เวชระเบียนเล่มแรก หมายเลข HN 000 00 01


  เวชระเบียนเล่มแรก หมายเลข HN 000 00 01
 

         คำว่า “เวชระเบียน” กำเนิดที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี โดยการเสนอของรองศาสตราจารย์นายแพทย์ศิริพัฒน์ วัฒนเกษตร มาจากคำว่า “เวช” บวกกับคำว่า “ระเบียน” และเป็นที่รับรองให้ใช้โดยคณะกรรมการของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ต่อมาเวชระเบียน เป็นหนังสือราชการซึ่งออกให้ผู้ป่วยแต่ละรายที่มารับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลรามาธิบดี ประกอบด้วยบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับประวัติการเจ็บป่วย สิ่งตรวจพบ การวินิจฉัย การรักษา ตลอดจนการดำเนินโรคของผู้ป่วย เพื่อที่จะให้แพทย์ได้ทราบถึงข้อมูลเกี่ยวกับผู้ป่วยทั้งในขณะที่เป็นผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอกไปด้วยกัน “เวชระเบียน” ของผู้ป่วยโรงพยาบาลรามาธิบดีจึงมีข้อมูลของผู้ป่วยแต่ละรายทั้งเมื่อเป็นผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในบรรจุอยู่ในเล่มเดียวกัน ซึ่งแตกต่างไปจากทะเบียนประวัติผู้ป่วยที่ใช้ในโรงเรียนแพทย์อื่นๆ ในขณะนั้น
        จากนโยบายคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีที่ต้องการให้ผู้ป่วยหนึ่งคนมีเวชระเบียนเล่มเดียวตลอด การปฏิบัติงานเวชระเบียนจึงใช้ระบบ centralization มีการลำดับหมายเลขประจำตัวผู้ป่วยจากน้อยไปหามาก มีการติดแถบสีบนเล่มเวชระเบียนเพื่อเป็นประโยชน์ในการจัดต่อไป วันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2512 เวลา 15.00 น. เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรได้เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และเริ่มเปิดบริการผู้ป่วยอย่างเป็นทางการในวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2512 ผู้ป่วยคนแรก คือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุธีรา อายุวัฒน์ ได้หมายเลขเวชระเบียน เป็น HN 000 00 01 ซึ่งได้รับหมายเลขโดยบังเอิญ  สืบเนื่องจากคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เป็นโรงพยาบาลที่ทันสมัยมากในสมัยนั้น ดังนั้นจึงเป็นที่สนใจของผู้ป่วยที่จะเข้ามารับการรักษารวมถึงความประสงค์ที่จะเป็นผู้ป่วยคนแรกของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ทั้งนี้รวมถึงบุคลากรของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เอง ....
        ข้อมูลจากประวัติคำบอกเล่า ของ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล (อาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาโสต ศอ นาสิก ลาริงซ์วิทยา นับเป็นคนแรกของประเทศไทย ที่สำเร็จวิชา Audiology and Speech Pathology จากประเทศสหรัฐอเมริกา (M.A. Communication Disorders , Temple University, U.S.A) และเป็นอาจารย์คนแรกที่บรรจุเข้ามารับราชการอย่างเป็นทางการที่หน่วย หู คอ จมูก คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2511) เล่าว่า “ ... 1 วัน ก่อนโรงพยาบาลเปิด จะมีคนมาลงทะเบียน มีหัวหน้าพยาบาลคนหนึ่ง ได้หมายเลขแรกไป .... ส่วนผมได้หมายเลขเจ็ดสิบกว่าๆ ... ” และจากการบอกเล่าของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สุธีรา อายุวัฒน์ มีดังนี้ “ … พอดีไปทำฟัน คุณหมอเจือจันทร์ แจ้งมาว่า ก่อนจะทำฟัน ..... เธอต้องไปเอาเวชระเบียนมาเสียก่อน ฉันจึงจะทำให้  เลยเดินไปทำ ... ก็เป็นที่มาของการได้เบอร์ 1 ”
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สุธีรา อายุวัฒน์ ยังคงใช้ เวชระเบียนเล่มนี้ จนกระทั่งวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2553 คณะทำงานหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์รามาธิบดี ติดต่อผู้ช่วยศาสตราจารย์ สุธีรา อายุวัฒน์ เพื่อขอนำเวชระเบียนของท่านซึ่งเป็นเวชระเบียนหมายเลขแรกของโรงพยาบาลรามาธิบดีไปจัดแสดงใน “งานรักษ์รามาธิบดี ครั้งที่ 1” วันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2553 – วันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2553 ณ ห้องท่านผู้หญิงวิระยา เชาวกุล คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะที่เป็นเวชระเบียนหมายเลขแรกของโรงพยาบาลรามาธิบดีผู้ช่วยศาสตราจารย์ สุธีรา อายุวัฒน์ จึงยินดีที่จะมอบเฉพาะปกเวชระเบียนเล่มนี้ให้เก็บไว้ในหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์รามาธิบดีเท่านั้น (เพราะรายละเอียดในเล่มนั้นเปิดเผยต่อสาธารณชนไม่ได้)