![]() |
สรุปจาก Oral History ของ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน |
จุดกำเนิดโครงการรามา-บางพลี
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน เล่าว่า พื้นที่ของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ที่ตั้งอยู่ถนนพระราม 6 ไม่เพียงพอต่อการบริการและการศึกษา แม้ว่าเปิดบริการอาคารสมเด็จพระเทพรัตน์ ใน ปี 2553 แล้วก็ตาม นอกจากนั้นอาการของผู้ป่วยยากต่อการเรียนรู้ของนักศึกษาแพทย์และนักศึกษาพยาบาล ซึ่งจะต้องไปทำงานในระดับปฐมภูมิมากว่าตติยภูมิ ในขณะเดียวกัน คณะฯมีหลักสูตรแพทย์ประจำบ้าน หลักสูตรแพทย์ผู้ช่วยอาจารย์จำนวนมากถึง 32 หลักสูตร รวมทั้งมีแพทย์ที่มารับการศึกษาต่อหลังปริญญาจำนวนมาก ดังนั้นถ้ามีโอกาสก็จะแยกการศึกษาระดับปริญญาตรีออกไปในกรณีที่มีสถานที่แล้ว และพัฒนาวิทยาเขตพญาไทให้เป็นการศึกษาหลังปริญญาให้อย่างเต็มที่ เพื่อให้คณะฯ ได้พัฒนาทางวิชาการได้อย่างเต็มที่
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวินกล่าวว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีมากเมื่อสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จหน่วยเคลื่อนที่พระราชทานในโครงการมูลนิธิลูกพระดาบส ที่อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ พร้อมด้วยประธานองค์มนตรี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย ซึ่งคณะฯ ได้ไปออกหน่วยด้วยเช่นกัน นำโดยอดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี คือ ศาสตราจารย์นายแพทย์วินิต พัวประดิษฐ์ ในช่วงเวลานั้นอดีตผู้อำนวยการฯ ได้สนทนากับท่านองค์มนตรีจึงได้รับทราบว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 มีพระราชดำริว่า ประชาชนฝั่งทะเลด้านตะวันออกยังขาดแคลนแพทย์ที่จะช่วยดูแลเพราะยังมีโรงพยาบาลขนาดใหญ่น้อยน่าจะมีโรงพยาบาลที่จะมารองรับผู้ป่วยแถวนี้ ในขณะเดียวกันในวันนั้นได้รับทราบจากผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการว่ากรมธนารักษ์กำลังจะจัดสรรที่ดินราชพัสดุให้เป็นส่วนราชการของจังหวัดสมุทรปราการเพิ่ม บริเวณนั้นนอกจากเป็นที่ตั้งของมูลนิธิลูกพระดาบสแล้วยังมีสถาบันราชภัฏธนบุรีและสนามกีฬาจังหวัดด้วย ถ้าคณะฯ มีความสนใจจะสร้างโรงพยาบาลก็มีความเป็นไปได้ในเนื้อที่จำนวนประมาณ 300 ไร่
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์วินิต พัวประดิษฐ์ จึงนำเรื่องดังกล่าวเข้าประชุมคณะกรรมการบริหารคณะฯ และที่ประชุมได้วางแผนตามที่เคยมีการตั้งความประสงค์ไว้ คือคณะฯ จะมี 3 วิทยาเขต ประกอบด้วย วิทยาเขตพญาไท วิทยาเขตบางพลี และวิทยาเขตศาลายา
นอกจากวิทยาเขตพญาไทจะเป็นโรงพยาบาลทุติยภูมิที่เป็นเลิศทางด้านการบริการรักษาผู้ป่วยซับซ้อนแล้ว ยังจะเป็นแหล่งการเรียนการสอนด้านหลังปริญญาด้วย ส่วนการเรียนการสอนระดับปริญญาทั้ง 3 หลักสูตร คือ แพทยศาสตรบัณฑิต พยาบาลศาสตรบัณฑิต วิทยาศาสตรบัณฑิตของการสื่อความหมายจะย้ายไปสอนกันที่บางพลี พร้อมกับจัดตั้งโรงพยาบาลขนาด 400 เตียง แต่เป็นระดับเพียงปฐมภูมิและทุติยภูมิซึ่งจะเหมาะสมสำหรับการเรียนการสอนนักศึกษาก่อนปริญญา จะมีการส่งต่อผู้ป่วยมารับการรักษาที่โรงพยาบาลรามาธิบดี โดยจะพยายามสร้างระบบการส่งต่ออย่างเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพที่สุด มีการเชื่อมโยงไปมาระหว่างอาจารย์แพทย์ที่วิทยาเขตพญาไทกับอาจารย์แพทย์ที่บางพลี บางครั้งนักศึกษาจะเดินทางไปเรียนที่บางพลีหรือบางครั้งมาที่รามาธิบดีพญาไทบ้าง เนื่องจากนี่ที่ตั้งของบางพลีเป็นบริเวณภูมิภาคแล้วยังเป็นบริเวณที่ตั้งโรงงานอุตสาหกรรมประมาณจำนวนมากถึง 8000 - 9000 โรงงาน ซึ่งยังมีการดูแลสุขภาพไม่ดี คณะฯ พร้อมที่จะไปช่วยเสริมความแข็งแกร่งทางด้านนี้ จะมีการเชื่อมโยงกับโรงพยาบาลในระแวกใกล้เคียงทั้งโรงพยาบาลชุมชนและโรงพยาบาลทั่วไป ในจังหวัดสมุทรปราการหรือจังหวัดใกล้เคียง
ที่พักอาศัยภายในโครงการฯ
ในเรื่องที่พักอาศัยนั้น เนื่องจากอำเภอบางพลีไกลจากพญาไทจึงต้องมีหอพักสำหรับนักศึกษาและอาจารย์อย่างพอเพียง มีสิ่งแวดล้อมเป็นธรรมชาติสวยงาม มีความเขียวขจี ร่มรื่น มีสระน้ำใหญ่ เงียบสงบ มีอาคารสันทนาการสำหรับเล่นกีฬา จะช่วยเสริมสร้างสังคมทางวิชาการ มีบรรยากาศให้เรียนรู้ได้ดี ไม่ต้องคำนึงเรื่องการเดินทางและเวลา จะเห็นภาพนักศึกษาเรียนรู้กันนอกเวลาราชการและยามวิกาล มีอาจารย์สอนนักศึกษาตามหอผู้ป่วยหรือในห้องประชุม มีการจับกลุ่มกันตามใต้ต้นไม้ ริมสระน้ำ เหมือนบรรยากาศตักศิลาในสมัยก่อนที่มีการเรียนรู้ได้ตลอดเวลา จะมีการสร้างกระบวนการสร้างเสริมคุณภาพชีวิตการเรียนรู้ ทักษะชีวิต และสร้างเสริมปัญญา เมื่อจบการศึกษาจะเป็นแพทย์ พยาบาลหรือนักฝึกการพูดการได้ยินที่เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ มีชีวิตอยากจะเรียน อยากจะรู้ โดยมีการแลกเปลี่ยนการทำกิจกรรม มีกิจกรรมเชิงประเทืองปัญญาต่าง ๆ เช่น ศิลปะวัฒนธรรม ดนตรี มีหอประชุมสำหรับใช้แสดงละคร แสดงดนตรี มีการละเล่น มีการอภิปราย มีการแลกเปลี่ยนทัศนคติต่าง ๆ
คุณภาพชีวิตของนักศึกษาและอาจารย์
ตามวัตถุประสงค์ของโครงการรามาบางพลีในเรื่องของคุณภาพชีวิตของนักศึกษาและอาจารย์นั้น ศาสตราจารย์เกียรคิคุณ นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน มีความเห็นว่า สิ่งที่จะมีพลังมากที่สุดในการเปลี่ยนแปลงคนและปลูกฝังให้มีความรับผิดชอบต่อสังคม คือพลังของการเรียนรู้จากประสบการณ์จริงที่ได้จากต้นแบบที่เป็นแบบอย่างที่ดี เช่น ความเอาใจใส่ดูแลผู้ป่วยด้วยความรับผิดชอบ การสนทนากับผู้ป่วยด้วยความเอื้ออาทร นุ่มนวล รวมถึงการให้เกียรติซึ่งกันและกันในระหว่างหน่วยวิชาชีพ โครงการฯ จะมีการผลิตบัณฑิตรุ่นที่ใหม่ที่มีจิตสำนึกที่จะออกไปรับใช้สังคมไทยเพราะสังคมไทยไม่ต้องการหมอที่เก่งอย่างเดียวแต่ต้องการผู้นำทางปัญญาของสังคม
ปัจจัยที่ให้ให้เกิดความสำเร็จของโครงการฯ
โครงการนี้เป็นโครงการที่กำหนดอนาคตก้าวต่อไปของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีไปอีกหลายสิบปีไปหลายชั่วคน เป็นโครงการที่แยกออกไปจากแนวคิดเดิมเพราะฉะนั้นจะต้องมีความเห็นชอบของคนในรามาธิบดีก่อนเป็นอันดับแรกโดยที่จะเปิดโอกาสให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมในการให้ความคิดเห็นจนตกผลึกจนได้เห็นปัญหาของคณะฯ เราต้องการเห็นภาพสุดท้ายและแนวทางที่จะผลักดันต่อไป เบื้องต้นมีการกลั่นกรองของกรรมการบริหารคณะฯ ก่อน เสร็จแล้วก็นำเข้าสู่คณะกรรมการประจำคณะฯ หลังจากนั้นเริ่มขยายผลต่อไปสู่ชาวรามาธิบดีโดยประชาสัมพันธ์ให้ทราบแนวคิด มีการจัดกิจกรรมหลายครั้ง เช่น คณบดีพบชาวรามาธิบดี ในขณะเดียวกันจะรับฟังความเห็น 360 องศา จากหลายกลุ่ม กลุ่มแรก คือคณาจารย์อาวุโส อดีตคณบดี/หัวหน้าภาควิชา ได้กราบเรียนเชิญท่านองคมนตรี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ เกษม วัฒนชัย ช่วยให้ความเห็นเรื่องนี้ ในขณะเดียวกันก็เข้าไปหาชุมชนทางสมุทรปราการซึ่งคณะฯ ไปพบและเชิญบุคคลสำคัญของจังหวัด คือ ผู้ว่าราชการจังหวัด นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมุทรปราการและโรงพยาบาลชุมชนหลายแห่งในจังหวัดสมุทรปราการ เพื่อเข้าประชุมที่คณะฯ พร้อมทั้งแจ้งเรื่องที่คณะฯ ไปตั้งที่บางพลีและในฐานะสมาชิกใหม่ของจังหวัดสมุทรปราการ คณะฯ ยินดีที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลเพื่อนๆสมาชิกได้
ปัญหาและอุปสรรคของโครงการฯ
โครงการนี้ได้รับความร่วมมืออย่างดีมากจากทุกภาคส่วน ประเด็นสำคัญคือ เราต้องการตกผลึกว่าเป้าหมายสุดท้าย คืออะไร หลังจากนั้นสื่อสารระหว่างคนที่เกี่ยวข้องทั้งหมด มีการขอความเห็น ปรับแก้และมีเป้าหมายสุดท้ายที่ชัดเจน เพราะฉะนั้นปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นระหว่างที่ดำเนินการมีไม่มากนัก แม้ว่ามีการถกเถียงกันมากในเรื่องของประเด็นหลัก ๆ หรือปลีกย่อยต่าง ๆ แต่มีความคุ้มค่าทำให้โครงการ ฯ มีภาพสุดท้ายที่สมบูรณ์แบบ เรื่องสำคัญคือการทำความเข้าใจทำให้โครงการ ฯ ชัดต่อการติดต่อสื่อสาร กลุ่มคนที่มีความสำคัญต่อโครงการ ฯ นี้มีทุกระดับตั้งแต่ระดับผู้บริหารจนถึงคนงาน
ในส่วนของปัญหาและอุปสรรคนั้นเกิดจากปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้ เช่น การส่งเรื่องของโครงการฯ เพื่อเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต้องใช้เวลาหลายเดือน แม้ว่าโครงการฯ ได้รับอนุมัติแล้วแต่ไม่มีพระราชบัญญัติ ดังนั้นคณะ ฯ ได้ติดต่อรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ทราบถึงกรอบแนวคิดที่ชัดเจน และคุณูปการของโครงการที่จะเกิดขึ้นต่อสังคมไทยนี้ว่าการรักษาพยาบาลนั้นไม่เป็นเหมือนบริการทั่วไปแต่จะมุ่งเน้นทางด้านของปัญหาด้านสาธารณสุขของประเทศ เช่น เรื่องคนสูงอายุ ผู้ป่วยระยะสุดท้าย และการผลิตแพทย์ที่สามารถออกไปทำงานในชนบทได้นานอย่างเหมาะสมที่สุดและมีการเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างต่อเนื่อง จะมีแพทยศาสตรศึกษา โดยปฏิรูปการศึกษาของแพทยศาสตร์ใหม่ด้วยการบูรณาการการศึกษาแพทย์ในระดับคลินิกและปรีคลินิก
แนวคิดในการดำเนินงานหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์รามาธิบดี
การจัดตั้งหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์รามาธิบดีเป็นการแสดงเห็นถึงความสำคัญของประวัติศาสตร์ รากเหง้าของความเป็นรามาธิบดี ซึ่งจะมีประโยชน์มากและเป็นแหล่งองค์ความรู้ที่สำคัญต่อชาวรามาธิบดีรุ่นหลัง นักศึกษาและประชาชน กระตุ้นให้เกิดแรงบันดาลใจ และทำให้เกิดการปฏิบัติงานที่จะดีขึ้นแบบต่อเนื่อง