เพราะเหตุใดถึงเลือกมาเรียนที่รามาธิบดีและมีความรู้สึกยังไง
รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงชลีรัตน์ ดิเรกวัฒนชัย เล่าว่า อาจารย์จบแพทยศาสตรบัณฑิตจากคณะแพทย์ศิริราชพยาบาลในพ.ศ. 2517 และเลือกมาเรียนแพทย์ประจำบ้านของภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีเพราะชื่อเสียงในด้านผลงานคณาจารย์ของภาคฯ อาจารย์ตื่นเต้นมากเพราะทุกคนต้องการมาเรียนที่ภาควิชานี้ สิ่งที่ประทับใจและยังบอกนักศึกษาแพทย์จนปัจจุบันนี้ว่าทุกคนโชคดีที่ได้อยู่สถาบันที่มีบูรพาจารย์ในด้านกุมารแพทย์ที่สุดยอดของประเทศ จนโรงเรียนแพทย์ต่างๆ จะต้องขอมา Elective
ภาคฯ มีอาจารย์แพทย์ที่มีชื่อเสียงในสาขาต่างๆ หลายท่าน ขอเอ่ยนามคือ ศาสตราจารย์ นายแพทย์สมศักดิ์ โล่ห์เลขา ทางโรคติดเชื้อ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์อนันต์ เตชะเวช ทางทารกแรกเกิดและปริกำเนิด ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ประพุทธ ศิริปุณย์ ทางทารกแรกเกิดและปริกำเนิด ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์พงษ์ศักดิ์ วิสุทธิพันธ์ ทางสมองเด็ก ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์เพียรวิทย์ ตันติแพทยางกูร ทางโรคโภชนาการเด็กเชี่ยวชาญด้านไขมัน และศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ ทางโรคโภชนาการเด็กเชี่ยวชาญทางด้านโปรตีน อาจารย์ของภาคฯ ที่ดำรงตำแหน่งเป็นทีมผู้บริหารคณะฯ ด้วย คือ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์อารี วัลยะเสวี และศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิงคุณสาคร ธนมิตต์ ซึ่งท่านได้ทำวิจัยระดับประเทศเรื่องนิ่วทางเดินอาหารจนเด็กไทยได้รับประโยชน์อย่างยิ่ง
บรรยากาศการเรียนการสอนสมัยนั้นเมื่อเทียบกับปัจจุบัน
รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงชลีรัตน์ ดิเรกวัฒนชัย เล่าว่าบรรยากาศการเรียนการสอนสมัยนั้นต่างกับสมัยนี้พอสมควร มีความรู้สึกว่าอาจารย์ดุและคอยเอาใจใส่ผลงานที่นักศึกษาทำ เป็นการดูแลอย่างใกล้ชิดทั้งที่อาจารย์แต่ละท่านมีภารกิจส่วนตัวมากมาย แต่ว่าในสมัยนี้รู้สึกว่าอาจารย์ไม่ใกล้ชิดกับนักศึกษาถึงขนาดนั้นเป็นสิ่งที่น่าเสียดายเหมือนกันอาจจะเป็นเพราะอาจารย์มีภารกิจมากขึ้น
แนวทางการทำงานให้ประสบความสำเร็จ
รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงชลีรัตน์ ดิเรกวัฒนชัย ทำงานโดยยึดหลักพันธกิจของมหาวิทยาลัยมหิดล และอาจารย์เล่าว่าโชคดีมีหัวหน้าภาคซึ่งค่อนข้างจะดุ เข้มแข็ง คือ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง ม.ร.ว.จันทรนิวัทธ์ เกษมสันต์ โดยท่านได้วางเกณฑ์ที่ดีมากไว้หลายเรื่องเพื่อสร้างกุมารแพทย์ที่สมบูรณ์โดยแท้จริงและการเป็นครูแพทย์ควรเป็นอย่างไร
อาจารย์เลือกสาขาโรคภูมิแพ้เด็กเพราะหัวหน้าภาคให้ไปช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ไพบูลย์ พาณิชยการซึ่งดูแลด้านนี้อยู่ท่านเดียวและมีคนไข้มาก พออาจารย์ทำไปก็เห็นว่าโรคนี้เป็นโรคที่น่าสนใจและน่าเสียดายถ้าคนไข้ไม่ได้รับการรักษาที่ดี
การพัฒนาและการเจริญเติบโตของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงชลีรัตน์ ดิเรกวัฒนชัย ได้เห็นการพัฒนาและการเจริญเติบโตของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีในด้านต่างๆ คือ ในด้านการศึกษาซึ่งคณะฯ ดำเนินการอย่างเต็มที่คือเรื่องของชุมชนซึ่งผลดีคือ คณะฯ สามารถผลิตแพทย์ออกไปรับใช้ชุมชนได้จริง และมีบางคนได้เป็นรัฐมนตรีเพื่อมีส่วนในการกำหนดนโยบายด้านชุมชนระดับประเทศ
ด้านการวิจัยต้องยกว่าเป็นความคิดที่ดีมากของผู้บริหารในช่วงแรกที่มี Clinical Ward for Research เป็นแห่งแรกในประเทศไทยทำให้เอื้อต่อการทำวิจัย
ด้านการบริหารนั้นทางคณะฯ ได้ส่ง รองศาสตราจารย์ นายแพทย์วิศิษฐ์ พิชัยสนิธ ไปเรียนเรื่องการบริหารที่ประเทศอังกฤษและประเทศอเมริกา และได้ตั้งโรงเรียนการบริหารโรงพยาบาลขึ้นเป็นแห่งแรกในประเทศไทยซึ่งทำประโยชน์ในการอบรมผู้อำนวยการและรองผู้อำนวยการโรงพยาบาลทั่วประเทศเป็นจำนวนมากจนถึงปัจจุบัน พบว่าการบริหารของภาควิชากุมารเวชศาสตร์เองได้ใช้เกณฑ์ที่เข้มงวดมากในการเลือก Staff ส่วนการบริหารของคณะฯ นั้นคณบดีทุกท่านมีการบริหารที่ดีและให้ความสำคัญเรื่องของคนมาก
ความแตกต่างของนักศึกษาสมัยก่อนกับนักศึกษาปัจจุบัน
รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงชลีรัตน์ ดิเรกวัฒนชัย มีความเห็นว่าความแตกต่างของนักศึกษาแพทย์สมัยก่อนกับปัจจุบันเป็นไปตามยุคสมัยและอาจารย์ผู้สอนเองก็เปลี่ยนไปเช่นกันคืออายุมากขึ้น สำหรับรองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงชลีรัตน์ ดิเรกวัฒนชัยนั้นในช่วงแรกของการเป็นอาจารย์ได้เรียนรู้จากคำแนะนำและคำสั่งของอดีตหัวหน้าภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คือ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง ม.ร.ว.จันทรนิวัทธ์ เกษมสันต์ จึงได้ทุ่มเทและมีการเข้มงวดมากที่จะสร้างนักศึกษาแพทย์ให้เป็นแพทย์ที่ดีต่อไป และทนไม่ได้ที่จะให้แพทย์คนหนึ่งเรียนจบไปโดยไม่รู้เรื่องทำให้รู้สึกเหนื่อยและได้มีการลดการสอนลงเรื่อยๆ
การบริหารงานในฐานะผู้บริหาร
รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงชลีรัตน์ ดิเรกวัฒนชัย เป็นรองผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดีนานหลายปีในช่วงของอดีตผู้อำนวยการฯ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์สมพล พงศ์ไทย โดยในระยะแรกรู้สึกลำบากมากเพราะสอนแต่วิชาการแต่ว่าสิ่งหนึ่งที่ต้องตระหนักไว้คือการจะทำงานอะไรต้องมีความรักให้ผู้ปฏิบัติงานนั้นๆ ก่อน พบว่าหัวหน้างานมีความสำคัญมากถ้าหัวหน้างานทราบว่าผู้บริหารทำเพื่อหน่วยงานของเขาแล้วจะเกิดการสนองตอบจากหัวหน้างานด้วยการทุ่มเททำงานอย่างรวดเร็ว สอดคล้องกับหลักการบริหารที่ประกอบด้วยเรื่องของ Man Management และ Money ซึ่งหัวใจสำคัญอยู่ที่ Man จึงขอฝากเรื่องนี้กับคณะผู้บริหารคณะฯ ปัจจุบันด้วย
ชีวิตหลังเกษียณ
รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงชลีรัตน์ ดิเรกวัฒนชัย ยังชอบงานสอนดังนั้นหลังจากเกษียณแล้วอดีตหัวหน้าภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์พงษ์ศักดิ์ โค้วสถิตย์ ได้เชิญให้อาจารย์ช่วยสอน Resident 1 และ Fellow ของภาคฯ โดยไม่ต้องออกตรวจ
ปัจจัยที่ทำให้ภาควิชากุมารฯ มีความกลมเกลียว
รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงชลีรัตน์ ดิเรกวัฒนชัย ให้เหตุผลว่า เพราะวัฒนธรรมองค์กรของภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และความเกรงใจหัวหน้าภาควิชาฯ ทุกท่าน ที่ได้ทำเป็นแบบอย่างที่ดีมาตลอดที่ทำให้ภาคฯ มีความกลมเกลียวกัน
มุมมองในฐานะศิษย์เก่ารามาธิบดีอยากเห็นสถาบันการแพทย์จักรีเป็นอย่างไร
รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงชลีรัตน์ ดิเรกวัฒนชัย ให้ความเห็นเรื่องสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ ว่า มั่นใจใน ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์พงษ์ศักดิ์ โค้วสถิตย์ ซึ่งได้รับมอบหมายเป็นผู้อำนวยการสถาบันฯ ในการสร้างโรงเรียนแพทย์ตามที่วางแผนไว้ได้เพราะใน ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์พงษ์ศักดิ์ โค้วสถิตย์เป็นผู้ที่ชอบศึกษาค้นคว้าด้านการศึกษามาตลอดจนเป็นที่ยอมรับและชื่นชมของอดีตหัวหน้าภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง ม.ร.ว.จันทรนิวัทธ์ เกษมสันต์
รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงชลีรัตน์ ดิเรกวัฒนชัย มีความภาคภูมิใจและบอก Resident รุ่นน้องๆ เสมอว่านับเป็นโชคดีที่มาเรียนที่คณะฯ เราควรจะร่วมกันสร้างให้คณะฯ เป็นปึกแผ่นและพัฒนาให้ดีต่อไปเรื่อย ๆ