รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงจิรพรรณ มัธยมจันทร์

สรุปจาก Oral History ของ รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงจิรพรรณ มัธยมจันทร์

 

การเข้ามาทำงานในตำแหน่งผู้อำนวยการฯ

                            รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงจิรพรรณ มัธยมจันทร์ ได้ช่วยบริหารคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี โดยดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาวิสัญญีวิทยา ใน พ.ศ. 2513 – 2519 และดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี ลำดับที่ 3 (ไม่มีรองผู้อำนวยการ) ใน พ.ศ. 2519 – 2527 อาจารย์ได้บุกเบิกเรื่องต่างๆ ในคณะฯ มากมายในฐานะผู้อำนวยการฯ รวมถึงการจัดทำเตียงนอน 2 ชั้นในหอพักให้นักศึกษาแพทย์ปี 3

 

การทำงานเป็นหัวหน้าภาควิสัญญีและตำแหน่งผู้อำนวยการ

                           รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงจิรพรรณ มัธยมจันทร์ ดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิสัญญีวิทยา ได้คิดประดิษฐ์เครื่องดมยาและเครื่องห้ามเลือด ภาควิชาวิสัญญีวิทยาเดิมเป็นหน่วยย่อยของภาควิชาศัลยศาสตร์ อาจารย์ได้บุกเบิกการจัดตั้งภาควิชาฯ โดยได้ขยายพื้นที่ของภาคฯ ไปชั้น 5 ของอาคารหลักซึ่งมีการต่อเติมจากเดิมมี 4 ชั้น

                           มีเรื่องเสริมในฐานะที่ดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการฯ ท่านได้ชี้แจงกับรัฐบาลสมัยอดีตนายกรัฐมนตรี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมชในเรื่องพื้นที่ตั้งของสถาบันมะเร็งแห่งชาติจนแก้ปัญหาได้ รวมถึงการจัดหาครุภัณฑ์เก้าอี้ไม้ที่รัฐบาลอนุมัติงบประมาณกับโรงพยาบาลเพียงตัวละ 50 บาทซึ่งมีคุณภาพไม่ดีและต้องขออนุมัติใหม่

 

การเรียนการสอนของนักศึกษาแพทย์

                           รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงจิรพรรณ มัธยมจันทร์เล่าว่าในระยะแรกๆ ของการสอนนักศึกษาแพทย์อาจารย์ทุกท่านต้องสอนเป็นภาษาอังกฤษและโชคดีที่อาจารย์เรียนจบจากประเทศสหรัฐอเมริกา อาจารย์ทางพยาธิวิทยาและปรีคลินิกเป็นชาวต่างประเทศทั้งนั้น

                            อาจารย์รู้สึกว่าแพทย์ปัจจุบันไม่ค่อยมีความเคารพผู้อาวุโสกว่าทั้งที่เป็นอาจารย์และผู้ป่วย จึงขอฝากไว้แก้ไขด้วย

 

ข้อเสนอแนะในการเรียนการสอน

                           รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงจิรพรรณ มัธยมจันทร์มีข้อแนะนำว่าการเรียนการสอนหนักทางวิชาการมากไป ไม่มีการสอนจริยธรรมกันในหลักสูตรเลย นักศึกษาแพทย์และแพทย์ควรมีความเคารพให้ทั้งรุ่นพี่และคนไข้ ขอฝากผู้ที่ดูแลนักศึกษาแพทย์และแพทย์ประจำบ้านด้วย

 

ศาลพระภูมิกับศาลกรมหลวงชุมพร

                            รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงจิรพรรณ มัธยมจันทร์ เล่าว่าได้ย้ายศาลพระภูมิจากบริเวณที่สร้างอาคารจอดรถ 5 ชั้น ที่ติดกับรั้วฝั่งสถาบันมะเร็งแห่งชาติ มาที่ตั้งปัจจุบันและได้สร้างศาลกรมหลวงชุมพรโดยซื้อเรือนไทยเป็นเรือนไม้ใหญ่จากร้านริมถนนโดยใช้งบประมาณเท่าที่มี อาจารย์ขอให้เป็นเรือนไทยอย่าเป็นอย่างอื่นแต่ได้เห็นมีติดคาถาซึ่งอาจารย์บอกว่ากรมหลวงชุมพรไม่ได้ให้คาถาไว้เพียงแต่มีบอกเรื่องโต๊ะอาหารว่าของพระองค์ก็ต้องเป็นโต๊ะเล็กส่วนของบริวารเป็นโต๊ะใหญ่ เปรียบเสมือนบ้านของพระองค์ซึ่งเสวยคนเดียวแต่มีลูกน้องเยอะโต๊ะจึงต้องใหญ่ เวลาจัดเลี้ยงก็ต้องมีคนจัดการเรื่องนี้ด้วย

                            ศาลกรมหลวงชุมพรเป็นที่เคารพของผู้ป่วย ญาติผู้ป่วยรวมถึงบุคลากรของคณะฯ เมื่อมีปัญหาอุปสรรคในด้านสุขภาพและการทำงานก็จะมาไหว้และให้พระองค์ช่วย

 

การรับหน้าที่ 2 ตำแหน่ง

                            รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงจิรพรรณ มัธยมจันทร์ ต้องรับตำแหน่งรักษาการ 2 ตำแหน่ง คือ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีและหัวหน้าภาควิชาวิสัญญีวิทยา แต่ไม่สามารถลาออกจากตำแหน่งใดเพราะเกรงใจศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เปรม บุรีและศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์รจิต บุรี

อาคารนารายณ์และอาคารสมเด็จพระเทพรัตน์

                            รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงจิรพรรณ มัธยมจันทร์ เล่าว่า ช่วงที่อาจารย์เป็นผู้บริหารนั้นกำลังมีการก่อสร้างอาคารนารายณ์ ซึ่งได้ชื่อตามชื่อของโรงแรมโดยเจ้าของโรงแรมนารายณ์เป็นผู้ให้ทุนก่อสร้าง คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีมีที่ดินที่มีผู้บริจาคให้มากมายทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด สมัยก่อนที่ดินของคณะฯ มีอาณาเขตถึงสี่แยกตึกชัยต่อมาเป็นที่ตั้งของสถานสงเคราะห์เด็กอ่อนพญาไทและบ้านพักเด็กและครอบครัวกรุงเทพมหานคร (อดีตคณบดี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ประกิต วาทีสาธกกิจ ได้เจรจาที่ดินนั้นคืนมาโดยคณะฯ ได้สนับสนุนงบประมาณ 50 - 60 ล้านบาท แก่สถานสงเคราะห์เด็กอ่อนพญาไท แห่งใหม่ ณ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรีและใช้พื้นที่ดังกล่าวสร้างอาคารศูนย์การสมเด็จพระเทพรัตน์)