นิตยสารทุกฉบับ
รวมนิตยสาร
บทความประจำ
เลือกดูบทความจากทุกเล่ม
ค้นหาบทความ
ค้นหาจากหัวข้อ

นาทีฉุกเฉิน นาทีชีวิต

Volume
ฉบับที่ 51 เดือนมกราคม 2567
Column
Behind the Scene
Writer Name
นายอับดุลวาเฮด เหมสงวน หน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ โรงพยาบาลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์ สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์

ผมเป็นนักฉุกเฉินการแพทย์ หรือที่เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า Paramedic ปฏิบัติงานที่หน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ โรงพยาบาลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์ ห้องทำงานของผมคือ รถพยาบาลฉุกเฉิน หรือที่ใคร ๆ หลายคนเรียกว่า รถ AMBULANCE การทำงานในแต่ละวัน ผมจะออกไปกับรถพยาบาลเพื่อไปดูแลรักษาผู้ป่วยหรือผู้บาดเจ็บฉุกเฉิน ณ จุดเกิดเหตุและส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลที่เหมาะสมกับอาการของผู้ป่วยนั้น ๆ

วันที่ 5 มกราคม 2566 เวลาเที่ยงคืน ณ โรงพยาบาลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์ สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ เสียงวิทยุสื่อสารของการแจ้งเหตุฉุกเฉินได้ดังขึ้น “กู้ชีพนฤบดินทร์” นามเรียกขานของหน่วยงานเราในระบบการแพทย์ฉุกเฉินของจังหวัดสมุทรปราการ พวกเราทุกคนตื่นตัวในทันทีเพื่อเตรียมรับสั่งการให้ทีมของเราออกปฏิบัติการรับผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตที่บ้าน สิ้นเสียงเอ่ยเรียก ทุกกิจกรรมในห้องหยุดชะงักลง ทุกคนในหน่วยนั่งฟังสรุปเหตุการณ์ที่ต้องออกไปอย่างตั้งใจ พนักงานวิทยุสื่อสารรีบขานรับอย่างรวดเร็ว

 “กู้ชีพนฤบดินทร์ ว.2 เปลี่ยน” พนักงานวิทยุประจำหน่วยขานรับในทันที

 “ให้กู้ชีพนฤบดินทร์ออกรับเคสผู้ป่วยหญิง อายุ 64 ปี มีโรคประจำตัวเป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคไตระยะที่ 3 หัวใจโต รับแจ้งว่ามีอาการหายใจไม่ออก” ศูนย์สั่งการรายงานข้อมูลผู้ป่วย

สิ้นเสียงการสั่งการเหตุฉุกเฉินทางการแพทย์ ทีมปฏิบัติการลุกขึ้นอย่างพร้อมเพรียงกัน วิ่งไปหยิบอุปกรณ์ เครื่องมือแพทย์ที่ตนเองรับผิดชอบ ขึ้นรถพยาบาลอย่างรวดเร็ว 

รถพยาบาลฉุกเฉินพร้อมกับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการฉุกเฉินนอกโรงพยาบาล ฝ่าความมืดและความขรุขระของถนน มุ่งตรงไปยังจุดเกิดเหตุ ท่ามกลางความมืดและเงียบสงัดของสองข้างถนน ตลอดทางผมรวบรวมความรู้ที่มีอยู่พร้อมกับทบทวนถึงอาการของผู้ป่วยเพื่อวางแผนการรักษา “เหนื่อยมากขนาดไหนนะ  ความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือดผู้ป่วยเหลือเท่าไร ผู้ป่วยยังรู้สึกตัวดีหรือเปล่า” ผมได้แต่ภาวนาไม่ให้อาการของผู้ป่วยแย่ลงไปกว่านี้

รถพยาบาลฉุกเฉินเลี้ยวเข้าซอยแคบ สองข้างทางเต็มไปด้วยรถที่จอดอยู่ พนักงานขับรถต้องใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างมาก เมื่อถึงจุดเกิดเหตุ เสียงแรกที่ได้ยินคือเสียงสุนัขที่เห่าดังอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับญาติที่ยืนรออยู่หน้าบ้าน บ้านของผู้ป่วยเป็นจุดที่รถพยาบาลไม่สามารถเข้าถึงได้ ต้องเดินเท้าเข้าไปในชุมชนริมคลองอีกราว 200 เมตร ผมและทีมปฏิบัติการต้องขนอุปกรณ์ทางการแพทย์และเครื่องมือแพทย์ไปยังจุดเกิดเหตุ 

แรกพบสิ่งที่ผมเห็น คือ ผู้ป่วยหญิงสูงอายุ นั่งหายใจหอบเหนื่อยอย่างรุนแรงอยู่บนเก้าอี้ในบ้าน ผมที่เป็นหัวหน้าทีมปฏิบัติการได้เข้าไปตรวจประเมินผู้ป่วยอย่างรวดเร็ว แรกรับผู้ป่วยรู้สึกตัวดี ถามตอบรู้เรื่อง แต่มีอาการหายใจหอบเหนื่อยอย่างรุนแรง นับอัตราหายใจของผู้ป่วยได้ประมาณ 40 ครั้งต่อนาที ซึ่งมากกว่าการหายใจของคนทั่วไปถึงสองเท่า วัดค่าความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือดผู้ป่วยได้เพียง 80 - 85%  อาการของผู้ป่วยวิกฤตุรุนแรงมากกว่าที่ผมคิดไว้เยอะ ต้องรีบให้การช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน หากช้าไปกว่านี้ผู้ป่วยอาจจะถึงขั้นหยุดหายใจและเสียชีวิตได้ จึงได้สั่งการให้ทีมรีบให้ออกซิเจนกับผู้ป่วยโดยการครอบหน้ากากออกซิเจน (O2 mask with bag) พร้อมเปิดให้ออกซิเจนไหล 10 ลิตรต่อนาที (Flow Oxygen 10 L/min) ให้กับผู้ป่วย พร้อมทั้งติดตามสัญญาณชีพของผู้ป่วยทุกตัวอย่างใกล้ชิด พร้อมรายงานข้อมูลผู้ป่วยกลับมายังโรงพยาบาล เพื่อวางแผนการรักษาของผู้ป่วยต่อไป ผมได้ทำการตรวจร่างกายและซักประวัติเพิ่มเติม พบว่า ผู้ป่วยมีเสียงปอดที่ผิดปกติ มีอาการแน่นท้องมากขึ้น ขาบวมมากขึ้นทั้งสองข้าง นอนราบไม่ได้ ต้องนอนหัวสูง 

แม้จะให้ออกซิเจนและพ่นยาขยายหลอดลมให้กับผู้ป่วยแล้ว แต่อาการของผู้ป่วยไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น แพทย์จากโรงพยาบาลจึงได้คุยแผนการรักษากับญาติของผู้ป่วยผ่านระบบสื่อสารวิทยุ “ถ้าอาการเหนื่อยไม่ลดลง ผู้ป่วยเสี่ยงต่อภาวะหยุดหายใจและหัวใจหยุดเต้นได้ อาจจะต้องใส่ท่อช่วยหายใจ”

เมื่อญาติได้ยินการแนะนำดังนั้น ใบหน้าของญาติเต็มไปด้วยความวิตกกังวล ผมได้เดินเข้าไปหาญาติผู้ป่วย อธิบายให้ฟังเพิ่มเติมและให้กำลังใจกับญาติผู้ป่วย พร้อมกับผู้ป่วยตกลงที่จะใส่ท่อช่วยหายใจ

ผมได้สั่งการให้ทีมปฏิบัติการรีบทำการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยออกจากจุดเกิดเหตุ ไปยังรถพยาบาลเพื่อทำการใส่ท่อช่วยหายใจ สิ่งที่ผมกังวลมากที่สุด คือ ผมเป็นผู้ที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจให้กับผู้ป่วย แต่ผู้ป่วยนอนราบไม่ได้ต้องนั่งตลอดเวลา เพราะนอนแล้วแน่นหน้าอกกว่าเดิม ผมต้องใส่ท่อช่วยหายใจผู้ป่วยท่านั่งเท่านั้น !!!!!!!  ผมทำงานมา 3 ปีกว่า ๆ ใส่ท่อช่วยหายใจไปแล้วหลายเคส แต่เคสนี้ทำให้กลัวและกังวลมากที่สุด จากประสบการณ์การทำงานตลอด 3 ปีที่ผ่านมา เคยเห็นอาจารย์แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉินใส่ท่อช่วยหายใจผู้ป่วยในท่าที่คนไข้นั่งอยู่ ผมแค่เคยเห็นและเคยช่วยใส่ แต่ไม่เคยได้ใส่เอง ผมตีกับความคิดตัวเองอยู่สักพัก ถึงความไม่มั่นใจในการใส่ท่อช่วยหายใจในท่านั่ง ในใจมีแต่ความกังวล คิดอยู่ตลอดว่า “จะทำได้มั้ย แล้วถ้าทำไม่ได้ผู้ป่วยจะเป็นอย่างไร”

เมื่อทีมเคลื่อนย้ายผู้ป่วยถึงรถพยาบาล สิ่งแรกที่ผมทำ คือ การรวบรวมสติของตนเอง สั่งการให้ลูกทีมติดเครื่องติดตามสัญญาณชีพและติดตามคลื่นไฟฟ้าหัวใจกับผู้ป่วย เตรียมอุปกรณ์ใส่ท่อช่วยหายใจและอุปกรณ์ฉุกเฉินอื่น ๆ ให้พร้อม ออกซิเจน 100% กับผู้ป่วยผ่านอุปกรณ์ช่วยหายใจมือบีบ (Bag mask ventilation) และให้ลูกทีมที่ดูแลเกี่ยวกับการให้ยาและสารน้ำกับผู้ป่วย เตรียมยาฉีดเพื่อให้ผู้ป่วยหลับ หลังเตรียมทุกอย่างทุกขั้นตอนอย่างใจเย็นให้ทุกอย่างพร้อม จึงได้สั่งการให้ลูกทีมฉีดยาให้ผู้ป่วยหลับ

“Diazepam 10 mg IV เวลานี้ครับ” เมื่อลูกทีมขานรับการให้ยาเสร็จ ผู้ป่วยเริ่มหลับลง ทั้งที่ยังนั่งอยู่ หลังจากนั้นผมได้ถืออุปกรณ์ใส่ท่อช่วยหายใจ (Video laryngoscope) ด้วยมือซ้าย พยายามข่มความตื่นเต้นและวิตกกังวลของตนเองให้มากที่สุด สูดลมหายใจเข้าลึก ๆ ตั้งสติให้มั่น ขยับเข้าไปหลังพนักพิงของผู้ป่วยแล้วก้มลง ค่อย ๆ เปิดปากผู้ป่วย แล้วบรรจงใส่อุปกรณ์ (Blade) เข้าไปในปากของผู้ป่วย สายตาจ้องมองไปที่หน้าจอของวิดีโออุปกรณ์ใส่ท่อช่วยหายใจ (Video laryngoscope) จนปลายอุปกรณ์ (Blade) ถึงโคนลิ้น ผมค่อย ๆ ยกอุปกรณ์ (Blade) อย่างใจเย็น เพื่อให้เห็นสายเสียง (Vocal cord) ของผู้ป่วยได้มากที่สุด เมื่อเห็นสายเสียง ผมจึงตะโกนบอกลูกทีมอย่างมีสติว่า “ขอ tube ครับ” ลูกทีมส่งท่อช่วยหายใจ (ET Tube) ให้อย่างรวดเร็ว เมื่อรับท่อช่วยหายใจมาผมค่อย ๆ ใส่ท่อช่วยหายใจอย่างเบามือ เมื่อท่อช่วยหายใจผ่านสายเสียงลงไปยังหลอดลมและได้ความลึกที่เหมาะสม ผมจึงตะโกนให้ลูกทีมทำการตรวจสอบท่อช่วยหายใจที่ผมใส่ไปโดยใช้หูฟัง (Stethoscope) ฟังทุกตำแหน่งให้มั่นใจว่า เสียงปอดของผู้ป่วยเท่ากันทั้งสองข้างพร้อมกับติดอุปกรณ์วัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ออกมากับลมหายใจออก (End tidal CO2) และอุปกรณ์วัดค่าความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือดที่วัดจากปลายนิ้ว (Pulse oximeter) แสดงเลข 100%

 “ผมทำได้ !!!!! ผมทำสำเร็จ !!!!” 

ความกังวลหายเป็นปลิดทิ้ง เมื่อเห็นค่าพารามิเตอร์ต่าง ๆ ในจอเครื่องมอนิเตอร์อยู่ในเกณฑ์ที่ดี เมื่อทุกอย่างพร้อม ศูนย์อำนวยการได้ประสานงานไปยังโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด พร้อมนำส่งผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลปลายทางได้อย่างปลอดภัย ใจของผมพองโต น้ำตาเอ่อด้วยความปีติ ผู้ป่วยอยู่ภายใต้การดูแลของผม ความปลอดภัยของผู้ป่วยอยู่ในความรับผิดชอบของผมและทีม การใส่ท่อช่วยหายใจแบบท่านั่งที่ผมไม่คิดว่าชีวิตนี้จะได้พบและได้ทำด้วยตัวเอง แต่เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย ทักษะ ความรู้ต่าง ๆ ที่ได้เห็นได้เรียนมาถูกนำมาประยุกต์ใช้อย่างมีสติ สามารถนำพาให้ผู้ป่วยและครอบครัวผ่านวิกฤติในครั้งนั้นมาได้

เหตุการณ์ในครั้งนี้เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่สะท้อนได้ว่า สติเป็นส่วนสำคัญที่สุดในการดูแลรักษาผู้ป่วยวิกฤต และอีกคำหนึ่งที่ผมนึกถึงคือ คำขวัญมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งมีใจความว่า อัตตานัง อุปมัง  กเร คือ การเอาใจเขามาใส่ใจเรา คำ ๆ นี้ยังฝังอยู่ในจิตใจของผมตั้งแต่วันที่ก้าวเข้ามาเป็นนักศึกษาของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล จนถึงปัจจุบัน 

การดูแลผู้ป่วยให้เราดูแลผู้ป่วยเหมือนดูแลพ่อแม่และครอบครัวของเรา เราต้องการให้พ่อแม่และครอบครัวได้รับการดูแลรักษาที่ดีและมีมาตรฐานตามหลักวิชาชีพ ผู้ป่วยและครอบครัวของผู้ป่วยก็เช่นเดียวกัน

ความภูมิใจของผมในเหตุการณ์ครั้งนี้ที่ผมสามารถใส่ท่อช่วยหายใจในท่านั่งครั้งแรกสำเร็จคือผู้ป่วยของผมรอดจากภาวะคุกคามของชีวิตและผมหวังว่าผู้ป่วยจะได้กลับไปใช้ชีวิตกับครอบครัวอย่างมีความสุขอีกครั้ง 

ดาวน์โหลดเพื่ออ่านรูปแบบ PDF
เนื้อหาภายในฉบับที่ 51