริกามาแล้วก็ตาม คือ คณะมีภูมิทัศน์ที่สวยงาม มีสวนหย่อม ในอาคารมีอากาศถ่ายเทดีโออ่ามาก บนหอผู้ป่วยทำด้วยกระจกสีน้ำตาลเปิดโล่ง ประกอบด้วยเตียงผู้ป่วยที่ทันสมัยปูผ้าปูที่นอนทำจากผ้าลินินสีขาวสะอาดพร้อมด้วยตราโรงพยาบาลรามาธิบดี ส่วนผ้าห่มนั้นสั่งทอเป็นพิเศษด้วยผ้าเสีขาวหนานุ่มและปักสัญลักษณ์ของรามาธิบดีที่มุมผ้าอย่างสวยงาม ส่วนใหญ่บุคลากรของคณะฯ ล้วนแต่เป็นคนหนุ่มสาว ในการตรวจเยี่ยมคนไข้ในหอผู้ป่วยมีนวัตกรรมที่ทันสมัยคือ Conference ข้างเตียง ทุกคนใช้ภาษาอังกฤษได้ในระดับดี การแต่งกายของนักศึกษาสวยงามทำให้คนไข้มองอย่างตื่นตาตื่นใจคือ นักศึกษาแพทย์สวมเสื้อสั้นแบบเบลเซอร์ตัดเย็บด้วยผ้าเวสป้อยท์และมีตรารามาธิบดี นักศึกษาพยาบาลใส่ชุดขาวมีเสื้อคลุมสีฟ้าซึ่งเรียกว่าเป็นเทปล่อน โรงพยาบาลไม่มีกลิ่นเหม็น มีคนไข้น้อย ถนนพระราม 6 มีรถน้อยและตลอดเส้นทางของถนนนี้สวยงามมากเพราะปลูกต้นชมพูพันธ์ทิพ เวลาต้นนี้ออกดอกคนเรียกว่า “ซากุระหน้ารามาธิบดี”

 

คนไข้ที่มาเข้ารับบริการในรามาธิบดี

                           รองศาสตราจารย์สุจินต์ วิจิตรกาญจน์ เล่าว่าช่วงที่โรงพยาบาลเปิดบริการใหม่ ๆ มีจำนวนคนไข้ไม่มากและบุคลากรยังมีไม่ครบทุกตำแหน่ง เนื่องจากคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีได้วางแผนการดำเนินการการเปิดรักษาอย่างดีทั้งแบบ OPD หรือ IPD และสิ่งใหม่ที่ทำให้บริการของคณะฯ รวดเร็วและมีความแตกต่างจากโรงพยาบาลอื่น ๆ คือ มีระบบเวชระเบียนที่เป็นเล่มในรูปแบบแฟ้มสวยงาม แผ่นหน้าเป็นประวัติมีของคนไข้ซึ่งช่วยให้ทราบประวัติของคนไข้อย่างชัดเจนขึ้น คณะฯ เป็นสถาบันแห่งแรกที่ทำเวชระเบียนที่สมบูรณ์แบบเหมือนสากลในประเทศไทย

 

นักศึกษาพยาบาลรามาธิบดีรุ่นแรก

                            เมื่ออาจารย์จบการศึกษาจากประเทศสหรัฐอเมริกา อาคารโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดีเริ่มจะวางรากฐานแต่ยังมีความสูงในระดับหนึ่ง สร้างหอพักไปแล้วบ้างแต่ยังไม่สมบูรณ์ ทีมบริหาร คือ อาจารย์เดือนเพ็ญ ชาติกานนท์ ผู้อำนวยการโรงเรียนพยาบาล พร้อมด้วยอาจารย์จากต่างประเทศที่มูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ส่งมาให้เป็นที่ปรึกษาของฝ่ายการพยาบาลชื่อ Dr. Ruby L. Wilson และคณาจารย์พยาบาลอีกหลาย ๆ ท่าน รวมทั้งปัจจัยที่เหมาะสม เช่น สถานที่ที่เหมาะสม อาจารย์พยาบาลที่มีความรู้สำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศหลายด้าน จึงมุ่งมั่นที่จะทำหลักสูตรให้มีความแข็งแกร่งและมีลักษณะเป็นเอกลักษณ์ของรามาธิบดีโดยตรง เพื่อให้เป็นพยาบาลที่เก่งทั้งทฤษฎีและปฏิบัติโดยไม่ประสงค์ที่จะใช้หลักสูตรสถาบันใด ๆ เพราะคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มีปรัชญา มีความเชื่อมั่น และมีลักษณะที่เป็นพิเศษ มุ่งมั่นที่จะต้องการผลิตและหล่อหลอมนักศึกษาให้เป็นพยาบาลที่มีความสามารถ มีการมองไปถึงทิศทางการศึกษาทางการพยาบาลของประเทศ ความต้องการพยาบาลของสังคมและของผู้ป่วย และความต้องการพยาบาลที่มีความสามารถในด้านต่าง ๆ

 

แนวคิดในการทำงานวิชาชีพพยาบาลเป็นอย่างไร

                           อาจารย์มีความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวคิดของการทำงานวิชาชีพพยาบาลว่า พยาบาลเป็นวิชาชีพที่มีความสำคัญมากต่อประชาชน ผู้เจ็บป่วย ชุมชน และสังคม ถ้าพยาบาลผู้นั้นมีความมุ่งมั่น เข้าใจในวิชาชีพหรือลักษณะวิชาชีพ ก็จะสามารถดูแลคนไข้ได้อย่างปลอดภัย และเป็นที่ประทับใจของคนไข้

                           พยาบาลต้องอยู่ใกล้ชิดคนไข้ตลอด 24 ชั่วโมง ดังนั้นพยาบาลผู้นั้นต้องฝึกฝนตัวเองและหมั่นหาความรู้ในที่สุดก็สามารถทำสิ่งเหล่านี้ได้และจะมีความสุข คือ ช่างสังเกต มีวิจารณญาณ สื่อสารและติดต่อหรือมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีต่อคนไข้เมื่อมองตาคนไข้จะรู้ว่าคนไข้ต้องการอะไรและมีปัญหาอะไร

 

ความภาคภูมิใจในการทำงานและวิกฤตต่างๆ ในช่วงทำงาน

                           อาจารย์เล่าว่า แม้ว่าเกษียณเกือบ 11 ปีแล้วก็ตามแต่ยังรำลึกถึงบรรยากาศเก่า ๆ ที่น่าภาคภูมิใจคือ ในขณะที่ดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าภาควิชาพยาบาลศาสตร์ ในช่วงนั้นมีความสบายใจมาก อาจารย์ยึดหลักว่า ต้องเปิดประตูสำหรับลูกน้องทุกคนที่จะเข้ามาหาและเล่าข้อข้องใจ ถึงแม้จะอยู่ในตำแหน่งบริหารอาจารย์ยังคงไปเยี่ยมตรวจคนไข้และก็ยังได้รับข้อมูลจากคนไข้ที่ได้เล่าถึงความพอใจและไม่พอใจที่มีต่อการปฏิบัติของพยาบาลด้วย

                           อาจารย์ยอมรับว่าที่ผ่านมาพยาบาลของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีมีความสามัคคีกันมาก ไว้วางใจ มีความเชื่อมั่นต่อผู้บริหารเมื่อมีปัญหาสามารถที่จะอธิบาย ข้อจำกัด ข้อดี ข้อด้อย จนแก้ไขได้ในที่สุด เช่น ประมาณ ปี 2528 ในช่วงสมัยที่ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ทวี บุญโชติ เป็นคณบดี มีการปรับเปลี่ยนระบบการบริหารของทางราชการใหม่โดยกำหนดไว้ว่าอาจารย์พยาบาลที่อยู่ในสายอาจารย์จะต้องอยู่ในสายอาจารย์ และเรียกกลุ่มนี้ว่า สาย ก พยาบาลที่ปฏิบัติงานในหอผู้ป่วยในตำแหน่งของนักปฏิบัติจะเรียกกว่าสาย ข ทั้งสาย ก และสาย ข ไม่สามารถจะข้ามสายกันได้ โดยมีเงื่อนไขและข้อจำกัดรวมทั้งสิทธิประโยชน์ที่เสียไปและได้รับ อาจารย์ให้เวลาลูกน้องพิจารณาและวิเคราะห์ตัวเองจนถึงตัดสินใจเลือก ถือว่าเป็นวิกฤตที่เกิดขึ้นกระทันหันแต่ก็สามารถผ่านพ้นไปด้วยดี

 

ฝากข้อคิดให้กับพยาบาลในปัจจุบัน

                            รองศาสตราจารย์สุจินต์ วิจิตรกาญจน์ ฝากข้อคิดว่าเมื่อพยาบาลต้องมีความเปลี่ยนแปลงโดยแยกการบริการและการศึกษานั้น อาจารย์ถือว่าเป็น “ภาวะวิกฤต” แต่เราจะทำเป็น “โอกาส” ที่เราสามารถปรับให้ดีได้ ใครที่เป็นด้านบริการแต่จะอยู่ในส่วนของการบริการอย่างเดียวไม่ได้ต้องมีทฤษฎีและความรู้ใหม่ ๆ ซึ่งจำเป็นจะต้องติดตาม เสริม พัฒนาและสร้างตัวเองให้ดีมากขึ้น ในทำนองเดียวกันในด้านการศึกษานั้นอาจารย์พยาบาลมุ่งในการทำวิชาการที่ได้มาจากทฤษฎีอย่างเดียวไม่ได้ แต่ก็ยังต้องใช้ส่วนประกอบสำคัญคือการดูแลคนไข้เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความก้าวหน้าทางคลินิกให้ตัวเอง

                            ทั้งนี้ทั้งฝ่ายบริการหรือทางฝ่ายการศึกษา ต้องยึดมั่นในปรัชญาของการศึกษาของพยาบาลว่า พยาบาลต้องมีการศึกษาต้องมีการบริการเคียงคู่ไปด้วยกันและวิชาชีพพยาบาลต้องมีเจตคติเพื่อคนไข้และจัดการศึกษาเพื่อนักศึกษาพยาบาล

 

ข้อคิดในการทำงานหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์รามาธิบดี

                            ขอแสดงความชื่นชมที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้เริ่มต้นทำหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์รามาธิบดี จะเป็นสิ่งที่ทำให้อนุชนรุ่นหลัง หรือลูกศิษย์รุ่นหลัง ๆ ได้มาศึกษาประวัติศาสตร์และความเป็นมาของคณะฯ ที่ได้ก่อตั้งมานานแล้ว สามารถจะนำไปใช้เพื่อพัฒนาตนเอง และอาจจะใช้เป็นแนวทางในการที่จะปฏิบัติทั้งในแง่ของการปฏิบัติงานในแง่ของการดำรงชีวิต และครอบครัวด้วย