ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์บุญชอบ พงษ์พาณิชย์

สรุปจาก Oral History ของ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์บุญชอบ พงษ์พาณิชย์

 

แรงบันดาลใจในการเข้ามาทำงาน ปัญหาและอุปสรรค

                            ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์บุญชอบ พงษ์พาณิชย์ อดีต คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี พ.ศ. 2538 – พ.ศ. 2541 จบการศึกษาจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เมื่อ พ.ศ. 2504 เป็น Intern รุ่นแรก และเป็นแพทย์ประจำบ้านต่อ แต่เป็นแพทย์ประจำบ้านปีที่ 2 ไม่กี่เดือนได้รับทุนการศึกษาจาก British Council ศึกษาต่อที่ ประเทศสหราชอาณาจักร และได้สมัครเป็นแพทย์ประจำบ้านสาขากุมารเวชศาสตร์ ที่ The Hospital for Sick Children เมืองโตรอนโต ประเทศแคนาดา เป็นเวลา 2 ปี เรียนเพิ่มเติมวิชาที่ชอบอีก 2 ปี ในด้านวิชาโรคหัวใจเด็ก เป็น Fellow ทางด้านนี้ที่ Mayo Clinic จนได้รับ American Board of Pediatrics พ.ศ. 2511

                            อาจารย์ได้รับการชักชวนให้สอนที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี จากศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง ม.ร.ว.จันทรนิวัทธ์ เกษมสันต์ ดังนั้นหลังจากที่เรียนจบใน พ.ศ. 2511 ได้กลับประเทศไทยและมาสมัครเป็นอาจารย์ของภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะฯ ซึ่งช่วงนั้นมีเจ้าหน้าที่เพียง 1 คน และอาจารย์ 4 - 5 ท่าน เท่านั้น ในช่วงที่โรงพยาบาลรามาธิบดียังไม่เปิดนั้นนอกจากศึกษาแพทย์จะเรียนที่คณะวิทยาศาสตร์แล้วอาจารย์ยังต้องพานักศึกษาแพทย์ไปเรียนที่โรงพยาบาล 3 แห่ง คือ โรงพยาบาลพระมงกฏเกล้า โรงพยาบาลศิริราช และโรงพยาบาลจุฬา เพราะโรงพยาบาลรามาธิบดียังไม่มีคนไข้พอที่จะให้นักศึกษาแพทย์เรียน โดยอาจารย์ใดเป็นศิษย์เก่าของสถาบันใดก็จะพาไปเรียนที่โรงพยาบาลนั้น

                            ช่วงแรกๆ คณะฯ มี 7 ภาควิชา จำนวนอาจารย์ - นักศึกษาแพทย์ยังมีน้อย อาจารย์ใหม่ต้องทำหน้าที่เป็นซีเนียร์(แพทย์ประจำบ้าน)ด้วย นักศึกษาแพทย์รุ่นแรกๆ คือรุ่น 1 - 4 จะใกล้ชิดกับอาจารย์มาก ทำงานมีความสุขมากเพราะได้ใกล้ชิดกัน รวมทั้งคนไข้น้อยทำให้ได้มีโอกาสดูแลรักษาอย่างใกล้ชิดคนไข้

                            ในช่วงที่เปิดบริการใหม่ๆ คนยังไม่รู้จักคณะฯ แต่ก็มีชื่อเสียงอย่างรวดเร็ว จริงแล้วคณะฯ มีชื่อเสียงก่อนที่จะเปิดบริการเพราะข่าวที่แพร่ออกไปว่ามีอาจารย์แพทย์เก่ง ๆ จากคณะแพทย์เก่า ๆที่มีชื่อเสียง มาอยู่รวมกันมากมาย ยิ่งแผนกสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยานั้นมีคนไข้มารักษาแน่นมาก ถึงกับมีสโลแกนแสดงถึงความมีชื่อเสียงว่า ถ้าจะคลอดต้องมารักษาที่รามาฯ ถ้าจะตายก็ต้องไปเผาวัดธาตุทอง ถ้าจัดงานแต่งงานต้องโรงแรมดุสิตธานี

 

การเปลี่ยนแปลงของนักศึกษาแพทย์กับอาจารย์แพทย์

                           ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์บุญชอบ พงษ์พาณิชย์ เล่าถึงความเปลี่ยนแปลงว่า ต่อมาชื่อเสียงของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีมีเพิ่มขึ้น มีจำนวนคนไข้มารักษาเพิ่มขึ้น งานเพิ่มขึ้น นักศึกษาเพิ่มขึ้น อาจารย์กับนักศึกษาแพทย์เริ่มห่างเหินกันไม่สนิทเหมือนกับรุ่นแรก ๆ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์อารี วัลยะเสวี ได้วางแผนไว้ว่าโรงพยาบาลรามาธิบดีมีเตียงแค่ประมาณ 700 เตียง จะไม่มีการเพิ่มจำนวนเตียง ถ้ามีการเพิ่มจำนวนเตียงต้องสร้างโรงพยาบาลเพิ่มใหม่ในที่อื่น การเพิ่มจำนวนเตียงในที่เดิมจะมีปัญหาตามมาคือ เรื่องการประสานงาน ต้องเพิ่มสถานที่ เพิ่มห้องประชุม เพิ่มสำนักงาน และเพิ่มบุคลากร ในที่สุดคณะฯ จะมีความแออัด

 

การบริหารงานในตำแหน่งหัวหน้าภาควิชากุมารเวชศาสตร์

                           ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์บุญชอบ พงษ์พาณิชย์ ได้กล่าวถึงผลงานและความภูมิใจว่า

                            1. อาจารย์ได้เขียนตำราให้นักศึกษาแพทย์ ในช่วงที่มาเป็นอาจารย์ที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดียังไม่ถึง 10 ปี ได้คำนึงถึงความสะดวกที่จะช่วยให้นักศึกษาแพทย์มีตำรา ไม่เป็นเอกสาร(Sheet) ที่มีการปรับพิมพ์บ่อยๆ เหมือนสมัยก่อน จึงเริ่มทำตำรากุมารเวชศาสตร์ 1 ชุด (รวม 4 เล่ม) พบว่ามีการตีพิมพ์หลายครั้งมากจนได้รางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล สาขาการแต่งตำรา ในเรื่องรางวัลและตำแหน่งวิชาการนั้นอาจารย์ไม่เคยมุ่งหวังมาก่อนเพราะมุ่งที่ทำประโยชน์ให้นักศึกษาแพทย์เท่านั้น และรู้สึกภูมิใจที่มีผู้อ่านตำราที่อาจารย์แต่งทั้งๆ ที่ไม่ใช่แพทย์ และมีตำราเหล่านั้นในห้องสมุดโรงพยาบาลตามต่างจังหวัดทั่วประเทศด้วย

                            2. ในช่วงที่อาจารย์เป็นหัวหน้าภาควิชากุมารเวชศาสตร์ นับได้ว่าภาควิชานี้มีอาจารย์ในตำแหน่งศาสตราจารย์มากกว่า 10 คน นับว่าเป็นจำนวนมากที่สุดในประเทศไทย

                            3. อาจารย์ของภาควิชาฯ ได้ผลิตงานวิจัยที่มีคุณภาพ ซึ่งในช่วงนั้นมีไข้เลือดออกระบาดจึงมีการวิจัยด้านไข้เลือดออกมาก มีผลงานวิจัยดี ๆ ซึ่งได้รับอ้างอิงใน Harrison’s Textbook และ มีการทำวิจัยร่วมกันเป็นสหสาขาทำให้มีผลงานออกมาหลายเรื่อง

 

การทำคลินิกนอกเวลา

                           ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์บุญชอบ พงษ์พาณิชย์ เล่าว่าในช่วงที่โรงพยาบาลรามาธิบดีเปิดใหม่ ๆ เคยมีการเสนอเรื่องคลินิกนอกเวลาแต่สิ่งแวดล้อมยังไม่อำนวย ช่วงที่อาจารย์เป็นหัวหน้าภาควิชากุมารเวชศาสตร์ได้มีการจัดทำคลินิกนอกเวลาแต่จัดทำเฉพาะ 2 ภาควิชาคือ ภาควิชาจักษุวิทยา และภาควิชากุมารเวชศาสตร์ จนเป็นต้นแบบของโรงพยาบาลอื่นๆ (ต่อมาคณะฯ รับไปบริหารจัดการ ในช่วงคณบดี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ)

                           การจัดทำคลินิกนอกเวลานั้น อาจารย์ให้เหตุผล ดังนี้ 1. เพื่อเป็นสวัสดิการอาจารย์รวมถึงบุคลากรที่ไม่ใช่แพทย์ เป็นการแบ่งเบาด้านค่าครองชีพ เพราะอาจมีอุปสรรคที่จะเดินทางไปปฏิบัติงานพิเศษที่โรงพยาบาลอื่น 2. คนไข้ได้ตรวจกับอาจารย์ พ่อแม่ไม่ต้องลางาน และค่าใช้จ่ายราคาไม่แตกต่างจากโรงพยาบาลเอกชน ส่วนข้าราชการสามารถเบิกค่ารักษาได้ และ 3. ในช่วงเย็นยังมีพื้นที่ว่างที่จะดำเนินการ

                           คนไข้นอกเวลาราชการเริ่มมีจำนวนมากทำให้พื้นที่แออัด มีผลให้บริการมีคุณภาพลดลง อย่างไรก็ตามได้ประโยชน์ส่วนหนึ่งมาถึงปัจจุบัน

 

การบริหารงานในตำแหน่งคณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

                            ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์บุญชอบ พงษ์พาณิชย์ ดำรงตำแหน่งคณบดี (พ.ศ. 2538 – พ.ศ 2541) เป็นเป็นช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำ คือ วิกฤตการภาวะต้มยำกุ้ง 2540 แต่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีได้บริหารมาอย่างดีไม่ค่อยเกิดปัญหาในด้านการเงิน มีค่าใช้จ่ายเรื่องก่อสร้างบ้าง ถึงอย่างนั้นคณะฯ ยังมีเงินเก็บสะสมถึง 200 ล้านบาท อาจารย์ได้มุ่งหวังที่จะนำเงินมาพัฒนาบุคลากรและอาคารสถานที่ เช่น โครงการอาจารย์เต็มเวลา และโครงการสวัสดิการ Nursery มีรายละเอียดดังนี้

                            โครงการอาจารย์เต็มเวลา เป็นโครงการที่ต้องการลดปัญหาที่อาจารย์ต้องออกไปปฏิบัติงานนอกคณะฯ เพื่อหารายได้ ทำให้ไม่มีผลงานวิชาการห่างไกลลูกศิษย์ซึ่งนับวันก็จะมีจำนวนเพิ่มขึ้น โครงการฯ นี้มีคณะกรรมการคัดเลือกโดยกำหนดให้ค่าตอบแทนอาจารย์เพิ่มเดือนละ 50,000.00 บาท ได้คัดเลือกได้ 9 คน ต่อมาได้มีการปรับปรุงแนวทางของโครงการให้เหมาะสมกับยุคสมัยจนถึงปัจจุบัน

                            โครงการสวัสดิการ Nursery เป็นโครงการที่ต้องการแก้ปัญหาที่พยาบาลที่แต่งงานและมีลูกมักจะลาออกทั้งๆ ที่มีความชำนาญแล้ว สวัสดิการนี้ดูแลทั้งลูกแพทย์พยาบาลและบุคลากรอื่นๆ ของคณะฯ โดยสามารถให้นมแม่ที่ Nursery ได้ รวมทั้งใช้เป็นที่เรียนพัฒนาการเด็กได้ แม่ไปเยี่ยมลูกได้ตลอดวัน โครงการนี้ตั้งอยู่ที่หอพักพยาบาล 5 ต่อมาย้ายไปที่อาคารสวัสดิการและวิจัยจนถึงปัจจุบัน

 

การบริหารจัดการเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยและแนวความคิดในการก่อสร้างอาคารสมเด็จพระเทพรัตน์

                            ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์บุญชอบ พงษ์พาณิชย์ เป็นผู้ริเริ่มและวางแผนการก่อสร้างอาคารสมเด็จพระเทพรัตน์ ได้ให้ข้อมูลที่ผลักดันให้จัดสร้างอาคารฯ ในด้านการบริหารจัดการด้านบริการว่า โรงพยาบาลรามาธิบดีมีปัญหาสำคัญมากในด้านความแออัดของคนไข้ ดังนั้นควรพัฒนา Ambulatory Care รวมในที่เดียวกันประกอบด้วยคลินิกต่างๆ อาจรวมถึงเวชศาสตร์ทั่วไป มี Day Care Surgery และสามารถทำเป็นเอกชนในบางส่วนได้เพราะมีระเบียบราชการรองรับ

                            อาจารย์จึงมีแนวคิดที่จะสร้างอาคารฯ มีความสูงประมาณ 9 ชั้น สร้างบริเวณพื้นที่ว่างด้านหน้าอาคารหลักและทางเดินเชื่อมกันกับอาคารหลักเพื่อการใช้พื้นที่ร่วมกัน มีจำนวนพื้นที่ใช้สอยประมาณสองหมื่นกว่าตารางเมตร จัดบริการเป็น Ambulatory Care กำหนดให้พื้นที่ของ 2 -3 ชั้นเป็นคลินิก รวมทั้งมีส่วนธุรการ มีห้องประชุม มีห้องตรวจและห้องน้ำจำนวนมากและทันสมัยในรูปแบบเอกชน เมื่อคณะฯ เห็นชอบแล้วจึงมีการขออนุมัติจากมติคณะรัฐมนตรี และได้ขอพระราชทานนามจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีได้รับพระราชทานนามอาคารว่า “อาคารสมเด็จพระเทพรัตน์” ในเบื้องต้นได้รับอนุเคราะห์เงินบริจาคจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล จำนวน 400 ล้านบาท โดยจัดทำเป็นสลากการกุศล (มีตราประจำคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีบนสลากการกุศลครั้งนี้) ซึ่งมีศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์อนุวัฒน์ ลิ้มสุวรรณ ช่วยประสานงานกับสำนักงานสลากฯ มาตลอด งบประมาณนี้จะเพียงพอสำหรับการก่อสร้างและวางแผนที่จะหาทุนในด้านการตกแต่งภายหลัง หลังจากนั้นมีการออกแบบเป็นแบบจำลองตามแบบที่ต้องการแต่ยังไม่ได้ดำเนินการก่อสร้าง (ในสมัยคณบดีท่านต่อๆ มามีนโยบายการดำเนินการสร้างอาคารสมเด็จพระเทพรัตน์ต่อ แต่มีปัจจัยที่เกี่ยวข้องทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ก่อสร้างจากบริเวณด้านหน้าอาคารหลักเป็นพื้นที่บริเวณสี่แยกตึกชัยซึ่งมีบริเวณกว้างขวางกว่า) สำหรับพื้นที่เดิมได้เปลี่ยนมาเป็นการสร้างอาคารเวชศาสตร์ฉุกเฉินและปัจจุบันพยาบาลแทน

 

การทำงานหลังเกษียณราชการ

                            หลังเกษียณอายุราชการศาสตราจารย์ นายแพทย์บุญชอบ พงษ์พาณิชย์ได้ทำโครงการทางด้านสังคม 3 โครงการ ดังนี้

                            โครงการที่ 1 คือ ขยายความอนุเคราะห์ของมูลนิธิเด็กโรคหัวใจสู่ภูมิภาค อาจารย์เป็นประธานมูลนิธิโรคหัวใจคนแรกที่นำทีมแพทย์ที่เกี่ยวข้องไปตรวจเด็กที่มีปัญหาโรคหัวใจในต่างจังหวัด จังหวัดแรกคือจังหวัดยโสธรโดยตรวจให้ไม่คิดมูลค่าและใช้โครงการ 30 บาทร่วมด้วย อาจารย์ได้ไปตรวจต่างจังหวัดทุกปีช่วงหลังไปปีละหลายครั้ง

                            โครงการที่ 2 คือ สอนตรวจดูสภาพหัวใจให้พยาบาลวิชาชีพและพนักงานอนามัย พยาบาลวิชาชีพและพนักงานอนามัยซึ่งปฏิบัติงานในสถานีอนามัยต้องดูแลประชาชนประมาณหมื่นกว่าคนทั้งๆ ที่ไม่มีแพทย์อนามัย เด็กเกิดที่โรงพยาบาลล้วนแต่ต้องมาฉีดวัคซีนที่สถานีอนามัยทั้งนั้น โครงการนี้จะสอนและฝึกฟังเสียงหัวใจ หลังจากนั้นจะไปคัดกรองนักเรียนระดับชั้นประถม 1 – 6 เพื่อตรวจดูสภาพหัวใจ เมื่อพบอาการจะรีบส่งไปรักษาพยาบาลทันที (40 เปอร์เซ็นต์ได้พบอาการจากโครงการนี้) อาจารย์วางแผนจะให้จัดทำโครงการนี้ทั่วประเทศ ได้จัดทำไปหลายจังหวัดแล้วและได้ผลดีโดยได้เงินทุนสนับสนุนอย่างดีทุกปีจากกองทุนสมเด็จย่า และกองทุนกรมหลวงสงขลานครินทร์

                            โครงการที่ 3 คือ โครงการสองหมื่นบาทต่อชีวิตเด็ก โดยให้บริการผ่าตัดหัวใจเด็กนอกเวลา เนื่องจากมีคนไข้จำนวนมากขึ้น แต่ Facility ของโรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชนรองรับไม่พอเพียง พบสถิติว่า 25 เปอร์เซ็นต์ของเด็กที่มีปัญหาโรคหัวใจถ้าไม่รีบผ่าตัดจะตายตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 1 ขวบ ดังนั้นต้องรีบผ่าตัดโดยอาจารย์เสนอให้ผ่าตัดนอกเวลาและหาเงิน สองหมื่นบาทมาสนับสนุนการผ่าตัดนอกเวลาพบว่ามีโรงพยาบาลร่วมด้วยถึง 20 กว่าแห่ง โครงการนี้เป็นที่ทราบกันทั่วโดยมูลนิธิฯ ไม่ต้องประชาสัมพันธ์เลย

                            หลังเกษียณอายุราชการศาสตราจารย์ นายแพทย์บุญชอบ พงษ์พาณิชย์ได้ทำโครงการทางด้านสังคม 3 โครงการ ดังนี้

                            นอกจากนั้นอาจารย์ได้มีส่วนในการเสนอแนวคิดการพัฒนาด้านแพทยศาสตรศึกษา 2 เรื่อง ดังนี้

                            1.การจัดกลุ่มนักศึกษาในจำนวนที่เหมาะสม ซึ่งจะช่วยให้ประเมินนักศึกษาแพทย์ได้ เนื่องจากจำนวนอาจารย์แพทย์ไม่พอและโรงเรียนแพทย์แต่ละแห่งมีคนไข้มาก นักศึกษาแพทย์มากทำให้ประเมินลำบาก ในช่วงที่เป็นหัวหน้าภาควิชากุมารเวชศาสตร์ ได้เสนอว่าให้นักศึกษาแพทย์มาเรียนครั้งละ 20 คน และการจัดกลุ่มแบบนี้จะช่วยประเมินอาจารย์ได้ ถ้านักศึกษาแพทย์สอบตกหมดต้องปรับปรุงอาจารย์ที่สอน แต่ภาควิชาไม่รับแนวคิดนี้

                            2. การจัดการเรียนการสอนร่วมกับเอกชน โดยจากประสบการณ์ที่อาจารย์เคยอยู่ต่างประเทศได้เห็นความร่วมมือกันระหว่างเอกชนและรัฐ ในประเทศไทยเคยทดลองทำที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ร่วมกับมหาวิทยาลัยนเรศวรมีสอนทางไกลทุกอย่างเป็นไปด้วยดี นักศึกษาแพทย์ได้ประโยชน์แต่แพทยสภาต้องร่วมด้วยซึ่งโรงพยาบาลเอกชนสนใจที่จะร่วมมือในลักษณะการจัดการเรียนการสอนแบบนี้

 

ข้อเสนอแนะในการทำงาน

                            ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์บุญชอบ พงษ์พาณิชย์ มีข้อคิดเห็นและข้อแนะนำในการทำงานว่า

                            1. เห็นด้วยกับแนวความคิดของผู้ก่อตั้งคณะฯ คือการไม่ต้องทำให้คณะฯ ใหญ่เกินไป ขอให้เน้นประสิทธิภาพแต่ถ้าจะทำให้ใหญ่ก็ควรแยกไปสร้างเพิ่ม และมีการบริหารจัดการแยกกัน

                            2. ให้ความสำคัญกับ Basic Doctor เพราะมีความรู้สึกว่าการรักษาในคณะฯ เริ่มมีการใช้เทคโนโลยีมากไปทำให้ไม่ค่อยได้ใช้ Medical Judgment ในฐานะเจ้าของไข้