เสบียงบุญ

เสบียงบุญ
Volume: 
ฉบับที่ 44 เดือนเมษายน 2565
Column: 
Easy Living
Writer Name: 
รศ. พญ.โสมรัชช์ วิไลยุค ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

    

    ชีวิตคนเราเป็นสิ่งไม่แน่ไม่นอน เราทุกคนที่เกิดมา ล้วนต้องประสบพบเจอ ความเจ็บป่วย ความทุกข์ ความไม่พึงประสงค์ และที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือปลายทางสุดท้ายของทางเดินชีวิต นั่นคือ “ความตาย” 
    “ความตาย” เป็นคำที่ไม่มีใครอยากพูดถึง เพราะความเชื่อของสังคมเราที่ว่าพูดแล้ว เป็นลางบ้าง ไปแช่งเขาบ้าง คำอัปมงคลบ้าง ฯลฯ แต่ถ้าเราได้ศึกษาเรื่องมรณานุสติ (พิจารณาถึงความตาย) พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เรานึกถึงคำนี้ทุกลมหายใจ ดังเช่นที่ท่านได้ดำรัสกับพระอานนท์ว่า 
    “ดูกรอานนท์ เธอรำลึกและพิจารณาถึงความตายมากเท่าใด” 
    พระอานนท์ตอบว่า “ข้าพเจ้ารำลึกถึงความตายวันละเจ็ดหนพระเจ้าค่ะ” 
    พระพุทธเจ้าดำรัสต่อว่า “ไม่พอหรอกอานนท์ เธอควรพิจารณาถึงความตายทุกลมหายใจเข้าออก” 
    ประโยชน์ของการพิจารณาถึงความตายเพื่อให้เราดำเนินชีวิตอยู่บนความไม่ประมาทนั่นเอง หากเรารู้แล้วว่าเราจะต้องตาย เราย่อมไม่ต้องการสะสมความชั่ว อยากทำความดี ไม่กลัวเมื่อความตายมาถึง คนที่คิดเรื่องความตายส่วนมากจะเป็นผู้สูงอายุ เพราะคิดว่าถึงวัยแล้ว อยู่มานาน คิดว่าเราใกล้ความตายมาทุกทีแล้ว บางท่านก็ได้เตรียมตัวเตรียมใจมาก่อน บางท่านก็ยังกลัวอยู่บ้าง แต่คนหนุ่มคนสาวส่วนมากไม่ได้คิดถึงเรื่องนี้เลย เพราะคิดว่า “ความตาย” เป็นสิ่งที่ไกลตัว จึงไม่ได้เตรียมพร้อม เมื่อวันหนึ่งประสบอุบัติเหตุหรือเป็นโรคร้ายแรงจึงเตรียมตัวไม่ทัน หลายคนจึงจากไปแบบไม่ทันตั้งตัว 
    คนส่วนมากมักวางแผนในการเก็บออมเงินหรือหลักทรัพย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญในการดำเนินชีวิตเพราะต้องซื้อของกินของใช้ หากเจ็บป่วยก็ต้องเสียค่ารักษาพยาบาล แต่การสะสมบุญเป็นอีกสิ่งที่หลายคนลืมที่จะเตรียม เพราะการไปยังภพหน้าชื่อเสียงเงินทองไม่สามารถเอาติดตัวไปได้ คงเหลือแต่บาปบุญเท่านั้นที่ติดตัวเราไปด้วย ตราบใดที่เรายังต้องเกิดมาหลายภพหลายชาติบาปบุญเหล่านี้ก็จะติดตัวเราไปทุกที่ การเดินทางไปภพหน้าเป็นสิ่งที่เลือนรางและจับต้องไม่ได้จึงยังไม่ค่อยมีใครนึกถึงเท่าไรว่าต้องเตรียมตัวอย่างไร หากเปรียบเทียบง่าย ๆ ยกตัวอย่างว่าถ้าเราจะไปเที่ยว เราจะมีการเตรียมตัวอย่างไร ? เราจะศึกษาถึงเส้นทางที่จะไป การเดินทาง ต่อรถ ต่อรถไฟอย่างไรเวลาไหน หากไปเที่ยวเมืองนอกก็ต้องเตรียมแลกเงิน ซื้อตั๋วเครื่องบิน สถานที่ที่จะไปเที่ยว ต้องถ่ายรูปแล้วสวย เป็นที่ยอดนิยม ร้านอาหารที่ไปกินก็ต้องอร่อย เสื้อผ้าก็ต้องใส่แล้วดูดีและเหมาะกับสภาพอากาศ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่เราต้องเตรียมเวลาไปเที่ยว ..

     ปลายทางชีวิตของเราก็เช่นกัน เมื่อเราต้องเดินทางไปยังอีกภพภูมิหนึ่ง สิ่งที่เราควรเตรียมคือ “เสบียงบุญ” ซึ่งแตกต่างกันกับการเตรียมตัวไปเที่ยวอย่างมาก คือ เสบียงบุญ ต้องหมั่นสะสม ไม่ใช่หุ้นหรือหลักทรัพย์ที่จะซื้อเยอะ ๆ ได้ในคราวเดียว และไม่ใช่แค่บุญที่จะติดตัวเราไปยังภพหน้า บาปก็ติดไปด้วย เพราะฉะนั้นการเตรียมตัวเพื่อไปยังจุดหมายปลายทางของชีวิตจึงยากกว่าการเตรียมตัวไปเที่ยวอย่างมาก ดังนั้นการพิจารณาถึงความตาย หรือ มรณานุสติ นั้นจึงมีประโยชน์อย่างมาก เพื่อให้ผู้พิจารณาได้คิดที่จะสะสมความดี และละเว้นความชั่ว 
    “ความตาย” อาจเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุมากกว่าวัยหนุ่มสาว แต่จริง ๆ แล้ว ความตายไม่เข้าใครออกใคร ไม่เลือกอายุ ไม่เลือกคนยากดีมีจน ไม่เลือกหน้าที่การงาน และไม่เลือกคนดีหรือคนไม่ดี นั่นแปลว่าทุกคนมีสิทธิ์ที่จะตายทุกเวลาได้เสมอ เด็กบางคนเพิ่งเกิดมาได้ไม่ถึงหนึ่งวัน ตายเลยก็มี หรือบางคนเป็นมะเร็ง หมอบอกอยู่ได้อีกไม่กี่เดือน ร้องไห้เสียใจ พอเดินออกไปนอกโรงพยาบาลโดนรถชนตาย ไม่ได้ตายเพราะมะเร็งแต่กลับตายเพราะอุบัติเหตุ คนที่ดูแลสุขภาพตัวเองอย่างดีก็อาจตายได้ก่อนคนที่กินเหล้าเมามายทุกวัน แต่ที่เขียนนี้ไม่ได้จะแนะนำให้กินเหล้าเมามายนะคะ แต่แค่จะบอกว่า “ความตาย” สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกคน แม้แต่คนที่ดูแลสุขภาพตัวเองมาอย่างดีแล้วก็ตาม หรือแม้แต่คนที่ทำบุญมามากก็อาจตายเร็วกว่าอายุขัยได้เช่นกัน ทีนี้ท่านผู้อ่านอาจเริ่มงงว่า ไหนบอกให้สะสมเสบียงบุญ แต่ทำไมทำบุญแล้วตายเร็ว “คนดีดีไม่น่าตายเร็ว” ประโยคนี้เรามักได้ยินคนพูดอยู่เสมอในงานศพ เพราะความตายไม่ได้เลือกคนที่บาปบุญคุณโทษ ความตายที่เกิดขึ้นมันซับซ้อนกว่านั้นมาก เพราะเราเกิดมาหลายภพหลายชาติ บาปบุญที่เราทำมาไม่ได้มีแค่ชาติปัจจุบัน แต่ในเมื่อชาตินี้เรามีโอกาสได้เกิดมาเป็นมนุษย์ซึ่งนับเป็นเรื่องน่ายินดี เพราะการเกิดเป็นมนุษย์มีโอกาสที่จะสะสมบุญได้มากกว่าสัตว์ชนิดอื่นหรือแม้แต่เทวดาเองก็ตาม ดังนั้นเกิดมากี่ชาติก็ควรที่จะสะสมบุญ ละเว้นบาป ให้ได้มากที่สุดในช่วงอายุขัยหนึ่ง อย่าได้โมโห ตีอกชกตัวว่าทำไมทำดีไม่ได้ดี คนทำชั่วกลับอายุยืน 

    หากท่านทำความดีด้วยใจที่บริสุทธิ์ไม่หวังสิ่งตอบแทน ถือว่าท่านได้รับบุญแล้ว จิตใจท่านจะปิติ อิ่มเอิบ และสุขใจ หากท่านทำความชั่ว จิตใจจะรับก่อนเลย คนทำชั่วมักจะทุกข์ จะเร่าร้อน อยู่ไม่สุข หน้าตาหมองคล้ำ เกิดมาชีวิตหนึ่งจะอยู่นานหรือไม่นานอาจไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุด แต่การที่อยู่อย่างสุขใจหรือมีความสุขนั่นต่างหากที่สำคัญ บางคนอยู่ได้ไม่นาน แต่ขณะอยู่ได้ทำความดีไว้เยอะมาก ชีวิตมีความสุข ยิ้มตลอดเวลา แต่ในขณะที่อีกคนอยู่ได้นานมาก แต่ชีวิตมีแต่ความทุกข์ ไม่เคยยิ้มได้เลย ท่านคิดว่าแบบไหนดีกว่ากัน ? เพราะฉะนั้นไม่ควรเอาชีวิตเราไปเทียบกับชีวิตใคร และหากความตายมาเยือนเราเร็วกว่าคนอื่น ก็ไม่ต้องโทษตัวเอง หรือโทษใครเช่นกัน หากใจเรายอมรับได้เร็ว เราก็จะสงบและเตรียมพร้อมได้ดียิ่งขึ้น อย่างน้อยช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิตได้มีจิตใจที่สงบเยือกเย็น และมี “สติ” อยู่ตลอด ก็ถือเป็นการทำบุญในวาระสุดท้ายของชีวิตก่อนจะเดินทางไปอีกภพหนึ่งแล้ว
    ผู้เขียนเคยฟังธรรมะบรรยายของพระรูปหนึ่ง ท่านเปรียบเทียบการเดินทางสุดท้ายของเรา ได้อย่างน่าฟังมาก ท่านเปรียบเทียบเหมือนเสื้อผ้าที่เราใส่ เมื่อมันเก่าหรือมันขาด เราก็อยากที่จะเปลี่ยนใหม่ ร่างกายเราก็เหมือนกัน เมื่อเจ็บป่วย หรือชราภาพ อวัยวะเริ่มทำงานได้ไม่ดีเหมือนเช่นเคย ตาเริ่มมองไม่ค่อยเห็น หูเริ่มไม่ได้ยิน สมองเริ่มช้าลงเรื่อย ๆ เมื่อนั้นจิตเราก็จะเปลี่ยนจากร่างกายหนึ่งที่เก่าแล้วไปอีกร่างกายหนึ่งที่ใหม่และแข็งแรงกว่า หากคิดได้ดังนั้นจะได้ไม่กลัวเมื่อความตายมาถึง สิ่งที่คนส่วนมากจะกลัวต่อไป คือ ตายแล้วไปไหน ? ผู้เขียนก็ไม่สามารถตอบได้ แต่เท่าที่ได้ศึกษาพุทธศาสนามา หากเราทำบุญและเจริญภาวนามาอย่างต่อเนื่อง และจิตสุดท้ายเราสงบ เราจะนึกถึงบุญที่ทำก่อนจะลาจากโลกนี้ไป ประกอบกับการเดินทางด้วย “เสบียงบุญ” ที่เตรียมมาอย่างดี จุดหมายถัดไปเรา มักเป็นจุดหมายที่ดี แต่หากชีวิตเราไม่เคยทำบุญทำแต่บาป ก่อนจะไปเราจะนึกสิ่งที่ทำบ่อย ๆ ซึ่งนั่นก็คือบาปนั้น จุดหมายเราก็คงไม่ดีเท่าไร .. เราไม่รู้ว่า “วันพรุ่งนี้” หรือ “ชาติหน้า” อะไรจะมาถึงก่อนกัน เพราะฉะนั้นเรามาเตรียม “เสบียงบุญ” ไว้เดินทางไปยังจุดหมายสุดท้ายของชีวิตกันดีกว่าค่ะ
 

Column File (PDF): 
เนื้อหาภายในฉบับที่ 44