งานแก้ไขด้านการได้ยิน

ภาควิชาวิทยาศาสตร์สื่อความหมายและความผิดปกติของการสื่อความหมาย

การสูญเสียการได้ยิน

การสูญเสียการได้ยิน หมายถึง การบกพร่องในการรับฟังเสียงที่ต่างไปจากความสามารถตามปกติเมื่อเทียบกับมาตรฐานที่กำหนดไว้ ซึ่งการสูญเสียการได้ยินจะแตกต่างกันในกลุ่มอายุและความรุนแรง

 

อาการที่แสดงว่าน่าจะมีปัญหาทางการได้ยิน

ผู้ใหญ่ : ปวดหนักในหู ในรูมีน้ำ ฟังคำไม่รู้ ในหูมีเสียง เอี้ยวเอียงเวียนหัว

เด็ก : พูดช้า พูดไม่ชัด พัฒนาการทางภาษาและการพูดไม่สมวัย ไม่ตอบสนองต่อเสียง

 

เมื่อมีปัญหาดังกล่าวควรไปพบและปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง โสต ศอ นาสิก (หมอหู คอ จมูก) ซึ่งจะทำการตรวจวินิจฉัยเบื้องต้น โดยการซักประวัติ ส่องหู หรือบางครั้งอาจส่งต่อนักแก้ไขการได้ยิน เพื่อทำการตรวจการได้ยินเบื้องต้น


การตรวจการได้ยิน

การตรวจการได้ยินนับว่าเป็นวิธีการหนึ่งที่สำคัญ ซึ่งช่วยในการวินิจฉัยความผิดปกติของระบบการได้ยิน เนื่องจากความผิดปกตินี้จะส่งผลกระทบต่อการสื่อสารในชีวิตประจำวันสำหรับผู้ใหญ่ และพัฒนาการทางด้านภาษา การพูดของเด็ก สามารถบ่งชี้ถึงพยาธิสภาพในหูชั้นนอก หูชั้นกลาง หูชั้นใน และประสาทส่วนกลางได้ ซึ่งการตรวจการได้ยินมีหลายรูปแบบ สามารถจำแนกได้เป็น 3 ประเภท คือ

  1. การตรวจการได้ยินด้วยส้อมเสียง เป็นการตรวจโดยใช้เครื่องมือส้อมเสียงที่มีลักษณะเป็นขาสองขาและมีด้ามสำหรับจับ ทำจากเหล็กหรืออะลูมิเนียม ซึ่งการตรวจการได้ยินวิธีนี้จะทำให้ถูกรบกวนได้ง่ายจากเสียงในสิ่งแวดล้อม โดยการตรวจนี้จะเป็นการตรวจด้วยเสียงบริสุทธิ์ความถี่เดียวจึงเป็นวิธีการตรวจแบบคัดกรอง
  2. การตรวจการได้ยินโดยใช้เสียงบริสุทธิ์ เป็นการตรวจการได้ยินโดยใช้เครื่องมือทางอิเล็กทรอนิกส์ เรียกเครื่องมือนี้ว่า เครื่องตรวจการได้ยิน การตรวจด้วยวิธีนี้จะตรวจเพื่อหาระดับการสูญเสียการได้ยิน หาตำแหน่งของพยาธิสภาพที่ก่อให้เกิดปัญหาทางการได้ยิน
  3. การตรวจการได้ยินโดยใช้คำพูด เป็นการตรวจการได้ยินโดยใช้คำพูดผ่านเครื่องตรวจการได้ยิน เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่มาพบแพทย์จะมีปัญหาการสื่อสารในชีวิตประจำวัน อาจจะได้ยินเสียงพูดเบาลง ได้ยินเสียงไม่ชัดเจน บางครั้งอาจจะรุนแรงถึงไม่ได้ยินเสียงพูด ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการตรวจการได้ยินโดยใช้คำพูดเพื่อนำมาพิจารณาปัญหาในการได้ยินเสียงพูดและการประเมินเพื่อใส่เครื่องช่วยฟังตลอดจนการให้คำแนะนำกับคนไข้

ประเภทของการสูญเสียการได้ยิน

การสูญเสียการได้ยินหรือความบกพร่องทางการได้ยิน จะแบ่งเป็นประเภทได้ตามลักษณะการทำงานในแต่ละส่วนดังนี้

  • การนำเสียงบกพร่อง เป็นภาวะรับฟังเสียงบกพร่องซึ่งเกิดจากโรคหรือพยาธิสภาพที่ทำให้เกิดความผิดปกติที่หูชั้นนอกและหูชั้นกลาง ซึ่งโรคเหล่านี้รักษาให้หายได้ด้วยการรักษาทางยาหรือการผ่าตัด
  • ประสาทรับฟังเสียงบกพร่อง เป็นภาวะที่เกิดความผิดปกติที่หูชั้นใน หรือประสาทรับฟังเสียงทำให้มีความลำบากในการรับฟังเสียง โดยเฉพาะเสียงสนทนา คือ ได้ยินแต่ฟังไม่รู้เรื่อง
  • การรับฟังเสียงบกพร่องแบบผสม เป็นภาวะที่เกิดจากการนำเสียงบกพร่องร่วมกับประสาทรับฟังเสียงบกพร่อง พบในบุคคลที่มีโรคที่ผิดปกติของหูชั้นนอก และ/หรือหูชั้นกลาง ร่วมกับความผิดปกติของหูชั้นใน
  • การรับฟังเสียงบกพร่องจากสมองส่วนกลาง เป็นความบกพร่องของสมองส่วนกลาง ที่ทำให้ผู้ป่วยได้ยินเสียงแต่ไม่สามารถแปลความหมายของสัญญาณเสียงนั้นๆได้ เช่น ผู้ป่วยที่มีโรคหลอดเลือดสมองตีบ แตก หรือตัน
  • การรับฟังเสียงบกพร่องจากสภาวะทางจิตใจ เป็นภาวะที่เกิดจากความผิดปกติทางจิตใจ ไม่ได้เกิดจากสาเหตุทางร่างกาย ในการวินิจฉัยต้องการอาศัยการตรวจโดยเฉพาะ และต้องปรึกษาแผนกจิตเวชเพื่อการรักษา

สาเหตุของการสูญเสียการได้ยิน

สาเหตุของการสูญเสียการได้ยินมีมากมาย เช่น จากโรค พยาธิสภาพภายหลัง/แรกเกิด อุบัติเหตุ ตามอายุที่มากขึ้น และการรักษาโรคด้วยยาหรือเคมีบำบัด แล้วนั้นยังมีการสูญเสียการได้ยินอีกสาเหตุหนึ่งมาจากการทำงานในที่มีเสียงดังอีกด้วย ผลกระทบของเสียงดังที่มีต่อการได้ยินมีหลายด้าน เช่น ก่อให้เกิดความรำคาญ ลดประสิทธิภาพในการทำงาน ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของอัตราการเต้นของหัวใจและความดันเลือดความกดดันทางด้านจิตใจรบกวนความเข้าใจในการฟังคำพูด รบกวนการนอนหลับ และสิ่งสำคัญก่อให้เกิดการสูญเสียการได้ยิน (โยธิน รอดทองและศิริพันธ์ ศรีวันยงค์ 152 ) โดยทั่วไปผลกระทบของเสียงดังที่ก่อให้เกิดการสูญเสียการได้ยินสามารถแบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ

  • การสูญเสียการได้ยินแบบชั่วคราว เกิดจากการรับฟังเสียงที่สม่ำเสมอเกินกว่า 75 dBA ขึ้นไป โดยมีความรุนแรงต่างๆกัน ตั้งแต่สูญเสียการได้ยินเพียงเล็กน้อยจนถึงก่อให้เกิดอาการหูหนวก หรือหูอื้อชั่วคราว แต่เมื่ออกไปพ้นจากเสียงดังแล้ว ระดับการได้ยินจะคืนสู่ระดับเดิม โดยอาศัยระยะเวลาประมาณ 2-3 นาที ไปจนถึงหลายอาทิตย์
  • การสูญเสียการได้ยินแบบถาวร เกิดจากการได้ยินเสียงดังเป็นระยะเวลานานเป็นปีๆ ซึ่งเกิดได้จากปัจจัยทางระดับความดัง ช่วงความถี่ของเสียง หรือระยะเวลาที่ได้ยินเสียงดัง เช่น เป็นวัน เดือน หรือปี ดังนั้นการป้องกันการสูญเสียการได้ยินจากการทำงานในที่มีเสียงดังควรมีนโยบายหรือวิธีการเพื่อดูแลและรักษาระดับการได้ยินให้แก่ผู้สัมผัสเสียงดงซึ่งเรียกว่า การอนุรักษ์การได้ยิน โดยกระบวนการอนุรักษ์การได้ยินมีกระบวนการและขั้นตอน ดังนี้
  1. การสำรวจเสียง เป็นการวัดปริมาณเสียงในสถานที่นั้นๆ ด้วยเครื่องวัดเสียง
  2. การควบคุมเสียง เป็นวิธีการลดการสัมผัสเสียงดังจากแหล่งกำเนิดเสียง เช่น การเลือกอุปกรณ์การทำงานที่มีเสียงน้อยที่สุด การสร้างเครื่องกีดกั้นเสียง การ สับเปลี่ยนเวลาการทำงาน เป็นต้น
  3. การตรวจการได้ยินและการให้คำแนะนำเรื่องการสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันเสียง

ระดับการสูญเสียการได้ยิน

ในทางการแพทย์จะแบ่งระดับการสูญเสียการได้ยินที่ผลต่อความสามารถในการรับฟังเสียงพูดออกเป็น 6 ระดับ ดังนี้

ระดับการได้ยิน ความสามารถในการฟัง
ปกติ ไม่ลำบากในการฟังเสียงพูด
หูตึงเล็กน้อย ไม่ได้ยินเสียงพูดเบาๆ
หูตึงปานกลาง พอเข้าใจคำพูดในระดับความดัง ปกติในระยะ 3-5 ฟุต
หูตึงมาก ต้องพูดเสียงดังๆจึงจะเข้าใจ และมี ความลำบากในการฟังขณะอยู่ใน ที่จอแจ
หูตึงรุนแรง ได้ยินเสียงตะโกนในระยะ 1 ฟุต แต่ไม่เข้าใจ
หูหนวก เสียงตะโกนไม่ได้ยิน

 

ดังนั้นหูกับการได้ยินของคนเราจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมากในการดำรงชีวิตและการสื่อสาร พูดคุย รวมทั้งสื่อความหมาย หากคนเราไม่มีการดูแล รักษา หูและการได้ยินไว้ จะทำให้การใช้ชีวิตผิดปกติและลำบากมากขึ้นเนื่องจากมีการสื่อสารที่ไม่สมบูรณ์ เพราะฉะนั้นเราจึงควรให้ความสำคัญและตระหนังถึงหน้าที่ สาเหตุ รวมทั้งการป้องกันการสูญเสียการได้ยิน เพื่อให้เราสามารถดำรงชีวิตอย่างเป็นสุขตลอดไป