รองศาสตราจารย์ดรุณี ชุณหะวัต

สรุปจาก Oral History ของ รองศาสตราจารย์ดรุณี ชุณหะวัต

 

แนะนำตัวและจุดประสงค์ในการก่อตั้งชมรมนาฏศิลป์และดนตรีไทย

                            รองศาสตราจารย์ดรุณี ชุณหะวัต อดีตรองคณบดีฝ่ายกิจกรรมพิเศษ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เล่าถึงความเป็นมาชมรมนาฏศิลป์และดนตรีไทยว่าเริ่มมาจากชมรมดนตรี ชมรมนี้ตั้งขึ้นโดยศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล เมื่อ พ.ศ. 2520 เพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรมไทยและให้เจ้าหน้าที่ของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีและนักศึกษาได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ด้วย

                            คุณจรวยพร สุเนตรวรกุล เล่าว่า ใน พ.ศ. 2521 เข้ามาทำงานในภาควิชาโสต ศอ นาลิกวิทยา คณะฯ จึงได้ใกล้ชิดกับ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล ซึ่งเป็นอาจารย์ของภาคฯ และเข้าร่วมในชมรมฯ ได้หัดรำละครและเรียนซออู้อย่างได้มาตรฐานกับครูเฉลิม บัวทั่ง ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทย) พ.ศ. 2529 แต่ครูย้ายไปสอนที่วิทยาลัยแพทย์พระมงกฏเกล้าจึงเป็นเครือข่ายกับชมรมดนตรีไทย วิทยาลัยแพทย์พระมงกฏเกล้าเพราะมีครูเดียวกัน

 

การจัดรายการรามาบันเทิง

                           รองศาสตราจารย์ดรุณี ชุณหะวัต อดีตรองคณบดีฝ่ายกิจกรรมพิเศษ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และคุณจรวยพร สุเนตรวรกุล อดีตเลขานุการภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา คณะฯ เล่าว่าชมรมดนตรีได้จัดกิจกรรมที่น่าสนใจและเป็นที่ชื่นชอบ คือ รายการรามาบันเทิง เป็นเวลาเดือนละ 1 ครั้ง ณ หอประชุมอารี ในรายการรามาบันเทิงนี้ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล ได้ให้ความรู้เรื่องการร้องเพลงแต่ละชนิด ทำให้เกิดอรรถรสในการดูนาฏศิลป์และเพลงคลาสสิก มีการร้องเพลงจากดารานักร้องรับเชิญที่มีชื่อเสียงจากสถานีโทรทัศน์ ซึ่งเป็นเพื่อนและผู้คุ้นเคยกับศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล เช่น คุณนันทวัน เมฆใหญ่ และคุณกำธร สุวรรณปิยะศิริ เป็นต้น ทำให้บุคลากรคณะฯ ได้ผ่อนคลายและคนไข้ก็ได้ดูการแสดงด้วย อีกทั้งเป็นการกระตุ้นให้บุคลากรคณะฯ มีความประสงค์ที่จะเรียนรู้เรื่องดนตรีด้วย

 

เงินสนับสนุนชมรม และ การบริจาคเครื่องดนตรี

                           ทั้ง 2 ท่าน ให้ข้อมูลว่า ในระยะแรกๆ ชมรมดนตรีไม่มีงบประมาณ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล ต้องหาเงินสนับสนุนด้วยตนเองรวมถึงเงินบริจาคเล็กน้อยจากบุคลากรในคณะฯ คนไข้ และญาติคนไข้ ต่อมาใน พ.ศ. 2529 คณะฯ อนุมัติงบประมาณเงินรายได้คณะฯ ผ่านมูลนิธิรามาธิบดีให้ชมรมฯในรูปแบบโครงการชื่อ “โครงการชมรมบริการบันเทิงศิลปะและดนตรีไทย”

                            ช่วงแรกในส่วนของเครื่องดนตรีไทยนั้นบริจาคโดย อาจารย์เดือนเพ็ญ ชาติกานนท์ อดีตหัวหน้าภาควิชาพยาบาลศาสตร์ คณะฯ ซึ่งมีชื่อของท่านติดไว้ที่เครื่องดนตรี คือ จะเข้ เครื่องดนตรีในสมัยนั้นมีแต่เครื่องสายเท่านั้นและผู้เล่นส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง แต่เครื่องปี่พาทย์หัดยากและใช้เวลานานมาก ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล จึงชวนเพื่อนที่เป็นนักดนตรีอยู่กรมศิลปากรและอาจารย์จากวิทยาลัยนาฏศิลป์มาช่วยสอนเล่นดนตรีและรำให้แก่ผู้สนใจที่จะฝึกและในที่สุดได้ร่วมเป็นทีมงานมาตลอด ผู้สนใจเหล่านี้เป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานต่างๆ คือ งานเวชระเบียน ภาควิชาพยาบาลศาสตร์ และฝ่ายวิศวกรรมบริการ เป็นต้น

 

อุปสรรคในการทำงานวงดนตรี

                           อุปสรรคในช่วงแรกๆ ของการตั้งชมรมดนตรี คือ ไม่สามารถของบประมาณจากคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีเพื่อนำไปดำเนินกิจกรรมและให้ค่าตอบแทนครูที่มาสอนได้เนื่องจากยังเป็นชมรมเท่านั้น ดังนั้นศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล จึงต้องขอร้องให้ครูมาช่วยสอนและออกค่าเดินทางให้ครูโดยใช้เงินที่สะสมไว้ในมูลนิธิรามาธิบดี ครูมาสอนให้สัปดาห์ละ 2 วัน ท่านได้สอนอย่างสม่ำเสมอจนทำให้ชมรมดนตรีสามารถรับงานและแสดงได้ดี

 

สมาชิกในวงดนตรี

                            คุณจรวยพร สุเนตรวรกุล อดีตเลขานุการภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา เล่าว่าสมาชิกชมรมดนตรีส่วนใหญ่เป็นบุคลากรของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีซึ่งมีความสามารถจนเป็นนักดนตรีประจำของชมรมฯ และมีนักศึกษามาร่วมเป็นสมาชิกเป็นช่วง ๆ

                            ชมรมฯ ได้งบประมาณจากคณะฯ ผ่านมูลนิธิรามาธิบดีในช่วงที่ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์สุชาติ อินทรประสิทธิ์ เป็นรองคณบดี ท่านได้ให้ชมรมฯ จัดทำโครงการเสนอของบประมาณจากเงินรายได้คณะฯ เพราะลักษณะของกิจกรรมชมรมฯ สอดรับกับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการที่กำหนดในพันธกิจศิลปวัฒนธรรมไทยของคณะฯ

                            รองศาสตราจารย์ดรุณี ชุณหะวัต อดีตรองคณบดีฝ่ายปฏิบัติการพิเศษ คณะฯ ให้การสนับสนุนและพัฒนาเรื่องนี้มาตลอดเช่นเดียวกัน ท่านรู้สึกภาคภูมิใจที่กิจกรรมนี้ได้เป็นที่รู้จักจากผู้สนใจอย่างแพร่หลาย

 

ความภาคภูมิใจในชมรม

                            คุณจรวยพร สุเนตรวรกุล อดีตเลขานุการภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เล่าว่าในช่วงแรกๆ สมาชิกชมรมดนตรีมีความอดทนสูงมากต่ออากาศร้อนและยุงในช่วงที่เรียนดนตรีตอนเย็น แต่ก็สามารถรักษาความเป็นชมรมฯ ไว้ได้จนมีสมาชิกและสร้างชื่อเสียงให้กับคณะฯ มาตลอด จนกระทั่งคณะฯ เห็นความสำคัญและสนับสนุนให้เป็นส่วนหนึ่งของพันธกิจหลักของคณะฯ และได้รับการยอมรับจากหน่วยงานภายนอกในการประชุมระดับนานาชาติและระดับชาติได้ เช่น การประชุมที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร และการร่วมแสดงดนตรีที่หอสมุดดนตรีพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหอสมุดแห่งชาติและมีการบันทึกเป็นวีดิทัศน์ หลังจากนั้นองค์มนตรีได้รวบรวมเป็นข้อมูลว่าใครทำอะไรที่ไหนอย่างไรให้กับพระองค์ในช่วง พ.ศ. 2539 - 2540 หลังจากนั้นได้รับแจ้งว่าได้นำไปทูลเกล้าถวายพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรเรียบร้อยแล้ว

                            รองศาสตราจารย์ดรุณี ชุณหะวัต อดีตรองคณบดีฝ่ายกิจกรรมพิเศษ มีความภาคภูมิใจในฐานะที่เป็นคนทำงานด้วย เล่นดนตรีด้วยและเป็นกรรมการของชมรมดนตรีด้วย ชมรมฯ ได้แสดงศักยภาพด้านศิลปวัฒนธรรมของไทยต่อสายตาของชาวต่างประเทศจนเป็นที่ประทับใจในงานสำคัญของมหาวิทยาลัยมหิดลและคณะฯ ถึง 2 งาน คือ 1.งานมหิดลอินเตอร์เนชั่นเดย์ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์พรชัย มาตังสมบัติ อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ชื่นชมและเชิญชมรมฯให้ช่วยแสดงให้มหาวิทยาลัยฯ ในโอกาสต่อไป 2. งานประชุมนานาชาติร่วมระหว่างภาควิชาพยาบาลศาสตร์ คณะฯ กับมหาวิทยาลัยเยล ประเทศสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ชมรมฯ ได้ร่วมแสดงดนตรีให้คณะฯ ทุกครั้งในงานแสดงมุฑิตาจิตให้อดีตผู้บริหารคณะฯ เช่น งาน 84 ปี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์อารี วัลยะเสวี

 

อุปสรรคในการเล่นดนตรี

                            ทั้งสองท่านเล่าว่าอุปสรรคสำคัญ คือ ด้านความยากของการฝึกซ้อมดนตรีทำให้ต้องใช้เวลาในการฝึกซ้อมอย่างสม่ำเสมอ ครูดนตรีสอนไว้ว่าดนตรีทั้งวงจะต้องเสมอกันไม่เช่นนั้นเสียงเพลงจะเพี้ยนได้ จึงทำให้การใช้เวลาในการฝึกซ้อมอย่างสม่ำเสมอของบุคลากรซึ่งเป็นสมาชิกชมรมฯ มีผลกระทบต่อเวลาปฏิบัติงาน ดังนั้นกรรมการชมรมฯ ต้องทำความเข้าใจผ่านกรรมการประจำคณะฯ จนแนวโน้มเป็นไปในทางดีและมีสมาชิกชมรมฯ มากขึ้น สำหรับนักศึกษานั้นสนใจเข้าร่วมเป็นสมาชิกชมรมฯ กันมากแต่ฝึกซ้อมไม่สม่ำเสมอเนื่องจากการเรียนที่หนักและมีการสอบบ่อยครั้ง

 

การเก็บข้อมูลชมรมนาฏศิลป์และดนตรีไทยในหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์รามาธิบดี

                            ทั้งรองศาสตราจารย์ดรุณี ชุณหะวัต อดีตรองคณบดีฝ่ายกิจกรรมพิเศษ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และคุณจรวยพร สุเนตรวรกุล อดีตเลขานุการภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา คณะฯ มีความยินดีมากที่มีการเก็บบันทึกประวัติของชมรมนาฏศิลป์และดนตรีไทย คณะฯ ไว้ในหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์รามาธิบดี ซึ่งจะเป็นสิ่งที่ดีที่ได้ช่วยสร้างภาคภูมิใจของผู้ก่อตั้งชมรมฯ คือ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล และสร้างแรงบันดาลใจให้บุคลากรรุ่นหลังที่ได้รับรู้และสืบทอดกิจกรรมนี้ต่อไป

 

การก่อตั้งโครงการหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์รามาธิบดี

                           คุณจรวยพร สุเนตรวรกุล อดีตเลขานุการภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้แสดงความคิดเห็นต่อการที่คณะฯ ได้จัดตั้งหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์รามาธิบดี ว่าศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์อารี วัลยะเสวี เคยบอกว่าต้องบันทึกข้อมูลทางประวัติศาสตร์ไว้บ้าง สิ่งใดที่ทำไว้ในวันนี้ต้องทำต่อเนื่องและให้บันทึกไว้

                            ทั้งรองศาสตราจารย์ดรุณี ชุณหะวัต อดีตรองคณบดีฝ่ายกิจกรรมพิเศษ คณะฯ และคุณจรวยพร สุเนตรวรกุล มีความยินดีมากที่มีหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์รามาธิบดี แสดงให้เห็นว่าความทุ่มเทกำลังกายกำลังใจปูชนียบุคคลของคณะฯ ไม่สูญเปล่าเพราะได้มีการเก็บบันทึกไว้ให้อนุชนคนรุ่นหลังได้เห็นและเรียนรู้