You are here

เภสัชกรหญิงสุขสงบ บัวสรวง

สรุปจาก Oral History ของ เภสัชกรหญิงสุขสงบ บัวสรวง

 

แรงบันดาลใจที่ท่านเข้าทำงาน

                            เภสัชกรหญิงสุขสงบ บัวสรวง จบการศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อ พ.ศ. 2490 และได้เข้าทำงานที่หน่วยเภสัชกรรม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล แรงบันดาลใจที่ท่านเข้าทำงานที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ตั้งแต่ พ.ศ. 2512 คือคณะฯ เป็นคณะแพทย์เปิดใหม่จึงต้องการมาสร้างสรรค์งานใหม่ และได้รับทราบว่ามีบุคลากรของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลย้ายมาทำงานที่คณะฯ หลายท่านจึงตามกันมา หน่วยเภสัชกรรม ตั้งอยู่ชั้น 1 ด้านตะวันออกเฉียงเหนือของอาคาร 1

 

มีการบริหารงานอย่างไร

                           เภสัชกรหญิงสุขสงบ บัวสรวง เล่าว่าทำงานที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เป็นเวลานานถึง 20 ปี การบริหารหน่วยเภสัชกรรมจึงยึดต้นแบบการบริหารงานจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล คือ มีแผนกจ่ายยาผู้ป่วยนอก แผนกจ่ายยาผู้ป่วยใน แผนกคลังเวชภัณฑ์ และแผนกปรุงยา มีเภสัชกรทำงานในระยะแรกจำนวน 5 คน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่

 

การให้บริการ

                           ในระยะแรกของการเปิดบริการ เภสัชกรหญิงสุขสงบ บัวสรวง เล่าว่าจ่ายยาให้คนไข้วันละ 50 คน เท่านั้น มีการผสมยาเองโดยนำสูตรยามาจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล การส่งยาไปตามวอร์ดสะดวกและรวดเร็วดีเพราะโรงพยาบาลรารามาธิบดีเป็นอาคารเดียว

 

กิจกรรม/ผลงานที่ภาคภูมิใจ

                           งานที่ภูมิใจคือการผลักดันวิชาชีพเภสัชกรรม โดย เภสัชกรหญิงสุขสงบ บัวสรวง ช่วยก่อตั้งสมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย) ได้ดำรงตำแหน่งเป็นนายกสมาคมคนแรก และในการประชุม Federation of Asian Pharmaceutical Associations (FAPA) มีบางปีที่ผู้เข้าประชุมได้มาศึกษาดูงานที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

 

ปัญหาและอุปสรรค

                           ในกรณีที่พบปัญหาและอุปสรรค เภสัชกรหญิงสุขสงบ บัวสรวง เล่าว่าผู้บริหารจะช่วยแก้ปัญหาให้ เช่น การป้องกันขโมย การจัดการบริการเพื่อรองรับคนไข้ที่จำนวนมากขึ้น การดำเนินการการปลอมลายเซ็นแพทย์ รวมถึงการกำจัดขวดยาที่เลิกใช้แล้ว

 

แง่คิดในการทำงาน

                           คุณสุขสงบฝากแง่คิดในการทำงานว่าต้องซื่อสัตย์สุจริต รักษาวิชาชีพด้านเภสัชกรรมไว้ให้มีเกียรติตลอดไป มุ่งมั่นให้เกิดความเจริญก้าวหน้าขึ้นและใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม ควรมีสถานที่ที่เหมาะสมสามารถรองรับงานด้านเภสัชกรรมของคณะฯ เพราะมีคนไข้เพิ่มมากขึ้น

 

ข้อมูลนี้เป็นลิขสิทธิ์ของหน่วยหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์รามาธิบดี 

 

 
270 โรงพยาบาลรามาธิบดี ถนนพระรามที่ 6 แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
โทรศัพท์: 0-2201-0562, 0-2201-0564 โทรสาร: 0-2354-7268 อีเมล: ramamuseum@gmail.com