นิตยสารทุกฉบับ
รวมนิตยสาร
บทความประจำ
เลือกดูบทความจากทุกเล่ม
ค้นหาบทความ
ค้นหาจากหัวข้อ

วัคซีนทำงานยังไงในร่างกายเรา

Volume
ฉบับที่ 44 เดือนเมษายน 2565
Column
Rama RDU
Writer Name
เภสัชกรวิชญ์ภัทร ธรานนท์ งานเภสัชกรรมคลินิก ฝ่ายเภสัชกรรม คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

   

    วัคซีน (vaccine) เป็นสารชีววัตถุ (biological preparation) ที่ผลิตขึ้นจากเชื้อจุลชีพ หรือสารชีวพิษของเชื้อจุลชีพ (toxin) ที่สามารถกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเพื่อต่อต้านการติดเชื้อเมื่อมีเชื้อจุลชีพเข้าสู่ร่างกายได้ ดังนั้น ผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้ว ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะถูกกระตุ้นเพื่อให้มีภูมิคุ้มกันเพื่อต่อต้านการติดเชื้อโรคต่าง ๆ ได้ หรือหากเกิดความเจ็บป่วยขึ้น อาการของโรคก็จะรุนแรงน้อย เนื่องจากร่างกายมีภูมิคุ้มกันแล้ว 

วัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันได้อย่างไร
            การสร้างภูมิคุ้มกันโดยวิธีการให้วัคซีน เป็นวิธีการสร้างภูมิคุ้มกันชนิดที่กระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน
    ขึ้นเอง (active immunization) วิธีนี้จะใช้เวลาหลายสัปดาห์ถึงเดือน เพื่อให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันโรคได้อย่างเพียงพอ ชนิดของวัคซีนแบ่งออกเป็นหลายประเภทตามวิธีการผลิตวัคซีน เช่น 
    1. วัคซีนชนิดเชื้อตาย ใช้ตัวของเชื้อโรคที่ทำให้ตายแล้วมาเป็นตัวกระตุ้นภูมิคุ้มกัน เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ วัคซีนโปลิโอชนิดฉีด วัคซีนไวรัสตับอักเสบ-เอ วัคซีนพิษสุนัขบ้า
    2. วัคซีนชนิดเชื้อเป็น โดยนำเอาตัวของเชื้อโรคมาทำให้หมดกำลังหรืออ่อนแรงลงจนไม่สามารถทำอันตรายต่อมนุษย์ได้ จากนั้นจึงนำมากระตุ้นภูมิคุ้มกัน เช่น วัคซีนโรคหัด วัคซีนคางทูม วัคซีนหัดเยอรมัน และวัคซีนป้องกันวัณโรค 
    3. วัคซีนที่ผลิตจากพิษของเชื้อโรค โดยนำพิษมาทำให้หมดฤทธิ์หรือหมดความรุนแรง เช่น 
วัคซีนบาดทะยัก วัคซีนคอตีบ เป็นต้น

    การเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคด้วยวัคซีนถือเป็นการป้องกันโรคที่มีประสิทธิภาพสูงและมีความคุ้มค่า ผลประโยชน์ของการได้รับวัคซีนเกิดกับทั้งผู้ที่ได้รับวัคซีนและสังคมที่ได้รับประโยชน์จากภูมิคุ้มกันกลุ่ม (herd immunity) 

 

ดาวน์โหลดเพื่ออ่านรูปแบบ PDF
เนื้อหาภายในฉบับที่ 44