“ถ้าเขาจะรัก ยืนเฉย ๆ เขาก็รัก”
นี่คือท่อนหนึ่งของเนื้อเพลงที่ลอยมากระทบห้วงของความคิดฉัน
ที่กำลังคิดอะไรเรื่อยเปื่อย ขณะที่เปิดเพลงมาในรถเพื่อมาทำงาน
ที่หอผู้ป่วยอายุรกรรมชาย-หญิง ฉันเคยได้อ่านหนังสือหรือบทสัมภาษณ์ดาราเกี่ยวกับ
เรื่องนิยามของความรักว่ามันคืออะไร ดาราแต่ละคนก็มีความหมาย มีคำนิยามต่าง ๆ มากมาย
เรียกได้ว่าร้อยแปดพันเก้าเลยก็ว่าได้ ฉันก็ได้แต่ฟังหรืออ่านผ่าน ๆ ไปเท่านั้นเอง
แต่เรื่องราวต่อไปนี้ทำให้ฉันได้เข้าใจความหมายอย่างถ่องแท้ จะเรียกว่าอินไปกับบทเพลง
และเชื่อมโยงมาที่เรื่องราวของผู้ป่วยก็คงจะได้
ไมค์ ผู้ป่วยวัย 18 ปี มา Admit ที่หอผู้ป่วยอายุรกรรมชาย-หญิง เพื่อให้ยาเคมีบำบัด
ไม่เพียงแต่ป่วยเป็นโรคมะเร็ง ไมค์ยังมีโรคเดิม คือ มีความผิดปกติทางสมอง (Mental Retard)
ไมค์มีรูปร่างผอม ขา 2 ข้างอ่อนแรง ขยับได้น้อย ๆ ใช้การถัดบนเตียง จะพูดซ้ำ ๆ
สามารถใช้แขนและมือตักอาหารรับประทานเองได้ แต่จะหกเลอะเทอะบ้าง
ไมค์มีแผลกดทับจากการถัดไปบนพื้นที่บ้าน การมาให้ยาเคมีบำบัดแต่ละครั้งจะนอนโรงพยาบาล 5-6 วัน
ในระหว่างที่นอนอยู่ โรงพยาบาล ฉันมักจะเห็นคนที่มาเยี่ยมไมค์ คือ คุณประจักษ์ ซึ่งเป็นพ่อของไมค์มาเยี่ยมเพียงคนเดียว
ทุกครั้งที่คุณประจักษ์มามักจะมีสีหน้าวิตกกังวล หน้าตาเคร่งเครียดและพูดน้อย ฉันได้เข้าไปคุยสอบถามเรื่องทั่วไปกับ
คุณประจักษ์ แล้วคิดในใจ “สีหน้าแบบนี้ เราเจองานยากซะแล้ว”
2 วันก่อนที่ไมค์จะกลับบ้าน
เพราะได้รับยาเคมีบำบัดครบแล้ว ฉันวางแผนไว้ว่าจะสอนคุณประจักษ์ฉีดยากระตุ้นเม็ดเลือดขาว
ซึ่งฉีดทางหน้าท้องให้ไมค์ และสอนการทำแผลกดทับต่อที่บ้าน แต่คุณประจักษ์ได้บอกกับฉันว่า
“ผมไม่มีเวลาหรอกคุณพยาบาล ทั้งบ้านน่ะ ผมหากินอยู่คนเดียว ผมไปทำงานแต่เช้ามืด กว่าจะกลับบ้าน
ก็เกือบ 2 ทุ่มกว่าแล้ว” คุณประจักษ์เล่าด้วยสีหน้าที่เคร่งเครียด
และพูดต่อว่า “นี่วันลาของผมก็หมดแล้ว ลาจนเขาจะไล่ผมออกแล้ว และเงินทองก็ไม่ค่อยจะมี”
พ่อของไมค์ครุ่นคิด ว่าจะทำยังไงต่อดีกับภาระที่เพิ่มขึ้น ทั้งเรื่องการฉีดยา การทำแผล และการมาตรวจตามนัด
ฉันชวนคุณประจักษ์คุย ถามถึงความเป็นอยู่ที่บ้าน จึงได้ทราบว่าคุณประจักษ์
ทำอาชีพเป็นคนเฝ้าคอนโดย่านรังสิต ต้องเดินทางจากห้องเช่าย่านตลิ่งชัน ในครอบครัวอยู่อาศัยกันอีก 3 คน
คือ แม่ของไมค์ ซี่งมีอาการป่วยทางจิตเวช ควบคุมตนเองไม่ค่อยได้ ต้องปั่นจักรยาน
เพื่อไปฉีดยาระงับอาการทางจิตเวชที่โรงพยาบาลใกล้บ้านสัปดาห์ละครั้ง และมีลูกอีก 2 คน อายุ 16 ปี และ 15 ปี
ซึ่งป่วยเป็นโรคสมองพิการทั้งคู่ “จะไปไหนต้องขังไว้ในบ้านทั้ง 2 คนเลยคุณพยาบาล”
คุณประจักษ์เล่าให้ฟังไปเรื่อย ฉันฟังเรื่องราว คิดตาม และได้สรุปในใจว่า
“เห้อ...เจองานยากคูณสอง คูณสาม คูณสี่ซะแล้วเรา” การสนทนาของฉันกับคุณประจักษ์จบลงที่ข้อสรุปของคุณประจักษ์ว่า
“พรุ่งนี้ก็แล้วกันคุณพยาบาล เรื่องฉีดยาและทำแผลน่ะ เดี๋ยวให้แม่เขามาลองทำดู”
ฉันพยักหน้าช้า ๆ และยิ้มแหย ๆ และพูดว่า “ได้ค่ะ ลองดูก็ได้ค่ะ” แต่ในใจของฉันอดคิดไม่ได้ว่า “จะไหวไหมเนี่ย!”
เช้าวันต่อมา ฉันรู้สึกแปลกใจ
เมื่อเห็นคุณประจักษ์มาพร้อมกับแม่ของไมค์ มาตรงเวลาตามที่ได้นัดกันไว้
วินาทีแรกที่ฉันเห็นหน้าแม่ของไมค์ ฉันเกือบถอดใจ
แม่ของไมค์เป็นหญิงวัยกลางคน รูปร่างผอมมาก ตาเหลือง ผิวคล้ำ
ระหว่างพูดคุยสายตาล่อกแล่ก ไม่อยู่นิ่ง มือสั่น ๆ
ฉันรู้โดยทันทีว่า นี่คืออาการของผู้ป่วยจิตเวช
ประกอบกับการพูดที่ซ้ำ ๆ แต่ก็พยายามสื่อสาร
ระหว่างการสอนและฝึกให้แม่ไมค์ฉีดยา
ฉันรับรู้ถึงความตั้งใจ แม้ว่ามือจะสั่น ๆ
พยายามเกร็งมือที่จะทิ่มเข็มฉีดยา พยายามเกร็งมือคีบสำลี
เพื่อเช็ดทำความสะอาดแผลให้ลูก ฉันเหลือบไปเห็นสายตามุ่งมั่นของ
แม่ไมค์ ฉันมองมือที่สั่น ๆ สลับกับสายตาแสดงความมุ่งมั่นและตั้งใจอย่างที่สุด
พลันก็หันไปเห็นคุณประจักษ์ยืนลุ้นด้วยความห่วงว่าจะทำภารกิจสำเร็จหรือไม่ พลังงานบวก
บางอย่างส่งตรงเข้าสมองฉัน ประหนึ่งถูกยิงศีรษะด้วยกระสุน M16 ฉันได้เห็นความรักของแม่และพ่อ
ที่ได้ส่งมาให้ลูก ไม่ว่าแม่จะป่วยอย่างไร หรือลูกจะป่วยอย่างไร แต่ความรักนั้นได้
ถูกส่งผ่านมือสั่น ๆ คู่นั้น ฉันอึ้งในภาพที่เห็น
ฉันได้ครุ่นคิดวางแผนใหม่
สลัดความความละเหี่ยใจออกไป ฉันตั้งสติ หาทีมช่วยเหลือ โดยได้ปรึกษาแพทย์โรคมะเร็งที่เป็นเจ้าของไข้ ปรึกษาทีม
สังคมสงเคราะห์ ทีมพยาบาลเยี่ยมบ้าน ถึงปัญหาของครอบครัวนี้ เราพบทางออกของการแก้ปัญหา คุณหมอมะเร็งมาคุยกับ
คุณประจักษ์เรื่องแผนการรักษา คุณหมอทำปฏิทินใบเล็ก ๆ 2 ใบ แล้วขีดไฮไลท์วันที่ช่วงที่ต้องมาตรวจและมานอนโรงพยาบาลอีก
2 รอบ เพื่อให้คุณประจักษ์ได้วางแผนถูก ทางสังคมสงเคราะห์และทีมเยี่ยมบ้านได้ช่วยเหลือค่ารถที่จะพาไมค์มาตรวจ โดยให้แม่เป็น
คนพามา ให้พกโทรศัพท์และโทรติดต่อเป็นระยะ เมื่อถึงโรงพยาบาลจะประสาน รปภ. ไปรับลงจากรถแท็กซี่และพามาที่หน่วยตรวจ
และส่งขึ้นรถกลับเมื่อตรวจเสร็จ โดยให้คุณประจักษ์โทรเช็คอีกครั้งว่าถึงบ้านกันหรือยัง
2 เดือนต่อมา
ไมค์มานอนโรงพยาบาลเพื่อให้ยาเคมีบำบัดเป็นครั้งสุดท้าย ภาพแรกที่ฉันเห็นคือ ไมค์ลุกเดินจากรถเข็นไปที่เตียงเอง
โดยมีแม่ที่มือยังสั่น ๆ ตัวสั่น ๆ ตาเหลืองเหมือนเดิม แต่ที่เพิ่มเติมคือรอยยิ้มให้ฉันและพูดด้วยเสียงสั่น ๆ ว่า “เดินเองได้แล้วค่ะ
คุณพยาบาล” เช้าวันรุ่งขึ้นฉันได้รับการส่งเวรจากพยาบาลในหอผู้ป่วยว่า แผลกดทับของไมค์หายสนิท ไม่เหลือริ้วรอย
ฉันคิดในใจ “โอ้...อานุภาพของความรักจริง ๆ”
เรื่องราวของครอบครัวนี้
ยังอยู่ในความทรงจำและพลังบวกที่ส่งมาให้จริง ๆ “ถ้าเขาจะรัก (จะเป็นยังไง) เขาก็ “รัก”
ไม่ว่าแม่จะเจ็บป่วยอย่างไร ลูกจะเจ็บป่วยอย่างไร แต่คนในครอบครัวนี้มีความรักให้
ลูกและส่งพลังบวกมาให้พยาบาล ฉันคิดเล่น ๆ ว่า
ถ้าสักวันหนึ่งฉันเป็นดาราดัง และมีนักข่าวมา
สัมภาษณ์ถึงนิยามของความรัก ฉันคง
หยิบยกเรื่องนี้มาเล่า แต่ในเมื่อตอนนี้ฉันยังเป็นพยาบาล
ฉันก็จะเอาเรื่องนี้
เป็นพลังบวกในการทำงานและดูแล
ให้การพยาบาลแก่ผู้ป่วยทุกคนด้วยความ
ตั้งใจและใส่ใจ และเรื่องราวนี้ยังสอนฉันอีก
ว่า เมื่อใดที่รู้สึกถอดใจ เหนื่อย หรือท้อใจ ให้
รู้จักที่จะหาหรือเติมพลังบวกให้ตนเอง มันจะ
นำมาซึ่งสมองที่เปิดโล่ง ไม่พบทางตัน
อย่างเช่นที่ฉันได้พบทีมสหสาขาวิชาชีพมาช่วยเหลือผู้ป่วยนั่นเอง