ครม.อนุมัติ ‘เจ็บป่วยฉุกเฉิน’ เข้าได้ทุก รพ.ใน 72 ชม.แรก

   ข่าวสารประชาสัมพันธ์  (ดูทั้งหมด)

ครม.เห็นชอบให้ทุก รพ.รับรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินภายใน 72 ชม. เก็บเงินตามบัญชีค่าใช้จ่ายที่กำหนด หากมีสิทธิตาม กม.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ หรือ กม.ว่าด้วยการประกันชีวิตให้ใช้สิทธินั้นก่อน หลังจากนั้นส่งต่อ รพ.ตามสิทธิที่ผู้ป่วยมีอยู่ เตรียมแถลง 31 มี.ค.นี้รับช่วงเทศกาลสงกรานต์

เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ครม.มีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ดังนี้
1. เห็นชอบหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ทั้งนี้ ในกรณีที่ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตมีสิทธิได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถหรือตามกฎหมายว่าด้วยการประกันชีวิตให้ใช้สิทธิดังกล่าวก่อน และให้สถานพยาบาลภาครัฐทุกแห่งปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ฯ และให้สถานพยาบาลภาครัฐรับย้ายผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตหลังเวลา 72 ชั่วโมง ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ
2. ให้กระทรวงการคลัง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานประกันสังคม หน่วยงานของรัฐ และกองทุนต่าง ๆ ที่มีวัตถุประสงค์ที่เกี่ยวข้องกับการจัดบริการด้านการแพทย์หรือสาธารณสุข ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ฯ และค่าใช้จ่ายในอัตราตามบัญชีและอัตราค่าใช้จ่ายแนบท้ายหลักเกณฑ์ฯ สธ.เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับกระทรวงการคลัง กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการเพื่อให้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎ ระเบียบของหน่วยงาน/กองทุนต่าง ๆ โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้รองรับการจ่ายเงินคืนแก่สถานพยาบาลตามหลักเกณฑ์ได้ โดยเร็วต่อไป
3. หากมีการทบทวนปรับปรุงบัญชีและอัตราค่าใช้จ่าย ตามข้อ 12 ของหลักเกณฑ์ฯ ให้ สธ.นำเรื่องเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้เป็นไปตามนัยมาตรา 36 วรรค 5 แห่งพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 ต่อไป
4. ในส่วนที่ขอความเห็นชอบให้สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติดำเนินการตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวเพื่อทำหน้าที่บริหารจัดการการแพทย์ฉุกเฉินทั้งระบบเพื่อให้เกิดความร่วมมือในการปฏิบัติงานด้านการแพทย์ฉุกเฉินร่วมกันทั้งภาครัฐและเอกชนนั้น ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขรับไปดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้
1. กำหนดให้สถานพยาบาลมีหน้าที่ให้การรักษาพยาบาลผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต เพื่อให้พ้นจากอันตรายตามมาตรฐานวิชาชีพและขีดความสามารถของสถานพยาบาล โดยไม่มีเงื่อนไขการเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาล และกำหนดให้สถานพยาบาลมีหน้าที่แจ้งต่อกองทุนของผู้มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาล ตามกฎหมาย หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบโดยเร็ว
2. กำหนดให้ศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (สพฉ.) เป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการวินิจฉัยในการคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต
3. กำหนดให้สถานพยาบาลมีหน้าที่ดูแลรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต จนพ้นภาวะวิกฤต รวมถึงการจัดให้มีระบบการส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตไปยังสถานพยาบาลอื่น ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องส่งต่อ หรือผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตหรือญาติมีความประสงค์
4. กำหนดอัตราค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานับตั้งแต่รับผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตจนถึงเวลา 72 ชั่วโมง ซึ่งสถานพยาบาลจะได้รับให้เป็นไปตามบัญชีและอัตราค่าใช้จ่ายแนบท้าย ส่วนค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นหลังเวลา 72 ชั่วโมง นับตั้งแต่รับผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ให้สถานพยาบาลเรียกเก็บไปที่กองทุนของผู้มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลตามกฎหมายหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
5. กำหนดให้ สปสช. มีหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องและสรุปค่าใช้จ่ายพร้อมทั้งแจ้งให้กองทุนของผู้มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลตามกฎหมายหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบ ภายใน 30 วันนับจากวันที่ได้รับเอกสารครบถ้วน และให้กองทุนของผู้มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลตามกฎหมายหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จ่ายค่าใช้จ่ายตามอัตราที่กำหนดไว้ในบัญชีแนบท้ายให้แก่สถานพยาบาลภายใน 15 วัน นับจากวันที่ สปสช.แจ้งผลการตรวจสอบและสรุปค่าใช้จ่าย
6. กำหนดหลักเกณฑ์ค่าใช้จ่ายที่สถานพยาบาลจะได้รับ ในกรณีที่มีการส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตจากสถานพยาบาลแห่งหนึ่งไปยังสถานพยาบาลแห่งที่สอง ภายในเวลาก่อนครบ 72 ชั่วโมง นับแต่ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตเข้ารับการรักษาที่สถานพยาบาลแห่งที่หนึ่ง                   
7. กำหนดให้ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่เกิดขึ้น ในกรณีที่ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตสามารถย้ายสถานพยาบาลได้แต่ปฏิเสธไม่ขอย้าย
8. ในกรณีมีความจำเป็น ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสถานพยาบาล ดำเนินการทบทวนปรับปรุงบัญชีและอัตราตามบัญชีแนบท้ายหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขนี้ ภายใน 3 ปีหรือตามที่คณะกรรมการสถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาลเห็นสมควร เพื่อให้มีความเหมาะสมโดยคำนึงถึงประโยชน์ที่ผู้ป่วยฉุกเฉินจะได้รับเป็นสำคัญ
ทั้งนี้ บัญชีและอัตราค่าใช้จ่ายแนบท้ายหลักเกณฑ์ แบ่งออกเป็น 12 หมวดสรุปสาระสำคัญดังนี้

หมวด

 

รายการ

รายละเอียด/ตัวอย่าง

1

ค่าห้องและค่าอาหาร

เช่น ค่าเตียงสามัญ เบิกได้ไม่เกิน 100 บาท

ค่าหอผู้ป่วยวิกฤต

 

2

ค่าอวัยวะเทียมและ อุปกรณ์บำบัดโรค

เช่น เยื่อหุ้มสมองเทียม แผ่นละ 9,000 บาท

ลิ้นหัวใจเทียมชนิดลูกบอล อันละ 29,000 บาท ชุดสายยางและปอดเทียมชุดละ 80,000 บาท

3

ค่ายาและสารอาหารทางเส้นเลือด

 

กำหนดเป็นราคาแยกรายตัวยา ซึ่งเป็นราคาเฉลี่ยที่อ้างอิงข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลข่าวสารด้านเวชภัณฑ์ สธ. และราคายาของกรมบัญชีกลาง

4

ค่าเวชภัณฑ์ที่มิใช่ยา

5

ค่าบริการโลหิตและส่วนประกอบ

ของโลหิต

หมายถึง ค่าจัดการบริการให้โลหิตหรือส่วนประกอบของโลหิตโดยรวมค่าอุปกรณ์บรรจุ น้ำยาที่ใช้การเตรียมการตรวจทางเทคนิค

6

ค่าตรวจวินิจฉัยทางเทคนิคการแพทย์

เช่น ค่าตรวจน้ำตาลในเลือด ค่าตรวจปัสสวะ โดยรวมค่าน้ำยาและวัสดุสิ้นเปลือง ค่าอุปกรณ์

7

ค่าตรวจวินิจฉัยและรักษาทาง

รังสีวิทยา

เช่น ภาพถ่ายเอ็กซ์เรย์ แผ่นละ 300 บาท

อัลตราซาวด์ครั้งละ 1,150 บาท MRI สมอง ครั้งละ 8,000 บาท

8

ค่าตรวจวินิจฉัยโดยวิธีพิเศษอื่น ๆ

เช่น การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้านแบบสามมิติ ครั้งละ 3,600 บาท

9

ค่าทำหัตถการ

เช่น ห้องผ่าตัดใหญ่ ชั่วโมงละ 2,400 บาท

10

ค่าบริการวิสัญญี

หมายถึง ค่าบริการระงับความรู้สึกเจ็บปวด

ของคนไข้ก่อนผ่าตัด

11

ค่าบริการวิชาชีพ

เช่น ค่าบริการทางการแพทย์ ค่าบริการเภสัชกร

ค่าบริการพยาบาล

12

ค่าบริการอื่น ๆ

ได้แก่ ค่าบริการรถฉุกเฉิน ครั้งละ 700 บาท

ค่าน้ำมันรถ 4 บาท/กม.

ทั้งนี้ เว็บไซต์ไทยรัฐ รายงานว่า นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการส่งผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอโดยที่ประชุม ครม.ได้อนุมัติในหลักการว่าการเจ็บป่วยฉุกเฉินภายใน 72 ชั่วโมงสามารถเข้ารับการรักษาได้ทุกโรงพยาบาล ไม่ว่าจะเป็นของรัฐและเอกชน จากนั้นจะส่งต่อไปยังโรงพยาบาลตามสิทธิที่ผู้ป่วยมีอยู่ ซึ่งในส่วนของโรงพยาบาลภาครัฐขนาดใหญ่ในกรุงเทพฯหรือแม้แต่โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงกลาโหม พร้อมรับผู้ป่วยฉุกเฉินตลอด

ขอบคุณข่าวจาก Hfocus