ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง ม.ร.ว.จันทร์นิวัทธ์ เกษมสันต์

สรุปจาก Oral History ของ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง ม.ร.ว.จันทร์นิวัทธ์ เกษมสันต์

 

การเข้ามาทำงานที่คณะฯ

                            ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง ม.ร.ว.จันทร์นิวัทธ์ เกษมสันต์ เล่าว่าหลังจากกลับมาจากประเทศสหรัฐอเมริกา พ.ศ. 2508 ยังทำงานที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลต่อ แต่ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์อารี วัลยะเสวี ได้ชวนให้ช่วยงานการก่อตั้งคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี อาทิตย์ละ 1 – 2 วัน เพื่อร่วมประชุมและวางแผน จนโอนย้ายมาคณะฯ เต็มตัว

                            ในส่วนของแบบแปลนอาคารโรงพยาบาลรามาธิบดีมีการแก้ไขมาตลอดเนื่องจากยังไม่เหมาะสมแม้ว่าสร้างเสร็จแล้ว เช่น ยังไม่มีลิฟต์ทำให้บุคลากรภาควิชากุมารเวชศาสตร์ซึ่งตั้งอยู่ชั้น 8 ต้องเดินขึ้นบันไดไปทำงานทุกวัน

                            ในโครงสร้างการบริหารคณะฯ นั้นนับเป็นคณะแพทย์แรกที่ผู้อำนวยการอยู่ภายใต้คณบดีโดยมีวาระตามคณบดี และเป็นภาควิชาโรงพยาบาลเพราะจะได้ทำงานร่วมกันได้

                            ด้านศึกษานั้นคณะฯ ก้าวหน้ามากเป็นที่น่าภาคภูมิใจในช่วงนั้น

 

ประวัติศาสตร์คณะฯ

                            ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง ม.ร.ว.จันทร์นิวัทธ์ เกษมสันต์ ขอทำความเข้าใจว่าประวัติศาสตร์คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีไม่ใช่เริ่มใน พ.ศ. 2512 ซึ่งเป็นปีที่โรงพยาบาลเปิดบริการเท่านั้น แต่ต้องเริ่มนับปีที่คณะฯ ก่อตั้ง คือ พ.ศ. 2508 โดยมีพิธีวางศิลาฤกษ์ พระราชกฤษฎีกา รับนักศึกษาแพทย์ แต่งตั้งหัวหน้าภาค เริ่มรับ Resident

                            อาจารย์เล่าว่า ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์อารี วัลยะเสวี ต้องต่อสู้มากที่จะได้ที่ดินบริเวณนี้ เดิมได้ขอใช้โรงพยาบาลหญิงโรงพยาบาลเด็กแต่ต้องสร้างเพิ่มซึ่งต้องใช้งบประมาณมากกว่าสร้างโรงพยาบาลใหม่ดังนั้นจึงต้องก่อสร้างคณะฯ บริเวณที่ดินที่ติดกับคณะวิทยาศาสตร์

                            อาจารย์เห็นว่าทีมบริหารในช่วงนั้นมีความโดดเด่นมากในด้านมีความสามัคคีร่วมแรงร่วมใจจึงทำให้เกิดคณะฯ ขึ้นได้

 

Community Medicine

                            ในเรื่องที่ 1 ที่โดดเด่นมากในช่วงนั้น คือ Community Medicine นับเป็นแห่งแรกในประเทศไทยที่เกิดในคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี อาจารย์เล่าว่า World Health Organization มาทำ Workshop และมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์สนับสนุนด้านการศึกษา Community Medicine เป็นการร่วมกันมีการทำงานเป็นทีมทุกภาควิชารวมถึงโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี นักศึกษาแพทย์และนักศึกษาพยาบาลได้เข้าถึงชุมชนจริงๆ โดยสำรวจแล้วนำมาทำเป็นโครงการและมีอาจารย์ไปด้วย พื้นที่ที่ไปดูชุมชน คือ บางปะอิน บางชัน อยุธยา ในส่วนหอพักที่บางปะอินนั้นมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ได้ให้งบประมาณก่อสร้าง

 

มูลนิธิรามาธิบดี

                            เรื่องที่ 2 คือ การก่อตั้งมูลนิธิรามาธิบดีนับเป็นสิ่งโดดเด่นน่าภาคภูมิใจ เพราะมีมูลนิธิภายในคณะแพทย์เป็นแห่งแรกเนื่องจากในสมัยนั้นนายแพทย์ ม.ร.ว.พัชรีสาณ ชุมพลเห็นว่าคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีได้รับเงินงบประมาณไม่พอ ส่วนเงินรายได้คณะฯ ต้องส่งคลังของมหาวิทยาลัย ดังนั้นจึงได้ตั้งมูลนิธิรามาธิบดีเพื่อคณะฯ ใช้จ่ายได้สะดวกขึ้น

                           สิ่งโดดเด่นน่าภาคภูมิใจ เรื่องที่ 3 คือการเก็บเงินผู้ป่วยจากสิ่งประกอบการรักษาแต่เป็นเงินจำนวนไม่มาก นับเป็นคณะแพทย์แห่งแรกที่เก็บเงินค่าแลป ค่าบัตรผู้ป่วยคนละ 5 บาท เพราะงบประมาณไม่พอเพียง

 

แบบอย่างความเป็นแพทย์

                            ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง ม.ร.ว.จันทร์นิวัทธ์ เกษมสันต์ เล่าว่าอาจารย์สมัยก่อนจะรู้ General เพราะถูกฝึกมา การสอนเป็น Student-Center เริ่มตั้งแต่ที่นักศึกษาได้เรียนที่คณะวิทยาศาสตร์โดยให้ค้นคว้าเอง เป็น Active Learning สังคมเปลี่ยนจากสมัยก่อน ทำให้การสอนเป็นการเน้น Lecture

                            อาจารย์มีความเห็นว่าตามแผนของสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีที่อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการระบุว่าจะเป็นศูนย์แพทยศาสตรศึกษาระดับเอเชียนั้น ควรต้องมีผู้เชี่ยวชาญทางนี้จำนวนมากด้วย

 

แพทยศาสตรศึกษา

                            ในด้านแพทยศาสตร์ศึกษาของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีในระยะแรกนั้นศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง ม.ร.ว.จันทร์นิวัทธ์ เกษมสันต์ ได้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์รจิต บุรีดำเนินการ ต่อมามี รองศาสตราจารย์ ดร.วราภรณ์ เอี้ยวสกุล ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิงวันดี วราวิทย์ และศาสตราจารย์ แพทย์หญิงอนงค์ นนทสุต ซึ่งทุกท่านล้วนแต่มีความรู้พื้นฐานทางแพทยศาสตรศึกษา คณะฯได้มีการพัฒนาในด้านการศึกษาและโดดเด่นมาตลอด เช่น MCQ ทำเป็นครั้งแรกในประเทศไทย อบรมแพทยศาสตรศึกษาให้อาจารย์แพทย์โดยใช้เวลา 2 สัปดาห์ Ambulatory Pediatrics และการวิเคราะห์ข้อสอบ ในส่วนของหลักสูตรนั้นเป็นหลักสูตรรวมโดยทำจากบนลงมา ในลักษณะ Curriculum Mapping

                            ในช่วงนั้นอาจารย์ภาคภูมิใจมากในผลงานโดดเด่นของคณะฯ ซึ่งมีมากมาย บุคลากรรุ่นแรกของคณะฯ มีจำนวนน้อย มีการทำงานเป็นทีมอย่างเข้มแข็ง กลมเกลียวกันมากและรับรู้ร่วมกันเพื่อคณะฯ

                            อาจารย์มีความคิดเห็นว่าถ้าคณะฯ ต้องการเน้นคุณภาพของบัณฑิตก็ต้องสนับสนุนเรื่องการศึกษาและผู้รับผิดชอบต้องมีความรู้ในด้านนี้