สูจิบัตรในวโรกาสพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนิน ทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์อาคาร สิริกิติ์ ศูนย์การแพทย์สิริกิติ์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามา


        สูจิบัตรในวโรกาสพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนิน ทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์อาคาร สิริกิติ์ ศูนย์การแพทย์สิริกิติ์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามา

 

        อาคารศูนย์การแพทย์สิริกิติ์มีเนื้อที่ใช้สอย 200 ตารางเมตร สูง 9 ชั้น ได้รับงบประมาณค่าก่อสร้างจากรัฐบาลเป็นบางส่วน สมทบทุนกับเงินรายได้คณะฯ และเงินที่มีผู้จิตศรัทธาบริจาค ได้เริ่มดำเนินการก่อสร้าง เมื่อวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2533 แล้วเสร็จใน พ.ศ. 2535 นอกจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงจะทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญพระนามนามาภิไธยเป็นนามของศูนย์การแพทย์นี้แล้ว ยังทรงรับโครงการหาทุนต่างๆ ไว้ในพระบรมราชินูปถัมภ์ด้วย ได้พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์สมทบทุนสร้างอาคารเสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานงานแสดงต่างๆ อีกทั้งโปรดเกล้าให้ ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เป็นองค์ประธานงานคอนเสิร์ต 2 ทศวรรษรามาธิบดีในการรณรงค์หาทุนก่อสร้างศูนย์การแพทย์สิริกิติ์อีกด้วย
        สูจิบัตรเป็นปกแข็งสีขาวล้วน ใบหุ้มหนังสือ (Book jacket) เป็นพื้นสีขาว มีพระฉายาทิสลักษณ์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงครึ่งพระองค์ พร้อมด้วยลายพระนามาภิไทยสีทองของพระองค์ อยู่เหนือภาพอาคารศูนย์การแพทย์สิริกิติ์   สูจิบัตรกว้าง 19 เซนติเมตร สูง 25 เซนติเมตร หนา 1.5 เซนติเมตร ปกในมีข้อความตัวอักษรสีทอง ดังนี้ “สูจิบัตรในวโรกาส เสด็จพระราชดำเนิน ทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารสิริกิติ์ ศูนย์การแพทย์สิริกิติ์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล” ด้านในเป็นพระฉายาลักษณ์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงทรงชุดราตรียาวสีน้ำเงิน ออกแบบโดยห้องเสื้อบัลแมง ตัดเย็บจากผ้าไหม ปักประดับด้วยเพชรเทียม ดิ้นเงิน และลูกปัด พร้อมด้วยหมายกำหนดการ ดังนี้ “สูจิบัตรในวโรกาสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนิน ทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารสิริกิติ์ ศูนย์การแพทย์สิริกิติ์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี วันศุกร์ที่ 11 พฤษภาคม 2534 เวลา 17.29 – 17.59”  หน้าต่อมาเป็นสาส์นจากบุคคลสำคัญ ดังนี้ ประธานคณะกรรมการกลางมูลนิธิรามาธิบดี พลเอกสุจินดา คราประยูร ประธานคณะกรรมการบริหารมูลนิธิรามาธิบดี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี พร้อมด้วยรายนามคณะกรรมการกลางของมูลนิธิรามาธิบดี รายนามคณะกรรมการอำนวยการงานวางศิลาฤกษ์ ฯ และรายนามคณะกรรมการดำเนินการงานวางศิลาฤกษ์ฯ
        แบ่งเนื้อหาภายในเล่มเป็นส่วนๆ ดังนี้
        ส่วนที่ 1 ก่อนจะเป็นศูนย์การแพทย์สิริกิติ์ เป็นประวัติและความเป็นมาของการสร้างอาคารศูนย์การแพทย์สิริกิติ์และภาพวาดของอาคารศูนย์การแพทย์สิริกิติ์   
        ส่วนที่ 2 ใน ... ศูนย์การแพทย์สิริกิติ์   เป็นแปลนของแต่ละชั้นในอาคารศูนย์การแพทย์สิริกิติ์ทั้ง 9 ชั้น พร้อมทั้งโครงการต่างๆ ที่ตั้งอยู่ในชั้นต่างๆ
        ส่วนที่ 3 เพื่อ ... ศูนย์การแพทย์สิริกิติ์  เป็นรูปและคำบรรยายเกี่ยวกับการระดมทุนในวาระต่างๆ เช่น การจัดงานแสดงนิทรรศการเพชรบุลการี เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2553 ณ โรงแรมดุสิตธานี ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี  เสด็จเป็นองค์ประธานคอนเสิร์ต 2 ทศวรรษรามาธิบดี ณ ห้องบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลพลาซา ในวันที่ 30 มีนาคม 2532 โดยมี พลเอกสุจินดา คราประยูร และคุณหญิงพัชรี ว่องไพฑูรย์ เป็นประธานและรองประธานจัดงาน พิธีพุทธาภิเษกพระศาสดาภปร. โดยสมเด็จพระสังฆราชทรงเป็นองค์ประธานอุปการะฝ่ายบรรพชิตและ ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ องคมนตรีและรัฐบุรุษ เป็นประธานกรรมการอำนวยการฝ่ายฆราวาส เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2532 ณ พระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร โครงการคืนสู่บ้านเกิดสำหรับเด็กที่เกิด ณ โรงพยาบาลรามาธิบดี ในรอบ 19 ปีที่ผ่านมา จัดขึ้นในวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2531 นับเป็นกิจกรรมแรกที่ชาวรามาธิบดีร่วมแรงร่วมใจจัดขึ้น เพื่อนำรายได้สมทบทุนสร้างศูนย์การแพทย์สิริกิติ์ ในงานนี้มีการตรวจสุขภาพเด็กตรวจหมู่เลือด ทดสอบระดับเชาว์ปัญญา และพัฒนาการเด็ก ให้คำปรึกษาสุขภาพจิต โรคหัวใจ และโรคระบบประสาท นำชมสถานที่เกิดห้องคลอดรามาธิบดี และมอบประกาศนียบัตรแก่ “ลูกรามาธิบดี” ชมการผ่าตัดจริงที่ศัลยกรรมกระดูก และห้องผ่าตัดจำลอง ถ่ายภาพตามสถานที่ต่างๆ ในโรงพยาบาลร่วมกับดารา การละเล่น และขายสินค้าราคาถูก ประกวดร้องเพลง วาดภาพ รายการแสดงของเด็ก การอภิปรายและแนวการสอบเข้ามหาวิทยาลัยสายวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตลอดจนนิทรรศการทางการแพทย์เกี่ยวกับเด็ก การแข่งขันโบว์ลิ่งการกุศล เมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2532 การแข่งขันกอล์ฟการกุศลชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2532 ณ สนามกอล์ฟทหารบก บางเขน โดยมี พลเอกพิจิตร กุลละวณิชย์ เป็นประธานจัดงาน และพลอากาศโท นายแพทย์ประกอบ บุรพรัตน์ เป็นรองประธาน อักทั้งมีการแข่งขันโบว์ลิ่งการกุศล มีพลเอกเทียนชัย ศิริสัมพันธ์ เป็นประธาน  นอกจากนี้ยังมีงานมหกรรมการแสดงช้างแสนรู้ จัดโดยการพยาบาลแผนกสูติศาสตร์นรีเวชวิทยา ภาควิชาพยาบาลศาสตร์ และบริษัทฟาร์มช้างจำกัดรัชดาภิเษก เมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2532 และยังมีกิจกรรมดีๆ คือ บริษัทคาลเท็กซ์เพื่อศูนย์การแพทย์สิริกิติ์ โดยศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ รับเงินจากการเติมน้ำมันการกุศลจากคุณสุขวิช รังสิตพล ประธานและกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัทน้ำมันคาลเท็กซ์ (ไทย) ณ ห้องนภาลัย โรงแรมดุสิตธานี เมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2532 และสมาคมศิษย์เก่ารังสีเทคนิครามาธิบดีจัดการแข่งขันนกเขาเพื่อศูนย์การแพทย์สิริกิติ์ ณ สนามกุญชร เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2532 รวมทั้งงานแสดงภาพเขียนสีน้ำมันของแพทย์หญิงพันทิวา สินรัชตานันท์ ณ โรงแรมมณเฑียร วันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2532 และยังมีงานเดินวิ่งการกุศลเฉลิมพระเกียรติวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2533 พลเอกสุจินดา คราประยูร เป็นประธานจัดงาน งานเย็บปักถักร้อย Totsuka วันที่ 4 - 5 ธันวาคม พ.ศ. 2533 ณ โรงแรมรีเจนท์ มีคุณหญิงวิริยา ชวกุล เป็นประธานจัดงาน นอกจากนี้ยังมีงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงจัดขึ้นในเดือนธันวาคมและเดือนสิงหาคมเป็นประจำทุกปี งานนี้มีนิทรรศการและพระราชกรณียกิจของพระองค์มีการขายสินค้าราคาถูก ตรวจสุขภาพงานบันเทิง รับบริจาคโลหิตอวัยวะและทุนทรัพย์จากชาวสหกรณ์สามล้อรัตนโกสินทร์ และมูลนิธิรามาธิบดีได้รับความร่วมมือจากกองกษาปณ์ กรมธนารักษ์ จัดทำเหรียญที่ระลึกโลหะชุบทอง โดยด้านหน้าเป็นพระบรมรูปสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ด้านหลังเป็นรูปอาคารศูนย์การแพทย์สิริกิติ์ อัดกรอบพลาสติก วางอยู่บนตั่งขาสิงห์โลหะชุบทอง นอกจากนี้ยังมีโครงการอื่นๆ อีกมากมาย โดยเริ่มจัดตั้งแต่ พ.ศ. 2531 จนถึง พ.ศ. 2534 
        ส่วนสุดท้ายของสูจิบัตร เป็นรายพระนามและนามผู้บริจาคสมทบทุนสร้างอาคารศูนย์การแพทย์สิริกิติ์ ซึ่งเริ่มต้นด้วยรายนามของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ พร้อมด้วย อาจารย์อังคาร กัลยาณพงศ์ ได้เขียนบทประพันธ์ไว้ในหัวข้อ แด่เพื่อนมนุษย์ จำนวน 4 หน้า ลงวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2534