ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์บุญชู กุลประดิษฐารมณ์

สรุปจาก Oral History ของ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์บุญชู กุลประดิษฐารมณ์

 

การเข้ามาเรียนที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

                            ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์บุญชู กุลประดิษฐารมณ์ นักศึกษาแพทย์รามาธิบดีรุ่นที่ 1 อาจารย์เป็นอดีตหัวหน้าภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา เล่าว่า การเรียนแพทย์เป็นสิ่งที่ยากและเป็นเกียรติอย่างยิ่งเป็นสิ่งที่ครอบครัวภาคภูมิใจเลยมีความตั้งใจอย่างยิ่งที่จะเข้าเรียนแพทย์

                            ช่วงที่มาเรียนยังเป็นมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ไม่ได้ใช้ชื่อมหาวิทยาลัยมหิดล มีสถานที่เรียนเตรียมแพทย์ในคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ (ปัจจุบันเป็นคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ตรงข้ามโรงเรียนอำนวยศิลป์)

                            คณะฯ เป็นคณะแพทย์ ลำดับที่ 4 ของประเทศไทย มูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ ให้ความช่วยเหลือด้านทุนและจัดหาอาจารย์ชาวต่างประเทศมาสอน ดังนั้นนักศึกษาเรียนเตรียมแพทย์ 2 ปี จากนั้นต้องเรียนกับอาจารย์ชาวต่างประเทศในช่วงปรีคลินิก 2 ปี จะได้ปริญญาตรี และเรียนต่อทางคลินิกที่โรงพยาบาลรามาธิบดี

                            ช่วงปีแรก ๆ ของการเรียนมีความลำบากมากเพราะเรียนภาษาอังกฤษล้วน ๆ แต่ชีวิตประจำวันพูดภาษาไทยทำให้การเข้าใจภาษาอังกฤษช้าลง จึงต้องใช้เครื่องบันทึกเสียงและไปฟังซ้ำในช่วงเย็น

                            ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์บุญชู กุลประดิษฐารมณ์ ประทับใจที่อาจารย์ผู้สอนเข้าใจนักศึกษามาก เล่นกีฬาใกล้ชิดกัน ร่วมสนุกสนานในงานรื่นเริงต่าง วันคริสต์มาส และงานปีใหม่ ซึ่งจัดที่บ้านอาจารย์และให้นักศึกษาไปร่วมงานเสมอ

                            นักศึกษาแพทย์รามาธิบดีรุ่นที่ 1 มีจำนวน 64 คน ทุกคนมีความกระตือรือร้นที่จะเรียนแพทย์ในคณะฯ เพราะเหตุผลที่ข้อที่หนึ่ง คือ ได้เรียนกับอาจารย์ชาวต่างประเทศ ใช้ตำราเรียนเป็นภาษาอังกฤษล้วน ๆ (ต้องเช่าโดยจ่ายให้คณะฯ 20 เปอร์เซ็นต์ของราคาหนังสือ) ข้อที่สอง ได้ปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิต (วทบ.) ซึ่งที่อื่นไม่มีเหมือนคณะฯ

 

การฝึกประสบการณ์กับผู้ป่วย

                           ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์บุญชู กุลประดิษฐารมณ์ เล่าว่าในช่วงแรกยังไม่มีคนไข้ให้ศึกษา จึงต้องไปเรียนตามที่ต่างๆ เช่น เรียนทำคลอดที่โรงพยาบาลราชวิถีและโรงพยาบาลวชิรพยาบาล ศึกษากับคนไข้เด็กจากสถานสงเคราะห์เด็กพญาไท เรียนวิชากุมารเวชศาสตร์ที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าและโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เป็นต้น

                           ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์บุญชู กุลประดิษฐารมณ์ มีความประทับใจอาจารย์ที่สอน อาจารย์ทุกท่านอยู่ในวัยแข็งแรงมีความรู้ทันสมัยมาก ส่วนใหญ่เรียนจบจากต่างประเทศให้ความใกล้ชิดลูกศิษย์มาก จำชื่อลูกศิษย์ได้หมด

 

บรรยากาศในการก่อสร้างคณะฯ

                           ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์บุญชู กุลประดิษฐารมณ์ เล่าว่า บริเวณพื้นที่ก่อสร้างคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีเดิมเป็นสลัม เป็นที่ทิ้งขยะ และปรับเป็นสนามเสาวนีย์เนื่องจากอยู่ใกล้พระราชวังจิตรลดา ขณะที่เรียนนั้นนักศึกษาแพทย์รุ่นที่ 1 ได้เห็นบรรยากาศการสร้างคณะฯ มาตลอด

                            อาจารย์คิดถึงอาจารย์ผู้ล่วงลับไปแล้วซึ่งเป็นทั้งที่รักและที่เกรงใจของลูกศิษย์ เพราะทุกท่านเป็นคนเข้มแข็งและเข้มงวดในการรักษาและทางวิชาการได้ปลูกฝังสิ่งที่ดีๆ ไว้ให้ลูกศิษย์ตลอดมา ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์บุญชู กุลประดิษฐารมณ์ ไม่เคยลืมเลือนถึงแม้เวลาจะผ่านมานาน

 

การเป็นแพทย์ฝึกหัด (แพทย์ใช้ทุน)

                           ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์บุญชู กุลประดิษฐารมณ์ เล่าว่าเป็นนักศึกษาแพทย์รุ่นแรกของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีซึ่งทางรัฐบาลเริ่มบังคับให้ใช้ทุน แต่ถ้าไม่ต้องการใช้ทุนนักศึกษาต้องจ่ายค่าเล่าเรียน ปีละ 10,000 บาท คณบดีคณะบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ขอร้องให้ทุกคนรับใช้ชาติด้วยการรับทุน อาจารย์จึงรับทุนและใช้ทุนที่โรงพยาบาลตำรวจ เป็นเวลา 2 ปี คณะฯได้เปิดหลักสูตรฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้าน หู คอ จมูก ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. 2510 มีรองศาสตราจารย์ นายแพทย์ประพจน์ คล่องสู้ศึกและอาจารย์เอื้อชาติ กาญจนพิทักษ์ ได้ฝึกอบรมหลักสูตรนี้เป็นรุ่นแรก หลังจากนั้น 5 รุ่นศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์บุญชู กุลประดิษฐารมณ์ก็ได้เข้าฝึกอบรมหลักสูตรนี้เช่นกัน

 

การเลือกเรียนสาขาวิชา หู คอ จมูก

                            ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์บุญชู กุลประดิษฐารมณ์ กล่าวว่าที่เลือกเรียน หู คอ จมูก เพราะประทับใจในอาจารย์จีระ ศิริโพธิ์ ผู้ก่อตั้งภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยาและบุกเบิกการผ่าตัดด้วยกล้องจุลทรรศน์ อาจารย์มีความรู้และสอนได้ดีมาก เช่นเดียวกับ อาจารย์หลาย ๆ เช่น ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์สิระ บุณยะรัตเวช และอาจารย์ภาควิชาอื่น ๆ

                            ใน พ.ศ. 2520 ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์บุญชู กุลประดิษฐารมณ์ได้มีโอกาสไปบุกเบิกงานที่แผนก หู คอ จมูก โรงพยาบาลวชิรพยาบาลเป็นเวลา 3 ปี แต่ได้กลับมาคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีเพื่อช่วยรองศาสตราจารย์ นายแพทย์ประพจน์ คล่องสู้ศึก ตั้งภาควิชาฯ พร้อมด้วยศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล หลังจากนั้นอาจารย์ไปฝึกอบรมที่เมืองบอสตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อศึกษาเรื่องเลเซอร์ที่ใช้การรักษามะเร็ง หู คอ จมูก แล้วนำวิทยาการนั้นกลับมาบุกเบิกที่คณะฯ จนเป็นต้นแบบ ใน พ.ศ. 2528 และตีพิมพ์ผลงานครั้งแรก ใน พ.ศ. 2529 และปีต่อๆ หลังจากนั้นอาจารย์ได้ต่อยอดเรื่องเลเซอร์ (เพราะถูกสอนจากอาจารย์ในสมัยแรกๆ ว่าไม่ใช่เพียงแต่มีความรู้/ปฏิบัติได้ แต่ต้องมีความคิดพัฒนาต่อยอดเพื่อที่จะศึกษาให้ลึกซึ้งไปกว่าเดิม) เป็น Photodynamic Therapy ใช้รักษามะเร็ง หู คอ จมูก ตั้งแต่ พ.ศ. 2538 - 2539 นับเป็นแห่งแรกในเอเชีย

 

การเรียนการสอนในยุคแรก

                            ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์บุญชู กุลประดิษฐารมณ์ เล่าว่าบรรยากาศการเรียนการสอนในอดีตต่างจากปัจจุบันมาก เพราะอาจารย์กับลูกศิษย์มีเวลานั่งคุยและรับประทานอาหารด้วยกัน ในการสอนนั้นมีสัดส่วนจำนวนอาจารย์ 2 ท่านต่อนักศึกษา 1 คน และ เวลาจัดกลุ่มเรียนใน 1 กลุ่มจะมีนักศึกษาประมาณ 8-12 คนเท่านั้น นักศึกษาแพทย์ชั้นปี 5 และปี 6 มีประมาณ 120 คน เท่านั้น อาจารย์ทั้งภาควิชาได้ช่วยกันสอนรวมทั้งแพทย์ประจำบ้านบ้าน และ Fellow ด้วย พวกเรามีความสุขและสนิทสนมกันมาก กล้าพูด กล้าทำ กล้าถกเถียงแบบเชิงวิชาการ นักศึกษาแพทย์รุ่นในระยะนั้นได้ซึมซับบรรยากาศนี้ติดตัวจนเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของนักศึกษาแพทย์คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีว่าหัวแข็ง (เถียงในวิชาการแต่ไม่หัวดื้อ มีเหตุผลด้วยความอ่อนน้อมและเคารพอาจารย์) ติดนิสัยการอ่านหนังสือมาตั้งแต่สมัยปรีคลินิก ทำให้ชอบค้นคว้า ชอบอ่านหนังสือและอ่านได้เร็ว

                            ปัจจุบันคณะฯ มีงานบริการมากไปและจำนวนนักศึกษามาก ทำให้มีความกระตือรือร้นน้อยลง สัดส่วนจำนวนคนไข้ 1 คนต่อนักศึกษา 2-3 คน และใช้ Resources เป็นคนไข้ที่มีอาการโรคเกินกว่านักศึกษาที่จะเรียน เพราะเป็น Tertiary Care

 

มูลเหตุการณ์ไปทำงานที่ต่างประเทศ

                            การที่บัณฑิตแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีรุ่นแรก ไปต่างประเทศจำนวน 50 คนจากจำนวนนักศึกษา 64 คนนั้น ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์บุญชู กุลประดิษฐารมณ์ ให้เหตุผลว่า เนื่องจากการอยากเห็นโลกภายนอกเพราะแรงบันดาลใจจากการเรียนเป็นภาษาอังกฤษในช่วงเรียนปรีคลินิก และช่วงที่เรียนคลินิกมีการอภิปรายกันในห้องประชุม ได้ใช้วิชาความรู้ใหม่ๆ เหตุผลอีกประการหนึ่งคือ นักศึกษาแพทย์ทั้ง 64 คนสอบผ่าน ECFMG จึงมีคุณสมบัติตามที่กำหนดให้ไปต่างประเทศได้อย่างสะดวก

 

ข้อเสนอแนะในการปรับปรุงหลักสูตรของนักศึกษาแพทย์

                            ข้อเสนอแนะในการปรับปรุงหลักสูตรของนักศึกษาแพทย์นั้น ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์บุญชู กุลประดิษฐารมณ์ ให้ความเห็นว่า ในกรณีที่ต้องการให้มีบรรยากาศการเรียนเช่นสมัยแรกๆ และสามารถผลิตลักษณะของบัณฑิตแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีที่ดูเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวเหมือนบัณฑิตยุคแรกๆ โดยมีการสอบแบบ ECFMG เป็นตัวกระตุ้นนั้นก็น่าจะดูดี แต่พื้นฐานภาษาอังกฤษของนักศึกษาต้องดี นอกจากนั้นศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์บุญชู กุลประดิษฐารมณ์ เสนอแนะให้สอนให้นักศึกษาคิดเป็น มีความกระตือรือร้นที่จะศึกษาด้วยตนเอง ค้นคว้าเพิ่มจากแหล่งข้อมูลที่หาได้ง่ายและรวดเร็วอยู่แล้วในยุคนี้ และนำข้อมูลมาอภิปรายกันในห้องเรียนนักศึกษาต้องอย่าหยุดที่ตำราและอาจารย์ผู้สอน

 

แนวคิดในการดำเนินงานหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์รามาธิบดี

                            ในส่วนของหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์รามาธิบดีนั้น ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์บุญชู กุลประดิษฐารมณ์ มีแนวคิดว่า ควรเก็บรักษาเครื่องมือที่เป็นเครื่องมือบุกเบิกของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี โดยเฉพาะด้านรักษาผ่าตัด หรือทางวิชาการต่างๆ เพราะจะไม่มีอีกแล้ว เช่น เครื่องเลเซอร์เครื่องแรก เป็นต้น หอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์อื่นๆ ในต่างประเทศ ยังเก็บวัตถุพิพิธภัณฑ์ทางการแพทย์ อายุ 100 – 200 ปี ได้ ส่วนคณะฯ มีประวัติศาสตร์ 40 กว่าปีเท่านั้น ก็ควรจะเก็บวัตถุพิพิธภัณฑ์ทางการแพทย์ไว้เพื่อทำให้เกิดความรักและความผูกพันในสถาบันต่อไป